/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ให้หลับอย่างเป็นสุข=คลิป

ให้หลับอย่างเป็นสุข=คลิป

มรณานุสติกรรมฐาน







---มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดา ของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความตายนี้รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย แล้วพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร


---ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยาก เพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นของธรรมดา จริง แต่ทว่า เห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ คนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวายไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะไม่ยอมตายปกติของคนเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใคร จะหนีความตายไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวายต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดาไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไร ความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดาไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ความตายนี้แบ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือ



---๑.สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ท่านเสร็จ กิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับ ท่านให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอนไม่กลับมาเกิดอีก



---๒.ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็กๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับ หรือการ เคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอดคือ ตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออกและเกิดต่อทุกๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราวเมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่า ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทนแต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทนชีวิตก็จะต้องดับ ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหาร เก่า ท่านถือว่าร่างกายต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระ หนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลม หายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็ เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามี ความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า ตายทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ


---๓.กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลกนิยม เรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตามแบบกาลมรณะตายไปแล้วเสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไปเสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน คือรอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน


---เมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้นต้องลำบากในเรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ตายโหงนั่นเอง เช่น ถูกฆ่าตายคลอดลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย รวมความว่าตายแบบผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยตายตามธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนด ตายทั้งนั้น การตายแบบนี้ ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วย เหลือสามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่า สะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุ การสะเดาะ-เคราะห์หรือต่ออายุนั้น ต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงใช้ได้แต่ถ้าต่อแบบหมอต่อยังมืดมนท์ด้วยกิเลสแล้วไม่มีทางสำเร็จผล ไม่ต่อดีกว่า ขืนต่อก็เท่ากับไปต่อชีวิตหมอให้มีความสุขส่วนผู้ต่อกลายเป็น ผู้ต่อทุกข์ไป เรื่องต่ออายุนี้มีเรื่องมาในพระสูตรคือ  เรื่องของท่าน


*อายุ-วัฒนสามเณร



---เรื่องย่อดังนี้


---วันหนึ่ง บิดามารดาพาท่านเมื่อยังเกิดไม่กี่เดือนไปหาพระพุทธเจ้า (ขอเล่าลัดๆ) เมื่อบิดาลาพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า "ทีฆายุโก โหตุ" แปลว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน พอแม่เข้าลาท่านก็ว่าอย่างนั้น ตอนท้าย สองผัวเมียให้ลูกชายกราบลาท่าน ท่านไม่พูด คือท่านเฉยเสีย สองผัวเมียแปลกใจ ถามว่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันสองผัวเมียกราบลา พระองค์ให้พรว่าขอเธอจงมีอายุ ยืนนาน แต่พอเกล้ากระหม่อมฉันให้ลูกชายลา พระองค์ทรงนิ่ง เหตุอะไรจะมีแก่บุตรชายเกล้า กระหม่อมฉันทั้งสองหรือพระพุทธเจ้าข้า


---พระองค์ตรัสตอบว่า เพราะบุตรชายของเธอจะตายภายใน ๗ วันนี้ ตถาคตจึงไม่กล่าวอย่างนั้น สองผัวเมียฟังแล้วตกใจ ขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์สั่งให้ไปปลูกโรงพิธีกลางลานบ้านแล้วให้เอาพระไปนั่งล้อมเด็กสวดพระปริตครบ ๗คืน ๗วัน พอวันที่ ๗ เป็นวันตายของเด็ก เพราะยักษ์ จะมาเอาชีวิตวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเอง เมื่อพระองค์เสด็จ พรหมและเทวดาผู้ใหญ่มามาก ยักษ์เข้าไม่ถึง พอครบเวลาที่ยักษ์จะเอาชีวิต หมายความว่า ถ้าเลยเวลาเขาทำไม่ได้ เขาทำตามกฎของกรรมว่าจะให้ตายเวลาเท่าใด เวลาเท่านั้นเขาจะต้องทำให้ได้ ถ้าเลยเวลาแล้วเขาก็ไม่ทำ พอเลย เวลาที่เด็กจะต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านก็พาพระกลับ เลิกพิธี ก่อนกลับพระองค์ให้พรแก่เด็กว่าทีฆายุโกโหตุต่อมาเด็กคนนั้นมาบวชเณรเมื่ออายุ ๗ ปี ได้สำเร็จพระอรหันต์ ท่านมีอายุครบ ๑๒๐ปี จึงนิพพาน



---พวกอกาลมรณะนี้ต่อได้อย่างนี้ แต่การต่อต้องเป็นผู้รู้จริง ทำถูกต้องจริง และการทำให้ต้องไม่ปรารภสินจ้างรางวัล ทำเพื่อการสงเคราะห์จริงๆ จึงเกิดผลว่า จะพูดเรื่องตายเป็นกรรมฐาน แอบมาเป็นหมอต่ออายุเสียแล้วขอวกกลับไปเรื่องมรณานุสสติใหม่



*นึกถึงความตายมีประโยชน์



---ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้ แสวงหาความดีใส่ตัวโดยรู้ตัวว่า ชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่ยากจนอีก ก็พยายามให้ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลังนั่นแหละจึงจะควร



---รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอๆ ของหายบ่อย ๆ รูปร่างสวยน้อยไปคนในบังคับบัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์ อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ใน ชาติหน้าจะได้พยายามรักษาศีล ๕ให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์



---ถ้าเห็นว่า มีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ



---ถ้าเห็นว่า ความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีก ก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของไม่หนักเลยสำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่า เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เพราะกรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านจะได้ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตาย เป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง


---พระอานนท์กราบทูลตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายเป็นปกติเป็นของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตายรู้ตัวว่าจะตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากความชั่วและมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตาย มาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้


---กำหนดการเกิดหมอบอกได้แต่กำหนด เวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชน คนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐานท่านสามารถบอก เวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยาเจ้าที่จะบอกเวลาตายได้ ก็ต้องเป็นท่านที่ได้ วิชชาสาม เป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกัน ท่านเปรียบชีวิตไว้คล้ายกับขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฏว่ามีเส้นแล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไปชีวิตของ สัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกันความตายรออยู่แค่ปลายจมูกถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นภาวะเมื่อนั้น เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย


---ท่านเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็นปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควรแก่ความ ต้องการแล้ว ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไปก็มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามเต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็นเหยื่อของวัฏฏะอีก แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่ง จะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ก็สมบัติอะไร ในโลกีย์ที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็ คือพระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ อย่างนี้ ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน.




*มรณสติ  ตายก่อนตาย 


---พระไพศาล ได้กล่าวว่า เราสามารถฝึกได้กับการพลัดพรากในชีวิตประจำวัน เวลาดูข่าวลองคิดว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะทำอย่างไร รู้สึกอย่างไรน้อมมาบ่อยๆ เราจะเห็นว่าเราไม่พร้อม หรืออย่างของหาย เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้รู้ว่าเขามาเตือนหรือคนนินทาก็เป็นเรื่องหกติ อันนี้เป็นการฝึกมุมมอง ดีกว่านั้นคือฝึกสติ กายเจ็บแต่ใจไม่เจ็บไม่ปวดไปด้วย คือการฝึกใช้สติพิจารณาสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ดีกว่านั้นคือปัญญา เห็นความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นอนันตา



---"การฝึกสตินั้นทำได้ตลอดเวลา คือดึงสติให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตา ถูฟันก็ให้รู้ว่าถูฟัน มือล้างจานใจก็ล้างจานอยู่ด้วย คือทำอะไรเป็นอย่างๆ ไม่ใช่ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ กินข้า ดูโทรทัศน์ แล้วคุยโทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ กัน - ทำอะไรก็อยู่กับสิ่งนั่น นั่นคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน"



---อย่างไรก็ตาม อยากรู้ว่าก่อนตาย หรือหากช่วงเวลาแห่งความตายใกล้มาถึงเราควรทำอย่างไร …


---ลองทำนอนราบกับพื้นในท่าโยคะท่าศพ แล้วค่อยๆ หรี่ไฟลงจนมืดสนิท กล่าวโน้มนำให้เราผ่อนคลาย และภาวนาเสมือนว่านั่นคือช่วงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต และลองทำตามต่อไปนี้ …  



---"รารับรู้ความรู้สึกที่ไล่ขึ้นมาจากปลายเท้าว่าบัดนี้มันอ่อนแรง ไม่มีกำลังแม้แต่จะขยับเขยื้อนอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ได้รับใช้เรามาใน การทำภารกิจต่างๆ และเราได้ดูแลทะนุถนอมมันมาอย่างดี บัดนี้ได้ถึงอายุขัยของมันแล้ว เราขอบคุณร่างกายนี้"



---"ราทบทวนถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่เราได้สั่งสมไว้เพื่อนำความสุขสบายมาสู่ชีวิต และครอบครัว เราได้สร้างมาด้วยสัมมาอาชีวะ มิได้เบียดเบียนใคร เราได้รับความสุขสบายจากมันมาเพียงพอแล้ว จากนี้ขอให้มันยังประโยชน์แก่ผู้อื่น เราไม่คิดหวงห่วงอะไร เพราะเรากำลังจะจากไป แม้แต่ร่างกายนี้เราก็ยังต้องละไป งานการอื่นๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ และที่ทำโดยสมัครใจ เราก็ได้ทำประโยชน์มาอย่างเต็มแรง เรื่องที่สมควรทำเราก็ได้ทำไปแล้ว เรากำลังจะจากไป ไม่มีอะไรต้องเสียดายอีก เสียงของคนรัก พ่อแม่ …ลูก เพื่อนฝูงแว่วเข้ามาในโสตประสาท เราขอบคุณพวกเขาที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข หัวเราะร้องไห้ และเกื้อกูลกันมาเมื่อยามอยู่เราก้อยู่ด้วยกันดีแล้ว เราบอกรัก บอกลา และย้ำอย่างเชื่อมั่นว่าแม้เราจะจากไป เขาจะมีชีวิตที่เป็นสุขได้ ไม่มีอะไรต้องห่วงอีก "



---"เราแผ่เมตตาแก่สรรพชีวิตผู้เป็นเพื่อนกันในโลกนี้ ภาวนาบทสวดมนต์ที่พอมีสติจำได้ จดจ่อสติอยู่กับการสวดมนต์นั้น และจากไป



*การดูแลและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย 



---คำถามสำคัญที่เราต้องเผชิญในชีวิตเมื่อคนรักหรือคนใกล้ชิดป่วยอยู่ในระยะสุด ท้าย หรือใกล้ตาย คือว่าเราควรจะบอกความจริงกับเขาหรือไม่บอกอย่างไร จะเลือกการรักษาพยาบาลวิธีใด และยุติเมื่อไร และเราจะช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบ และเป็นกุศลได้อย่างไร 



---อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช พยาบาลประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าจากประสบการณ์ว่าหลายกรณีญาติไม่ยอมบอกคนไข้หรือคนไข้เองไม่อยากให้ญาติรู้ เพราะต่างฝ่ายต่างห่วงใยความรู้สึกซึ่งกันและกัน แต่ที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายควรร่วมรับรู้ความจริง และการบอกต้องอาศัยกุศโลบาย 



---"คู่หนึ่ง -สามีเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายภรรยาไม่ยอมให้บอก เพราะคิดว่าเขาเป็นทหาร เรื่องแบบนี้ทำใจรับได้ยาก ก็ถามเขาว่าคุณคิดหรือว่าคนไข้เองไม่รู้ตัว บอกให้เขารู้เสีย จะได้เตรียมตัวเตรียมใข เรื่องอะไรที่เขาคิดว่าต้องจัดการในเวลาที่เหลือจะได้ทำได้ พอไปคุยกับคนไข้ เขากลับบอกว่าผมรู้ตัวอยู่แล้ว แต่อย่าบอกภรรยาผมนะ เดี๋ยวเขาจะยิ่งเครียด เราก็จับสองคนมานั่งคุยกัน ปรากฏว่ากอดกันร้องไห้อยู่พัก แล้วบอกว่าไม่เป็นไรเขาจะสู้ไปด้วยกัน"



---สิชล ทองยุทธ์ หรือ อ้อย อดีตพนักงานบัญชี กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม เริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงมั่นคงว่า รู้ตัวมาเกือบปีแล้ว แต่ไม่เคยบอกให้แม่รู้ เพราะคิดว่าแม่จะทุกข์กว่าตนเป็นร้อยเท่า "แต่มันอึดอัดอยู่กันแม่ลูกสองคน แล้วเราไม่ได้แชร์ความทุกข์เรา เพื่อนๆ ก้แนะนำให้บอกแม่เพาะแม่เองก็จะต้องเตรียมตัวด้วย วันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว"



---"แม่หนูเป็นเนื้องอกที่เป็นปัญหา ยังไม่ใช้คำว่ามะเร็ง แม่นิ่ง ( น้ำตาของเธอพรั่งพรู เมื่อทบทวนถึงความรู้สึกของแม่ ) แม่ถามว่าทำไมไม่ไปผ่าตัด ก็บอกว่าไม่ใช่ทางเลือกของเรา เขาก็นิ่งไปเลย แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าโล่งมาก เพราะเก็บเรื่องนี้มาเป็นปี ตอนเย็นรู้สึกว่ากับข้าวที่แม่ทำอร่อยมาก เขาคงใส่ความรักลงไป" 



---นายแพทย์พรเลิศ กล่าวว่าในทางการแพทย์เองก็ถือว่าจิตใจของคนไข้เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องดูแลไม่น้อยไปกว่าการเยียวยาทางกาย ดังมีคำพูดว่า…


---เราสามารถรักษาคนไข้ได้เป็นบางเวลา และบางคน แต่เราทำให้เขาเป็นสุขได้ทุกครั้ง”โดยเฉพาะในรายที่รักษาไม่หายแล้ว นอกจาการพยายามช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย จะต้องช่วยเหลือดูแลในเรื่องจิตใจ และบอกให้คนไข้และญาติรู้ถึงข้อมูลในการรักษาอย่างเต็มที่ รู้ถึงอาการที่จะเกิด ผลของยา บอกทางเลือกในกรณีที่มีวิธีรักษาบางอย่างที่ช่วยยืดอายุได้ ไม่ว่าเป็นชั่วโมง วัน หรือสัปดาห์ รวมถึงผลดีที่คาด และผลเสียที่อาจได้รับ เพราะการยืดอายุอาจหมายถึงเวลาของการเตรียมตัวเตรียมใจ การสะสางสิ่งที่คั่งค้าง ตั้งสติและเตรียมจิตอย่างสงบ  หรือเป็นเพียงการยืดสัญญาณชีพ 



---"กรณีที่เจอบ่อยก็คือจะช่วยชีวิตหรือไม่ ใส่ท่อหรือไม่ใส่ ขึ้นอยู่กับแต่ละราย เขาให้ความหมายกับอะไร กับการเต้นของหัวใจ หรือการมีสติรับรู้ต้องคุยกับทีมแพทย์เอง กับคนไข้และญาติ กรณีที่คนไข้ไม่รู้สึกตัวแล้ว ต้องถามญาติว่าเขาได้เคยสั่งเสียอะไรไว้ไหม หรือคุยกับคนที่รู้จักคนไข้ดีที่สุด  เพราะถ้าเราเริ่ม life support แล้วจะหยุดไม่ได้ เขาควรรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร ซึ่งอาจจะยืดเยื้อ ทนทุกข์ทรมาน ควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือไปพร้อมกันในทางจิตใจ ได้แก่ 



---การให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข  ในขณะที่ร่างกายกำลังเจ็บปวด และความตายกำลังจะมาถึง สิ่งที่นเราหวาดกลัวมากที่สุด คือการถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความหวาดกลัวต่างๆ เพียงลำพัง ความรักจากคนรอบข้างรวมถึงแพทย์พยาบาล ย่อมช่วยให้จิตใจที่เปราะบางของเขาเข็มแข็งขึ้น และพึงระลึกว่าความเจ็บปวดที่รุมเร้าอาจทำให้จิตใจ และอารมณ์ของเขาแปรปรวน ควรอดทนด้วยความเข้าใจ 



---การช่วยให้เขายอมรับความตายที่จะมาถึง  ในหลายกรณีการยอมรับความตายอาจทำได้ยาก และต้องใช้เวลา เราอาจเริ่มต้นด้วยการยอมรับความกลัวตายของตนเอง อย่าเทศนาสั่งสอน หากรับฟังความรู้สึกเขาอย่างจริงใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการผู้มากประสบการณ์ หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องการใครสักคนที่แสดงทีท่าว่าพยายามจะเข้าใจเขา ในที่สุดแล้ว การรับฟังและแบ่งปัน อาจช่วยให้จิตใจของเขาคลี่คลาย คิดได้ว่าความตายนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่จำเป็น ต้องลงเอยอย่างเลวร้ายเช่นที่เขากลัว 



---การช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ  คน เราไม่อาจจากไปอย่างสงบได้หากมีภาระที่คั่งค้าง หรือมีเรื่องราวจากอดีตที่ยังติดค้างอยู่ในใจ เราอาช่วยสะสางธุระต่างๆ และพูดคุยให้เขาค่อยๆ คายสิ่งที่อยู่ในใจ ชวนให้เขาแผ่เมตตา อโหสิกรรม ชวนให้เขายอมรับ และกล่าวขอโทษทั้งต่อหน้า หรือการเขียนจดหมาย ให้เขาตระหนักว่า ยามใกล้ตายเป็นวาระสำคัญสำคัญสำหรับการคืนดี และการยอมรับสิ่งที่ได้ทำมา 



---การช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งดีงาม  อาจทำได้หลาวิธี เช่น นำพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่บุคคลนั้นนับถือมาตั้งไว้ในห้อง เปิดเทปสวดมนต์ เทปธรรมะ หรือดนตรีที่เขาชอบฟัง ที่ฟังแล้วช่วยให้จิตใจเขาสงบ สวดมนต์หรือทำสมาธิภาวนาไปพร้อมกับเขาชวนให้เขระลึกถึงคุณงามความดี และกุศลที่ได้ทำมา เพราะไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีหรือจน หรือทำตัวผิดพลาดมาอย่างไร ย่อมเคยทำความดีที่น่าระลึกถึงไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการทำบุญกับพระหรือศาสนาเท่านั้น การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ดูแลพ่อแม่ด้วยความรัก หรือเสียสละเพื่อคนอื่น ล้วนเป็นกุศล ที่เขาสามารถมั่นใจได้ว่าจะพาตนไปสู่สุคติ 



---ชวนให้เขามองการป่วยไข้ในทางที่เป็นประโยชน์ เป็นอีกบทเรียนของการตระหนักรู้ มิใช่การชดใช้กรรม นอกจากนี้อาจชวนให้เขาทำบุญ เช่นบริจาคทรัพย์สิน ทำทานแก่คนยากจนไร้โอกาส ซึ่งจะช่วยให้เขาละจากการติดยึดในทรัพย์สิน และโลกนี้ได้ในทางอ้อม 



---การช่วยให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ  ในบรรดาสิ่งยึดติดทั้งหลาย ไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งแน่นหนากว่าความยึดติดในตัวตน เราอาจใช้ประสบการณ์จากการทำมรณสติค่อยๆ ชักจูงให้เขาปล่อยวางสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่หยาบอย่างทรัพย์สินไปสู่สิ่งที่ละเอียดอย่างตัวตน ในทางพุทธแล้วถือว่าการตายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่แก่การค่อยๆ ลอกสิ่งที่จิตปรุงแต่งไว้ตลอดชีวิต ให้เหลือแต่จิตแท้ที่บริสุทธิ์ หรือพุทธภาวะที่จะไม่ยึดอยู่กับสิ่งใดอีกเลย 



---การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสงบใจ  พึงระลึกว่าการรับรู้และอารมณ์ของผู้ป่วยนั้นเปราะบาง และละเอียดอ่อนมาก เราควรให้เขาได้อยู่ในที่ที่เขารู้สึกสงบ และอบอุ่นใจ ญาติมิตรควรหลีกเลี่ยงการแสดงความเศร้าโศก สลดหดหู่ หรือการโต้เถียงวิวาท 



---ทุกวันนี้คนเรามักตายที่โรงพยาบาลมากกว่าที่บ้าน เราควรพูดทำความเข้าใจกับแพทย์พยาบาล ให้งดการตรวจ เจาะ หรือการรักษาใดๆ ที่ไม่จำเป็น 



---อย่างไรก็ตามพระไพศาล ขยายความในประเด็นสุดท้ายว่าการโน้มน้าวให้จิตผู้ป่วยสงบนั้น ทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้เขาจะอยู่ในขั้นโคม่า หรือในห้องไอซียู การสัมผัสมือหรือร่างกายเขาเบาๆ สวดมนต์ให้เขาฟังล้วนมีผลต่อจิตใจของเขา แม้ว่าร่างกายของเขาดูจะไม่ตอบสนองรับรู้ 



---เช่นมีคนไข้รายหนึ่งนอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียูเป็นอาทิตย์ ภายหลังเขาเล่าว่า หลายครั้งเขารู้สึกเคว้งคว้างเหมือนใจจะหลุดลอยไป แต่แล้วก็มีมือมาแตะที่ตัวเขาพร้อมกับพลังบางอย่าง ใจที่เคว้ง เหมือนจะขาดก้กลับมาใหม่ และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ในที่สุดเมื่อเขาฟื้นขึ้นมาทั้งๆ ที่แพทย์บอกว่าโอกาสรอดน้อยมาก เขาจึงรู้ว่ามีพยาบาลคนหนึ่งที่ทุกเช้าเมื่อขึ้นเวร จะมาจับมือเขาแล้วแผ่เมตตาให้กำลังใจแก่เขา 



---พระไพศาล ฝากไว้ว่า "แม้สัญญาณชีพหมดแล้วก็ควรรักษาบรรยากาศที่สงบนั้นต่อไป อย่างเพิ่งเข้าไปมะรุมมะตุ้ม หรือร้องไห้กอดรัด จิตอาจกำลังอยู่ในช่วงละร่าง อาจจะตระหนกตกใจ เราอาจช่วยตีระฆัง หรือสวดมนต์ส่งจิต บอกเขาว่าไปแล้วนะ ขอให้ไปในที่ที่ดี" 



---เราทุกคนย่อมปรารถนาการตายอย่างสงบ หากระลึกได้ว่าความตายติดตามเราอยู่ทุกนาที เราย่อมมีชีวิตโดยไม่ประมาท และรู้ตัวดีว่า ยังมีการบ้านอีกมากที่ต้องทำ และต้องลงมือทำอย่างไม่ผัดวันประกันพรุ่ง 



*เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับความตายทั้งของตนเองและคนใกล้ตัว

 
         
---"เรากลัวความตายเพราะว่ากลัวตัวตนจะดับสูญ ความตายมารื้อถอนมันทิ้งทั้งๆ ที่มันพยายามจะเป็นอมตะ ยิ่งตัวตนใหญ่โตเท่าไร ยิ่งกลัวตายเท่านั้น" โดย พระไพศาล วิลาโล 



---"ทุกค่ำคืนก่อนเข้านอน ฉันจะเก็บล้างถ้วยชาที่ได้ใช้ดื่มกินมาตลอดวัน เผือว่าหากฉันหลับและไม่ตื่นขึ้นมาอีก เมื่อรุ่งเช้ามาถึงจะได้ไม่ต้องมีใครมาเก็บล้างภาระที่ฉันคั่งค้างไว้" โดยลามะ นิกายนิงมาปะ 



---"ความดับไม่เหลือมีวิธีปฏิบัติเป็นสองชนิด คือตามปกติขอให้มีความดับไม่เหลือแห่งความรู้สึกยึดถือ "ตัวกู" หรือ "ของกู" อยู่ เป็นประจำ อีกอย่างหมายถึงเมื่อร่างกายจะต้องแตกดับไปจริงๆ ขอให้ปล่อยทั้งหมดรวมทั้งร่างกาย ชีวิต จิตใจ ให้ดับครั้งสุดท้าย ไม่มีเชื้ออะไรเหลืออยู่ หวังอยู่ สำหรับการเกิดมีตัวเราขึ้นมาอีก"โดย พุทธทาสภิกขุ 



---"ไม่มีวิธีใดอีกแล้วที่จะเร่งให้คุณเติบโตเยี่ยงมนุษย์ได้ดีไปกว่าการช่วยเห ลือผู้ใหล้ตาย การดูแลเอาใจใส่ผู้ใกล้ตายแท้ที่จริงก็คือ การเพ่งพินิจความตายของตัวคุณเองอย่างลึกซึ้ง" โดย โซเกียล รินโปเช



---อนิจจังชีวิตคนเรา อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ วันนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่พรุ่งนี้อาจตายก็ได้ ดังนั้นในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่จงใช้ชีวิตอย่างมีสติ สร้างบุญกุศลให้มากๆ กตัญญูรู้คุณกับผู้มีพระคุณ และจงบอกรักหรือถนอมความรักที่คุณมีให้กับคนรอบข้าง หรือคนที่รักคุณให้มากๆ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนไม่แน่นอน … วันนี้ยังหายใจ แต่พรุ่งนี้ชีวิตคุณอาจสิ้นก็เป็นได้.







....................................................................................





ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว อัครภาค สังอาภาวรากุล และตระกูล)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 24 ตุลาคม 2558



ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« January 2025»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท12/01/2025
ผู้เข้าชม8,442,110
เปิดเพจ12,866,763
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view