/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ประเภทพระมหาโพธิสัตว์=คลิป

ประเภทพระมหาโพธิสัตว์=คลิป

 พระมหาโพธิสัตว์







---พระโพธิสัตว์ หมายถึง บุคคลที่บำเพ็ญบารมีหรือกระทำความดีต่างๆ เพื่อให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล มีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากตามความเชื่อในฝ่ายเถรวาท และมหายาน แต่มีความแตกต่างกันไป


*คำศัพท์


---โพธิสัตว์ มีภาษาต่างๆ มีดังนี้..............


---สันสกฤต   =   โพธิสตฺตฺว


---บาลี    =   โพธิสตฺต


---ภาษาจีน    =    菩萨


---ญี่ปุ่น     =    菩薩 (bosatsu)


---เกาหลี      =    보살 (bosal)


---ทิเบต     =    changchub sempa (byang-chub sems-dpa)


---เวียดนาม    =    Bồ Tát


---อักษรโรมัน   =    โดยทั่วไป สะกด "Bodhisattva

 

*การสร้างพุทธบารมี


---ประเภทของพระพุทธเจ้า


*พระพุทธเจ้า   คือ  ผู้ที่เป็นศาสดาเอกในพระพุทธศาสนา ประเภทของพระพุทธเจ้าสามารถแบ่งออกเป็น  3 ประเภท คือ


---1.ปัญญาธิกะพุทธเจ้า


---คือพระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 20 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 7 อสงไขย


---หลังจากนั้นจึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 9 อสงไขย รวมเป็น 16 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 4 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอด  เมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน


---2.ศรัทธาธิกะพุทธเจ้า


---คือ  พระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 40 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 14 อสงไขย


---หลังจากนั้น  จึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 18 อสงไขย รวมเป็น 32 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น   พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 8 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน


---3.วิริยาธิกะพุทธเจ้า


---คือ  พระพุทธเจ้าที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด 80 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป คือตั้งความปรารถนาอยู่ในใจเป็นเวลา 28 อสงไขย


---หลังจากนั้น  จึงออกปากกล่าววาจาต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าเป็นเวลา 36 อสงไขย รวมเป็น 64 อสงไขย และได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกเป็น  พระนิยตะโพธิสัตว์ เมื่อเหลือเวลาอีก 16 อสงไขยกับเศษแสนมหากัป เป็นการสร้างบารมีอย่างยิ่งและเข้มงวดขึ้นเรื่อย และได้รับพยากรณ์ซ้ำมาตลอดเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า จนถึงสมัยพุทธภูมิของท่าน


---ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกพบว่า  ยิ่งใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนานเท่าใด พระโพธิสัตว์จะมีพระชนม์มายุยืนขึ้นในสมัยที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า   รวมทั้งสัตว์ที่เกิดในยุคนั้นจะมีอายุยืน และบรรลุธรรมได้ง่ายและมีจำนวนมาก


---แต่ไม่ประกันว่า  ศาสนาของพระองค์จะยืนยาวหลายชั่วอายุไข เช่น พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ มีพระนามว่า   "พระศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า"  พระองค์ทรงสร้างบารมีมาทาง ปัญญาพุทธเจ้า ทรงมีพระชนมายุเพียง 80 พรรษา พระวรกายสูง 4 ศอก หรือ 2 เมตร บำเพ็ญทุกกิริยาชาติสุดท้าย 6 ปี พุทธรังสีซ่านไปข้างละ 1 วา เป็นปกติ มนุษย์ยุคพุทธกาลมีอายุไข 120 ปี


---ขณะที่ทรงพยากรณ์ถึง  "ภิกษุอชิตเถระ"  ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม  "พระศรีอาริยเมตไตร"  ทรงสร้างบารมีมาทาง  "วิริยาธิกะพุทธเจ้า"  ไม่ได้ทรงพยากรณ์พระชนม์มายุแต่เทียบกับอายุมนุษย์ในยุคแล้วน่าจะมีพระชนม์มายุ หลักหมื่นปีเป็นอย่างน้อย   มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก หรือ 44 เมตร บำเพ็ญทุกกิริยาชาติสุดท้าย 7 วัน   พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก มนุษย์ยุคพุทธกาลมีอายุไข 80,000 ปี


---ส่วนเหตุที่ทำให้พระสัจธรรมตั้งอยู่ได้นานหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับความท้อพระทัย  ของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ธรรมะ และพระวินัยที่ได้ทรงบัญญัติไว้

 

*ประเภทของพระโพธิสัตว์


---พระโพธิสัตว์ คือ  บุคคลที่ปรารถนาเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต  แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ


---1.อนิตยโพธิสัตว์


---พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาเลย เรียกว่า อนิตยโพธิสัตว์ ความหมายคือ ยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะอาจจะเลิกล้มความปรารถนาเมื่อไรก็ได้


---2.นิตยโพธิสัตว์


---พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้ว  เรียกว่า นิตยโพธิสัตว์ ตามความหมายคือจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นนอน  เพราะถ้าถึงนิพพานต้องดำรงฐานะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว   แต่ถ้าบารมีและเวลายังไม่สมบูรณ์   แม้ว่าจะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่งยวดบังเกิดปัญญาอย่างเยี่ยมยอด ก็ไม่สามารถถึงนิพพานก่อนได้   แม้จะทุกข์ท้อแท้  จนคิดว่าเลิกที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว   แต่แล้วในที่สุดมหากุศลที่เป็นอนุสัย ก็จะพุ่งกระจายขึ้นมาให้ตั้งมั่นและบำเพ็ญบารมีกันต่อ จนกว่าบารมีและเวลาสมบูรณ์

 

---อสงไขย และ กัป    


---กัป เป็นหน่วยวัดเวลา ในเชิงประมาณ คือ เมื่อโลกมนุษย์ปราฏกขึ้นหรือบังเกิดขึ้น จนพังสูญหายไป 1 ครั้งเรียกว่า 1 กัป


---อสงไขย เป็นหน่วยวัดเวลา ที่มากกว่ากัป  คือ จำนวณกัป ที่นับไม่ถ้วน เท่ากับ 1 อสงไขย สูญกัป หมายถึง  กัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น


---ตามที่เคยคำนวณมา 1 อสงไขย เท่ากับ จำนวน กัป ที่เอาเลข 1 ตามด้วย เลข 0 ถึง 140 ตัว

 

*บารมี ๓o ทัศ


---บารมี หมายถึง การกระทำที่ประเสริฐ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศล  เจตนา  คุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา   คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่  เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ


*บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ คือ


---1.ทานบารมี หมายถึง การสละออก การให้ต่างๆ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสำคัญ


---2.ศีลบารมี หมายถึง การรักษาศีลให้เป็นปกติ หากเป็นฆราวาส  หมายถึง การถือศีล 5 หากเป็นนักบวชคือการถือศีล 8 ขึ้นไป


---3.เนกขัมมะบารมี หมายถึง การออกบวช หากฆราวาสถือศีล ๘ ก็นับเป็นเนกขัมบารมีได้เช่นกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อเว้นจากกามสุข


---4.ปัญญาบารมี หมายถึง การกระทำเพื่อเพิ่มพูนปัญญา ปัญญาแบ่งออกเป็นปัญญาทางโลกและทางธรรม  เนื่องจากพระโพธิสัตว์  จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล จึงต้องมีปัญญาความรู้มาก เพื่อจะได้สั่งสอนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้  การเรียนของพระโพธิสัตว์จึงต้องเรียนมากกว่าผู้อื่น


---5.วิริยะบารมี หมายถึง การกระทำที่ใช้ความเพียรเป็นที่ตั้ง การมีวิริยะ  อาจไม่ได้หมายถึงการเพียรจนกระทั่งตัวตายในครั้งเดียว แต่หมายถึงมีความพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ทำไปทีละน้อยตามกำลังจนกว่าจะสำเร็จ


*สัมมัปปธานหรือความเพียรที่ถูกต้อง มี 4 อย่างคือ


o สังวรปธาน   เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น


o ปหานปธาน   เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว


o ภาวนาปธาน   เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น


o อนุรักขนาปธาน   เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง


---6.ขันติบารมี หมายถึง การอดทน  อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ


---7.สัจจะบารมี หมายถึง การรักษาคำพูด ไม่กลับกลอก แม้ว่าจะต้องสละบางสิ่งเพื่อรักษาคำพูดไว้


---8.อธิษฐานบารมี หมายถึง การตั้งมั่นในความปรารถนา ตั้งจิตมั่นต่อคำอธิษฐาน


---9.เมตตาบารมี หมายถึง การมีความปรารถดี มีความรักต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม ประดุจมารดารักบุตร เมตตาแตกต่างจากราคะตรงที่ ราคะอาจรักเฉพาะตัวหรือพวกพ้อง แต่เมตตาเป็นรักที่ไม่แบ่งแยก


---10.อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางเฉย มีใจเป็นกลาง การปล่อยวางในสิ่งที่ผิดพลาด ในสิ่งที่แก้ไข  ไม่ได้ วางเฉยในความทุกข์ของตน และสัตว์ที่ช่วยไม่ได้   เนื่องจากมีปัญญาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย  ย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ไม่มีใครได้รับความยากลำบากโดยไม่มีเหตุปัจจัย  ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมที่เคยทำมาทั้งสิ้น

 

*บารมีนั้นแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ได้แก่


---1.บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น


---การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น   จัดเป็น   ทานบารมี


---รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง   จัดเป็น   ศีลบารมี


---ยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน   จัดเป็น   เนกขัมบารมี

 

---2.บารมีขั้นกลางหรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้อ อวัยวะ เช่น


---การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น   จัดเป็น   ทานอุปบารมี


---การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น   จัดเป็น   ปัญญาอุปบารมี


---การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ   จัดเป็น   วิริยะอุปบารมี


---มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน  จัดเป็น   เมตตาอุปบารมี 


---มีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน   จัดเป็น  ขันติอุปบารมี

 

---3.บารมีขั้นสูงสุดหรือปรมัตถบารมี คือ เนื่องด้วยชีวิต เช่น


---การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี 


---ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็น สัจจปรมัตถบารมี


---ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็น อธิษฐานปรมัตถบารมี 


---วางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็น อุเบกขาปรมัตถบารมี

 

*ดังนั้น จึงรวมเป็นบารมี 30 ทัศ

 

*อานิสงส์ บารมี 30 ทัศ ของพระนิตยะโพธิสัตว์


---พระนิตยะโพธิสัตว์เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก  จะมีอานิสงส์  18  อย่างอยู่ตลอด จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่


---1.เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เกิดเป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด


---2.ไม่เป็นหูหนวกแต่กำเนิด


---3.ไม่เป็นคนบ้า


---4.ไม่เป็นคนใบ้


---5.ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย


---6.ไม่เกิดในมิลักขประเทศคือประเทศป่าเถื่อน


---7.ไม่เกิดในท้องนางทาสี  (แต่เกิดในฐานะคนจันทาลได้ ดัง พระโพธิสัตว์ มาตังคะฤๅษี ท่านเป็น  บุตร     คนจันทาล แต่ไม่ได้เป็นนางทาสี)


---8.ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ


---9.ไม่เป็นสตรีเพศ


---10.ไม่ทำอนันตริยกรรม


---11.ไม่เป็นโรคเรื้อน


---12.เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และ ไม่ใหญ่ไปกว่าช้าง


---13.ไม่เกิดใน ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรต และกาลกัญจิกาสุรกาย


---14.ไม่เกิดในอเวจีนรก และโลกันตนรก


---15.ไม่เกิดเป็นเทวดาใน กามาพจรสวรรค์ ไม่เกิดเป็นเทวดาที่นับเข้าในเทวดาพวกหมู่มาร


---16.เมื่อเกิดเป็นรูปพรหม จะไม่เกิดใน ปัญจสุทธวาสพรหมโลก  (พรหมชั้นอนาคามี)  และอสัญญสัตตาภูมิพรหม  ( มีแต่รูปอย่างเดียว)


---17.ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก


---18.ไม่เกิดในจักรวาลอื่น

 

*อานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง


---ของนิยตโพธิสัตว์ คือ การทำอธิมุตตกาลกริยา คือเมื่อท่านเกิดเป็นเทวดาหรือพระพรหม เกิดความเบื่อหน่าย ในการเสวยสุขนั้น ปรารถนาที่จะสร้างบารมีในโลกมนุษย์  ท่านก็สามารถทำการอธิมุตต คืออธิษฐานให้จุติ  (ตายจากการเป็นเทพ)  มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ทันที ได้โดยง่าย ซึ่งเหล่าเทพเทวดาอื่นๆ ไม่สามารถทำอย่างนี้ได้


*คุณสมบัติและอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์

      

---สำหรับพระโพธิสัตว์ ที่เป็น อนิตยโพธิสัตว์ แต่สร้างบารมี 30 ทัศ  และมีธรรมสโมธาน 8 ประการสมบูรณ์แล้ว จะได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก ต่อหน้าพระพักตร์พุทธเจ้า โดยจะได้รับพุทธพยากรณ์โดยนัยว่า   จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ทรงนามว่าอย่างนั้น ในกัปอันเป็นอนาคตที่เท่านั้น และก็จะกลายเป็น นิตยโพธิสัตว์ ทันที คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

 

*ธรรมสโมธาน 8 ประการคือ


---1.ได้เกิดเป็นมนุษย์


---2.เป็นบุรุษเพศ ไม่เป็นกระเทย


---3.มีอุปนิสสัยปัจจัยแห่งพระอรหันต์   รุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดาน   (ถ้าเกิดเปลี่ยนใจก็จะเป็นพระอรหันต์  ทันที)


---4.ต้องพบพระพุทธเจ้า  ขณะมีพระชนม์ชีพอยู่ และได้สร้างกองบุญกุศลต่อหน้าพระพักตร์


---5.ต้องเป็นบรรพชิต หรือต้องเป็น โยคี ฤๅษี ดาบส หรือปริพาชก ที่มีลัทธิเชื่อว่า บุญมี บาปมี ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ต้องไม่เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน


---6.ต้องมีอภิญญาและฌานสมาบัติ อันเชี่ยวชาญ


---7.เคยให้ชีวิตของตนเป็นทาน เพื่อสัมโพธิญาณมาก่อนในอดีดชาติ


---8.ต้องมี ฉันทะ คือมีความรักความพอใจในพุทธภูมิเป็นกำลัง

 

---กล่าวถึงพุทธภูมิธรรมของนิยตะโพธิสัตว์ ในการเพิ่มพูนบารมีให้มากยิ่งขึ้น มีน้ำใจประกอบไปด้วย   พุทธภูมิธรรม 4 ประการ คือ


---1.อุสสาโห  คือ  ประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในจิตใจอย่างมั่นคง


---2.อุมัตโต   คือ  ประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเชียวชาญเฉียบคม


---3.อวัตถานัง  คือ  มีพระทัยอธิษฐานอันมั่นคง มิได้หวั่นไหวคลอนแคลน


---4.หิตจริยา คือ  ประกอบไปด้วยพระเมตตา เจริญจิตอยู่ด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ

 

*อัธยาศัย ที่ทำให้พระโพธิญานของนิตยโพธิสัตว์แก่กล้ายิ่งขึ้น มี 6 ประการ


---1.เนกขัม    พอใจในการรักษาศีล การบวช หรือบรรพชา


---2.วิเวก    พอใจอยู่ในที่สงบ


---3.อโลภ     พอใจในการบริจาคทาน


---4.อโทส      พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตา


---5.อโมห    พอใจในการพิจารณาคุณและโทษ เจริญปัญญา


---6.นิพพาน     พอใจที่ยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด ประสงค์นิพพานเป็นอย่างยิ่ง

 

*จริยธรรม 10 ประการ


---จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ประกอบด้วย


---1.พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ


---2.พระโพธิสัตว์ ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภัยอันตราย


---3.พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์


---4.พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ


---5.พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว


---6.พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน


---7.พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง


---8.พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน


---9.พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ


---10.พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้

 

*คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์


---คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่  3  ข้อใหญ่


---1.มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่า   จะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส


---2.มหากรุณา หมายความว่า  จะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย  อย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์


---3.มหาอุปาย หมายความว่า  พระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม


---คุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วน 2 ข้อหลัง  เป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น

 

*มหาปณิธาน 4


---1.เราจะละกิเลสให้หมด


---2.เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ


---3.เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น


---4.เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด.........

 

*ความหมายของคำว่าพระโพธิสัตว์



---ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลผู้บำเพ็ญบารมีธรรมอุทิศตนช่วยเหลือสัตว์ผู้มีความทุกข์ยากและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต 


---พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า   เป็นผู้มีพลังหรืออำนาจมุ่งสู่ โพธิญาณ (Dayal, 1987:7)  เป็นผู้บำเพ็ญความดีหรือที่เรียกว่า   บารมีธรรมอย่างยิ่งยวดเพื่อการบรรลุถึงพระโพธิญาณ



---การดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นไปเพื่อ   บำเพ็ญบารมีเพื่อตนและเป็นการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน  การกระทำทุกอย่างนี้  ดำเนินไปได้ด้วยความรัก  ความปรารถนาในพระพุทธภาวะอันเป็น ความหมายของพระโพธิสัตว์  ด้วยความรักในพระโพธิญาณ 


---พระโพธิสัตว์จึงสามารถกระทำได้ทุกอย่างเบื้องต้น  แต่สละได้ซึ่งสิ่งของภายนอกจนถึงชีวิตและสิ่งเสมอด้วยชีวิตคือบุตร และภรรยาของตน   ดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในขณะเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ความว่า



---"เมื่อเราจะให้ทานก็ดี กำลังให้ทานก็ดี ให้ทานแล้วก็ดี  จิตของเราไม่เป็นอย่างอื่น เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น" 

(ขุ.จริยา.๓๓/๖๖/๗๓๖)

          

---"จักษุทั้งสอง เป็นที่น่าเกลียดชังสำหรับเราก็หาไม่ แม้ตัวเราเองจะเป็นที่เกลียดชังก็หาไม่ แต่พระสัพพัญญุตญาณ  เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงได้ให้จักษุ ฉะนี้แล"

(๓๓/๖๖/๗๓๖)



---"เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่รักษาชีวิตของเรา เพราะ ในกาลนั้นเราเป็นผู้รักษาศีล เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น"    

            

(๓๓/๖๕/๗๕๔)


*อย่างไรก็ตาม   คำว่า   "พระโพธิสัตว์"  มาจากศัพท์สองศัพท์  ประกอบกัน  คือ 


---คำว่า  " โพธิ "   ที่แปลว่า  ความตรัสรู้


---"สัตตะ"  ที่แปลว่า  สัตว์   ในคำที่เรียกว่า   สัตว์โลก  (วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๓๒:๒๙) อันมีความหมายครอบคลุมทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน  ซึ่งจะเห็นได้จากอดีตชาติของพระพุทธเจ้า  กล่าวคือ นอกเหนือจากที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้ว   บางพระชาติพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพญาวานร   เสวยพระชาติเป็นช้าง   เสวยพระชาติเป็นนาคราช   เป็นต้น    ดังพระพุทธดำรัสต่อไปนี้



---ในภพที่เราเป็นพญาวานร   ช้างฉัททันต์ และช้างเลี้ยงมารดาเป็นศีลบารมี  ในภพที่เราเป็นพญาไก่ป่า   สีลวนาค และพญากระต่ายเป็นทานปรมัตถบารมี   

(ขุ.จริยา.๓๓/๑๒๒/๗๗๖)



---พระ โพธิสัตว์   ไม่ว่าจะครองสภาวะความเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน  ก็บำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย   เพราะคำว่า  “โพธิสัตว์”  หมายถึง  ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ คือ การตรัสรู้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเป็นอย่างอื่น  เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความรู้แจ้งโลก ซึ่งหมายรวมถึงโลก ทั้ง ๓ คือ


---สัตว์โลก  อันได้แก่  หมู่สัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้ง เทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน 


---โอกาสโลก  อันได้แก่   โลกคือที่อยู่อาศัย หมายถึง ระบบจักรวาล และดวงดาวต่างๆ


---สังขารโลก  อันได้แก่   โลกคือสังขารที่เกิดจากการปรุงแต่ง สรุปให้แคบเข้า ได้แก่ นามรูป นั่นเอง  


---การที่บุคคลได้บรรลุถึงพระโพธิญาณ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  คือ การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้น  เกิดขึ้นได้ยาก (กิจโฉ พุทธานมุปปาโท) ดังนั้น   บุคคลผู้จะบรรลุพระโพธิญาณได้นั้น    จึงจำต้องบำเพ็ญบารมีธรรมเป็นเวลานานยิ่ง


---เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า   เป็นพระโพธิสัตว์ นั้นหมายความว่า   เขาย่อมต้องประสบกับความลำบากในชีวิตนานับประการ นับตั้งแต่การต้องจำยอมสละทรัพย์สินภายนอกร่างกายเป็นเบื้องต้น จนถึงการยอมสละชีวิตของตนเข้าแลกเป็นที่สุดและการปฏิบัติเช่นนั้น  ก็ต้องประกอบไปด้วยความเต็มใจของตน หากไม่สามารถปฎิบัติได้   ความหมายของคำว่าพระโพธิสัตว์ในตัวบุคคลนั้นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นตามมา



---แม้พระโพธิสัตว์  จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องแลกด้วยชีวิต  แต่พระโพธิสัตว์ก็ใช่ว่าจะหวาดหวั่นต่อสถานการณ์เช่นนั้นไม่   ตรงกันข้ามพระโพธิสัตว์กลับมีใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ประสบอย่างเต็มใจ   และยินดีด้วยมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น   โดยหวังให้คุณธรรมความดีที่บำเพ็ญนั้นเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ในกาลเบื้องหน้า


*คุณลักษณะของพระโพธิสัตว์


---พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในข่ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น มีองค์ประกอบสำคัญอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะตน ๔ ประการ คือ


---๑.อุสสาหะ คือ ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง


---๒.อุมมังคะ คือ ประกอบไปด้วยปัญญาอันเชี่ยวชาญหาญกล้า

---๓.อวัตถานะ คือ ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงมิได้หวั่นไหว


---๔. หิตจริยา คือ ประกอบไปด้วยเมตตาแก่สัตว์เป็นเบื้องหน้า 

(พระนันทาจารย์, ม.ป.ป.:๑๑)




---คุณลักษณะ หรือเรียกว่าคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้   เป็นอุปกรณ์หรือวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติตามอย่างมั่นคง   จนกว่าจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุด  คือ  พระโพธิญาณ



---ข้อที่ ๑  อุสสาหะ   พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรอันมั่นคง  ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก  ที่เกิดขึ้นในวัตรปฎิบัติของตน   เป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงต่อเป้าหมายสูงสุด   ด้วยความรักความปรารถนาต่อจุดมุ่งหมายสูงสุด  คือพระโพธิญาณ  จึงทำให้พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความอุสสาหะ   ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ  ด้วยคุณธรรมเฉพาะตน   ไม่มีจิตคิดสยบต่อมาร  คือ  กิเลส  เป็นต้น   อันเป็นความชั่วที่คอยยั่วยุหรือขัดขวางไม่ให้บำเพ็ญความดีอย่างเต็มที่   เป็นผู้ข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ด้วยความอุสสาหะยิ่ง



---และเพราะการจะบรรลุ ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า  เป็นสิ่งที่ได้โดยยาก  แต่หากพระโพธิสัตว์สามารถข้ามพ้นความยากลำบากนั้นไปได้ด้วยความมุ่งมั่น  ไม่ยอมแพ้พระโพธิสัตว์ก็สามารถบรรลุถึงความสำเร็จคือความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน   ดังคำ  อุปมาซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่จะได้บรรลุถึงพุทธภาวะที่ปรากฎในอรรถกถาตอนหนึ่งที่ว่า



---“ผู้ใดสามารถที่จะใช้กำลังแขนของตน ว่ายข้ามห้วงแห่งจักรวาลทั้งสิ้น  อันเป็นน้ำผืนเดียวกันหมดแล้วถึงฝั่งได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้”

(ขุ.ชา.อ.๓/๒๕) 



---ข้อที่ ๒ อุมมังคะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา อันเชี่ยวชาญหาญกล้ารู้จักไตร่ตรองคิดหาเหตุผล อย่างรวดเร็วมีศักยภาพ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล ที่ดี ตลอดทั้งรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำจะมีผลดี ชั่ว มากน้อยแค่ไหน ทำแล้วจะเกิดผลดี เลว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตัดสินปัญหา ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากที่สุด



---ข้อที่ ๓ อวัตถานะ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระอธิษฐานอันมั่งคงไม่หวั่นไหว คือเป็นผู้มีจิตอันแน่วแน่มั่นคงในสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่คิดละเลิกในสิ่งที่ทำเสียกลางคัน ตราบใดที่ภารกิจอันนั้นยังไม่ถึงที่สุด คือ ความสำเร็จก็ไม่ละทิ้งให้เสียการ อธิษฐานธรรมนี้  ย่อมมาพร้อมกับธรรมอีก ๓ ประการ คือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นธรรมะที่มีประกอบกันอยู่ เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่งก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ

 
---เมื่อมีความ ตั้งมั่นในกิจอันใดอันหนึ่งอย่างมั่นคงแล้ว จำต้องกระทำด้วยความมีวิริยะ และอดทนทั้งอดทนต่อการกระทำกิจอันนั้นและอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่อาจเป็นตัวขัดขวาง ไม่ให้กิจที่กระทำดำเนินไปได้  อย่างสะดวก สุดท้ายคือ มีความจริงใจที่จะกระทำกิจให้ลุล่วงจนถึงที่สุด กิจนั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้



---ข้อ ที่ ๔ หิตจริยา พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาสัตว์เป็นเบื้องหน้า เป็นผู้ประพฤติประโยชน์ด้วยคำนึงถึงผู้อื่นเสมอโดยไม่เลือกชนิดผู้รับ ประโยชน์ พระโพธิสัตว์ถือว่าการบำเพ็ญการช่วยเหลือแก่ผู้อื่นนั้นคือภารกิจที่ ต้องกระทำตามหน้าที่ คือเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรม



---คุณลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นการสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  ทุกชีวิตอย่างเสมอหน้าเท่าเทียม  กันเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาอันเป็นโลกุตตรสมบัติ คือ พระสัพพัญญุตญาณ



---คุณลักษณะที่สำคัญของพระโพธิสัตว์อาจสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ



---๑.การบำเพ็ญตนช่วยเหลือสรรพสัตว์ อย่างไร้ขอบเขตหรือประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)



---๒.การบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อการบรรลุพระโพธิญาณในอนาคตหรือประโยชน์ตนเอง (อัตตัตถะ)



---การ ดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อยู่กับภาระที่จะพึง บำเพ็ญเพื่อประโยชน์ ๒ ประการข้างต้น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องมีและประโยชน์ทั้งสองนั้นก็มี ความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไร้ขอบเขตก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ตรงกันข้ามการบำเพ็ญบารมีธรรมเพื่อตนเอง ก็คือการได้มีโอกาสอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่มวลสัตว์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน



---คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่มีในตัวของพระโพธิสัตว์ คุณลักษณะนั้นเรียกว่า “อัชฌาสัยของพระโพธิสัตว์” มี ๖ อย่าง คือ



---๑.อโลภะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โลภ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโลภและอยากได้ในอารมณ์ที่น่าชอบพอพึงใจ



---๒.อโทสะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่โกรธ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความโกรธ



---๓.อโมหะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยประกอบด้วยความไม่หลง เป็นผู้มีปกติเห็นโทษของความหลง



---๔.เนกขัมมะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการถือบวช เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่ครองเรือน



---๕.ปวิเวกะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในความสงบ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในการอยู่คลีกับหมู่คณะ



---๖.นิสสรณะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัยในการออกจากทุกข์ เป็นผู้มีปกติเห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

(วิสุทธิ. ๑ / ๗๔-๗๕)



---อัชฌาสัย ทั้ง ๖ ประการ  ที่กล่าวมาข้างต้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นลักษณะนิสัยที่เป็นพื้น ฐานของพระโพธิสัตว์  เป็นองค์ประกอบที่เอื้อ  ต่อการบรรลุถึงพุทธภาวะได้ง่ายขึ้น



---อย่างไร ก็ตาม บุคคลผู้ปรารถนาพุทธภาวะจำต้องผ่านการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เพื่อให้คุณธรรมเกิดความบริบูรณ์ และแก่กล้าอันเป็นการเตรียมความพร้อม  ที่จะ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ และบุคคลผู้จะได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นแห่งการทำให้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งเรียก ว่า “อัฏฐธัมมสโมธาน” คือ การประชุมรวมกันของธรรม ๘ ประการ ธรรมในที่นี้หมายถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เมื่อพร้อมมูลอยู่ในบุคคลใดแล้วก็ยังผลให้บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็น “นิยตโพธิสัตว์”  คือพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน คุณสมบัติเบื้องต้นหรือองค์ประกอบ ๘ ประการนั้น มีดังนี้



---๑.ความเป็นมนุษย์ คือ บุคคลผู้ตั้งจิตปรารถนาบรรลุพระโพธิญาณนั้น จะต้องดำรงภาวะเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเทวดา ความปรารถนาไม่สามารถสำเร็จได้



---๒.ความถึงพร้อมด้วยเพศ คือ แม้จะเกิดเป็นมนุษย์ก็ตามแต่ก็จำกัดเฉพาะเพศบุรุษเท่านั้น จะเป็นสตรี บัณเฑาะก์ หรืออุภโตพยัชชนก (คนสองเพศ) ความปรารถนาก็หาสำเร็จไม่เช่นกัน



---๓.เหตุ คือ มีอรหัตตูปนิสัย อันได้แก่ มีความพร้อมหรือมีศักยภาพพอที่จะสามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ในอัตภาพ ที่กำลังเป็นอยู่หรือในขณะนั้นหากมีความปรารถนา



---๔.การเห็นพระศาสดา คือ การได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด พระองค์หนึ่งแล้วตั้งความปรารถนาความ เป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะตั้งความปรารถนา ณ สถานที่นอกจากนี้ เช่นโคนต้นไม้เป็นต้นย่อมไม่สำเร็จ



---๕.การบรรพชา คือ การต้องครองเพศเป็นบรรพชิตหรือกำลังถือบวชเท่านั้น จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์แล้วตั้งความปรารถนาก็ย่อมไม่สำเร็จ



---๖.การสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ อันได้แก่การได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วตั้งความปรารถนาจึงจะสำเร็จได้



---๗.การกระทำที่ยิ่งใหญ่ คือ การกระทำบุญอันยิ่งด้วยชีวิต อันได้แก่การได้บริจาคชีวิตถวายแด่พระพุทธเจ้าที่เรียกว่าการกระทำอันยิ่ง ใหญ่



---๘.ความพอใจ คือ มีฉันทะความพอใจอันใหญ่หลวง มีอุตสาหะและความพยายามที่จะบรรลุถึงพระโพธิญาณ คือ ความรักความปรารถนาที่จะบรรลุสัพพัญญุตญาณอย่างแรงกล้า แม้ว่าจะมีอุปสรรคที่ยากต่อการฝ่าฟันก็ไม่ยอมแพ้

(ขุ.ชา.อ.๓/๒๔-๒๕)



---องค์ ประกอบของธรรม ๘ ประการนี้ เป็นองค์คุณที่จะทำบุคคลให้เป็น “นิยตโพธิสัตว์” จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งเป็นอันไม่บริบูรณ์ กล่าวคือ ความเป็นพระโพธิสัตว์  ผู้มีพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้าก็เป็นอันเกิดขึ้นไม่ได้ กล่าวโดยสรุป คือ บุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ต้องเริ่มต้นด้วยความถึงพร้อมด้วย คุณสมบัติดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการบำเพ็ญบารมีธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) ๑๐ ประการเป็นลำดับต่อไป



---อนึ่งประเด็นคุณสมบัติที่จะทำบุคคลให้เป็น พระโพธิสัตว์นี้ ในฝ่ายเถรวาท (หินยาน) มีคติว่าบุคคลผู้นั้นต้องสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องต้นก่อนจึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ แต่ในคติฝ่ายอาจาริยวาท (มหายาน)นั้นมีว่า ทุกคนสามารถบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ได้เหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องมี คุณสมบัติข้างต้นครบ คตินิยมในฝ่ายอาจาริยวาทนั้นมักให้ความสำคัญกับความเป็นพระโพธิสัตว์เป็น อย่างมาก เพราะต้องการบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโดยหวังจะได้ช่วยขนสรรพสัตว์ ให้พ้นทุกข์ได้คราวละมากๆ



---ดังนั้น คติแห่งการดำเนินชีวิตจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ อีกทั้งประเด็นเรื่องบารมีก็มีความแตกต่างจากคติในฝ่ายเถรวาทในส่วนขององค์ ธรรมแม้จะมีจำนวนเท่ากันก็ตาม


---ซึ่งฝ่ายมหายานนั้นได้แบ่งจำนวนบารมีไว้เป็น ๒ ประเภท คือ (๑) บารมีประเภทหลัก และ (๒) บารมีประเภทรอง ดังนี้

*บารมีประเภทหลัก ได้แก่



---๑.ทานบารมี    (การเสริมสร้างความเป็นคนเสียสละ)


---๒.สีลบารมี    (การเสริมสร้างชีวิตแห่งความมีระเบียบวินัย)


---๓.ขันติบารมี    (การเสริมสร้างความเข้มแข็ง-อดทน)


---๔.วิริยบารมี     (การเสริมสร้างความกล้าหาญ)


---๕.ฌานบารมี    (การเสริมสร้างสมาธิจิต)


---๖.ปัญญาบารมี   (การเสริมสร้างปัญญาชั้นสูง)



*สำหรับบารมีประเภทรอง ได้แก่



---๑.อุปายบารมี        (การเสริมสร้างความคิดริเริ่ม)


---๒.ปณิธานบารมี       (การเสริมสร้างความมีอุดมการณ์ของชีวิต)


---๓.พลบารมี       (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น)


---๔.ญาณบารมี        (การเสริมสร้างปัญญาขั้นต้น)



*โดยลักษณะทั่วๆ ไป แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ของทั้งสองนิกายนี้ จึงมีความแตกต่างกัน


*ประเภทของพระโพธิสัตว์



---พระโพธิสัตว์ในนิกายเถรวาทมี ๓ ประเภทสำคัญๆ คือ



---๑.อุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีปัญญามากกว่าศรัทธา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีน้อยกว่าพระโพธิสัตว์ประเภทอื่น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระปัญญาธิกพุทธเจ้า



---๒.วิปจิตัญญูโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีศรัทธามากกว่าปัญญา พระโพธิสัตว์ประเภทนี้ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ แต่น้อยกว่าเนยยโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า สัทธาธิกพุทธเจ้า



---๓.เนยยโพธิสัตว์ ได้แก่ พระโพธิสัตว์ประเภทมีความเพียรมากกว่าปัญญา ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีมากกว่าทั้งสองจำพวกข้างต้น เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า พระวิริยาธิกพุทธเจ้า



*สำหรับเกณฑ์การแบ่งประเภทพระโพธิสัตว์ข้างต้นนี้เป็นไปโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้



---๑.ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรมเร็วหรือช้ากว่ากัน



---๒.อินทรีย์ธรรมที่เป็นตัวนำในการตรัสรู้ธรรมมีมากน้อยแตกต่างกันคือ ปัญญา ศรัทธา วิริยะ


*กระบวนการในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์



---ระยะ เวลาแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทุกองค์นั้นต้องใช้เวลาในการสั่งสม บารมีเพื่อให้เกิดความแก่กล้าเป็นเวลานาน กล่าวคือ ถ้ายังมิได้ถึงกำหนด ๔ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๘ อสงไขยแสนกัปป์หรือ ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะให้ทานอันยิ่งเหมือนด้วยทานของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี จะบำเพ็ญพระบารมีอันยิ่งให้เสมอด้วยทานนั้นทุกๆ วันก็ดี ด้วยหวังจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเร็วๆ นั้นก็ไม่สำเร็จ

(พระนันทาจารย์)



---อันเปรียบเสมือนต้นไม้ต้นเล็กซึ่งยังไม่ถึงเวลาแห่ง การผลิตดอกออกผล แม้บุคคลจะหมั่นบำรุงรักษาโดยการในปุ๋ยหรือพรวนดินให้มากสักเพียงใดก็ไม่ เป็นผลสำเร็จ เพราะต้นไม้นั้นยังไม่มีภาวะแห่งความพร้อมที่จะออกผล ในระหว่างนั้นพระโพธิสัตว์ต้องพบกับความยุ่งยากต่างๆ นานัปการซึ่งเปรียบเสมือนข้อทดสอบความมุ่งมั่นจริงใจในการปฏิบัติ คติอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของพระโพธิสัตว์ต่อการ ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคต่างๆ คือการยอมสละได้แม้ที่สุดคือชีวิตดังคาถาบทหนึ่งมีความว่า



---พึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ นรชนเมื่อระลึกถึงธรรม ก็พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตแม้ทั้งสิ้น 

(ขุ.ชา.๒๘/๓๘๓/๑๐๗)



---กระบวน การในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธสัตว์เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่พระโพธิสัตว์ ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ (อัฏฐธัมมสโมธาน) โดยบริบูรณ์แล้ว จากนั้นพระโพธิสัตว์จึงได้เริ่มตั้งปณิธานคือ ความมั่นคง แน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือความมุ่งมั่นตั้งใจจริงซึ่งในฝ่ายพุทธศาสนามหายานเรียกปณิธานของพระ โพธิสัตว์นี้ว่า “มหาจตุรปณิธาน” มี ๔ ประการ คือ



---๑.เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น 


---๒.เราจะตั้งใจศึกษาพระธรรมทั้งหลายให้เจนจบ


---๓.เราจะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น


---๔.เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ


(เสถียร โพธินันทะ และเลียง เสถียรสุต,)


---ปณิธาน ทั้ง ๔ ข้อนี้ กล่าวได้ว่าอยู่ในฐานะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระโพธิสัตว์ และเปรียบเสมือนสิ่งอันเป็นเครื่องกระตุ้นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอันแรงกล้า ในการบำเพ็ญบารมีธรรมของผู้เป็นพระโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์จะต้องมีปณิธานทั้ง ๔ ข้อนี้โดยหน้าที่ของตน



*ข้อที่ ๑


---พระโพธิสัตว์ในฐานะผู้จะตรัสรู้สัจธรรม อยู่เหนือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายจึงต้องบำเพ็ญธรรมให้แก่กล้าอันเป็น เครื่องทำลายกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นเพื่อทำให้ตนเองบริสุทธิ์หมดจด เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ได้



*ข้อที่ ๒

---พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะต้องศึกษาธรรม คือความจริงของชีวิตให้เกิดความแจ่มแจ้งแทงตลอดให้เห็นซึ่งความจริงใน ธรรมชาติ จะต้องเป็นผู้ขวนขวายค้นคว้าหาความรู้จนถึงที่สุดคือความรู้ทุกอย่าง (สัพพัญญุตญาณ) อันเป็นส่วนประโยชน์ตน



*ข้อที่ ๓

---พระโพธิสัตว์เมื่อพัฒนาตัวเองจนถึงที่สุดกล่าว คือ เป็นผู้บรรลุพระโพธิญาณอันได้ชื่อว่า ถึงฝั่ง คือ พระนิพพานแล้ว เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้แล้ว ก็เป็นผู้มีปัญญาความสามารถจะต้องใช้ปัญญาความสามารถนำเอาความจริงที่ได้ค้น พบนั้นไปเผยแผ่แก่มวลสัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ ให้พบกับความสุขที่แท้จริง



*ข้อที่ ๔

---พระโพธิสัตว์ คือ ผู้จะได้เข้าถึงแดนพุทธภูมิ ได้แก่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอนหากพระโพธิสัตว์มีความ มุ่งมั่นที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งความปรารถนาของพระโพธิสัตว์ที่ต้องการเข้าถึงพุทธภูมิ คือการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้นเพราะต้องการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ พ้นจากทุกข์ เพราะการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายของพระโพธิสัตว์เป็นการช่วยเหลือที่ เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากกว่าพระอรหันต์ และพระปัจเจกพระพุทธเจ้า



---โดย เฉพาะพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้เลย เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เป็นผู้มีปัญญาเห็นสัจธรรมเฉพาะตัวเอง แต่ไม่สามารถชี้แจงแสดงนัยแห่งสัจธรรมให้แก่ผู้อื่นได้เห็นตามได้โดยเหตุที่ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นตรัสรู้แต่อรรถรสสิ่งเดียว มิได้ตรัสรู้ธรรมรสจึงมิอาจจะยกพระโลกุตตรธรรมขึ้นสู่บัญญัติได้ (พระนันทาจารย์)



---พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ยึดถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต พระพุทธเจ้าคือบุคคลในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญ บารมีธรรมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ฐานะอันเป็นความสำเร็จสูงสุดเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทุก พระองค์ แล้วดำเนินตามพุทธกิจที่พึงปฏิบัติ คือ การกระทำตามปณิธานที่ได้วางไว้ กล่าวคือ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทำการช่วยเหลือสัพพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฎฎะสงสาร ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำริในพระทัยในคราวที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็น สุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระชาติแรกของการเริ่มต้นเป็นพระโพธิสัตว์ความตอนหนึ่งที่ว่า



---วันนี้ เราเมื่อปรารถนาอยู่ก็พึงเผากิเลสของเราได้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า ด้วยการทำให้แจ้งธรรมในที่นี้ด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก จะมีประโยชน์อะไรแก่เราด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข็งแรงนี้ข้ามฝั่งไปคนเดียว เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่งด้วยการกระทำ อันยิ่งใหญของเรา ด้วยลูกผู้ชายผู้มีรูปร่างแข้งแรงนี้ เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วจักให้เหล่าชนมากมายข้ามฝั่ง เราตัดกระแสน้ำคือสงสาร ทำลายภพทั้งสามแล้ว ขึ้นสู่ธรรมนาวาจักให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาข้ามฝั่ง

(ขุ.ชา.อ.๓/๒๓-๒๔)


*บารมี ๑๐ ประการ



---การ บำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เรียกว่า การบำเพ็ญคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า (พุทธการกธรรม) หรือเรียกว่า บารมี ซึ่งในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ผู้วิจัยทำการศึกษานี้ บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์มี ๑๐ ประการ คือ



---๑.ทาน ได้แก่ การสละให้สิ่งที่สละให้มี ๓ ระดับ คือ


---ทรัพย์สิ่งของภายนอก


---อวัยวะในร่างกายของตน


---ชีวิตตนเอง หรือสิ่งเสมอด้วยชีวิตตน คือ บุตร ภรรยา



---๒.ศีล ได้แก่ คุณธรรมเครื่องปราบกิเลสอย่างหยาบ ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่สามารถยับยั้งใจไว้ได้ต้องลงมือกระทำความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ศีลที่พระโพธิสัตว์รักษามี ๒ คือ



---นิจศีล (ศีล ๕)


---อุโบสถศีล (ศีล ๘)



---๓.เนกขัมมะ ได้แก่ การออกจากกาม มี ๒ คือ



---ออกจากกามโดยสละบ้านเรือนออกบวช


---ออกจากกามโดยบำเพ็ญสมาธิจนได้บรรลุญาณ



---๔.ปัญญา ได้แก่ ความรอบรู้ ความรู้อย่างลึกซึ้ง มี ๓ คือ



---สุตมยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน


---จินตามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการคิดพิจารณา


---ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการฝึกจิต อบรมจิต



---๕.วิริยะ ได้แก่ ความพากเพียรพยายาม การกระทำอย่างต่อเนื่อง ในทางที่ถูกต้องเรียกว่า สัมมัปปธาน มี ๔ อย่างคือ



---สังวรปธาน      เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น


---ปหานปธาน      เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว


---ภาวนาปธาน      เพียรทำบุญให้เกิดขึ้น


---อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาการทำบุญไว้ต่อเนื่อง



---๖.ขันติ ได้แก่ ความอดทนมี ๓ คือ



---ตีติกขาขันติ    ความอดทนแบบอดกลั้นต่ออารมณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ


---ตโบขันติ     ความอดทนด้วยอำนาจตะบะ คือ สมาธิข่มใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส


---อธิวาสนขันติ      ความอดทนระงับยับยั้งไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นเลยแม้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก



---๗.สัจจะ ได้แก่ ความจริง ความเที่ยงแท้ หมายถึง ความจริงใจ พูดและทำตามความคิด



---๘.อธิษฐาน ได้แก่ ความตั้งมั่น ความมั่นคง ไม่หวั่นไหว ในความคิด กระทำสิ่งใดก็ทำจนบรรลุเป้าหมาย



---๙.เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ด้วยอำนาจคุณธรรม ไม่ใช่รักและปรารถนาดีด้วยอำนาจกามราคะ



---๑๐.อุเบกขา ได้แก่ ความวางเฉย ความปล่อยวาง หมายถึง อาการที่จิตเป็นกลาง ไม่ยึดใน ความดีที่ตนเองได้กระทำลงไป และไม่ทุกข์ใจในการทำผิดซึ่งพลาดพลั้งเกิดขึ้น



---บารมีทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญด้วยความเสียสละตนเองเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นส่วนของความเมตตากรุณาต่อปวงสัตว์ และจะต้องฝึกหัดบำเพ็ญบารมีอันนั้นให้เกิดเป็นความต่อเนื่อง และจะต้องปฏิบัติให้ได้ตั้งแต่ระดับสามัญ (บารมี) จนถึงระดับที่กระทำได้ยากสุด (ปรมัตถบารมี) พระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติได้เพื่อให้เกิดคุณธรรมแก่กล้าอันเป็นป็นปัจจัย ให้เกิดโลกุตตรปัญญาคือความเป็นพุทธะในที่สุด และหากพระโพธิสัตว์ไม่สามารถบำเพ็ญบารมีทั้งสิบนี้ให้ครบถ้วนก็ไม่มีทางที่ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้



---คุณธรรมหรือบารมีของพระโพธิสัตว์แม้มีถึง ๑๐ ประการแต่เมื่อจัดรวมเข้าด้วยกันแล้วก็มีข้อที่เป็นหลักคลุมข้ออื่นทั้งหมด ๒ อย่าง คือ



---๑.กรุณา คือ เห็นแก่ผู้อื่น มุ่งจะบำบัดทุกข์นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์



---๒.ปัญญา คือ ฝึกตนยิ่งขึ้นไปด้วยใฝ่รู้ตลอดเวลาให้มีปัญญารู้แจ้งธรรม มองเห็นถูกต้องว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่สรรพสัตว์ที่ตนจะทำประโยชน์ให้

(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)



---ในขณะที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๑๐ ก็มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือหมู่สัตว์ทั้งปวงให้ได้รับโลกิยสุขเพื่อพระ โพธิสัตว์ได้บรรลุความดีคือพระโพธิญาณอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด แล้วก็คิดหวังจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ได้รับโลกุตตรสุขเช่นที่พระองค์ได้รับ กล่าวคือ แม้ขณะบำเพ็ญบารมีก็ดี แม้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายตามที่หวังแล้วก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้ก็เป็นไปเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั้งสิ้นอันเป็นส่วนของ พระกรุณา



---การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามหลักวิธีและเกิดผลสัม ฤทธิ์ในที่สุดก็ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์รู้จักใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลไตร่ตรอง ความเป็นไปของกระบวนการการบำเพ็ญบารมีว่า ในสถานการณ์ที่เผชิญนั้นควรแสดงออกอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสมและเป็นปัจจัย เอื้อให้ได้บรรลุถึงซึ่งพระโพธิญาณ ถ้าสถานการณ์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ไตร่ตรองแล้วว่าการสละชีวิตเท่านั้น จะเป็นทางรอดของสัตว์ผู้เผชิญความทุกข์และถูกหลักการแห่งการบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้อันเป็นส่วนของพระปัญญา



---บารมี ๑๐ประการนี้ เป็นอุดมคติธรรมของพระโพธิสัตว์ คือ เป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์ทุกองค์ต้องบำเพ็ญเป็นหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยว ปฏิบัติเพื่อการบรรลุสัจธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พระโพธิสัตว์ได้ยึดเอาหลักธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา หรือความยากลำบาก ในการตัดสินใจกระทำ บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญที่จะทำให้พระโพธิสัตว์ได้ก้าวไปสู่ พุทธภาวะ หรือบรรลุพระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์ได้ปฏิบัติในบารมีธรรมเหล่านั้นครบทั้ง ๑๐ อย่าง คือ ไม่น้อยกว่าหรือมากกว่า ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว ดังพระบาลีที่ว่า



---บารมีของเรา ๑๐ ประการนี้ เป็นส่วนแห่งพระโพธิญาณอันเลิศ บารมียิ่งกว่า ๑๐ ไม่มี หย่อนกว่า ๑๐ ก็ไม่มี เราบำเพ็ญบารมีทุกอย่าง ไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นบารมี ๑๐ ประการ ฉะนี้แล

(ขุ.จริยา.๓๓/๓๖/๓๓)



---บารมี ธรรมทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้ครบ จะขาดเสียซึ่งข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้เพราะเป็นการไม่ครบองค์คุณ ซึ่งระดับการปฏิบัติก็สามารถจัดแบ่งได้ตามคุณภาพหรือความเข้มข้นเป็น ๓ ระดับ คือ



---๑.ระดับบารมี        หรือ        ระดับสามัญ


---๒.ระดับอุปบารมี        หรือ       ระดับกลาง


---๓.ระดับปรมัตถบารมี       หรือ       ระดับสูงสุด



---ระดับ สามัญ เป็นระดับอันมีความยากลำบากน้อยสุดคือต้องสละวัตถุภายนอก ระดับปานกลางเป็นระดับอันมีความยากลำบากกว่าระดับแรก คือต้องแลกด้วยอวัยวะทางร่างกายและสุดท้าย ระดับสูงสุดซึ่งมีความยากลำบากที่สุด เพราะต้องเสียสละซึ่งชีวิตหรือสิ่งเสมอด้วยชีวิต คุณธรรมหรือพุทธการกธรรม ๑๐ ประการดังกล่าว พระโพธิสัตว์ต้องปฏิบัติได้ทั้ง ๓ ระดับ คือ สามัญ ปานกลาง และสูงสุด ดังนั้น การบำเพ็ญบารมีอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณเหล่านี้จึงจัดเป็นบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐



---แม้จะมีความยากลำบาก เพียงไร พระโพธิสัตว์ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดเคืองใจ และกลับเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายสำหรับพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งมั่นต่อพระโพธิ ญาณดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสในคราวเสวยพระชาติเป็นพญานาคภูริทัตตะความว่า



---การที่เราสละชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าพลิกแผ่นดินขึ้น

(๓๓/๑๗/๗๔๘)



---อีก ทั้งบุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นพระโพธิญาณ เป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิต และสิ่งเสมอด้วยชีวิต คือ บุตร และ ภรรยา ไม่ใช่ชีวิตและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนจะไม่สำคัญ แต่เพราะตนเห็นว่า พระโพธิญาณ มีความสำคัญกว่ายิ่งนัก เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตทั้งของตนและผู้อื่นพบกับความสุขที่แท้จริง และชั่วนิรันดร์ได้ ดังพุทธดำรัสที่ได้ตรัส  ในขณะเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรมีความว่า



---เราสละพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ผู้เป็นบุตรธิดาและพระนางมัทรี เทวีผู้มีจริยาวัตรงดงามไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั้นเอง บุตรทั้งสอง...พระเทวีมัทรีเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่แต่พระสัมพัญญุต ญาณ เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงให้บุตรธิดาและภรรยาผู้เป็นที่รัก

(๓๓/๑๑๘-๑๑๙/๗๔๒)



---ความ ตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญซึ่งบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ยอมสละได้แม้ชีวิตตนและ สิ่งอันเสมอด้วยชีวิตคือบุตรและภรรยา  จึงเปรียบเสมือนการที่บุคคลได้เผชิญกับโรคร้าย ซึ่งเปรียบเสมือนความทุกข์ใน วัฏฏสงสาร แต่มีความประสงค์ที่จะหายขาดจากโรคร้ายนั้นซึ่งเปรียบเสมือนความต้องการที่ จะพ้นจากวังวนของวัฏฏสงสาร ก็จำเป็นที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากการเยียวยาที่มีฤทธิ์แรงครั้งใหญ่ซึ่ง เปรียบเสมือนกับความกล้าหาญในการบำเพ็ญบารมีแม้ต้องสละชีวิต เพื่อกลับสู่ภาวะปกติทางร่างกายและมีความสุขดังเดิมตลอดไป ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบรรลุถึงพุทธภาวะซึ่งหมายถึงการเข้าสู่นิพพานฉะนั้น



---จาก การได้ศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์นั้นคือผู้ดำเนินชีวิตเพื่ออุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ อื่นอย่างแท้จริง ปณิธาน ๔ ประการ คือ เครื่องยืนยันถึงความหมายข้อนี้ การยอมเสียสละตนเพื่อสรรพสัตว์ของพระโพธิสัตว์มิใช่เกิดมีขึ้นเพียงคราวใด คราวหนึ่งในบรรดา ๒ คราว กล่าวคือ ในคราวเป็นพระโพธิสัตว์กำลังบำเพ็ญบารมี พระโพธิสัตว์ก็ทรงมีกรุณาธรรมอันไร้ขอบเขตแก่ปวงสัตว์ผู้ทุกข์ยาก



---และ ในคราวเมื่อได้ตรัสรู้ธรรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทอดทิ้ง สัตว์โลกผู้มืดบอดไปด้วยอวิชชาให้เผชิญกับความทุกข์ของชีวิต แต่พระโพธิสัตว์ก็ได้ชี้หนทางเครื่องพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์แก่มวลสัตว์ ด้วยมหากรุณาคุณ พระโพธิสัตว์หาใช่อาศัยบารมีธรรมที่ตนได้บำเพ็ญช่วยเหลือสรรพสัตว์เพื่อการ บรรลุพระโพธิญาณแล้วเสวยโลกุตตรสุขแต่เพียงผู้เดียวไม่ แต่เจตจำนงของพระโพธิสัตว์ในชั้นแรกคือการบำเพ็ญตนช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อให้ เป็นบารมีธรรมที่สมบูรณ์ อันเป็นเครื่องค้ำหนุนให้ตนบรรลุพระสัพพัญญุตญุตญาณก่อน แล้วจึงดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวงให้บรรลุความสุขอันเป็นความสุขอย่าง แท้จริงเหมือนที่ตนได้บรรลุถึงเป็นชั้นที่สองต่อไป



---จุดมุ่งหมายสูง สุดในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ คือ การได้บรรลุถึงพุทธภาวะอันได้แก่การได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การเข้าถึงพุทธภาวะเป็นสิ่งพึงปรารถนาของพระโพธิสัตว์ เพราะความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นอุดมภูมิที่อยู่ในอุดมคติของพระโพธิสัตว์ทุก องค์ การบำเพ็ญบารมีทุกครั้งพระโพธิสัตว์จะปรารภถึงพุทธภูมิเป็นเหตุแห่งการกระทำ ดังตัวอย่างพุทธดำรัสที่ตรัสในคราวเป็น อกิตติดาบสโพธิสัตว์ความมีว่า



---เมื่อเราให้ทานแก่อินทพราหมณ์นั้น เราจะได้ปรารถนายศและลาภ ก็หามิได้ แต่เราปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นจึงได้ประพฤติ กรรมเหล่านั้น ฉะนี้แล (๓๓/๑๐/๗๒๘)



---การ บำเพ็ญบารมีแต่ละคราวนั้นพระโพธิสัตว์มิได้หวังผลอย่างอื่นเป็นจุดมุ่งหมาย หลักอันเบี่ยงไปจากความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ความปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณก็คือ ความปรารถนาความสุขให้เกิดแก่มวลสรรพสัตว์เพราะการหวังที่จะได้บรรลุพระสัพ พัญญุตญาณ คือ ความต้องการที่ช่วยเหลือสัตว์ทั้งมวลให้พ้นจากทุกข์อันเป็นทุกข์ประจำ คือ ชาติ ชรา มรณะ อย่างถูกวิธี แต่ทั้งนี้พระโพธิสัตว์มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองพัฒนาตัวเองให้ สามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้เสียก่อน จึงจะสามารถแนะนำหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ อุปมาเหมือนบุคคลจะช่วยเหลือผู้อื่นขึ้นจากตมได้นั้น จะต้องช่วยเหลือตัวเองให้พ้นจากตมนั้นเสียก่อน



---ฉะนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งหลายด้วยมีความปราถนาพระโพธิญาณเป็นเหตุ ปรารภทำให้พระโพธิสัตว์มีความมุ่งมั่นจริงใจต่อวัตรปฏิบัติในบารมี ในขณะเดียวกันบารมีธรรมทั้งหลายก็เป็นเหตุแห่งความสัมฤทธิ์ คือ การบรรลุพระโพธิญาณ จึงกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญบารมีธรรมกับความใคร่ปรารถนาซึ่งพระโพธิญาณเป็นเหตุปัจจัยหนุน เนื่องแก่กันและกันให้เกิดขึ้น



---อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงจุดมุ่งหมายแห่งการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์แล้ว จะเห็นได้ว่าย่อมเป็นไปเพื่อ



---๑.การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เองก่อน



---๒.การรื้อขนปวงชนทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากห้วงทุกข์ระทมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ



---จุด มุ่งหมายทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่บุคคลผู้เป็นพระโพธิสัตว์มีเหมือนกัน เพราะพระโพธิสัตว์ทุกองค์ได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์คือสัตว์ที่จะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอนหากไม่ละทิ้งความพยายามเสียในระหว่าง และจะต้องทำหน้าที่ของความเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์จะต้องอยู่ในระเบียบปฏิบัติเหล่านี้.









..............................................................






คัดลอกมาจาก :: 

พระ มหาจู่ล้อม ชูเลื่อน. (๒๕๔๖). ความกล้าหาญทางจริยธรรมในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในทศชาติชาดก. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 26 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

  1. 1
    23/10/2015 12:22

    อนุโมทนาสาธุยิ่งค่ะ

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« January 2025»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท12/01/2025
ผู้เข้าชม8,445,603
เปิดเพจ12,870,712
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view