/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ข้อคิดจากพุทธทาส

ข้อคิดจากพุทธทาส

พุทธทาสภิกขุในบริบทของสังคมไทย




 

(ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์)


---ภิกขุ (พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๕๓๖) เป็นนักปฏิรูปพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ไทย การตีความพุทธศาสนาของท่าน นับเป็นความพยายามที่ต่อเนื่อง ในการปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พุทธทาสภิกขุ ได้ตีความคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและธรรมเนียมการปฏิบัติ ของชาวพุทธไทย ด้วยการใช้ปัญญาและเหตุผล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และการเติบโตของชนชั้นกลางในสังคมไทย ซึ่งรวมถึงคนในวงการวิชาชีพต่าง ๆ และปัญญาชน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ท่านได้เป็นผู้วางกรอบทฤษฎีทางสังคมกับการศึกษาพระไตรปิฎก และการตีความพุทธศาสนา ด้วยปัญญาและเหตุผล ทำให้คำสอนของท่านกลายเป็นตัวแทนของ “ปัญญา” ในพุทธศาสนาของไทย



---การพิมพ์หนังสือชุด “ธรรมโฆษณ์” ซึ่งรวบรวมคำบรรยายของท่านไว้กว่า ๕๐ เล่ม อาจนับได้ว่า เป็นผลงานของนักคิดชาวพุทธฝ่ายเถรวาทคนเดียว ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ เมื่องานชุดนี้ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จะมีความยาวมากกว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกเสียอีก โดนาลด์ เค สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาของไทย ได้ประเมินบทบาทและสถานะของพุทธทาสภิกขุในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไว้ดังนี้


---ประวัติศาสตร์คงจะตัดสินท่านในฐานะนักคิดฝ่ายเถรวาท ผู้ซึ่งมีแนวความคิด ที่เป็นต้นแบบและทรงอิทธิพลที่สุด นับตั้งแต่พุทธโฆษาจารย์ เป็นต้นมา และอาจประเมินบทบาท ของพุทธทาสภายในวัฒนธรรมชาวพุทธ ให้เสมอกับนักคิดชาวพุทธอินเดีย ที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่น นาคารชุน ซึ่งได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับท่าน


---คำบรรยายของพุทธทาสภิกขุจำนวนหนึ่ง ได้พูดถึงปัญหาทางการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม จากทรรศนะทางพุทธศาสนา ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่แนวความคิดเรื่อง “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่าน


*พุทธศาสนากับรัฐของไทย


---ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุทธศาสนานั้น พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในเอเชียใต้และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศศรีลังกา พม่าไทย ลาว และเขมร ได้พยายามที่จะรักษารูปแบบ คำสอนของพระพุทธเจ้าและข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ โดยเกือบมิได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญใด ๆ เลย ดังนั้นจึงอาจจัดได้ว่าเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาในฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมื่อพิจารณาในแง่ ลัทธิคำสอนแลัว พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทถูกกำหนดในขั้นพื้นฐานจากการสังคายนาพุทธศาสนาในครั้งที่สาม (กล่าวคือ กถาวัตถุ) และจากอรรถกถาของพุทธโฆษาจารย์ ในคริสตศตวรรษที่ ๕ (กล่าวคือ วิสุทธิมรรค)


---ตั้งแต่อดีตนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐของไทย อยู่ในรูปของความเชื่อที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินได้รับสิทธิในการปกครอง จากบุญบารมีที่เคยสะสมมาในอดีตชาติ และความเจริญรุ่งเรือง หรือความเจริญหรือความเสื่อมของประเทศนั้น เกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับความเจริญหรือความเสื่อม ของพุทธศาสนา มีความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก


---บุญบารมีของกษัตริย์และสิทธิในการปกครองของพระองค์ จะแสดงออกมาในรูปของความเจริญ รุ่งเรืองของทั้งรัฐและคณะสงฆ์ โดยการดูจากจำนวนวัดในพุทธศาสนาที่ได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี การประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุสงฆ์ และความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกของพระสงฆ์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์จึงทรงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำนุบำรุงพุทธศาสนา เช่น การดูแล ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ส่งเสริมการศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎก ทำนุบำรุงวัดวาอาราม และสร้างพระพุทธรูป เป็นต้น


---ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - จนถึงปัจจุบัน) เป็นประวัติศาสตร์ที่รัฐของไทยได้เข้าควบคุมคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งควบคุมการตีความคำสอน และแนวทางของการปฏิบัติธรรมด้วย รัฐได้เป็นผู้กำหนดโครงสร้างขององค์กรการปกครองของคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎหมายและขั้นตอนการบริหาร ที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น ๓ ฉบับคือ ฉบับปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ฉบับปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และฉบับปี พ.ศ. ๒๕๐๕ 


----ขอบเขตการปกครองคณะสงฆ์ (ศาสนจักร) ถือกันว่าแยกออกจากการเมืองการปกครองของทาง ฝ่ายโลก (อาณาจักร) ในทางการเมืองแล้ว รัฐของไทยได้ใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนา ในการสร้างความชอบธรรม ให้กับการปกครองของตนเสมอมา ขณะเดียวกันรัฐก็ได้ขีดวงจำกัดไม่ให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันว่าคณะสงฆ์จะไม่เป็นฐานแห่งอำนาจที่อาจเป็นคู่แข่งกับรัฐได้ ให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้ง การเกี่ยวข้องกับการเมืองของพระสงฆ์ ในช่วงแห่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองนั้น มีประจักษ์พยานให้เห็นในประวัติศาสตร์ เช่น การรณรงค์ทางทหารของพระฝางภายหลังจากการเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และการเดินขบวนเรียกร้องของพระสงฆ์ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ เป็นต้น


---การควบคุมอย่างใกล้ชิดของรัฐของไทย ต่อคำสอนทางพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดระยะเวลาศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา ได้ทำให้พุทธศาสนากลายสถานะเป็น “อุดมการณ์แห่งชาติ” ไป ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jakson) ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มทางการเมืองทุกกลุ่มที่ต่อสู้กันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน (ยกเว้นชาวมุสลิมและชาวคริสต์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่อาจจะหลงเหลืออยู่บ้าง) ต่างก็กล่าวอ้างถึงศรัทธาในพุทธศาสนา การโต้แย้งทางความคิดที่เกี่ยวกับทุนนิยมกับสังคมนิยม เผด็จการกับประชาธิปไตย หรือรูปแบบพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจ มักจะแสดงถ้อยคำและ ความหมายที่มีรากฐานมาจากพุทธศาสนา


---ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หน้าที่ของพุทธศาสนา ในการสร้างความถูกต้องชอบธรรมในทางการเมือง การควบคุมของรัฐของไทยต่อคณะสงฆ์ที่เพิ่มมากขึ้น และการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อแนวคิด และพฤติกรรมทางศาสนาที่ผิดแผกไปจากแนวทางที่กำหนดไว้ ได้หล่อหลอมสถานะของสถาบันพุทธศาสนา ให้มีเอกลักษณ์ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


---ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของพุทธศาสนาของไทย เป็นประวัติศาสตร์ของความพยายามของกลุ่มผู้นำต่าง ๆ ที่จะเข้าควบคุมการตีความคำสอน และการบริหารปกครองในพุทธศาสนา อันเป็นสัญลักษณ์ที่มาของ ความถูกต้องชอบธรรมทางการเมือง ภายในของพุทธศาสนาเองนั้น มีการต่อสู้เกิดขึ้นในสองแนวทาง แนวทาง ที่หนึ่งคือ การที่รัฐได้เข้าไปควบคุมการบริหารจัดการของคณะสงฆ์ ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งอัน ยาวนานระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย แนวทางที่สองคือ การโต้แย้งทางความคิดในเรื่องการตีความคำสอน และวิธีปฏิบัติธรรมของสำนักต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นผู้นำฝ่ายต่าง ๆ


---เนื่องจากการควบคุมอย่างใกล้ชิดของรัฐที่มีต่อสถาบันสงฆ์ นับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์กรการปกครอง คณะสงฆ์ไทยเป็นต้นมา ทำให้พุทธศาสนาของไทยไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยอิสระจากรัฐ และในที่สุดแล้วทำให้ สถาบันสงฆ์กลายเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำของสังคมไทยดังเช่นในอดีต โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ มักจะถูกกีดกันออกจากวงจรแห่งอำนาจ ในขณะที่ พระสงฆ์ที่สนับสนุนการปกครองของรัฐ มักจะได้รับการตอบแทนในรูปของวัตถุและการเลื่อนสมณศักดิ์ การริเริ่มอย่างใหม่ ๆ หรือความเป็นอิสระของพระภิกษุสงฆ์ จะถูกมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ และจะถูกปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นในกรณีของครูบาศรีวิชัยในอดีต หรือในกรณีของพระโพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศกในปัจจุบัน


*พุทธศาสนาของไทย  ทรรศนะทางสังคมการเมือง 


---พุทธศาสนาของไทยอาจจำแนกออกได้เป็น ๓ รูปแบบ ตามลักษณะแห่งโครงสร้างทางชนชั้น ในสังคมไทย รูปแบบที่หนึ่งได้แก่ “พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง” ซึ่งสนับสนุนโดยชนชั้นปกครอง และชนชั้นสูง รูปแบบที่สองได้แก่ “พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป” ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง และรูปแบบที่สามได้แก่ “ไสยศาสตร์” ซึ่งถือเป็นศาสนาของสามัญในทุกชนชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นล่าง อันรวมถึงชาวนาในชนบท และกรรมกรในเมือง และเนื่องจากรูปแบบของศาสนาและสถานะทางสังคม ของผู้ที่นับถือมีส่วนที่ค่อนข้างจะสัมพันธ์กัน การโต้แย้งทรรศนะทางศาสนามักจะสะท้อนให้เห็นถึง สถานะทางสังคมการเมืองระหว่างกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมไทยด้วย


*๑.พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง


---ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา “พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง” ได้แก่พุทธศาสนาที่ได้รับการตีความ ให้สนับสนุนสถาบันการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาแบบนี้เน้นการตีความในเชิง อภิปรัชญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “กฎแห่งกรรม” โดยการเชื่อมโยงความมั่งมีศรีสุขหรือความทุกข์ยาก ในปัจจุบันให้เข้ากับ “กรรมเก่า” ในอดีตชาติ ความเชื่อที่ติดตามมาจากการตีความในลักษณะนี้ก็คือ การที่ชนชั้นสูงในปัจจุบัน มีความมั่งคั่งและอำนาจ เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเคยทำบุญกุศลมาก่อนในอดีตชาติ


---ส่วนการที่ชนชั้นล่างในปัจจุบัน ยากจน และไร้อำนาจนั้น ก็เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเคยทำความชั่ว หรือมิฉะนั้น ก็มิได้ทำบุญกุศลอย่างเพียงพอมาก่อนในอดีตชาตินั่นเอง ดังนั้นบุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่สูงที่สุด ในปัจจุบันก็คือ บุคคลที่เคยสร้างสมบุญกุศลและคุณงามความดีมามากที่สุดในอดีตชาตินั่นเอง จึงสมควรที่จะได้เป็น ผู้ปกครองประเทศ ตามธรรมเนียมที่มีมาแต่ครั้งโบราณถือกันว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นบุคคลที่มี บุญบารมีมากที่สุด จึงอยู่ในสถานะที่สูงสุดในสังคม


---ธรรมเนียมการอธิบายลำดับชั้นของสังคมไทยในลักษณะเช่นนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหนังสือเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ไตรภูมิพระร่วง เป็นหนังสือที่กล่าวถึงจักรวาลวิทยาทางศาสนาในเชิงอภิปรัชญา โดยสอนว่าในขณะที่พระพรหม พระอิศวร และเหล่าเทวดา ได้ปกครองสวรรค์ชั้นสูงเนื่องมาจากบุญกุศลอันยิ่งใหญ่นั้น


---กษัตริย์และเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพารก็ได้ปกครอง สังคมมนุษย์อันเนื่องมาจากบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน ต่อมาด้วยอิทธิพล ของศาสนาพราหมณ์จากอาณาจักรขอมที่มีต่อราชสำนักของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ไทยสมัยอยุธยา จึงได้กลายสถานะเป็น “สมมติเทพ” ไป พิธีกรรมต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยง สถาบันกษัตริย์ให้เข้ากับสถานะของเทพเจ้า ได้กลายเป็นพระราชพิธีประจำปี


---ภายหลังจากที่ “คณะราษฎร์” ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่เป็นที่นิยมของทางราชการชั่วระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้กลับมาฟื้นฟูพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองอีกครั้งหนึ่ง


---โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้สนับสนุนความชอบธรรมของการปกครองในระบอบเผด็จการของตน ดังนั้นพุทธศาสนาที่มีการตีความ เชื่อมโยงจักรวาลวิทยาให้เข้ากับชนชั้นทางสังคม เพื่ออธิบายความชอบธรรมของการใช้อำนาจทางการเมือง จึงได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง


---นับตั้งแต่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา ความไม่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ ต่อระบอบเผด็จการทหาร และการยอมรับประชาธิปไตย ว่าเป็นอุดมการทางการเมือง ที่ยอมรับได้เพียงอย่างเดียวสำหรับ ประเทศไทย ทำให้พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ไม่อาจถูกนำมาใช้สำหรับอ้างความชอบธรรมในทางการเมือง โดยตรงได้อีกต่อไป


*๒.พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป


---การเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่างพุทธศาสนาของไทย กับโลกทรรศน์แบบตะวันตกเกิดขึ้นใน คริสตศตวรรษที่ ๑๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในขณะที่ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าฟ้ามงกุฎอยู่นั้น ทรงรู้สึกถึงแรงกดดันจากศาสนาคริสต์ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทรงพยายาม นำระบบเหตุผลนิยมแบบตะวันตกมาปรับใช้กับพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงเชื่อว่าถ้าหากพุทธศาสนา ได้ลดทอนเรื่องราวแบบเทพนิยายหรือไสยศาสตร์ลง จะทำให้กลายเป็นศาสนาที่ทันสมัยเป็นระบบและ มีเหตุผลมากขึ้น และจะสามารถต่อสู้ทางความคิด กับศาสนาคริสต์และวิทยาศาสตร์ของตะวันตกได้


---อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีการใช้เหตุผลนิยมแบบตะวันตก ในการวิพากษ์วิจารณ์ไสยศาสตร์ ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทยนั้น ความเชื่อในเรื่อง “กรรมเก่า” ในอดีตชาติกลับไม่ได้มีการพูดถึง ดังนั้น การปฏิรูปพุทธศาสนาด้วยระบบเหตุผลนิยมแบบตะวันตก ในระยะแรก จึงยังไม่สมบูรณ์ การปฏิรูปพุทธศาสนา พร้อมกับการตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นในคณะสงฆ์ของไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา แห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม


---ในรัชสมัยต่อมา พระสงฆ์ในสายธรรมยุตได้สานต่อแนวทางการปฏิรูปพุทธศาสนา โดยเฉพาะ อย่างยิ่งด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบความเชื่อในเชิงไสยศาสตร์ ของศาสนาท้องถิ่นในภาคต่าง ๆ ของไทย ในทางหนึ่งก็เพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐ ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีศูนย์กลาง อยู่ที่กรุงเทพฯ และลดบทบาทความสำคัญของท้องถิ่นลง การนำระบบเหตุผลนิยมมาตีความพุทธศาสนา


---เพียงบางส่วนในระยะแรกนั้น ได้สร้างความลำบากใจให้เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง เพราะการใช้ระบบเหตุผลนิยมที่ไม่สมบูรณ์นั้น ย่อมมีศักยภาพที่จะกลายเป็นระบบเหตุผลนิยมที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจท้าทายความเชื่อในทางอภิปรัชญา ของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองเองได้ การยอมรับเหตุผล และข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้นักปฏิรูปรุ่นต่อมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสายมหานิกายและได้รับ การสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ปฏิเสธทั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ของชนชั้นล่าง และความเชื่อทางอภิปรัชญา ของชนชั้นปกครองโดนาลด์ เค สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การปฏิรูป” ไว้ดังนี้


---การปฏิรูปจะพิจารณาถึงความรู้สมัยใหม่อย่างจริงจังแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธศาสนา โดยพื้นฐานแล้วการปฏิรูปเป็นการตีความระบบศาสนาเสียใหม่ โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับสังคมและระดับบุคคล เมื่อมองจากทรรศนะของแนวคิดแบบเหตุผลนิยมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญบางอย่าง ซึ่งหล่อหลอมสถาบันและวัฒนธรรมของศาสนาหนึ่งเพื่อว่าความจริงที่เป็นแก่นแท้ (และเป็นสากลด้วย) ของศาสนานั้น จะได้รับการตีความใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ที่เป็นอยู่จริง


---พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป มีรากฐานอยู่ที่การลดทอน เรื่องราวแบบเทพนิยายในลัทธิศาสนาลง ให้เหลือน้อยที่สุด และตีความคำสอนทางอภิปรัชญาให้อยู่ในรูปของจิตวิทยา หรือตีความให้อยู่ในรูปของอุปมาอุปมัย ที่ชี้ไปที่ตัวปัญญาหรือความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ตัวอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ นักปฏิรูปพุทธศาสนาคนสำคัญ ของไทยได้อธิบาย “สวรรค์” (สุคติ) และ “นรก” (ทุคติ) ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาว่า เป็นเพียง อุปมาอุปมัยของความสุข และความทุกข์ในทางจิตใจ นอกจากนี้ท่านยังได้ตีความสวรรค์ชั้นต่าง ๆ เช่น กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และภพภูมิที่ต่ำ เช่น นรก เปรต อสุรกาย ว่ามิได้หมายถึง รูปธรรมที่มีอยู่เหนือธรรมชาติ แต่หมายถึง ประสบการณ์ทางจิตใจของมนุษย์ที่อาจเป็นความสุขเหมือนอยู่ใน สวรรค์ชั้นต่าง ๆ หรือความทุกข์ที่เหมือนกับตกนรกขุมต่าง ๆ ได้


---การตีความคำสอนของพุทธศาสนาในลักษณะเช่นนี้ ดำเนินไปควบคู่กับการเน้นให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ ขณะที่แต่เดิมนั้นถือกันว่า นิพพานเป็นจุดหมายที่บรรลุถึงได้ยาก จะสามารถเข้าถึงได้ ก็แต่เฉพาะ นักบวชที่สละโลก และบำเพ็ญเพียรเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายภพหลายชาติ เท่านั้น แต่พุทธทาสภิกขุ พระธรรมปิฎก และนักปฏิรูปพุทธศาสนาท่านอื่น ๆ กลับเห็นว่า นิพพาน นั้นเป็นสากลเป็นปัจจุบันธรรมที่สามารถถึงได้ในชีวิตนี้หรือแม้ในขณะปัจจุบัน ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน


---นักปฏิรูปพุทธศาสนารุ่นใหม่ให้เหตุผลว่า ความเชื่อในทางอภิปรัชญานั้นเกิดจากอิทธิพลของ ศาสนาพราหมณ์ ที่เข้ามาปะปนและบดบังคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าไว้ หรือเกิดจากการตีความของ อรรถกถาจารย์รุ่นหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปจึงได้หันกลับไปหา พระไตรปิฎกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุตตันตปิฎก (พระสูตร) และ วินัยปิฎก (พระวินัย) ว่า อยู่ในรูปของ พระพุทธวัจนะและเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า


---ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) อ้างว่านักปฏิรูปพุทธศาสนารุ่นใหม่ได้เน้นคำสอนทางจริยธรรม ที่เป็นการส่งเสริมคุณค่าและคุณภาพชีวิตของชนชั้นกลาง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ในทางธุรกิจ แจ็คสันอ้างว่านักปฏิรูปพุทธศาสนาหลายท่าน ได้สอนเน้นเรื่องของการอดออมประหยัดและ ชีวิตที่มัธยัสถ์ในทางโลก อย่างไรก็ตามการสอนให้ประหยัดและอดออมนั้นมิได้หมายความว่าให้เกียจคร้าน หรือเฉื่อยชา แต่ให้ขยันหมั่นเพียรและประกอบหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์ในทางโลก


---การเน้นเรื่องการงาน และความประหยัดนี้อาจถือได้ว่า เป็นการให้เหตุผลและความชอบธรรมแก่การสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งจำเป็น สำหรับการลงทุนในระบบทุนนิยมโดยผู้ประกอบการที่เป็นชนชั้นกลาง นั่นก็คือ ลัทธิความมัธยัสถ์อดออม ในทางโลกซึ่งนักปฏิรูปพุทธศาสนาชนชั้นกลางของไทยยึดถืออยู่นั้น ได้กลายเป็นเหตุผลทางศาสนา แก่การประกอบการเชิงพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจใหม่ ที่จะต้องละเว้นการบริโภคในปัจจุบันเพื่อการสะสมทุน อันจำเป็นต่อการลงทุนในธุรกิจของตน ดังนั้นจึงอาจตีความได้ว่า ศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลางไทย ได้กลายเป็นตัวแทนของระบบการสร้างความชอบธรรมทางศาสนาแก่ระบบทุนนิยมของไทย


---ถ้าระบบทุนนิยมในสังคมไทย มีรากฐานอยู่บนหลักของความประหยัดมัธยัสถ์ ซึ่งเป็นคำสอนใน พุทธศาสนาของไทยตามคำกล่าวอ้างของแจ็คสันแล้ว ระบบทุนนิยมก็น่าที่จะเติบโตและเฟื่องฟูอยู่ในสังคมไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้นเป็นต้นมา เพราะคำสอนของพุทธศาสนาได้อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ ทำไมระบบทุนนิยมไทยจึงเพิ่งเกิดและเติบโตเมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้เองถ้ามิใช่


---เพราะปัจจัยอื่น อีกประการหนึ่งถ้าหากระบบทุนนิยมไทย ตั้งอยู่บนรากฐานของความประหยัดมัธยัสถ์ ตามหลักคำสอนของ พุทธศาสนาแล้ว คนไทยภายใต้ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ก็ไม่น่าที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว จนกระทั่งเกิด วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ขึ้นได้ การวิเคราะห์ของแจ็คสันในเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลาง กับระบบทุนนิยมไทย จึงมีความแตกต่างจากศาสนาคริสต์นิกาย โปรเตสแตนต์ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป


---ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมในวัฒนธรรมสมัยใหม่ ได้รับการศึกษา อย่างจริงจังเป็นครั้งแรกจาก แม็ค เวเบอร์ (Max Weber, ค.ศ. ๑๘๖๔ - ๑๙๒๐) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ผู้มีชื่อเสียง ในหนังสือเรื่อง จริยธรรมของโปรเตสแตนต์กับจิตใจแบบทุนนิยม (The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism) เวเบอร์ได้ศึกษาถึงเงื่อนไขทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นในตะวันตก เวเบอร์ได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างคำสอนของลัทธิคาลวิน (Calvinism) อันเป็นลัทธิหนึ่งในนิกาย โปรเตสแตนต์ กับท่าทีใหม่ต่อการแสวงหาความมั่งคั่งในอังกฤษและยุโรปยุคหลังการปฏิรูป (Post-Reformation) กล่าวคือ คำสอนที่ว่า “ผู้ซึ่งพระเจ้าเลือกสรรแล้ว” (the elect) จะมีสัญญาณบอกโดยการเป็น ผู้ประสบความสำเร็จจากการงานที่ดี


---ทำให้ผู้ที่นับถือลัทธิคาลวินใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการอดออม เพื่อการลงทุนและความสำเร็จทางธุรกิจ อันเป็นข้อพิสูจน์ว่าตนเองก็เป็น “คนที่พระเจ้าเลือกแล้ว” คนหนึ่งเช่นกัน อันก่อให้เกิดการสะสมทุนและระบบทุนนิยมขึ้นในเวลาต่อมา นับเป็นท่าทีใหม่ของศาสนาคริสต์ ที่ยอมรับการที่มนุษย์แสวงหาความมั่งคั่งในทรัพย์สิน และบางครั้งถึงขนาดสนับสนุนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตาม หลักการของศาสนา


---ในศตวรรษที่ผ่านมา การที่นักปฏิรูปได้ปฏิเสธ อภิปรัชญาของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองนั้น ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองที่มีต่อระบอบการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นักปฏิรูปได้ลดบทบาทและความสำคัญของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองลง โดยการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์และลัทธิอื่นที่มิใช่พุทธ ศาสนา นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวความคิดในเรื่อง “สมมติเทพ” ของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ก็ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์จากขอม เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะดำรงความชอบธรรม ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้


---การตีความพุทธศาสนาของนักปฏิรูป ได้เน้นไปที่ศักยภาพของแต่ละบุคคลในอันที่จะเข้าถึง ความจริงที่สูงสุด (นิพพาน) ทรรศนะที่ว่านิพพานเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้นั้น สอดคล้องกับ ความต้องการของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่เรียกร้องระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม ในการปกครองและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน อาจกล่าวได้อย่างกว้าง ๆ ว่าผู้ที่นิยมการตีความทางอภิปรัชญา ของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองนั้น


---มักจะมีแนวโน้มนิยมการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไม่ว่าจะเป็น ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบเผด็จการ ส่วนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การตีความแบบอภิปรัชญา และนิยมชมชอบการตีความเชิงจิตวิทยาในพุทธศาสนานั้น ก็มักมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบเผด็จการ หรือแบบรวมศูนย์อำนาจ และนิยมชมชอบระบอบประชาธิปไตยแทน


---พุทธศาสนาเป็นทฤษฎีพื้นเมืองของไทยเพียงทฤษฎีเดียว ที่สามารถจะเป็นรากฐานทางความคิด ของโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่แก่สังคมไทยได้ ดังนั้นการเชื่อมโยงความถูกต้องในทางพุทธศาสนา ให้เข้ากับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนนั้น จึงอาจนับได้ว่า เป็นความพยายามของชนชั้นกลาง ที่จะใช้ศาสนาอันเป็นสัญลักษณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน ในอันที่จะตอบสนองความต้องการทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของตน


*๓. ไสยศาสตร์ของไทย


---“ไสยศาสตร์” มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลและงมงาย การเน้นในเรื่องวิญญาณ และอิทธิปาฏิหาริย์ที่เหนือธรรมชาติ ทำให้ไสยศาสตร์ของไทย เข้ากันไม่ได้กับการตีความโดยใช้เหตุผลและ ข้อเท็จจริงของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป พระสงฆ์ฝ่ายปฏิรูปได้ออกมาปฏิเสธเรื่องวิญญาณและอิทธิปาฏิหาริย์ ของไสยศาสตร์อย่างเปิดเผย อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ในสายพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองนั้น ไม่กล้าปฏิเสธไสยศาสตร์ทั้งหมด เพราะจะกระทบกระเทือนความเชื่อในเรื่องชาติก่อนชาติหน้า และนรกสวรรค์ ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมซึ่งตนเองสนับสนุนอยู่ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองจึงยอมรับไสยศาสตร์ ไว้ด้วยส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิญญาณที่อยู่ตามภพภูมิต่าง ๆ


---คำว่า “ไสยศาสตร์” เป็นคำสมาส มาจากคำว่า “ไสย” (นอนหลับ, หลับไหล) กับ “ศาสตร์” (ความรู้) ดังนั้น “ไสยศาสตร์” จึงแปลว่า “ความรู้ของผู้ที่ยังหลับไหลอยู่” ความเชื่อทางไสยศาสตร์นั้น มีอยู่ในสังคมไทย มาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ก็ค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงตามลำดับ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทาง วิทยาศาสตร์ การขยายตัวของระบบการศึกษาสมัยใหม่และการปฏิรูปศาสนา ปัจจุบันไสยศาสตร์ยังคงมีบทบาท และอิทธิพลในสังคมไทยอยู่ในหลายลักษณะและหลายระดับด้วยกัน ซึ่งพอจะแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้ดังนี้


*ก)ไสยศาสตร์แห่งอภิปรัชญา


---ไสยศาสตร์แห่งอภิปรัชญา (ระดับสูง) เป็นไสยศาสตร์ในทางความคิด ซึ่งมีอิทธิพลที่ลึกซึ้ง ต่อความเชื่อของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมีดังนี้


---ลัทธิ “กรรมเก่า” ของชนชั้นปกครอง ซึ่งอธิบายสถานะของชนชั้นทางสังคมในชาติปัจจุบัน ให้เชื่อมโยงกับ “กรรมเก่า” ในอดีตชาติว่า ผู้ที่มีอำนาจและเงินทองในชาติปัจจุบันเป็นเพราะเขาได้ทำกรรมดี มาก่อนในอดีตชาติ ส่วนผู้ที่ยากจนและไร้อำนาจนั้นเป็นเพราะในอดีตชาติเขาทำบุญมาไม่พอหรือทำกรรมชั่ว มาก่อน ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้จัดเป็นไสยศาสตร์ทางอภิปรัชญา ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นปกครองและระบบสังคมที่เป็นอยู่ และต้องการให้ประชาชนยอมรับในสถานะทางชนชั้นของตนในปัจจุบัน


---ในทางตรงข้าม ลัทธิ “วันสิ้นโลก” ของชนชั้นล่างเป็นอภิปรัชญาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือของผู้ที่ไม่พอใจต่อสภาพชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ ลัทธิ “วันสิ้นโลก” จะย้ำคำสอนที่ว่า วาระสุดท้ายของโลกกำลังจะมาถึงแล้ว ระบบอำนาจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกำลังจะถึงกาลอวสาน ผู้คนจะล้มตาย เป็นจำนวนมาก สิ่งต่าง ๆ จะกลับตาลปัตรไปหมด (เช่น ก้อนกรวดจะกลายเป็นเงินทอง และเงินทองจะ กลับกลายเป็นก้อนกรวด) ผู้มีบุญจะมาเกิดเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เชื่อในคำสอนนี้ ลัทธิ “วันสิ้นโลก” จึงเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ เป็นไสยศาสตร์ทางอภิปรัชญาที่ปลอบประโลมใจของคนทุกข์ยากหรือคนสิ้นหวัง ให้เกิดความหวังว่าสังคมใหม่กำลังจะมาถึง


---คำสอนนี้จะปรากฏในยุคสมัยที่ผู้คนทุกข์เข็ญไร้ที่พึ่งและไร้ทางออก และอาจจะกลายเป็นพลัง ที่ผลักดันให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ได้ เช่น การลุกฮือของประชาชนชาวอีสานภายใต้การนำของ “ผู้มีบุญ” ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ (ซึ่งถูกทางราชการเรียกว่า “กบฏผีบุญ”) หรือการร้องรำทำเพลง เพื่อต้อนรับ “ผู้มาโปรดใหม่” ของชนพื้นเมืองอินเดียแดง ในทวีปอเมริกา ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังที่ถูกคนขาว เข่นฆ่า


---ลัทธิ “วันสิ้นโลก” นี้อาจจะปรากฏในยุคสมัยที่ผู้คนมีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือมีความไม่พอใจต่อ สภาพชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่ก็ได้ เช่น “วันสิ้นโลก” ของลัทธิโอม ชินริเคียว ในญี่ปุ่นปัจจุบัน ภายใต้การนำของนายโซโกะ อาซาฮารา ศาสดาผู้มีดวงตาพิการ ซึ่งพาบรรดาสาวกไปสู่การฆาตกรรม และได้ ก่อวินาศกรรมสะเทือนขวัญโดยการวางก๊าซพิษ “ซาริน” ในขบวนรถไฟและสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า ๑๐ คน และบาดเจ็บอีกกว่า ๕,๐๐๐ ราย


*ข)ไสยศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์และการทำนายทายทัก


---ไสยศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์และการทำนายทายทัก (ระดับกลาง) เป็นไสยศาสตร์แห่งความเชื่อ และความศรัทธาของสามัญชนในทุกชนชั้น ปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ ดังนี้


---ลัทธิ “เกจิอาจารย์” เป็นลัทธิบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของพระภิกษุหรือนักบุญที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่า มีอิทธิฤทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่จะบันดาลลาภยศหรือปกป้องภัยให้แก่ผู้ที่เคารพกราบไหว้ได้ เช่น ในกรณีของ “หลวงปูแหวน” ในอดีต หรือ “หลวงพ่อคูณ” ในปัจจุบัน


---ลัทธิ “รูปเคารพ” เป็นลัทธิที่กราบไหว้บูชาวัตถุต่าง ๆ ที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่า วัตถุเหล่านั้น มีอิทธิปาฏิหาริย์ สามารถปกป้องคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยอันตราย หรือจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือบันดาล โชคลาภให้ได้ เช่น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ พระพรหม (เอราวัณ) ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “เทวรูปดื่มนม” ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนเครื่องรางของขลังต่าง ๆ มีพระเครื่องและตะกรุด เป็นต้น


---ลัทธิ “โหราศาสตร์” เป็นลัทธิที่เชื่อในเรื่องอำนาจของดวงดาวต่อชะตาชีวิตของมนุษย์ หรือต่อชะตาของบ้านเมืองโดยส่วนรวม สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในทางจิตวิทยา ได้ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยการทำนายทายทักเรื่องของ “ตัวเอง” เป็นส่วนใหญ่ การดูดวงชะตาราศีจึงเป็นที่นิยมกันมากในหมู่สามัญชน ทุกชนชั้น


*ค)ไสยศาสตร์แห่งการทรงเจ้าเข้าผีและคุณไสย


---ไสยศาสตร์แห่งการทรงเจ้าเข้าผีและคุณไสย (ระดับต่ำ) เป็นไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อ อำนาจลึกลับโดยตรง หรือเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจลึกลับในการควบคุมบุคคลอื่น ปรากฏออกมาในหลายรูปแบบด้วยกันดังนี้


---ลัทธิ “ทรงเจ้าเข้าผี” เป็นลัทธิที่เกี่ยวข้องกับการติดต่ออำนาจลึกลับโดยตรง ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็น “เทพ” หรือ “ผี” ที่มนุษย์ต้องการติดต่อด้วย ลัทธิทรงเจ้าเข้าผีมีหลายรูปแบบ เช่น การเข้าทรง “เทพ” จากเทพนิยายที่ไม่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ การเข้าทรงบุคคลในประวัติศาสตร์ (เช่น กษัตริย์ในอดีต หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในอดีต) การเล่น “ผีถ้วยแก้ว” หรือ “ผีตะกร้า” เป็นต้น นอกจากนี้บางครั้งในระหว่างพิธี อาจจะมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยการแทงลิ้น แทงแก้ม หรือลุยไฟอีกด้วย


---ลัทธิ “ทูตสวรรค์” เป็นลัทธิที่เชื่อในเรื่องอำนาจลึกลับของศาสดาองค์ใหม่ ซึ่งเข้ามาแทนที่ศาสดาของศาสนาเดิม เจ้าของลัทธิมักจะอ้างตัวเองว่าเป็น “ศาสดาองค์ใหม่” เสียเอง หรือมิฉะนั้นก็เป็น “ทูตสวรรค์” ที่สามารถติดต่อกับ “ศาสดาองค์ใหม่” ได้โดยตรง เช่น ลัทธิ “ศรีอาริย์” ซึ่งมีนายสมบุญ แซ่ลิ้ม ตั้งตนเป็นเจ้าของลัทธิ โดยมีสำนักอยู่ที่บ้านหนองดิน ตำบลหนองดินแดง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นต้น


---ลัทธิ “ไสยดำ” เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจลึกลับในการควบคุมบุคคลอื่นโดยตรงไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็น “เสน่ห์” เพื่อให้คนอื่นหลงใหล หรือจะเป็น “คุณไสย” เพื่อทำร้ายคนอื่นก็ตาม เช่น การเสกหนังหรือตะปูเข้าท้องของศัตรู การทำเสน่ห์ยาแฝด ลงนะหน้าท้อง หรือการใช้น้ำมันพรายเพื่อให้ผู้อื่นหลงใหลตน เป็นต้น


---ในขณะที่ลัทธิ “กรรมเก่า” เป็นไสยศาสตร์ของชนชั้นปกครอง และลัทธิ “วันสิ้นโลก” เป็นไสยศาสตร์ ของชนชั้นล่างนั้น ความเชื่อใน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์และการทำนายทายทัก” กับ “การเข้าเจ้าทรงผีและคุณไสย” กลับเป็นไสยศาสตร์ของสามัญชนในทุกชนชั้น พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปจะปฏิเสธไสยศาสตร์ในทุกระดับ โดยเน้นการใช้เหตุผลและสติปัญญาตามความหมายของคำว่า “พุทธะ” ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน


*ความเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป


---พุทธศาสนาในประเทศไทย ไม่เพียงแต่ถูกกำหนดโดยการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ภายใต้การควบคุมของรัฐเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ ระหว่างกลุ่มชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ พระสงฆ์แต่ละรูป และวัดแต่ละวัด อันที่จริงแล้วพัฒนาการที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาของไทย เกิดขึ้นภายนอกองค์กรปกครองของคณะสงฆ์ ที่เป็นทางการ ซึ่งมีระบบการบริหารที่ค่อนข้างจะเก่าและล้าสมัย บ่อยครั้งทีเดียวที่พระภิกษุบางรูป ซึ่งได้เสนอการตีความคำสอน หรือระบบปฏิบัติธรรม ที่น่าสนใจ หรือมีบุคลิกภาพที่ดีเด่น ได้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนที่ศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลุ่มของพระภิกษุและสานุศิษย์ต่าง ๆ เหล่านั้น อาจจัดได้ว่าเป็นสายต่าง ๆ หรือนิกายในพุทธศาสนาของไทย


---ในระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สายต่าง ๆ ดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายปฏิรูป และมีศูนย์รวมอยู่ที่คำสอนของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านอิทธิพลของคำสอน และจำนวนของผู้ที่นับถือ การตีความพุทธศาสนาและวิธีการปฏิบัติธรรมของสายต่าง ๆ เหล่านั้น มักจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของกลุ่มบุคคลเหล่านั้นอยู่ด้วย สำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองนั้น


---งานเผยแพร่พุทธศาสนาของพระภิกษุในรูปของสิ่งตีพิมพ์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น วิทยุ เทป โทรทัศน์ และวิดีโอ เป็นต้น มีอิทธิพลและความสำคัญยิ่งกว่ากิจกรรมขององค์กรสงฆ์ที่เป็นทางการ ซึ่งนับวันมีแต่จะตามไม่ทัน กับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน พระภิกษุผู้ทรงอิทธิพลที่สุดรูปหนึ่ง ซึ่งได้เผยแพร่ธรรมะต่อสาธารณชนในรูปของสิ่งตีพิมพ์ ได้แก่ พุทธทาสภิกขุ นักปฏิรูปพุทธศาสนาคนสำคัญของไทย


---ในการปฏิรูปพุทธศาสนาของท่าน พุทธทาสภิกขุ ได้ใช้หลักแห่ง “ประโยชน์” ในการตีความพุทธศาสนา ท่านเห็นว่าการตีความพุทธศาสนาใด ๆ จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อคนสมัยปัจจุบันให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ในการอธิบายความหมายของ นิพพาน (ความดับทุกข์) พุทธทาสภิกขุเห็นว่า นิพพานเป็นเรื่อง ทางจิตใจที่สามารถเข้าถึงได้แม้แต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ท่านกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสอนให้คนเราเข้าถึงนิพพานภายหลังจากที่ตายไปแล้ว คำสอนในลักษณะนี้ ทำให้คนสมัยปัจจุบัน ไม่สนใจเรื่องของนิพพาน ยิ่งไปกว่านั้นการสอนเช่นนี้ยังทำให้พุทธศาสนาไร้ความหมายอีกด้วย


---การใช้เหตุผลนิยม ในการตีความคำสอนและวิธีปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา ทำให้นักปฏิรูปพุทธศาสนาส่วนใหญ่ ปฏิเสธทั้งส่วนที่เป็นไสยศาสตร์และส่วนที่เป็นอภิปรัชญาของพุทธศาสนา การปฏิเสธไสยศาสตร์ในทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องของวิญญาณนิยม และอภิปรัชญาของพุทธศาสนานั้น ทำให้นักปฏิรูป อยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับชนชั้นล่าง ทั้งที่เป็นชาวนาในชนบทและกรรมกรในเมืองที่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ และกับชนชั้นปกครอง ซึ่งสนับสนุนอภิปรัชญาที่เชื่อมโยงสถานะทางสังคมปัจจุบันให้เข้ากับ “กรรมเก่า” ในอดีตชาติ ดังนั้น


---อาจวิเคราะห์ได้ว่า พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาของ ชนชั้นกลาง ที่เกิดขึ้นเพราะ ระบบการศึกษาสมัยใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจในสังคมไทย ทรรศนะในเรื่องเหตุผลนิยม ของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป มีส่วนเชื่อมโยงกับสถานะในทางสังคมและการเมืองของบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง และเป็นฝ่ายสนับสนุนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเชิดชูเสรีภาพ และความเสมอภาคในโครงสร้างทั้งทางการเมืองและสังคมของไทย


---อันที่จริงแล้วคำสอนในพุทธศาสนา มิได้กล่าวถึงแนวความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ อย่างเช่นประชาธิปไตยโดยตรง แต่นักปฏิรูปก็ได้พยายามตีความคำสอนทางพุทธศาสนา ให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน นอกจากนี้พระภิกษุและสานุศิษย์ฝ่ายปฏิรูป ยังได้ตีความคำสอนทางพุทธศาสนา โดยการส่งเสริมเรื่องของสิทธิมนุษยชน ทั้งในทางสังคมและการเมืองอีกด้วย


*พุทธทาสภิกขุ  นักปฏิรูปพุทธศาสนาของไทย


---พุทธทาสภิกขุ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านมีชื่อเดิมว่า เงื่อม พานิช ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาสังกัดมหานิกาย เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี เกี่ยวกับนาม “พุทธทาส” ท่านกล่าวว่า


---ข้าพเจ้ามอบร่างกายและชีวิตนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส


---ภายหลังจากที่ได้ศึกษาอยู่ในธรรมเนียมวัดของไทยเป็นเวลาหลายปี ทั้งที่ไชยาและที่กรุงเทพฯ ท่านก็ได้หลีกเร้นไปอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอุทิศตัวให้กับการศึกษาและการปฏิบัติธรรม เป็นเวลา ๖ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพียงหนึ่งเดือนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ ท่านก็ได้ตั้งวัดป่าแห่งหนึ่งขึ้นโดยให้ชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” (สวนแห่งความหลุดพ้น) ที่ตำบลพุมเรียง ต่อมา ท่านได้ย้ายสวนโมกข์มายังสถานที่ตั้งในปัจจุบันที่อำเภอไชยา พุทธทาสภิกขุได้อบรมสั่งสอนธรรมะและทำงาน ปฏิรูปพุทธศาสนาตลอดชั่วอายุขัยของท่าน นับเป็นเวลาได้กว่าครึ่งศตวรรษ ท่านมรณภาพเมื่อ วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ณ สวนโมกขพลาราม อันเป็นสถานที่พำนักซึ่งท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตที่นั่น


---พุทธทาสภิกขุได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก จากแนวทางการปฏิรูปด้วยเหตุผลนิยมของรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระภิกษุ สายธรรมยุต และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พระธรรมยุตบางส่วนในระหว่างปีต้น ๆ แห่งชีวิตนักบวชของท่าน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ งานแปลของท่านในเรื่องพุทธประวัติเป็นที่ยอมรับ และได้กลายเป็นตำราเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย


---ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตในการวิเคราะห์พุทธศาสนาด้วยระบบของเหตุผล พุทธทาสภิกขุได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนตัวจากพระเถระสายธรรมยุตหลายท่าน ในระหว่างทศวรรษที่ ๒๔๘๐ และ ๒๔๙๐ สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงค์พระสังฆราชเจ้า (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) แห่งวัดราชาธิวาส เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดของท่าน เมื่อครั้งที่นักอนุรักษ์นิยมอย่างคุณพระทิพย์ปริญญา ได้ร้องเรียนต่อ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวชิรญาณวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ กล่าวหาพุทธทาสภิกขุ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามิได้ทรงสั่งการใด ๆ มากไปกว่า ทรงแนะนำให้พุทธทาสภิกขุใฝ่ใจศึกษาอรรถกถาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค


---การที่พุทธทาสภิกขุได้รับความสนับสนุนจากพระเถระสายธรรมยุตบางรูปนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเพราะ แนวความคิดด้านการปฏิรูปของท่าน ได้รับการยอมรับว่า เป็นการสืบทอดธรรมเนียมการใช้เหตุผลและสติปัญญา ที่เริ่มต้นขึ้นโดยรัชกาลที่ ๔ และได้รับการสานต่อโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธทาสภิกขุได้วิพากษ์วิจารณ์ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของไทยเป็นอย่างมาก และท่าน สนับสนุนความริเริ่มใหม่ ๆ อย่างเช่น การสอนพุทธศาสนาแก่ฆราวาส ด้วยภาษาไทยแทนการสอนด้วยภาษาบาลี รวมทั้งสนับสนุนการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยอีกด้วย


---การที่พุทธทาสภิกขุวิพากษ์วิจารณ์ ความเชื่อและความประพฤติของเพื่อนพระภิกษุสายมหานิกาย อีกทั้งนำคำสอนและข้อวัตรปฏิบัติบางอย่างของสายธรรมยุตมาใช้ ทำให้ฝ่ายธรรมยุตรู้สึกพอใจ นอกจากนี้การที่พุทธทาสภิกขุไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของคณะสงฆ์ที่กรุงเทพฯ โดยปลีกตัวไปอยู่วัดป่าในต่างจังหวัดนั้น ทำให้ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นคู่แข่งบารมีกับใครในสายตาของผู้ปกครองพระสงฆ์ พุทธทาสภิกขุมิได้ร่วมขบวนการประท้วงใด ๆ เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปคณะสงฆ์ทั้งในศตวรรษที่ ๒๔๗๐ และหลังจากนั้น แต่ท่านกลับทำงานปฏิรูป พุทธศาสนาด้วยสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวที่สวนโมกข์ โดยการบรรยาย การเขียน และการตีพิมพ์เท่านั้น


---ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jakson) นักวิชาการศาสนาชาวออสเตรเลีย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ พุทธทาสภิกขุมิได้บวชใหม่ในสายธรรมยุต เป็นเพราะท่านสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยที่คณะราษฎร์ ได้ประกาศไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และเพราะพื้นฐานความเป็นชนชั้นกลางของท่าน ทำให้สถานภาพทางสังคม และทางการเมืองของท่านขัดแย้งกับความเป็นชนชั้นขุนนางของสายธรรมยุต การที่พุทธทาสภิกขุยังคงบวชอยู่ ในสายมหานิกายนั้น มีความหมายอย่างสำคัญต่อผู้สนับสนุนของท่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง บุคคล เหล่านี้มองว่า มหานิกายมีความคิดที่ก้าวหน้ากว่า และสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสามัญชนมากกว่า


---ประวัติศาสตร์ทางความคิดของพุทธศาสนาของไทย ในรอบสองศตวรรษที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึง ชัยชนะของฝ่ายเหตุผลนิยม หรือนับเป็นการก้าวจากระบบไสยศาสตร์มาสู่ระบบของเหตุผล พุทธศาสนาที่ ประกอบด้วยปัญญาได้กลายเป็นฐานแห่งความชอบธรรมทางการเมืองที่รัฐบาลไทยได้นำมาใช้นับตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา


---อย่างไรก็ตามภายหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารโดยตรงเป็นเวลานานถึงทศวรรษครึ่งนั้น ชนชั้นสูงของไทยโดยทั่วไปได้ละทิ้งพุทธศาสนาที่มีเหตุผล และกลับไปหาพุทธศาสนาแบบเก่าซึ่งสามารถอธิบาย ความชอบธรรมของการปกครองด้วยเผด็จการทหารได้ ความตกต่ำในสถานะทางการเมืองของพุทธศาสนาฝ่าย ปฏิรูปภายใต้ระบอบปกครองของสฤษดิ์และถนอม เป็นเหตุนำความตกต่ำมาสู่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูปที่สำคัญ ดังเช่น พระพิมลธรรมและพุทธทาสภิกขุ ในระยะนี้พระภิกษุที่มีความคิดก้าวหน้าทั้งหลาย ได้ถูกรังควานและ ถูกปราบปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพิมลธรรม และพุทธทาสภิกขุเอง ก็ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกในสมัยของรัฐบาลสฤษดิ์


---อันที่จริงแล้ว การกดขี่ทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ และการกลับไปหาแนวคิดเก่าในทางศาสนา ยิ่งทำให้พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปกับกลุ่มก้าวหน้าทางการเมืองหันหน้าข้าหากันมากขึ้น ในขณะที่ผู้สนับสนุน ตอนแรก ๆ ของพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นพระธรรมยุต ซึ่งมองว่า พุทธทาสภิกขุได้สืบทอดธรรมเนียมการใช้สติปัญญาและเหตุผลของสายธรรมยุต ท่านกลับได้สานุศิษย์กลุ่มใหม่ซึ่งเป็นนักศึกษาและชนชั้นกลาง


---ในเวลาต่อมา นโยบายของรัฐบาลสฤษดิ์และถนอมแทนที่จะเป็นการทำลายนักปฏิรูปทางศาสนา กลับทำให้พุทธทาสภิกขุและนักปฏิรูปพุทธศาสนาท่านอื่น ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของทางเลือกใหม่โดยไม่ตั้งใจ ภายหลังจากความสำเร็จในระยะแรกของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ที่มีต่อความเชื่อแบบเก่า นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม


---ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๖ ระบบเหตุผลนิยมทางศาสนาก็ตกอยู่ในสถานะตั้งรับ การรวมตัวกันของชนชั้นกลาง ในเหตุการณ์เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้นำรูปแบบของรัฐบาลประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลดีต่อพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปต่อไป ประวัติศาสตร์ทางความคิดของพุทธศาสนาของไทย จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองสมัยใหม่ของไทยมาโดยตลอด


---ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพุทธทาสภิกขุอยู่ที่ว่า ท่านได้นำระบบของเหตุผล รวมทั้งการปฏิบัติที่เคร่งครัดของสายธรรมยุต มาสู่พระภิกษุสายมหานิกายซึ่งเป็นพระภิกษุส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ท่านยังได้สานต่องานปฏิรูปพุทธศาสนาซึ่งเริ่มต้นโดยรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้สำเร็จลุล่วงโดยสมบูรณ์


---โดยการที่ท่านได้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งไสยศาสตร์ของไทยและพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ปีเตอร์ แจ็คสัน ตั้งข้อสังเกตว่าพระสายธรรมยุตไม่สามารถสืบทอดธรรมเนียมทางสติปัญญาจากการริเริ่มของรัชกาลที่ ๔ ได้ เนื่องจากมรดกทางประวัติศาสตร์ ที่อิงอยู่บนฐานทางการเมืองในฝ่ายอนุรักษ์นิยมของสายธรรมยุตเอง และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสายธรรมยุตก็ไม่อาจจะเห็นชอบ อย่างเปิดเผยต่อพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปได้ เนื่องจากความใกล้ชิดกับชนชั้นปกครอง


---การอธิบายพุทธศาสนา ด้วยสติปัญญาตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุ ได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างโดยปัญญาชนร่วมสมัยทั้งพระและฆราวาส พุทธทาสภิกขุมีอิทธิพลทำให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและอยู่ในวงการวิชาชีพต่าง ๆ เห็นว่า พุทธศาสนาฝ่ายมหานิกาย มีทรรศนะที่ก้าวหน้า ทั้งในเรื่องสติปัญญาและในทางการเมือง หลุยส์ กาโบด์ (Louis Gabaude) ได้เปรียบเทียบงานปฏิรูปของพุทธทาสภิกขุ กับการปฏิรูปศาสนาคริสต์ ในยุโรปในคริสตศวรรษที่ ๑๖ ว่า


---อาจจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะเปรียบเทียบในที่นี้ ถึงความเคลื่อนไหวทางปฏิรูป ของพุทธทาสภิกขุ กับการปฏิรูปศาสนาคริสต์ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ ของยุโรปชาวโปรเตสแต้นท์ และบางส่วนของชาวคาทอลิกเห็นว่า ยุโรปนั้นไม่เคยที่จะเป็นคริสเตียนอย่างแท้จริง ศาสนจักร ได้รวมเอาพิธีกรรม เทศกาล และการปฏิบัติในยุคก่อนศาสนาคริสต์เข้าไว้เป็นจำนวนมาก และ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะกวาดล้าง “ความเชื่อที่งมงาย” เหล่านี้ให้หมดไป


---พุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางสติปัญญา และทางการเมือง มากที่สุดผู้หนึ่ง ในวงการพุทธศาสนาของไทย ในขณะที่ท่านหลีกเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นส่วนตัว ท่านก็ได้รักษาความสัมพันธ์ที่ดี กับนักการเมืองในฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย นอกจากนี้ท่านยังได้บรรยาย และเขียนบทความที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองอีกด้วย ในทศวรรษ ๒๔๘๐ มีการติดต่อกันระหว่างพุทธทาสภิกขุ กับนายปรีดี พนมยงค์ นักการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้า


---ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และระหว่างพุทธทาสภิกขุ กับนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นักกฎหมายฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน และในทศวรรษ ๒๔๙๐ ท่านได้ติดต่อกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ซึ่งเป็นนักเขียนและ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม งานเขียนทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ มีความก้าวหน้าน้อยกว่าการตีความทางด้าน คำสอนของท่าน ท่านจะเน้นความสำคัญของการมีผู้นำทางการเมือง ที่มีคุณธรรม (ทศพิธราชธรรม) ในทรรศนะของท่าน รัฐบาลไม่ว่าจะกระจายอำนาจและเป็นประชาธิปไตย หรือรวบอำนาจและเป็นเผด็จการ


---ก็ไม่สำคัญเท่ากับคุณสมบัติของความมีศีลธรรมของผู้นำ พุทธทาสภิกขุ เป็นนักคิดผู้ใฝ่หาโลกแห่งอุดมคติ เมื่อท่านพูดถึงสังคมชาวพุทธที่ควรจะเป็น ท่านจะพูดถึงรัฐของชาวพุทธในอดีต ซึ่งมีกษัตริย์ ขุนนาง และเศรษฐีเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และยึดมั่นอยู่ในหลักของศีลธรรมและการให้ทาน เศรษฐีในยุคนั้นจะตั้งโรงทานเพื่อช่วยเหลือเจือจุนแก่คนทุกข์ยาก วิธีคิดอย่างเป็นปัจเจกเช่นนี้ สามารถเป็นแนวทางจริยธรรมส่วนตัวแก่ผู้นำทางการเมืองและแก่บุคคลทั่วไปได้ แต่จะสามารถแก้ไขปัญหา ในเชิงโครงสร้างซึ่งกำลังเผชิญหน้าประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอยู่


---ในขณะที่การตีความด้วยปัญญาและเหตุผลของพุทธทาสภิกขุ ได้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งไสยศาสตร์และ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองนั้น ทรรศนะทางการเมืองของท่านกลับนิยมไปทาง “เผด็จการ” มากกว่า ประชาธิปไตย อันที่จริงแล้วความคิดของท่านกลับไปกลับมาในระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ กล่าวคือ ในระยะแรก ท่านสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน แต่มาในระยะหลังท่านกลับสนับสนุนสิ่งที่ ท่านเรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” งานเขียนทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุในระยะหลัง


---จึงเข้ากันได้กับ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองของไทย ที่พยายามสร้างความชอบธรรมแก่การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเน้นถึงการมีผู้นำที่ เข้มแข็ง มีศีลธรรม และรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของประเทศ ผลที่ติดตาม มาจากทรรศนะในระยะหลังของพุทธทาสภิกขุ ดังที่ ปีเตอร์ แจ็คสัน ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย ยอมรับและชื่นชมการตีความ ในเรื่องคำสอนทางพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุ แต่ได้วิพากษ์วิจารณ์และเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทฤษฎีทางการเมืองของท่านต่อไป


*พุทธทาสภิกขุกับสำนักพุทธศาสนาของไทย


---พุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน มีสำนักและครูอาจารย์ที่ตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า แตกต่างกันออกไป และสอนพุทธศาสนาอยู่หลายแนวทางด้วยกันบางสำนักถือว่า “ศีล” และความบริสุทธิ์ ทางจริยธรรมเป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า บางสำนักเห็นว่า “สมาธิ” เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ส่วนบางสำนักเห็นว่า “ปัญญา” และการใช้เหตุผล เป็นกุญแจสำคัญ ที่ไขไปสู่ความเข้าใจในพุทธศาสนา แต่ทุกสำนักก็พูดถึง ศีล สมาธิ และปัญญาประกอบกันไปด้วย โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ศีล สมาธิ และปัญญา ได้กลายมาเป็นคำสอนพื้นฐานที่สำคัญ ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย


*๑. สำนักแห่ง “ศีล” สันติอโศก 


---พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศก เป็นตัวแทนทางด้าน “ศีล” ของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน พระโพธิรักษ์ซึ่งบวชในสายธรรมยุตในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และเหล่าสานุศิษย์ ได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด โดยการฉันอาหารมังสวิรัติ เพียงวันละมื้อ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เมื่อตัดสินจากมาตรฐานของท่าน พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ในคณะสงฆ์ไทยอยู่ต่ำกว่าระดับความบริสุทธิ์ทางศีล ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ พระโพธิรักษ์จึงได้วิพากษ์วิจารณ์ความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ความเชื่อที่งมงาย และวัตถุนิยมของ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ความลุ่มหลงในการเสพสุข การฉ้อราษฎร์บังหลวง และความรุนแรงของสังคมไทยอีกด้วย


---กล่าวโดยรวม สันติอโศกสนับสนุนการตีความของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป พระโพธิรักษ์ได้นำเอา ระบบเหตุผลนิยม อันเป็นสิ่งที่ร่วมกันอยู่ในหมู่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นพุทธทาสภิกขุหรือ พระธรรมปิฎกมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งในแง่ของหลักพุทธศาสนาและความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม แต่การตีความพุทธศาสนาของท่านนั้น


---บางครั้งก็คลาดเคลื่อนไปจากพระไตรปิฎก เช่น คำสอนที่ว่า พระอรหันต์ยังสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีกหากต้องการ และพระอรหันต์กับพระโพธิสัตว์ โดยสาระสำคัญแล้ว ไม่แตกต่างกัน เป็นต้น ในข้อที่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูปปฏิเสธการตีความทางอภิปรัชญาของพุทธศาสนา ของชนชั้นปกครองนั้น พระโพธิรักษ์ไปไกลยิ่งกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง โดยการที่ท่านได้ปฏิเสธ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ในระดับองค์กร และสถาบันอีกด้วย ทำให้ท่านถูกมองว่า เป็นภัยต่อความมั่งคงของการปกครองคณะสงฆ์ไทย


---การที่ท่านประกาศตนเป็นอิสระจากการปกครองของคณะสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น ในที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐและคณะสงฆ์ของไทยไม่อาจยอมรับได้ พระโพธิรักษ์และพระภิกษุแห่งสำนักสันติอโศกจึงถูกปราบปราม ด้วยการบังคับให้ลาสิกขา และถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่าง ๆ พระโพธิรักษ์และสานุศิษย์ยังคง ปฏิบัติภารกิจในทางศาสนาต่อไปด้วยการครองผ้าขาว (แทนการครองผ้าสีกรักมาแต่เดิม) และต้องต่อสู้คดี ในชั้นศาลมาจนถึงทุกวันนี้ พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศกนับได้ว่า เป็นตัวแทนพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลางกลุ่มที่ไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ของสังคมไทยในปัจจุบัน


*๒.สำนักแห่ง “สมาธิ”  พุทโธ, ยุบหนอ-พองหนอ, ธรรมกาย, และการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว


---สำนักกรรมฐานที่เป็นตัวแทนในเรื่อง “สมาธิ” ของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยสี่สายคือ สาย “พุทโธ” ซึ่งมีอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ก่อตั้ง สาย “ยุบหนอ-พองหนอ” ซึ่งพระพิมลธรรมได้นำมาเผยแพร่จากประเทศพม่า สาย “ธรรมกาย” ซึ่งมีหลวงพ่อสด จนฺทสโร แห่งวัดปากน้ำเป็นผู้ริเริ่ม และสาย “การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว” ซึ่งมีหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นผู้แนะนำสั่งสอน เป็นครั้งแรก


*ก)“พุทโธ”


---อาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และสานุศิษย์ซึ่งรวมทั้งอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้รับการยกย่องว่าเป็นสายกรรมฐาน ที่เข้มแข็งที่สุดสายหนึ่งของไทย ภายในกรอบพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก พระภิกษุในสายนี้ เป็นฝ่ายธรรมยุต (ยกเว้นสำนักอาจารย์ชา สุภทฺโท ซึ่งบวชในฝ่ายมหานิกาย) และประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สำนักกรรมฐานสายนี้ สอนการปฏิบัติสมาธิโดยให้สติจดจ่ออยู่กับ ลมหายใจ ขณะที่ภาวนาคำว่า “พุท” ในเวลาหายใจเข้า และคำว่า “โธ” ในเวลาหายใจออก คำสอนของสายอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้กล่าวถึงประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ในขณะปฏิบัติสมาธิ ซึ่งรวมทั้งการได้พบปะกับเหล่าเทวดา เปรต อสุรกาย และภพภูมิต่าง ๆ สำนักกรรมฐานสาย “พุทโธ” นับได้ว่าเป็นตัวแทนฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองในประเทศไทยปัจจุบัน


*ข)“ยุบหนอ - พองหนอ”


---ในสมัยที่พระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ท่านได้ส่งพระภิกษุไปศึกษากรรมฐาน มาจากประเทศพม่า แล้วจัดส่งคณะอาจารย์ฝึกอบรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐานไปตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย การปฏิบัติกรรมฐานแบบ “ยุบหนอ-พองหนอ” จึงได้เริ่มแพร่หลาย สำนักกรรมฐานสายนี้มีความสัมพันธ์ทาง ธรรมเนียมปฏิบัติ ใกล้ชิดกับสำนักกรรมฐานของมหาศรีสะยะดอในประเทศพม่า


---การปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบ “ยุบหนอ - พองหนอ” นี้เน้นการใช้สติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวที่หน้าท้อง พร้อมกับภาวนาคำว่า “ยุบ-หนอ” ขณะหายใจออกและคำว่า “พอง-หนอ” ขณะหายใจเข้า ขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งพินิจถึงความไม่เที่ยงพร้อมกันไปด้วย บางครั้งนักปฏิบัติอาจจะเพ่งดูร่างกายที่สวยงาม และจินตนาการให้เห็นว่า เป็นสิ่งปฏิกูล ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหนัง เส้นเลือด เส้นเอ็น อวัยวะต่าง ๆ และโครงกระดูก เป็นต้น เพื่อให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของ สิ่งทั้งปวง


---กรรมฐานสาย “ยุบหนอ-พองหนอ” ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางและกระจัดกระจาย ตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมิได้มีการรวมตัวกัน เป็นองค์กรหรือเครือข่ายเดียวกัน อย่างชัดเจน พระภิกษุส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกรรมฐานสาย “ยุบหนอ - พองหนอ” เป็นพระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ และทำหน้าที่สั่งสอนประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้นกรรมฐานสาย “ยุบหนอ-พองหนอ” นี้จึงอาจสงเคราะห์อยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง โดยทั่วไปในสังคมไทย


*ค)ธรรมกาย


---การเติบโตอย่างเป็นประวัติการณ์ของสายธรรมกาย ในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ อาจอธิบายได้ว่าเป็น ความต้องการของชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางของไทย ที่อยากจะมีส่วนร่วมโดยตรง ในสัญลักษณ์อันสูงส่งทางศาสนา นั่นคือสมาธิภาวนา ซึ่งสำนักธรรมกายจัดอบรมการปฏิบัติครั้งละจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ธรรมกายยังได้เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ไต่เต้าบันไดทางสังคม


---โดยผ่านทางองค์กร ของตน ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันที่มีอำนาจในทางโลก เช่น ชนชั้นปกครอง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักธุรกิจระดับสูง เป็นต้น กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ธรรมกายยอมรับคำสอนของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง การตีความของธรรมกาย ได้ย่อจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือ นิพพาน ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในร่างกายของมนุษย์


---วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาของธรรมกายก็คือ การเพ่งให้เห็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ เหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว ซึ่งถือกันว่าเป็น “ศูนย์กลาง“ ของร่างกาย พร้อมกับภาวนาคำว่า “สัมมา อรหัง” ต่อมาผู้ปฏิบัติอาจจะเพ่งให้เห็นพระพุทธรูปใสบริสุทธิ์แทน ในขั้นสุดท้ายผู้ปฏิบัติได้รับการบอกกล่าวว่า จะได้เห็นพระพุทธเจ้าและพระนิพพานจริง ๆ ที่ “ศูนย์กลาง” ร่างกายของตน พร้อมกับการตีความที่คลาดเคลื่อน ไปจากพระไตรปิฎกว่า “นิพพาน” เป็นอัตตา


---ธรรมกายได้ใช้วิธีการจัดการและการตลาดสมัยใหม่ พร้อมทั้งเทคนิคสื่อสารมวลชนที่ทันสมัย ในการเผยแพร่คำสอนของตน แม้ว่าสมาชิกของธรรมกายส่วนใหญ่ จะเป็นชนชั้นกลางก็ตาม แต่ธรรมกาย ก็ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งพระเถระที่สำคัญในมหาเถรสมาคมด้วย ดังนั้น อาจนับได้ว่า ธรรมกาย เป็นพุทธศาสนาในฝ่ายคามวาสี (วัดบ้าน) ของชนชั้นปกครองและผู้ที่ประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง


*ง)การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว


---คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มิได้เน้นการแบ่งแยกระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เนื่องจาก ตัวท่านเองเล่าว่า ได้รู้ธรรมะในขณะที่ยังเป็นฆราวาส การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ในแนวของหลวงพ่อเทียน เปิดโอกาสให้ฆราวาสได้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแต่เดิมนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะในหมู่พระป่าเท่านั้น


---หลวงพ่อเทียนย้ำว่า การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคัมภีร์หรือตำรา (ซึ่งพระนักปฏิรูปอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก สนับสนุน) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวไม่ เกี่ยวข้องกับการกำหนดลมหายใจ การเพ่งรูปนิมิต การภาวนาคำต่าง ๆ ในใจ หรือการพิจารณาตรึกตรอง ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ และไม่เน้นเรื่องของศีล การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวร่างกายทีละจังหวะ เช่น การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลุกสติหรือ “ธาตุรู้” ในตัวเองให้ตื่นขึ้น สติหรือธาตุรู้จะเข้าไป “ดู” ความคิดซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง และตัดกระแสของความคิดนั้น ๆ


---หลวงพ่อเทียนและสานุศิษย์ที่สำคัญ เช่น อาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และอาจารย์ดา สมฺมาคโต เป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนได้รับความสนใจ ทั้งจากชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล และจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากสำนัก กรรมฐานสายนี้ วิพากษ์วิจารณ์การตีความคำสอนพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง และไสยศาสตร์ของไทย จึงอาจจัดได้ว่า เป็นพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลางในสังคมไทย


*๓.สำนักแห่ง “ปัญญา”  พุทธทาสภิกขุ


---คำสอนที่เป็นตัวแทนของ “ปัญญา” ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของไทย ที่เด่นและสำคัญได้แก่ คำสอนของพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะพระภิกษุผู้นำฝ่ายปฏิรูป พุทธทาสภิกขุ ได้ตีความคำสอนในพระไตรปิฎก และวัฒนธรรมชาวพุทธของไทย ด้วยการใช้ปัญญาและ เหตุผล รวมทั้งการตีความในเชิงจิตวิทยา อันทำให้เรื่องราวทั้งหมดในพุทธศาสนา เป็นเรื่องทางจิตใจล้วน ๆ ในทรรศนะของพุทธทาสภิกขุแล้ว 


---การเลื่อนชั้นตัวเองไปสู่ “นิพพาน” (ความดับสนิทแห่งทุกข์) นั้น ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา “ปัญญา” ด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่าง ๆ นอกเหนือจาก การอ่าน และฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า “พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรม” ดังนั้น ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ อานาปานสติ (สติเฝ้าดูลมหายใจ) ไปด้วย อานาปานสติ เป็นวิธีการปฏิบัติ 


---ที่มีกล่าวอ้างอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในขั้นแรกของการปฏิบัตินั้นผู้ฝึก จะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ (สมถะ) และในขั้นต่อมาให้ใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย (วิปัสสนา) พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็น สัญลักษณ์และตัวแทนทาง “ปัญญา” ของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมไทย.





...................................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 28 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

  1. 1
    18/08/2023 22:27

    คำว่าไสย์ หมายถึงผู้ที่ควรเคารพ ดันเอาไปตีความโง่ๆว่าคือการหลับ
    แล้วก็จับแพะชนแกะโยงมั่วเอามาเหยียดความเชื่ออื่นๆ ว่าเป็นลัทธิ เฮอ... ไม่บรรลุธรรม แถมติดอยู่ในอวิชาอีก

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท04/08/2023
ผู้เข้าชม6,586,116
เปิดเพจ10,326,585
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

ติดต่อเรา-

view