อานิสงส์การปฏิบัติธรรม
*บทนำ
---บทนำนี้มีเนื้อหาของอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกับบทนำอื่น ๆ ของผู้เขียน.
---บทนำนี้ ผู้เขียนมุ่งหวังที่จะนำเสนอเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างย่อ เอาแต่ประเด็นสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตจริง ๆ.
---ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บทความมีความกระชับ สั้น ง่ายขึ้นกว่าที่เคยเขียน พร้อมทั้งเน้นเรื่องวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย.
---การนำเสนอเรื่องอริยสัจ ๔ ก่อนวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในสมัยพุทธกาล กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงอารัมภบทสั้น ๆ เสียก่อน เมื่อผู้ฟังมีศรัทธาแล้ว จึงตรัสสอน อริยสัจ ๔.
---การไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ มาก่อน แล้วลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ก็อาจหลงทางได้โดยง่าย และบางท่านอาจหลงทางกันชั่วชีวิตเลยก็ได้.
---ในสมัยพุทธกาล เรื่องอริยสัจ ๔ และวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ง่าย สั้น เปิดเผย และไม่มีเงื่อนงำใด ๆ เพราะสมัยนั้น มีการสอนอริยสัจ ๔ อย่างตรงประเด็น.
---ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะนำเสนอให้ง่ายและตรงประเด็น เท่าที่จะสามารถทำได้.
---เพื่อให้ท่านสามารถนำไปฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย และให้ผลดีอย่างรวดเร็ว คือ ทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบ ไม่กังวล ไม่เครียด หลับสบาย หายจากความทุกข์ทั้งปวง ที่เกิดจากการคิดอกุศลในชีวิตปัจจุบันนี่เอง.
---เมื่อท่านบทความนี้แล้ว แต่ยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องของการฝึกปฏิบัติธรรม ผู้เขียนก็ยังมีตัวช่วยที่ประหยัด คือ CD-MP3 เรื่องแก่นธรรม (อริยสัจ ๔) สำหรับช่วยนำฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน.
---ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าหลงเชื่อผู้เขียน แต่ขอได้โปรดตั้งใจอ่านช้า ๆ อย่าอ่านอย่างรีบร้อน ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริง จากประสบการณ์ของตนเองในทุกขั้นตอน และทดลองฝึกปฏิบัติธรรม ตามที่นำเสนอเรียงตามลำดับ เพื่อพิสูจน์ว่า ท่านก็สามารถมีสติ ดูแลจิตใจของตนเอง ให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ในปัจจุบันขณะ ตามสัดส่วนของความเพียร.
----เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือ การทำจิตใจให้มีความบริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง. ดังนั้น ถ้าท่านเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ พร้อมทั้งได้รับผลจากการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือ มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้บ้างแล้ว ก็ขอได้โปรดแนะนำให้ผู้อื่นศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเช่นเดียวกัน.
---ผู้ใด ครอบครัวใด หน่วยงานใด สังคมใดที่ศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ย่อมมีความสุขสงบ มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมทั้งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตามวิถีทางของการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธนั่นเอง.
*สารบัญบท
* เกริ่นนำเรื่องแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา (อริยสัจ ๔)
* ความทุกข์ในอริยสัจ (ทุกข์)
* สาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔
* ความโลภ
* ความโกรธ
* ความหลง
* ความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ (นิโรธหรือนิพพาน)
* ภาวะนิพพานชั่วคราว
* วิธีฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘
* วิธีฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน
* ปัญหาต่าง ๆ ในขณะเจริญสมาธิ
* เรื่องของการเจริญสติ
* โอวาทปาฏิโมกข์
* วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน
* สติปัญญาทางโลกและทางธรรม
* วิธีฝึกเจริญสติเพื่อสำรวมความคิด
* เรื่องของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
* การประเมินผล สรุป และบันทึกท้ายบท
*พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
---พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทว่า "….ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น.
---เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผล เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ…." (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การกระทำทางกายและวาจา จะเป็นประโยชน์หรือโทษ ดีหรือชั่วนั้น อยู่ที่ความคิดนี่เอง.
---ดังนั้น การจะทำสิ่งใดและพูดอะไร จึงควรให้เวลาในการมีสติคิด อย่างละเอียดและรอบคอบหรือพิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน เพื่อหยุดยั้งการกระทำทางกายและวาจาที่ไม่ถูกต้อง ให้เกิดกระทำที่ถูกต้อง อันจะก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่เป็นประโยชน์ และสร้างความเจริญต่าง ๆ.
---การมีสติคอยดูแลจิตใจไม่ให้คิดและไม่ให้ทำอกุศล ให้คิดและให้ทำแต่กุศล ย่อมทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นบุคคลที่ประเสริฐ (อริยบุคคล) ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์.
---พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นหลักธรรมที่คนไทย ทุกชาติและทุกศาสนา ควรนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความผาสุข ความเจริญ และสันติภาพของชาวโลก.
*วิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างง่าย ๆ
---พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ และตรัสสอนอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยเรื่องของความทุกข์ (ทุกข์) สาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย) ความดับทุกข์ (นิโรธหรือนิพพาน) และวิธีฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ (มรรค).
---อริยสัจ ๔ จึงเป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาที่คนทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีความทุกข์ และมีความสุขสงบในปัจจุบัน.
---ผู้ที่เข้าใจเนื้อหาของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนและจดจำไว้ได้ตามสมควร ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรมหรือเป็นชาวพุทธที่แท้จริง และเริ่มเข้าสู่กระแสของความดับทุกข์ (นิพพาน).
---ครั้นมีความรู้ในอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ดีตามสมควร ก็จะเป็นผลให้การศึกษาเล่าเรียน การปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณค่า ยุติธรรม มีความสุขสงบมากขึ้น เพราะจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสมากขึ้น.
*อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องง่ายและสั้น (เฉพาะบุคคล)
---ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสสอนอริยสัจ ๔ รวมทั้งวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันโดยใช้เวลาสั้น ๆ เพียงครั้งเดียวก็จบ เช่น ตรัสสอนในขณะประทับยืนบนถนน ริมทางเดิน ใต้ต้นไม้ เป็นต้น.
---การตรัสสอนโดยใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาของอริยสัจ ๔ นั้นมีไม่มากและไม่ยาก สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมทั้งหลายที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นของง่าย เปิดเผย ประกาศไว้ชัด ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ….” (พุทธธรรม หน้า ๖๖๒ ป.อ. ปยุตฺโต หรือพระไตรปิฎก CD ROM ฉบับสมาคมศิษย์เก่า มหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๒๘๘.
---สำหรับหนังสือพุทธธรรมที่อ้างอิงทุกตอนนั้น พิมพ์เป็นครั้งที่ ๘).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วหรือหลักธรรมที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นเรื่องที่เปิดเผยในสาธารณะ เพราะมีความชัดเจนในเนื้อหา ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ เลย เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถใช้สติปัญญาตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ทุกเมื่อ หรือไม่จำกัดกาลเวลา โดยไม่ต้องหลงเชื่อ.
---ดังนั้น คนทั่วไปจึงสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้โดยง่าย.
---ก่อนที่จะลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ท่านควรมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ เสียก่อน จึงจะสามารถฝึกปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น.
---ครั้นลงมือฝึกปฏิบัติธรรม ก็จะบรรลุภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบเกิดขึ้นอย่างทันตาเห็น ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ใกล้ตัว แต่ที่ยากก็คือ ต้องมีความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันกันชั่วชีวิต.
*อย่าศึกษาอริยสัจ ๔ ด้วยความหลงเชื่อ
---พระพุทธศาสนานั้น เป็นศาสตร์แห่งการใช้สติปัญญาทางธรรม เพื่อการหลุดพ้นจากความชั่ว ความทุกข์ และมุ่งทำความดี เพื่อทำจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใสในปัจจุบันขณะ โดยไม่ต้องรอชาติหน้า.
---วิชาพุทธศาสตร์ จึงไม่ใช่วิชาของการหลงเชื่อหรือหลงงมงายแต่ประการใด แต่เป็นความจริงที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจ จดจำ และนำไปฝึกปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน.
---อริยสัจ ๔ เป็นความจริงอันประเสริฐ ที่คนทั่วไปสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ในทุกกาลเวลา.
---ท่านจึงควรตรวจสอบเนื้อ หาของอริยสัจ ๔ในหนังสือเล่มนี้กับประสบการณ์ตรงของท่านเอง และพิสูจน์ว่า เมื่อนำมาทดลองฝึกปฏิบัติดู จะต้องสามารถทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้จริง.
---เมื่อทำการตรวจสอบกับประสบการณ์ตรงของตนเอง รวมทั้งนำมาทดลองฝึกปฏิบัติดูแล้ว และผลที่ได้รับ คือ ทำให้ท่านสามารถลดละการทำความชั่ว มุ่งทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ มากขึ้น ขณะเดียวกันความทุกข์ก็จะลดลง จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสุขสงบมากขึ้น ถึงแม้เป็นการชั่วคราว ก็น่าจะถือว่า เป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง.
---เพื่อให้การฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นไปอย่างถูกต้องและตรงประเด็น เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล จึงควรที่จะศึกษาอริยสัจ ๔ ให้เข้าใจ รวมทั้งจดจำไว้ได้ตามสมควรเสียก่อน แล้วจึงค่อยลงมือฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันต่อไป.
*ความทุกข์ในอริยสัจ ๔
---การมีความรู้เรื่องความทุกข์ว่า คืออะไร และความทุกข์แบบไหนที่ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ย่อมเกิดการกระตุ้นเตือนให้คิดอยากออกจากความทุกข์.
---ผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ย่อมมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส และเป็นบุคคลที่มีจิตใจประเสริฐ.
---ดังนั้น ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็จัดว่า เป็นบุคคลที่ประเสริฐในศาสนานั้น ๆ.
---การไม่มีความรู้ในเรื่องของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ย่อมทำให้ไม่รู้ว่า ตนกำลังตกอยู่ในความทุกข์ จึงอาจจมอยู่ในกองทุกข์และจิตใจไม่บริสุทธิ์ผ่องใสโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นผลให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นได้โดยง่าย.
---เพื่อให้บทความกระชับ บางครั้งจึงใช้คำว่า “ความทุกข์หรือทุกข์” แทนคำว่า ”ความทุกข์ในอริยสัจ ๔“.
*ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือโรคทางจิตใจ
---พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้โดยสรุปว่า มนุษย์มี ๒ โรค คือ โรคทางร่างกายและโรคทางจิตใจ.
---พระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีโรคทางจิตใจ (พุทธธรรม หน้า ๘๑๘ ป.อ. ปยุตฺโต) เพราะพระอรหันต์มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอรหันต์มีสติ ไม่คิดอกุศล (ชั่ว) และไม่ทำอกุศล คงคิดแต่กุศล (ดี) และทำแต่กุศลอย่างต่อเนื่อง.
---ดังนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้ไม่มีความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการคิดอกุศล และไม่มีความทุกข์ทางร่างกายที่เกิดจากความทุกข์ทางจิตใจ.
---การฝึกปฏิบัติธรรมจึงควรมีความรู้เรื่องความทุกข์เสียก่อน เพื่อที่จะได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องและตรงประเด็น.
*ความทุกข์ในความหมายทั่วไป คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ.
---ความทุกข์มี ๒ ระดับ คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามปกติในชีวิตประจำวัน และความทุกข์ที่มากกว่าปกติ.
---ความทุกข์ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ คือ ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ด้วยการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน.
*ความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามปกติ ความทุกข์มี ๒ แบบ คือความทุกข์ตามปกติ และความทุกข์ที่มากกว่าปกติ.
---ความทุกข์ทางร่างกายตามปกติ คือ ความไม่สบายกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่มีการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น เช่น ความไม่สบายกายจากการหิวข้าว หิวน้ำ ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ เป็นต้น ย่อมทำให้จิตใจถูกบีบคั้น ให้แก้ปัญหาหรือจิตใจพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย ครั้นจัดการได้เรียบร้อยแล้ว ความทุกข์ต่าง ๆ ก็หมดไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จากการทำงานของสมองอย่างอัตโนมัติ และไม่ต้องบำบัดรักษาแต่ประการใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต.
---คนที่ไม่มีความทุกข์กายและทุกข์ใจเช่นนี้ คือ คนที่กำลังหลับสนิท หมดสติ หรือสมองผิดปกติ.
---ความทุกข์ทางจิตใจตามปกติ คือ ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่มีการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น เช่น ความไม่สบายใจเพราะอยาก ไม่อยาก ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจ เป็นต้น.
---ความไม่สบายใจดังกล่าว เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของสมองอย่างอัตโนมัติ และเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกำจัดให้หมดไปแต่ประการใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต.
---คนที่ไม่มีความทุกข์ทางจิตใจเช่นนี้ คือ คนที่กำลังหลับสนิท หมดสติ หรือสมองผิดปกติ เพราะสมองของมนุษย์ทำหน้าที่เช่นนั้นเอง.
*ความทุกข์ที่มากกว่าปกติ
---ความทุกข์ทางร่างกายที่มากกว่าปกติ คือ ความไม่สบายกาย ที่เกินความพอเหมาะพอควร จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น เช่น หิวอาหารมาก แต่รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดท้องที่จะขับถ่ายมาก แต่ขับถ่ายไม่ออก เป็นต้น. ความไม่สบายกายที่มากกว่าปกติ เป็นเรื่องที่ต้องบำบัดหรือรักษา ให้หมดไปด้วยความรู้และความสามารถทางโลก เช่น ความรู้ทางการแพทย์ เป็นต้น.
---ความทุกข์ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ คือ ความไม่สบายใจที่เกินความพอเหมาะพอควร จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น เช่น ทุกข์เพราะมีความอยากมาก ไม่อยากมาก ไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก เป็นต้น. ความไม่สบายใจที่มากกว่าปกติ เป็นเรื่องที่ต้องกำจัดให้หมดไปด้วยความรู้และความสามารถทางธรรม.
*ความทุกข์ที่มากกว่าปกติ คือ ทุกข์ในพระพุทธศาสนา
---ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ต่าง ๆ ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น รวมทั้งความทุกข์ต่าง ๆ ทางร่างกายที่เกิดขึ้นมาจากความทุกข์ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ. ทุกข์ในอริยสัจ ๔ โดยย่ออาจแบ่งเป็น ๓ แบบ* เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจและจดจำ ดังนี้
*แบบที่ ๑. ความทุกข์ภายในจิตใจ.
---ความทุกข์ภายในจิตใจ คือ ความไม่สบายใจที่มากกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจมีภาวะกังวล เครียด หวั่นไหว กลัว พรั่นพรึง กลุ้มใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง ซึมเศร้า สับสน ห่อเหี่ยว ท้อแท้ เบื่อหน่าย น้อยใจ เสียใจ อิจฉา ริษยา ขัดเคือง โกรธ แค้นเคือง พยาบาท รวมทั้งความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มากเกินควร เป็นต้น.
---ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ตามพระไตรปิฎกมี ๕ แบบ ผู้เขียนย่อลงมาเป็น ๓ แบบ เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่ายสำหรับคนยุคปัจจุบันและบุคลากรทางสาธารณสุข.
*แบบที่ ๒. ความทุกข์ทางจิตใจที่แสดงอาการออกมาภายนอก.
---ความทุกข์ทางจิตใจที่มากขึ้น อาจเป็นผลให้มีการแสดงออกมาทางกิริยาอาการและคำพูด เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้ คร่ำครวญ รำพึงรำพัน พูดเพ้อเจ้อ สับสน ดุดัน หน้านิ่วคิ้วขมวด กลัว เศร้าสร้อย ก้าวร้าว ทำลายสิ่งของ ทำร้ายตนเอง ฉ้อโกง โกงกิน กินตามน้ำ ทำลายชื่อเสียงของผู้อื่น แย่งชิงตำแหน่ง แย่งชิงทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้อื่น เยินยอ ประจบประแจง สอพลอ โกหก ให้สินบน พูดชั่ว ทำชั่วต่าง ๆ นานา เป็นต้น.
*แบบที่ ๓. ความทุกข์ทางร่างกายและโรคต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากการมีความทุกข์ทางจิตใจ.
---ความทุกข์ทางจิตใจที่รุนแรงหรือเรื้อรัง จะทำให้เกิดความทุกข์ทางร่างกายและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องผูก ลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ่ายบ่อย เป็นเบาหวานรุนแรงขึ้น ร่างกายผ่ายผอม นอนไม่หลับ หมดแรง ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานลดลง ติดเชื้อง่าย ภูมิแพ้ ร่างกายอ่อนแอ หายป่วยช้า ผมร่วง ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม วิงเวียน หน้ามืด เป็นลม เจ็บที่หัวใจ หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตก อัมพาต โรคหัวใจ มะเร็ง ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคประสาท โรคจิต เป็นต้น.
(ข้อสังเกต: ความทุกข์ทั้ง ๓ แบบเกิดขึ้นจากการคิดอกุศล)
---เนื่องจากร่างกายและจิตใจ ถูกควบคุมด้วยการทำงานของสมอง. ดังนั้น ขณะที่สมองคิดในเรื่องที่เป็นทุกข์ จิตใจก็จะเป็นทุกข์ และร่างกายก็จะทำงานผิดปกติไปด้วย จึงเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทางร่างกายหรือเกิดการเจ็บป่วยทางร่างกายได้ เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง.
---คนที่มีความทุกข์ทางจิตใจเพิ่มขึ้นในขณะที่มีโรคทางร่างกายและจิตใจอยู่แล้ว จะทำให้หายได้ยาก และอาจซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่แล้ว ให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งเกิดโรคใหม่มาแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย.
---ความทุกข์ทางร่างกายที่แสดงออกมานั้น เกิดจากช่วงนั้น กำลังมีความทุกข์ทางจิตใจ เมื่อความทุกข์ทางจิตใจหมดไป ความทุกข์ทางร่างกายก็จะหมดไปด้วย หรือค่อย ๆ หายไป.
---สำหรับการเจ็บป่วยทางร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เช่น เป็นแผลในกระเพาะ ข้ออักเสบ ภูมิแพ้ ก็จำเป็น จะต้องใช้เวลาในการรักษาทั้งทางร่างกาย (ทางโลก) และทางจิตใจ (ทางธรรม) ควบคู่กันไป.
*สรุป ความทุกข์โดยย่อมี ๓ แบบ คือ
---๑.ความทุกข์ภายในจิตใจ.
---๒.ความทุกข์ภายในจิตใจที่แสดงอาการออกมาภายนอก.
---๓.ความทุกข์ทางร่างกายและโรคต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากการมีความทุกข์ทางจิตใจ.
---ความทุกข์ทั้ง ๓ แบบ ที่รุนแรงจนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น คือ ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นในปัจจุบันนี้เอง โดยไม่ต้องรอไว้ชาติหน้าแต่ประการใด.
*ข้อคิด...ขณะนี้ท่านมีความรู้เรื่องความทุกข์ในอริยสัจ ๔ เรียบร้อยแล้ว
---ขอถามว่า เรื่องความทุกข์ในอริยสัจ ๔ มีเนื้อหามากและยากหรือไม่ ท่านคงจะตอบได้ทันทีว่า มีเนื้อหาน้อย เป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็รู้.
*สาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔
---การมีความรู้เรื่องสาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ว่า มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และแต่ละสาเหตุนั้น มีรายละเอียดอะไรอย่างไร ย่อมได้แนวทางในการกำจัดสาเหตุของความทุกข์ได้อย่างตรงเป้าหมาย.
---เมื่อกำจัดสาเหตุของความทุกข์ได้อย่างตรงประเด็น ก็จะทำให้พ้นจากความทุกข์ และจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสได้โดยง่ายและรวดเร็ว.
---การฝึกปฏิบัติธรรมโดยไม่มีความรู้ในเรื่องสาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ย่อมไม่สามารถดับสาเหตุของความทุกข์ได้อย่างถูกต้อง หรือหลงทางได้โดยง่าย.
---ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ขณะที่จิตใจคิดอกุศล จิตใจจะไม่บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นผลให้การกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นอกุศล และเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ด้วย.
---ในทางกลับกัน ขณะที่ใจไม่คิดอกุศลและคิดแต่กุศลอยู่นั้น จิตใจจะมีความบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นผลให้การกระทำทางกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นแต่กุศล และเป็นสาเหตุให้เกิดความสุขสงบด้วย ซึ่งเป็นความจริงหรือสัจธรรมที่ทุกท่านสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง.
---สาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน.
---ทุกครั้งที่มีความทุกข์เกิดขึ้น จะต้องมีสาเหตุเกิดขึ้นก่อน และทุกคนก็เคยมีความทุกข์มาแล้ว.
---ดังนั้น ทุกคนจึงมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ และบางคนก็เป็นผู้เชี่ยวชาญมากด้วย.
---ถึงแม้ทุกคนจะมีข้อมูล "อกุศล" อยู่ในความจำ เป็นจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ถ้ามี "สติ" ไม่คิดอกุศล การกระทำต่าง ๆ ก็จะไม่เป็นอกุศล และมีความสุขสงบเกิดขึ้น ขณะเดียวกันจิตใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสด้วย.
---คนบางคนมีข้อมูลอกุศลไม่มาก แต่ "ไม่มีสติ" หรือปล่อยจิตใจให้คิดอกุศล จึงเป็นผลให้การกระทำต่าง ๆ เป็นอกุศล และมีความทุกข์เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจิตใจก็จะไม่บริสุทธิ์ผ่องใสด้วย.
---การปล่อยให้มีการคิดอกุศลอยู่เสมอ ๆ ไม่นานนักก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดและการทำอกุศล.
---ขณะคิดอกุศลหรือขณะคิดด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง จะทำให้เกิดความทุกข์ในอริยสัจ ๔.
---ดังนั้น ขณะคิดอกุศลจึงเท่ากับขณะนั้น มีเชื้อโรคทางจิตใจเกิดขึ้นนั่นเอง.
---เชื้อโรคทางจิตใจที่ทำให้คนเป็นทุกข์มีเพียง ๓ ตัวเท่านั้นเอง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง.
*เชื้อโรคทางจิตใจตัวที่ ๑ คือ ความโลภ
---ความโลภมี ๒ ภาษา คือ ภาษาทางโลกและภาษาทางธรรม.
---ภาษาทางโลกนั้น ความโลภ หมายถึง ความอยาก.
---โดยทั่วไป เมื่อมีความอยาก ก็มักจะมีความไม่อยากด้วย.
---ส่วนภาษาทางธรรมนั้น ความโลภ หมายถึง ความอยากหรือไม่อยากที่เกินความพอเหมาะพอควร (อยากมากหรือไม่อยากมาก) จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เกิด ความทุกข์มากกว่าปกติ และจิตใจไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลางของชีวิต.
*ตัวอย่างของการเกิดความโลภ เช่น อยากมากที่จะร่ำรวย
---จึงต้องโกงกิน อยากมากหรือปรารถนาดีมาก ที่จะให้ลูกเป็นคนดี จึงต้องบ่นหรือดุด่าวันละ ๓เวลา อยากมากที่จะได้บุญจึงทำบุญจนเป็นหนี้ ไม่อยากมากที่จะแพ้เลือกตั้งจึงต้องโกงการเลือกตั้ง เป็นต้น.
*ความอยากและไม่อยากที่พอเหมาะพอควร
---คือ ไม่ถึงขั้นเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น และไม่เป็นทุกข์มากกว่าปกติ ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว ในเรื่องของความทุกข์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติของจิตใจมนุษย์ เป็นทางสายกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต เช่น
---อยากเห็น (ทางตา) สิ่งที่ตนชอบ ฟังเสียง (ทางหู) ที่ตนปรารถนา
---ดมกลิ่น (ทางจมูก) ที่หอม ลิ้มรสอาหาร(ทางลิ้น)ที่อร่อย
---สัมผัสหรือจับต้อง (ทางกายสัมผัส) สิ่งที่ชอบ อยากได้ อยากมี อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ตามที่ตนคิด
---ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้กลิ่น ไม่อยากลิ้มรส ไม่อยากสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ตามที่ตนคิดด้วยความพอเหมาะพอควร เป็นต้น.
---การคิดด้วยความอยากหรือไม่อยากซ้ำแล้วซ้ำอีก สมองก็จะจดจำและต่อยอดเป็นความอยากมากและไม่อยากมาก จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นได้ เช่น คิดอยากรวยเร็ว ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดความอยากมากที่จะรวยเร็วๆ ลงท้ายจึงเกิดการบีบคั้นตนเอง ให้ทำงานหนักมากหรือต้องเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น เพื่อให้ได้มาสมกับความอยากมาก (ความโลภ) เป็นต้น.
---ความโลภ คือ ความอยากมากหรือไม่อยากมากที่เกินความพอเหมาะพอควร จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ รวมทั้งจิตใจก็ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลางของชีวิต.
---เมื่อคิดอยากมากหรือไม่อยากมาก ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม (มีความโลภ) สมองก็จะจดจำความคิดดังกล่าวไว้ในสมอง.
---ครั้นคิดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ความอยากมากและไม่อยากมากในเรื่องนั้น ๆ ก็จะต่อยอดมากขึ้นเรื่อย จนกลายเป็นความอยากมากหรือไม่อยากมากอย่างรุนแรง ถึงขั้นทะยานอยาก (ตัณหา) ที่จะให้ได้มาหรือเป็นไปตามความคิดดังกล่าว.
---ถ้าคิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องเดิม ก็จะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในความคิดอยากมากหรือไม่อยากมากนั้น ๆ ขณะเดียวกันสมองก็จะจดจำเรื่องของความโลภ ตัณหา และอุปาทานด้านความโลภ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการคิดในครั้งต่อ ๆ ไป เพราะธรรมชาติของสมองเป็นเช่นนั้นเอง.
---เมื่อมี ความโลภ มากขึ้น จึงเกิดความทะยานอยากที่จะให้เป็นไปตามความโลภ เรียกว่า "ตัณหา" และการมีความโลภซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นที่จะให้เป็นไปตามความโลภเรียกว่า "อุปาทาน"
---ตัณหาและอุปาทาน จึงเป็นเพียงการขยายความให้เห็น ถึงความรุนแรงของความโลภ เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้นี้ในเรื่องของความดับทุกข์ต่อไป.
---ความโลภ รวมทั้งตัณหาและอุปาทานในความโลภนั้น เป็นเรื่องของความคิดและความจำที่เป็นอกุศล. ถึงแม้จะมีข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความจำ แต่ถ้ามีสติไม่คิดอกุศล ความโลภ ตัณหา และอุปาทาน ก็จะไม่ออกมาในความคิด เป็นผลให้จิตใจในขณะนั้นมีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
*เชื้อโรคทางจิตใจตัวที่ ๒ คือ ความโกรธ
*ความโกรธมี ๒ ภาษา คือ ภาษาทางโลกและภาษาทางธรรม.
---ภาษาทางโลกนั้น ความโกรธ หมายถึง ความขุ่นเคืองใจ หรือไม่พอใจ หรือไม่ถูกใจ หรือไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกท่านคุ้นเคยมาชั่วชีวิต.
---ส่วนภาษาทางธรรมนั้น ความโกรธ หมายถึง ความไม่ชอบมาก หรือไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก ที่เกินความพอเหมาะพอควร จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจที่มากกว่าปกติ และจิตใจก็จะไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลางของชีวิต.
---ตัวอย่างของการเกิดความไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น ไม่ชอบสิ่งที่เห็น (ทางตา) เพราะน่ากลัว ไม่พอใจเสียงที่ได้ยินเพราะหนวกหู ไม่ชอบกลิ่น (ทางจมูก) ที่ได้รับเพราะเหม็น ไม่ถูกใจในรสชาติ (ทางลิ้น) ที่เผ็ด ไม่ชอบสัมผัสหรือจับต้อง (ทางกายสัมผัส) สิ่งที่สกปรก ไม่ชอบในสิ่งที่ได้ ที่มี หรือที่เป็น เป็นต้น.
---ความไม่ชอบ ไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจ ที่มีความพอเหมาะพอควร คือ ไม่ถึงขั้นเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น และไม่เป็นทุกข์มาก ดังในตัวอย่างต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติของจิตใจมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต.
---การคิดด้วยความไม่ชอบ ไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจซ้ำแล้วซ้ำอีก สมองก็จะจดจำและต่อยอดเป็นความไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.
---ความโกรธ เกิดจากการมีความโลภ เช่น อยากร่ำรวยมากจึงต้องปล้น ครั้นผู้ที่ถูกปล้นขัดขืนก็โกรธ, อยากมากหรือมีความปรารถนาดีมาก ๆ ที่จะให้ลูกเป็นคนดี ครั้นลูกไม่เชื่อฟังก็โกรธ, อยากทำบุญมาก ครั้นถูกห้ามไว้ก็โกรธ, ไม่อยากมากที่จะถูกขับรถปาดหน้า ครั้นถูกปาดหน้าหน่อยเดียว ก็โกรธมากถึงขั้นลงมาทำร้ายกัน เป็นต้น.
---ความโกรธ คือ ความไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมากที่เกินความพอเหมาะพอควร จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ที่มากกว่าปกติ รวมทั้งจิตใจก็ไม่บริสุทธิ์ผ่องใสด้วย ซึ่งไม่ใช่ทางสายกลางของชีวิต.
---เมื่อคิดไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม (มีความโกรธ) สมองก็จะจดจำความคิดดังกล่าวไว้.
---ครั้นคิดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ความไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมากในเรื่องนั้น ๆ ก็จะต่อยอดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความไม่ชอบมาก หรือไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมากอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีความทะยานอยาก (ตัณหา) ที่ให้ได้มาหรือเป็นไปตามความคิดดังกล่าว (ตามความโกรธ).
---ถ้าคิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องเดิม ก็จะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในเรื่องที่คิด ขณะเดียวกันสมองก็จะจดจำเรื่องของความโกรธ ตัณหา และอุปาทานด้านความโกรธ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการคิดในครั้งต่อ ๆ ไป.
---ความโกรธ รวมทั้งตัณหาและอุปาทานในความโกรธนั้น เป็นเรื่องของความคิดและความจำที่เป็นอกุศล.
---ถึงแม้จะมีข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความจำ แต่ถ้ามีสติไม่คิดอกุศล ความโกรธ ตัณหาและอุปาทาน ก็จะไม่ออกมาในความคิด เป็นผลให้จิตใจขณะนั้น มีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
---ตัณหาและอุปาทานจึงเป็นเพียงการขยายความให้เห็นถึงความรุนแรงของความโกรธ เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้นี้ในเรื่องของความดับทุกข์ต่อไป.
---ความโกรธทางธรรม มีความหมายกว้าง เช่น ความไม่ชอบมาก ไม่ถูกใจมาก ไม่พอใจมาก ขัดเคืองใจ โกรธ แค้นเคือง พยาบาท เป็นต้น.
---ความโกรธถึงขั้นที่เป็นตัณหา คือ ความโกรธอย่างรุนแรง.
---ความโกรธถึงขั้นที่เป็นอุปาทาน คือ ความแค้นหรือพยาบาท.
---ตัณหาและอุปาทาน จึงเป็นตัวแสดงถึงความรุนแรงของความคิดและความจำที่เป็นอกุศล จะเป็นด้านความโลภหรือความโกรธก็ได้.
---การคิดอกุศล คือ การคิดด้วยความโลภ ความโกรธ ตัณหา และอุปาทาน เพราะเป็นการคิดเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ รวมทั้งจิตใจไม่บริสุทธิ์ผ่องใสในเสี้ยววินาทีที่คิด.
---การไม่คิดอกุศล คือ การไม่คิดด้วยความโลภ ความโกรธ ตัณหา และอุปาทาน เพราะเป็นการไม่คิดเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้มีความสุขสงบ รวมทั้งจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสในเสี้ยววินาทีนั้น.
---การคิดกุศล คือ การคิดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้มีความสุขสงบ รวมทั้งจิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสในเสี้ยววินาทีนั้น.
---จิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสในพระพุทธศาสนานั้น เป็นผลจากการไม่คิดอกุศลและคิดแต่กุศล.
---ถ้ามีสติควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้ชั่วคราว จิตใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสชั่วคราว และถ้ามีสติควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้อย่างต่อเนื่อง จิตใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใส รวมทั้งไม่มีความทุกข์ได้อย่างต่อเนื่องด้วย.
*เชื้อโรคทางจิตใจตัวที่ ๓ คือ ความหลง
*ความหลงมี ๒ ภาษา คือ ภาษาทางโลกและภาษาทางธรรม.
---ภาษาทางโลกนั้น ความหลง หมายถึง ความโลภทางธรรม เช่น หลงเครื่องประดับ คือ มีความโลภในการได้เห็นรูปร่าง สีสรร จับต้องและประดับด้วยเครื่องประดับ หลงเสียงเพลง คือ มีความโลภในการฟังเพลง หลงในรสอาหาร คือ การมีความโลภในรสอาหาร เป็นต้น.
---ส่วนภาษาทางธรรมนั้น ความหลง หมายถึง การไม่มีความรู้ในอริยสัจ ๔ รวมทั้งการไม่มีความสามารถในการปฏิบัติธรรม ตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุ ให้เกิดการคิดอกุศล เป็นผลให้มีความทุกข์ที่มากกว่าปกติ รวมทั้งจิตใจก็ไม่บริสุทธิ์ผ่องใสอีกด้วย. ความหลงมีความหมายเดียวกันกับคำว่า โมหะและอวิชชา.
*หัวหน้าใหญ่ของกิเลส คือ ความหลง
---เพราะมีความหลง คือ ไม่มีความรู้ในอริยสัจ ๔ และไม่มีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ จึงทำให้ไม่สามารถดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้ จึงเกิดการคิดอกุศลขึ้น.
---คนที่มีความโลภแล้ว ไม่ได้มาหรือไม่เป็นไปตามความโลภ ก็จะเกิดความโกรธ.
---ความโกรธจึงเกิดขึ้น เพราะการมีความโลภ ขณะเดียวกันความโลภเกิดขึ้น เพราะการมีความหลง. ดังนั้น หัวหน้าใหญ่ของกิเลส คือ ความหลง.
---เราควรลดหรือกำจัดความหลงเป็นอันดับแรก
---ผู้ที่สามารถกำจัดความหลงหรือดับความไม่รู้แจ้งชัดในอริยสัจ ๔ (ดับอวิชชา) ได้หมดจริง ก็จะไม่คิดอกุศลหรือไม่มีความโลภ ความโกรธ ตัณหา และอุปาทานได้อย่างต่อเนื่อง ผู้นั้นก็คือ พระอรหันต์.
---ในชีวิตประจำวัน ท่านควรมีความเพียรในการดับความหลงให้หมดไป โดยการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง เพื่อดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศลอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย.
---ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะตรัสสอนอริยสัจ ๔ ให้กับผู้ที่มาขอฟังธรรมจนเข้าใจและจดจำได้ตามสมควรเสียก่อน จึงลงมือฝึกปฏิบัติธรรม.
---ผู้ที่มีความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังกล่าวแล้ว คือ ผู้มีดวงตาเห็นธรรม หรือเป็นชาวพุทธที่แท้จริง.
---ถ้าดับความหลงได้น้อย โอกาสที่จะคิดอกุศลก็ยังมีมาก และถ้าดับความหลงได้มาก โอกาสที่จะคิดอกุศลย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา.
*สรุป...สาเหตุของความทุกข์
---เกิดจากกิเลส ๓ ตัว คือ โลภ โกรธ หลง โดยมีความหลงเป็นหัวหน้าใหญ่.
---ในชีวิตประจำวัน ท่านควรกำจัดหัวหน้าใหญ่ของกิเลสหรือความหลงให้หมดไป เพื่อที่จะสามารถควบคุมจิตใจไม่ให้คิดด้วยความโลภและความโกรธอีกต่อไป.
*ข้อคิด...การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องสาเหตุของความทุกข์
---จากประสบการณ์ตรงของตนเอง รวมทั้งพิสูจน์จากเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันว่า สาเหตุของความทุกข์นั้น เกิดจากความคิดที่เป็นอกุศลจริง ซึ่งคนอื่นก็มีสาเหตุของความทุกข์เช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องที่เปิดเผย แจ้งชัด และไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ก็ควรจัดว่า เป็นสัจธรรมหรือความจริงอันประเสริฐและเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะคนทั่วไปต่างก็มีประสบการณ์ตรงมาแล้ว ใช่หรือไม่ ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.
*ความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔
---การมีความรู้เรื่องความดับทุกข์จะทำให้รู้ชัดว่า การศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมก็เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์.
---เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ การเข้าถึงความดับทุกข์หรือการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.
---เมื่อมีความรู้เรื่องความดับทุกข์ ก็จะทำให้รู้จักเป้าหมายของการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรม รวมทั้งสามารถประเมินผลของการปฏิบัติธรรมว่า เข้าถึงความดับทุกข์ได้มากน้อยและต่อเนื่องเพียงใด.
---เพื่อให้บทความสั้น จึงขอใช้คำว่า “ความดับทุกข์” แทน “ความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔“
*ความดับทุกข์เกิดขึ้นจากการไม่คิดอกุศล
---ท่านคงจะเห็นด้วยว่า เมื่อกำจัดสาเหตุของความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้ ก็จะเข้าถึงภาวะของความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔.
---เนื่องจาก สาเหตุของความทุกข์ เกิดขึ้นจากความคิดที่เป็นอกุศล.
---ดังนั้น ขณะที่ไม่คิดอกุศล ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น.
---ความสามารถในการควบคุมความคิด เพื่อไม่ให้คิดอกุศลนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลสติปัญญาทางธรรมหรือข้อมูลเรื่องอริยสัจ ๔ ในความจำ.
---ผู้ที่มีข้อมูลสติปัญญาทางธรรม คือ ผู้ที่มีความรู้ในอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง (มีวิชชา) ย่อมสามารถควบคุมความคิดไม่ให้คิดอกุศลได้อย่างต่อเนื่อง.
---ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ ก็คือ พระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ที่ไม่มีความหลงหรือไม่มีอวิชชาเหลืออยู่อีกเลย.
---สำหรับผู้ที่มีความรู้และความสามารถทางธรรมน้อย ย่อมเข้าถึงความดับทุกข์ได้ชั่วคราว เพราะไม่สามารถควบคุมความคิดได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ถ้าเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงก็อาจเป็นทุกข์ได้โดยง่าย.
---ท่านที่เริ่มศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมก็จะสามารถเข้าถึงความดับความทุกข์ได้ชั่วคราว ตามกำลังของความรู้และความสามารถทางธรรมในขณะนั้น ๆ.
---หลายท่านเข้าใจผิดคิดเอาเองว่า เมื่อฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องแล้ว จะดับความทุกข์ได้หมด.
---ที่จริงแล้ว ถ้าท่าน ศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกทางท่านจะเข้าถึงความดับทุกข์ในทันที ที่สามารถหยุดความคิดและควบคุมความ คิดไม่ให้คิดอกุศลได้.
---จิตใจของท่านจะอยู่กับความดับทุกข์ได้ต่อเนื่องเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของการดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้นานเพียงใด.
---บางท่านฝึกปฏิบัติธรรมไม่กี่วันแล้วก็คิดเอาเองว่า จะต้องไม่คิดอกุศลและไม่มีความทุกข์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความฟุ้งซ่านและคิดอกุศลมาเป็นเวลานาน.
*ดังนั้น ตอนที่ฝึกใหม่ ๆ
---แค่ทำให้สามารถลดการคิดอกุศลลงได้บ้าง ก็ถือว่าเข้าสู่กระแสของความดับทุกข์แล้ว และที่ต้องทำต่อไปอีก คือ ต้องมีความเพียรในการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะตาย.
---พระอรหันต์ทุกองค์ ยังคงต้องมีความเพียรในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องจนปรินิพพาน (สิ้นชีวิต).
---ความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จึงเป็นข้อปฏิบัติ (มรรค) ที่ให้ผลโดยตรงต่อการเข้าถึงความดับทุกข์อย่างต่อเนื่อง.
*ความดับทุกข์ตามพระไตรปิฎก
---เรื่องของความดับทุกข์ในพระไตรปิฎกนั้น มีหลายรูปแบบ แต่จะขอกล่าวถึงรูปแบบที่ง่าย ชัดเจน เปิดเผย ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ที่ทุกท่านสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ดังนี้
---รุ่งอรุณหลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้า ทรงอุทานด้วยความพอพระทัย ในความสำเร็จของการค้นคว้าธรรม (ธัมมวิจยะหรือธรรมวิจัย) ว่า
---“….ดูกร ตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบต่อไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว….จิตใจเราปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่ง (วิสังขาร*)….
---ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้” (พุทธประวัติทัศนศึกษา หน้า ๔๑ พระธรรมโกศาจารย์ - ชอบ อนุจารีเถระ และข้อความในวงเล็บที่มี *เป็นข้อความของผู้เขียนที่เติมลงไปเพื่อช่วยให้เข้าใจได้โดยง่าย).
---พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่อง พระอุทาน เช่นนี้ ก็เพราะทรงต้องการแสดงผลสำเร็จของการค้นคว้า เรื่องสาเหตุของความทุกข์และความดับทุกข์ว่า ตัณหานี้เอง ที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ และพระองค์ทรงกำจัด ตัณหา จากพระทัยได้แล้ว จึงทรงเข้าถึง ภาวะนิพพาน ในพระชาติปัจจุบันของพระองค์ เพราะทรง ไม่คิดปรุงแต่งด้วยกิเลส (“วิสังขาร”) และไม่มีตัณหา หรือ ไม่คิดอกุศล อีกเลย.
---ความพ้นทุกข์หรือการบรรลุภาวะนิพพานอย่างต่อเนื่องของพระพุทธเจ้า ก็คือ การที่พระองค์ทรงไม่คิดอกุศลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะทรงดับความหลง หรือ อวิชชา ได้หมดสิ้นนั่นเอง.
---พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์ เข้าถึงความดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน ในชาติปัจจุบัน ของแต่ละองค์ โดยไม่ต้องรอชาติหน้า.
---ท่านจึงควรมีความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์ในชาติปัจจุบันเช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย โดยไม่ต้องรอชาติหน้าแต่ประการใด.
---พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “อริยสาวกนั้น…. (คือผู้ที่*) ปราศจากความเบียดเบียน….ไม่เศร้าหมอง….มีจิต บริสุทธิ์ (ผ่องใส*) ย่อมได้ประสบความอุ่นใจ (ว่า*)
---”….” ถ้าปรโลกมี…. (เมื่อตายแล้ว*) จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ” ….
---”ถ้าปรโลกไม่มี….เราก็ครองตนโดยไม่มีทุกข์….ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข (สงบ*) อยู่แต่ในชาติปัจจุบันนี้แล้ว” (พุทธธรรม หน้า ๖๕๑-๒ ป.อ. ปยุตฺโต).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงว่า อริยสาวกหรือสาวกที่ประเสริฐ คือ ผู้ที่ไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น มีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส ย่อมอุ่นใจได้ว่า ถ้าชาติหน้ามี ก็จะไปเกิดในภพชาติที่ดี และถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะเราไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ย่อมไม่เป็นทุกข์และมีความสุขสงบในชาติปัจจุบันนี้แล้ว.
*จึงพอสรุปได้ว่า
---สาวกที่ประเสริฐ คือ ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสในชาติปัจจุบันนี้เอง. ท่านคงจะเห็นด้วยใช่หรือไม่ ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.
---พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า ความดับทุกข์ คือ การไม่มีตัณหาถึง ๖ ครั้ง โดยตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความดับทุกข์ (นิโรธ*) เป็นดังนี้คือ การสำรอกตัณหา ความดับตัณหา การสละตัณหา การบอกคืนตัณหา การหลุดพ้นจากตัณหา ความไม่มีอาลัยในตัณหาทั้งปวง” (อริยสัจ ๔ หน้า ๕๗ วศิน อินทสระ).
---การตรัสย้ำเช่นนี้ เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนและตรงประเด็นว่า ความดับทุกข์ คือ ภาวะของจิตใจในขณะที่ไม่มีตัณหา.
---พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า นิโรธ คือ นิพพาน ไว้ดังนี้ “เพราะตัณหาสิ้นไปโดยประการทั้งปวง จึงนิโรธด้วยคลายออกได้ไม่มีเหลือเลย (นั่นแหละ) คือ นิพพาน; สำหรับภิกษุผู้นิพพานแล้วนั้น เพราะไม่ถือมั่น (ไม่มีอุปาทาน*) ….” (พุทธธรรม หน้า ๒๗๑ ป.อ. ปยุตฺโต).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า นิโรธหรือความดับทุกข์ ก็คือ นิพพาน ซึ่งเกิดในขณะที่จิตใจมีสติไม่คิดด้วยความยึดมั่นถือมั่นหรือไม่คิดอกุศล.
---ความดับทุกข์ นิโรธ หรือนิพพานนั้น มีความหมายเหมือนกันหมด คือ ภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ทุกข์ มีแต่ความสุขสงบ เพราะไม่คิดอกุศล หรือไม่คิดด้วยกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดในชาติปัจจุบันนี้เอง.
---ความดับทุกข์เกิดจาก การพึ่งข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม ในความจำของตนเอง เพราะจะขอให้สิ่งศักด์สิทธิ์ใด ๆ มาช่วย หรือจะซื้อหาก็ไม่ได้ ต้องอาศัยความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน จึงจะเข้าถึงความดับทุกข์หรือนิพพานได้ในปัจจุบันขณะนี่เอง.
*ภาวะนิพพานชั่วคราว
---ในขณะเจริญสมาธิและสมาธิมีความตั้งมั่น (ไม่ฟุ้งซ่านหรือหลับใน) จะไม่มีการคิดอกุศล ภาวะของจิตใจในขณะนั้น คือ ภาวะนิพพานชั่วคราว (ตทังคนิพพาน) ซึ่งเป็นการหลุดพ้นชั่วคราว (ตทังควิมุตติ).
---ในขณะเจริญสติและสติมีความตั้งมั่น (ไม่ฟุ้งซ่านหรือหลับใน) จะไม่มีการคิดอกุศล ภาวะของจิตใจในขณะนั้นคือ ภาวะนิพพานชั่วคราวเช่นกัน.
---การเจริญสติและการเจริญสมาธิ สลับกันไปอย่างต่อเนื่อง ในชีวิตประจำวัน โดยไม่คิดอกุศล จึงทำให้เกิดภาวะนิพพานอย่างต่อเนื่องขึ้นในจิตใจ.
---นิพพาน จึงเป็นภาวะของจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีความทุกข์ เพราะขณะนั้นไม่คิดอกุศล. ถ้าทำได้ชั่วคราว ก็จะสามารถเข้าถึงภาวะนิพพานชั่วคราว ครั้นมีความเพียรมากขึ้น ภาวะนิพพานก็จะนานขึ้น หรือมีความต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการพึ่งพาข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมในความจำของตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด.
---ภาวะนิพพานชั่วคราว (ตทังคนิพพาน) เป็นภาวะที่เห็นได้ทันตา (ทิฏฐธรรมนิพพาน) หรือรู้เห็นได้ทันทีที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง และผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิกนิพพาน) เพราะไม่มีใครรู้เห็นความคิดของผู้อื่น. (สรุปจากพุทธธรรม หน้า ๒๗๗ ป.อ. ปยุตฺโต).
---คนที่กำลังหลับสนิท ขณะไม่ได้คิดเรื่องอะไร ไม่คิดอกุศล หรือสมองผิดปกติจนไม่คิดอะไร เป็นผลให้ไม่มีความทุกข์ในขณะนั้น จัดว่า "ไม่ใช่นิพพาน" ในพระพุทธศาสนา เพราะนิพพานในพระพุทธศาสนานั้น เป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับอริยสาวกหรือผู้ที่มีความรู้ในอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการควบคุมจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส จึงเข้าถึงความดับทุกข์ในปัจจุบันขณะนี้เอง.
---เพื่อความไม่ประมาท จึงควรเพียรพยายามในการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง เพื่อดับกิเลส (โลภ โกรธ หลง) และเข้าถึงภาวะนิพพานชั่วคราว แล้วพยายามรักษาภาวะนิพพานชั่วคราวที่เกิดขึ้น ให้ต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของชาติปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอชาติหน้าอีกต่อไป.
*ข้อคิด...การตรวจสอบและพิสูจน์ผล
---ของการฝึกปฏิบัติธรรม ว่าทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสและไม่ทุกข์ได้จริง ซึ่งคนอื่นก็ทำได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องที่เปิดเผย แจ้งชัด และไม่มีเงื่อนงำใด ๆ จึงควรจัดว่า เป็นสัจธรรมหรือความจริงอันประเสริฐในเรื่องของความดับทุกข์ เพราะเป็นเรื่องของการมีปัญญารู้เห็นความจริง ไม่ใช่การหลงเชื่อแต่ประการใด ใช่หรือไม่ ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.
*วิธีฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘
---ในชีวิตประจำวัน คนทั่วไปจะคอยควบคุมการกระทำทางกายและวาจาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยรวมทั้งปราศจากความทุกข์ด้วย.
---ในเรื่องของจิตใจนั้น ผู้ที่สามารถควบคุมจิตใจได้ คือ ผู้ที่สามารถมีสติ หยุดความคิดและควบคุมความคิดได้ เช่น เมื่อต้องการให้สมองพักหรือหยุดคิดเป็นการชั่วคราว ก็สามารถมีสติหยุดคิดเรื่องต่างๆ ได้ชั่วคราว เมื่อไม่ต้องการคิดเรื่องอกุศลหรือเรื่องที่เป็นทุกข์ ครั้นมีการคิดอกุศลหรือเรื่องที่เป็นทุกข์ ก็สามารถมีสติหยุดความคิดนั้นๆ ได้ทันที, เมื่อต้องการคิดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถควบคุมจิตใจให้คิดแต่เรื่องนั้น โดยไม่ไปคิดเรื่องอื่นหรือไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน เป็นต้น.
---เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน คือ สามารถดูแลความคิดไม่ให้คิดอกุศล ให้คิดแต่กุศล เพื่อทำจิตใจของตนให้ไม่ทุกข์ และมีความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.
---พระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้ที่สามารถควบคุมความคิด ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า "เป็นมหาบุรุษ" โดยตรัสสอนไว้ว่า “บุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ มีปัญญามาก ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น….ท่านบรรลุภาวะมีอำนาจเหนือจิต ในกระบวนการความคิดทั้งหลาย” (พุทธธรรม หน้า ๒๗๔ ป.อ. ปยุตฺโต).
---การตรัสสอนเช่นนี้ เป็นเครื่องแสดงว่า การมีอำนาจเหนือจิตใจหรือการบริหารจิตใจนั้น ต้องควบคุมที่ความคิดของตนเองให้เป็นไปตามหลักธรรม คือ ไม่คิดอกุศล ให้คิดแต่กุศล เพื่อทำจิตใจของตนให้ไม่ทุกข์ และมีความบริสุทธิ์ผ่องใส. ผู้ที่ทำได้สำเร็จ คือ มหาบุรุษหรือผู้บรรลุธรรมเป็นบุคคลที่ประเสริฐระดับต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา.
---เมื่อย่อวิธีฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน (มรรค) ลงมาให้กระชับหรือตรงประเด็น นั่นก็คือ ให้มีความเพียรในการเจริญสติและเจริญสมาธิสลับกันไปในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.
*วิธีฝึกเจริญสมาธิหรือฝึกหยุดความคิดในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง
---ขอให้กำลังใจว่า วิธีเจริญสมาธิเพื่อทำให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสนั้น เป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว มีเพียง ๔ ข้อย่อย ๆ เท่านั้น. ท่านสามารถฝึกเจริญสมาธิเป็นภายในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ขอเพียงให้ลงมือฝึกเท่านั้นเอง.
---วิธีเจริญสมาธิในพระไตรปิฎกมีหลายวิธี แต่วิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นหลัก คือ วิธีเจริญอานาปานสติสมาธิโดยการมีสติอยู่กับลมหายใจเพียงกิจเดียว (อานาปานสติสมาธิ) ซึ่งเป็นวิธีการที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้.
---ท่านที่เคยฝึกวิธีอื่นมาก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และขอถือโอกาสนี้ เชิญท่านเปิดวิสัยทัศน์ ด้วยการฝึกตามรูปแบบนี้ดู หากท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ควรนำไปใช้ต่อไป.
*วิธีฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน
---ให้ฝึกในท่านั่งหรือนอนก็ได้ ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล.
---ให้ตั้งเจตนาว่า จะมีความตั้งใจ (มีสติ) และมีความเพียร ในการฝึกเจริญสมาธิ ดังนี้
---ข้อที่ ๑.มีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูก ซึ่งเป็นกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว โดยไม่คิดเรื่องอื่นใด
---ข้อที่ ๒.ระงับการเคลื่อนไหว
---ข้อที่ ๓.ไม่ต้องบริกรรม
---ข้อที่ ๔.เมื่อเผลอสติหรือมีสติรู้ว่าฟุ้งซ่าน ก็ให้รีบกลับมามีสติอย่างเดิม.
*วิธีเจริญสมาธิในชีวิตประจำวันมีเนื้อหาที่สำคัญเพียงแค่นี้เอง
---ต่อจากนี้ไป ให้ท่านอ่านวิธีฝึกและคำอธิบายเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำความเข้าใจทีละขั้นตอน.
---ครั้นเข้าใจดีแล้ว จึงค่อยลงมือฝึกปฏิบัติ.
---วิธีฝึกตามข้อที่ ๑ - ๔ ให้นั่งในที่ปลอดภัย นั่งตัวตรง ตัวไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ศรีษะตั้งตรง เก็บคาง กล้ามเนื้อทั้งตัวผ่อนคลาย ไม่เกร็ง เพื่อป้องกันการเมื่อยล้า ปวดเมื่อย และเพื่อการพักผ่อนชั่วคราว.
---หลับตาเบา ๆ และไม่คิดอะไรเลยเป็นเวลาประมาณ ๕ - ๑๐ วินาที เพื่อทำจิตใจให้สงบ.
---เมื่อจิตใจสงบแล้ว ให้ตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไป เราจะฝึกเจริญสมาธิ โดยพยายามมีสติ (ใจจดจ่อ) อยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้า ออกตรงบริเวณรูจมูกอย่างต่อเนื่อง เพียงกิจเดียว (เอกัคคตา) ไม่สนใจเรื่องอื่นใด และไม่คิดเรื่องอะไรเลยเป็นเวลาประมาณ ๑ - ๒ นาที.
---ให้เริ่มต้นฝึกด้วยการหายใจเข้าออก แรงและลึก (หายใจยาว) ตามสมควร คล้ายกับการถอนหายใจ หรือแรงพอที่จะรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกได้ชัดเจนขึ้น แต่อย่าแรงมากเกินไป จนคนข้างเคียงสังเกตได้ พร้อมกับมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเพียงกิจเดียวอย่างต่อเนื่อง.
---เมื่อฝึกครบตามกำหนดเวลา (๑ - ๒ นาที) แล้ว ให้ออกจากสมาธิ.
---ขณะฝึกเจริญสมาธิให้ระงับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะขณะเคลื่อนไหว สมองต้องใช้ความคิด และร่างกายต้องออกแรงเคลื่อนไหว จึงทำให้สมองและร่างกายไม่ได้พัก.
---ขณะฝึกปฏิบัติไม่ต้องบริกรรม เช่น บริกรรมด้วยการนับเลขหรือท่องคำต่าง ๆ เพราะขณะบริกรรม สมองต้องทำงานมากกว่ากิจเดียว (ไม่เป็นเอกัคคตา)จึงถือว่าไม่ใช่การฝึกเจริญ สมาธิ แต่เป็นการฝึกเจริญสติ เพื่อเตรียมตัวก่อนฝึกเจริญสมาธิ.
---ผู้ที่มีความคิดฟุ้งซ่านมาก จึงมักถูกแนะนำให้ใช้ "วิธีฝึกเจริญสติ"เพื่อระงับความคิดฟุ้งซ่านอย่างหยาบ ๆ เสียก่อน แล้วจึง "ฝึกเจริญสมาธิ"โดยมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว คือ อยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเท่านั้น (เป็นภาวะเอกัคคตา).
---ในขณะฝึกเจริญสมาธิอยู่นั้น เมื่อมีความคิดแวบขึ้นมาหรือแทรกขึ้นมาก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องพยายามไม่ปล่อยให้มีการคิดปรุงแต่งเพิ่มเติม เพราะการคิดปรุงแต่งโดยไม่มีเจตนาจะคิด คือ การคิดฟุ้งซ่าน.
---ถ้ามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ให้เร่งความตั้งใจหรือเร่งสติ ในการรับรู้ความรู้สึก ของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกให้มากขึ้น เพื่อระงับความคิดฟุ้งซ่านให้หมดไป และควรสอนตนเองว่า ความคิดฟุ้งซ่านเป็นความคิดที่เป็นอกุศล. ที่เป็นอกุศลเพราะขณะคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น จะไม่สามารถควบคุมความคิดได้ จึงอาจเกิดการคิดอกุศลขึ้นได้โดยง่าย.
*ก่อนลงมือฝึก ควรอ่านคำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อเสริมความเข้าใจเสียก่อน.
---อธิบายเพิ่มเติม การตั้งเจตนาว่า จะฝึกเจริญสมาธิ ก็คือ การสั่งการให้สมองทำหน้าที่ ตามที่ตั้งเจตนาไว้ แต่ธรรมชาติของสมองมักจะไม่ทำตามที่มีเจตนาตลอดไป.
---ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความตั้งใจ (มีสติ) และมีความเพียร ที่จะฝึกตนเองให้ทำตามที่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้.
---ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะฝึกขั้นตอนนี้เพียงครั้งเดียว เพราะเป็นเรื่องง่าย และคนส่วนใหญ่ก็ทำได้ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ฝึกซ้ำได้อีก เพราะไม่มีอะไรต้องรีบร้อน.
---ให้ประเมินผลการฝึกในขั้นตอนนี้ว่า ท่านสามารถรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกได้หรือไม่ ถ้าสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ ก็แสดงว่า พร้อมแล้วที่จะฝึกในขั้นต่อไป.
---ถ้ายังไม่พร้อม ก็ให้ฝึกในขั้นตอนนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าจะพร้อม.
---ฝึกขั้นต่อไป ให้หลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งใจ (มีสติ) รับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออก ตรงบริเวณรูจมูกเพียงกิจเดียว โดยการหายใจเข้าออกแรงและลึกประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง หลังจากนั้น ก็ผ่อนความแรงของการหายใจมาเป็นกลาง ๆ ประมาณ ๓- ๔ ครั้ง แล้วผ่อนลงมาอีกจนเป็นการหายใจตามปกติประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง.
---ตลอดเวลาที่ฝึก ให้พยายาม (เพียร) มีสติ หรือมีจิตใจจดจ่อ อยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกอย่างต่อเนื่อง. เมื่อฝึกครบตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้ ก็เพื่อฝึกรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขณะหายใจแรงและขณะหายใจตามปกติ.
---หลักการสำคัญของการฝึกเจริญสมาธิ คือ ให้ฝึกมีสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูก ซึ่งเป็นกิจเล็ก ๆ และง่าย ๆ เพียงกิจเดียว (เอกัคคตา)โดยไม่ใช้สมองไปคิดปรุงแต่งและรับรู้เรื่องอื่นใด จึงเป็นผลให้เกิดการปล่อยวาง (อุเบกขา) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเจริญสมาธิ.
---ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะฝึกขั้นตอนนี้เพียงครั้งเดียว เพราะเป็นเรื่องง่าย และคนส่วนใหญ่ก็ทำได้ แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ฝึกซ้ำได้อีก.
---ฝึกขั้นต่อไป ให้หลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเป็นเวลาประมาณ ๓ - ๔ นาที เราจะฝึกมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียว คือ ฝึกมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเช่นเดิม โดยไม่ไปคิดเรื่องอื่นใดเลยหรือไม่คิดฟุ้งซ่าน เพื่อปล่อยวางจากทุกเรื่องในโลกนี้.
---ในตอนแรก ควรหายใจแรงและลึก เพื่อให้สามารถรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกได้มากขึ้น ครั้นรับรู้ได้แล้ว ก็ให้ผ่อนความแรงของการหายใจมาเป็นปกติ.
---ขณะฝึกอยู่นั้น ถ้าการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกไม่ดีหรือหายไป ก็ให้หายใจแรงและลึก เพื่อให้รับรู้ความรู้สึกได้ดีขึ้น เสร็จแล้วก็ผ่อนมาเป็นการหายใจตามปกติ.
---ถ้าสามารถรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกในขณะหายใจตามปกติได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องฝึกหายใจแรงและลึกอีก.
---อย่าเพ่งสติหรือตั้งใจจนมากเกินไป เพราะจะทำให้เครียด และอย่าน้อยเกินไป เพราะจะทำให้หลับ ควรตั้งใจแต่เพียงพอดี ๆ (ทางสายกลาง).
---เมื่อฝึกครบตามกำหนดเวลาแล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้ ท่านจะสังเกต การทำงานของสมองว่า มีความคิดแวบขึ้นมา หรือแทรกเข้ามา หรือคิดนำขึ้นมาเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะธรรมชาติของสมองมนุษย์เป็นเช่นนั้นเอง.
---คนที่ไม่มีความคิดแวบขึ้นมาเลย คือ คนที่กำลังหลับสนิท หมดสติ หรือสมองผิดปกติ.
---การมีความคิดแวบขึ้นมาถี่มากจนเกินไป ก็จัดว่า มีความคิดฟุ้งซ่าน.
---การมีความคิดแวบขึ้นมาและคิดปรุงแต่งในเรื่องนั้นโดยไม่มีเจตนาคิด เรียกว่า คิดฟุ้งซ่าน.
---ให้ท่านสบายใจได้ว่า ความคิดที่แวบเข้ามาเป็นครั้งคราวนั้น เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องดี เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และทำให้ปลอดภัย.
---ความคิดที่แวบขึ้นมา จะเป็นเรื่องวิชาการ กุศล หรืออกุศลก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะธรรมชาติของสมองเป็นเช่นนั้นเอง ขอเพียงอย่าคิดปรุงแต่งต่อไปเท่านั้นเอง.
---การคิดปรุงแต่งต่อไปในขณะเจริญสมาธิ ก็คือ การคิดฟุ้งซ่าน.
---เมื่อรู้ตัวว่า มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ให้กลับมามีสติอยู่กับกิจเดิม พร้อมกับหายใจแรงและลึก ๑ - ๒ ครั้ง เพื่อ การเรียกสติกลับมา เต็มที่อย่างรวดเร็ว.
---ควรสังเกตว่า ขณะที่กำลังมีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจเพียงกิจเดียว (มีสมาธิตั้งมั่น) อยู่นั้น ความคิดจะหยุด แต่มักหยุดได้ ไม่นานนัก แล้วก็จะคิดฟุ้งซ่านอีก.
---ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะสมองของคนที่ไม่ได้ฝึกสมาธิมาก่อน มักจะมีความชำนาญหรือคุ้นเคยอยู่กับการคิดฟุ้งซ่าน.
---การฝึกเจริญสมาธิจึงเป็นการฝึกหยุดคิดทุกเรื่องรวมทั้งหยุดการคิดฟุ้งซ่านด้วย.
---การจะหยุดความคิดหรือเจริญสมาธิได้ดีนั้น ต้องฝึกฝนกันเป็นประจำ และต้องฝึกฝนกันชั่วชีวิต.
---สำหรับคนที่หายใจแรง แล้วมีความเครียดเกิดขึ้น ก็ให้หายใจตามปกติได้.
*ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะฝึกขั้นตอนนี้เพียงครั้งเดียวก็จบ.
---ฝึกขั้นต่อไป ให้ฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตา โดยตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไป เราจะฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตามองต่ำลงจากระดับปกติประมาณ ๔๐ - ๕๐ องศา หรือมองเฉียงลงตามสมควรเป็นเวลาประมาณ ๑ - ๒ นาที. เมื่อครบตามกำหนดเวลาแล้ว ก็ให้ออกจากสมาธิ.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้ จะสังเกตได้ว่า ถึงแม้ไม่ได้อุดหูและไม่ได้ปิดตา ท่านก็สามารถฝึกเจริญสมาธิช่วงสั้น ๆ ได้.
---การฝึกเจริญสมาธิ ต้องฝึกในที่ปลอดภัย เพราะขณะสมาธิมีความตั้งมั่นอยู่นั้น จะเกิดการปล่อยวาง คือ ไม่สนใจเรื่องต่าง ๆ เป็นการชั่วคราว.
---ในช่วงเวลาที่มีการปล่อยวางอยู่นั้น สมองจะตอบสนองเรื่องต่าง ๆ ช้าลง จึงอาจเกิดอันตรายได้โดยง่าย ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม.
---ในขณะเดินทางหรืออยู่ในที่ไม่ปลอดภัย จึงไม่ควรฝึกเจริญสมาธิ ถึงแม้จะเป็นการฝึกในขณะลืมตา แต่ให้ฝึกเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน.
---การฝึกเจริญสมาธิ เป็นผลให้สมองและร่างกาย ได้พักผ่อนโดยไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงอะไร เป็นการพึ่งตนเอง โดยไม่รบกวนคนข้างเคียงเลย.
---ในห้องทำงานหรือในสถานที่ปลอดภัย ท่านควรฝึกเจริญสมาธิ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๓๐ - ๖๐ วินาที สลับกับการฝึกเจริญสติประมาณ ๑ ชั่วโมง เพื่อให้สมองและร่างกายได้พักผ่อนชั่วคราว พร้อมกับเรียกสติกลับคืนมา.
---การฝึกเจริญสมาธิในขณะทำงาน หรือที่หน้าโทรทัศน์ ควรนั่งและวางมือ ในท่าทำงานตามปกติหรือสบาย ๆ และไม่จำเป็นต้องนั่งตามแบบมาตรฐาน.
---ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้มีใครรู้ว่า ท่านกำลังฝึกปฏิบัติธรรมอยู่.
---การฝึกเจริญสมาธิขณะลืมตา จึงเหมาะสำหรับฝึกเจริญสมาธิในบริเวณที่มีคนอื่นอยู่ด้วย เพราะการฝึกเจริญสมาธิในขณะหลับตา อาจเป็นที่สะดุดตาของผู้พบเห็น.
---ดังนั้น จึงไม่ควรบอกใครว่า ท่านกำลังจะฝึกเจริญสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม.
---ในบ้านหรือสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม ท่านควรฝึกเจริญสมาธิ เป็นระยะเวลานานขึ้น เช่น ประมาณ ๑๕ - ๓๐ นาทีหรือมากกว่านั้น ตามความเหมาะสม แต่อย่านานมากเกินไป จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น และอย่าน้อยเกินไปจนทำให้ไม่ก้าวหน้า.
---การฝึกเจริญสมาธิในสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม เปรียบเหมือนการศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา แต่การฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวันนั้น เป็นการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตจริง.
---บางท่านมีความสามารถในการฝึกเจริญสมาธิในสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้ฝึกเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน ครั้นมาพบปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่รุนแรง ก็มักจะหยุดความคิดไม่ได้.
*ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะฝึกขั้นตอนนี้ เพียงครั้งเดียวก็จบ.
---ฝึกขั้นต่อไป ให้ท่านเปิดวิทยุทิ้งไว้ เพื่อให้มีเสียงรบกวนเกิดขึ้น แล้วหลับตาเช่นเดิม พร้อมกับตั้งเจตนาว่า ต่อจากนี้ไปเป็นเวลาประมาณ ๒ - ๓ นาที เราจะฝึกเจริญสมาธิ โดยมีสติรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเพียงกิจเดียว โดยไม่คิดเรื่องอื่นใดและไม่คิดฟุ้งซ่าน ถึงแม้ว่าจะมีเสียงรบกวนจากวิทยุ.
---ให้ฝึกเจริญสมาธิในขณะลืมตาท่ามกลางเสียงรบกวนเป็นเวลา ๒ - ๓ นาที เสร็จแล้วจึงออกจากสมาธิ.
---ท่านควรฝึกเจริญสมาธิช่วงสั้น ๆ ที่หน้าโทรทัศน์ ขณะทำงาน ขณะประชุม และขณะอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แต่ต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยด้วย.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้จะสังเกตได้ว่า ถึงแม้จะมีเสียงรบกวน แต่ก็ยังสามารถหยุดความคิดได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่ฝึกอย่างนี้ พอมีเสียงหรือภาพมารบกวนเข้า ก็จะไม่อยากฝึก หรืออาจขัดเคืองใจได้โดยง่าย เพราะไม่เข้าใจในหลักการ.
*ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะฝึกขั้นตอนนี้เพียงครั้งเดียวก็จบ.
---ฝึกขั้นต่อไป เป็นการฝึกเจริญสมาธิให้ตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ โดยการดิ่งสติ ไปรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกในวินาทีที่ต้องการ.
---ให้ตั้งเจตนาว่า ทันทีที่ลงมือฝึกเจริญสมาธิ จะมีสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกทันที และไม่คิดเรื่องใด ๆ เลยในเสี้ยววินาทีนั้น.
---ให้ฝึกในขณะลืมตา ขณะมีเสียงรบกวน แต่ควรฝึกในสถานที่ต่าง ๆ ที่ปลอดภัย รวมทั้งฝึกหน้าโทรทัศน์ และฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีความมั่นใจว่าทำได้แน่นอน.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้ ก็เพื่อให้มีความสามารถในการหยุดความคิดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบใด.
---ท่านควรฝึกเจริญสมาธิโดยใช้เวลาสั้น ๆ ในขณะทำกิจต่าง ๆ และควรฝึกเจริญสมาธิโดยใช้เวลานานขึ้นในยามว่าง หรือตอนเช้ามืด และก่อนนอนเป็นประจำ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการมีสติ หยุดความคิด ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ รวมทั้งพักสมองและร่างกายได้อย่างรวดเร็ว.
---ขณะฝึกเจริญสมาธิ ท่านควรพยายามฝึกให้มีสติตั้งมั่นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถหยุดความคิดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง.
---ขณะที่ความคิดหยุด จะไม่มีการคิดอกุศล จึงเป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส เข้าถึงภาวะความดับทุกข์ได้ชั่วคราว.
---เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ฝึกเจริญสติสลับกันไป เพื่อให้มีสติในการควบคุมจิตใจให้คิดและทำตามโอวาทปาฏิโมกข์ รวมทั้งไม่ให้คิดฟุ้งซ่านจนเป็นนิสัย.
---ในการบรรยายธรรมของผู้เขียน จะมีการฝึกเจริญสมาธิบ่อยครั้ง หรือประมาณทุก ๑๒ - ๑๕ นาที เพราะถ้ารอฝึกชั่วโมงละครั้ง ก็จะมีเวลาในการฝึกน้อยเกินไป และจะมีการฝึกขั้นตอนนี้หลายครั้ง.
---ครั้นออกจากการฝึกเจริญสมาธิแล้ว ก็จะฝึกเจริญสติสลับกันไป ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รูปแบบของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง.
*ปัญหาต่างๆ ในขณะเจริญสมาธิ
---ความหมายของคำว่า "สมาธิ" ที่เป็นภาษาทางโลกจะแตกต่างกับภาษาทางธรรมมาก เช่น มีสมาธิในการเรียนซึ่งเป็นภาษาทางโลกนั้น ในทางธรรม คือมีสติอยู่กับการเรียน มีสมาธิในการทำงานซึ่งเป็นภาษาทางโลกนั้น ในทางธรรมคือ การมีสติอยู่กับการทำงาน เป็นต้น.
---สมาธิที่เป็นทางธรรมนั้น หมายถึง สัมมาสมาธิเท่านั้น.
---หลักการสำคัญของการเจริญสมาธิ คือ การมีสติอยู่กับกิจเล็ก ๆ และง่าย ๆ เพียงกิจเดียว (เอกัคคตา) เพื่อฝึกมีสติในการหยุดการคิดทุกเรื่อง รวมทั้งไม่คิดฟุ้งซ่านด้วย.
---ครั้นมีสติตั้งมั่นอยู่กับกิจเล็ก ๆ เพียงกิจเดียวแล้ว ความคิดก็จะหยุดทันทีหรือไม่คิดเรื่องอื่นใด เป็นผลให้เกิดการปล่อยวาง (อุเบกขา) ในขณะเจริญสมาธิ.
---การมีสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเพียงกิจเดียว (มีเอกัคคตา) จนไม่คิดเรื่องอื่นใด (มีอุเบกขา) เป็นเป้าหมายสูงสุดของการเจริญสมาธิ (ที่เรียกว่าฌาน ๔).
---ดังนั้น ขณะฝึกเจริญสมาธิเพื่อหยุดความคิด แต่กลับมีการคิดปรุงแต่งเรื่องต่าง ๆ ไปด้วย ก็ถือว่า เป็นการคิดฟุ้งซ่าน เช่น สมองคิดปรุงแต่งเป็นความว่าง แสงสว่าง มโนภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ ทางจิตใจ ความสุขที่แสนจะเป็นสุข เป็นต้น.
---ขณะตั้งใจฝึกเจริญสมาธิแล้ว เกิดการระลึกอดีตชาติขึ้นมา อาจไม่ใช่เรื่องของสมาธิ แต่เป็นเรื่องของการคิดปรุงแต่งขึ้นมาหรือคิดฟุ้งซ่าน เพราะโดยหลักการแล้ว ขณะเจริญสมาธิอยู่นั้น จะต้องไม่ไปคิดปรุงแต่งเรื่องอื่นใด คงมีสติอยู่กับลมหายใจเพียงกิจเดียวเท่านั้น.
---ถ้าคิดว่า ท่านสามารถระลึกอดีตชาติ หรือรู้เรื่องอนาคตได้ (มีฤทธิ์ทางใจ)จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาคิดปรุงแต่งขึ้นมาก็ตาม ให้ท่านทดลองอ่านหนังสือโดยไม่ต้องเปิดหน้านั้น ๆ ถ้าทำได้ก็อาจจะระลึกอดีตชาติหรือรู้อนาคตได้ แต่ถ้าหากเรื่องปัจจุบันหรือเรื่องใกล้ตัวยังทำไม่ได้ เรื่องไกลตัว เรื่องอดีต อนาคต หรือเรื่องข้ามภพข้ามชาติก็คงทำไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่ยากกว่า.
---ขณะเจริญสมาธิและรู้สึกว่า หยุดหายใจนั้น เป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะถ้าหยุดหายใจก็ต้องตายแน่.
---ที่จริงแล้ว อาจเกิดจากสมองมีความล้า หรือเฉื่อยในการรับรู้ความรู้สึก ของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูก จึงทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ลมหายใจหยุด.
---ขณะเจริญสมาธิแล้วรู้สึกว่า ตัวเบา ตัวลอย หรือตัวใหญ่โตนั้น เกิดจากสมองคิดปรุงแต่งหรือคิดฟุ้งซ่านที่โยงใยไปยังความรู้สึก.
---บางคนเจริญสมาธิแล้วมีอาการตัวโยก ตัวคลอน ตัวสั่น ขนลุก ขนชันนั้น ไม่ใช่การมีสมาธิตั้งมั่น แต่เป็นการคิดปรุงแต่งจนทำให้เกิดอาการหรือความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นมาได้.
---เมื่อเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน หรือมีมโนภาพแทรกขึ้นมา ก็ให้หยุดเสีย โดยเร่งสติในการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตรงบริเวณรูจมูกเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ได้ หรือลืมตาชั่วคราวแล้วเจริญสมาธิต่อไป หรือตั้งสติสอนตนเองว่า เราจะไม่คิดปรุงแต่งต่อไป หรือไม่สนใจที่จะดู มโนภาพก็จะจางหายไปเอง.
---ถ้ามีมโนภาพเกิดขึ้น แล้วไปสนใจที่มโนภาพ หรือคิดเรื่องมโนภาพ จะเป็นผลให้การมีสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจเพียงกิจเดียวหมดไป กลายเป็นการคิดฟุ้งซ่าน.
---ในทำนองเดียวกัน การมีความคิดแวบขึ้นมาแล้วคิดปรุงแต่งต่อไป ก็จัดว่าเป็นการคิดฟุ้งซ่าน.
---คนที่เจตนาคิดปรุงแต่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ แล้วเพียรฝึกคิดปรุงแต่งเป็นประจำ ก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการคิดปรุงแต่ง.
---ในที่สุดก็จะหลงติดอยู่กับการคิดปรุงแต่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตนที่สวนทางกับการเจริญสมาธิ.
---ขอให้ท่านสบายใจได้เลยว่า การฝึกเจริญสมาธิที่เป็นสมาธิชอบนั้น จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องของการฝึกหยุดการคิดปรุงแต่งทุกรูปแบบ.
---ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การปล่อยให้มีการคิดปรุงแต่งขึ้นมา จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แล้วเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง หรือเบียดเบียนตนเองด้วยการฝึกเจริญสมาธิติดต่อกันหลายวันจนสมองล้า ถึงขั้นควบคุมความคิดไม่ได้ จึงเกิดการคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานาแบบคนเสียสติ.
*หมายเหตุ...ถ้าท่านไม่มั่นใจในการฝึกเจริญสมาธิ
---ด้วยตนเอง ท่านก็อาจฟังเทปหรือ CD-MP3 ของผู้เขียนประกอบ หรือไปฟังการบรรยายของผู้เขียน พร้อมทั้ง ซ้อมฝึกปฏิบัติธรรมกับผู้เขียนโดยตรง โปรดดูรายละเอียดที่บันทึกท้ายเล่ม.
*เรื่องของการเจริญสติหรือการควบคุมความคิด
---สติ คือ การมีความตั้งใจหรือมีจิตใจจดจ่อ อยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ โดยไม่เผลอไปคิดฟุ้งซ่าน เช่น การตั้งใจอ่านหนังสือโดยไม่คิดฟุ้งซ่าน การมีจิตใจจดจ่ออยู่กับงานโดยไม่คิดเรื่องอื่นใด เป็นต้น.
---สติจึงเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับการคิดฟุ้งซ่าน เพราะการคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในขณะเผลอสติ.
---การมีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ โดยไม่เผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน จึงทำให้สามารถทำกิจนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
---คนที่มีสติตั้งมั่น คือ คนที่มีจิตใจจดจ่ออยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ จึงไม่ค่อยเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน เพราะสามารถควบคุมความคิดได้.
---คนที่มีสติไม่ตั้งมั่น คือ คนที่มีจิตใจไม่จดจ่ออยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ จึงมักจะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่าน และควบคุมความคิดไม่ได้.
---บางคนมีสติ ในการเล่นไพ่ แต่ไม่มีสติในการเรียน บางคนมีสติในการทำงาน แต่ไม่มีสติในการควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรม.
---ดังนั้น ความสามารถในการมีสติตั้งมั่นในแต่ละเรื่องจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของคนนั้นในแต่ละเรื่อง.
---การฝึกเจริญสติ คือ การมีสติในการศึกษาธรรม (อริยสัจ ๔) ทบทวนธรรม ฝึกแก้ปัญหาด้วยธรรม รวมทั้งการฝึกมีสติรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามหลักธรรมในชีวิตประจำวัน.
---การจะฝึกควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ ได้ดีนั้น ต้องมีสติศึกษาเรื่องของร่างกาย จิตใจ รวมทั้งอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องและครบถ้วนเสียก่อน.
---ครั้นศึกษาและมีความรู้ในอริยสัจ ๔ ได้ตามสมควรแล้ว จึงเพียรฝึกฝนตนเอง ด้วยการมีสติใช้ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศล ให้คิดแต่กุศล เพื่อทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอวัน เวลา และสถานที่.
---ก่อนฝึกเจริญสติเพื่อการควบคุมความคิดนั้น ควรศึกษาเรื่องการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดเสียก่อน จึงจะสามารถควบคุมความคิดได้อย่างตรงประเด็น.
*สมองทำงานตามที่มีเจตนา
---ในการทำกิจต่าง ๆ จะสังเกตว่า สมองทำหน้าที่ในการคิดและในการทำกิจต่าง ๆ ตามที่มีเจตนา เช่น เมื่อตั้งเจตนาว่า จะเดินไปที่ใดที่หนึ่ง สมองก็จะทำหน้าที่ในการคิดและควบคุมร่างกายให้มีการเดินไปยังที่นั้น ซึ่งเป็นการแสดงว่า สมองจะตอบสนองต่อความคิดที่เป็นเจตนาเสมอ.
---ความคิดทำให้เกิดเจตนา และเมื่อมีเจตนาเกิดขึ้น สมองก็จะจดจำไว้.
---เจตนาจึงเป็นทั้งความคิดและความจำ ที่มีอิทธิพลต่อการสั่งการของสมองเป็นอย่างมาก เช่น บางคนคิดฆ่าตัวตายซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงมีเจตนาฆ่าตัวตายเกิดขึ้น และสมองก็จะสั่งการ ให้ร่างกายทำการฆ่าตัวตายตามที่ได้ตั้งเจตนา เป็นต้น.
---เมื่อสมองทำงานเช่นนี้ จึงพอจะสรุปได้ว่า การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ รวมทั้งความคิด นั้นอยู่ภายใต้อำนาจของเจตนาหรือความคิดนี่เอง.
---ในช่วงเริ่มต้นฝึกเจริญสติ สมองยังไม่มีข้อมูลด้านการฝึกเจริญสติมาก่อนหรือยังไม่ชำนาญ จึงมีสติไม่ค่อยจะต่อเนื่อง เป็นผลให้มีการเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านได้โดยง่าย.
---การมีความเพียร ในการฝึกเจริญสติอยู่เสมอ ๆ จะทำให้สมองมีสติในการควบคุมความคิดได้ต่อเนื่องมากขึ้น.
---ขอให้กำลังใจว่า เมื่อมีความเพียรในการฝึกฝนตนเองอย่างจริงจังและเป็นประจำ ไม่นานนัก ก็จะเกิดความชำนาญ นั่นคือ สมองสามารถทำตามเจตนาได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นอัตโนมัติ.
---การที่สมองมีความสามารถด้านสติเพียงอย่างเดียวจึงไม่พอ สมองต้องมีข้อมูลอริยสัจ ๔ อยู่ในความจำด้วย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมความคิด จึงจะสามารถควบคุมความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
*หลักธรรมที่ใช้ในการควบคุมความคิด
---เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระอรหันต์ในวันมาฆะบูชา และที่ประชุมสงฆ์ทุกครึ่งเดือน ป็นเวลานานถึง ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะทรงโปรดให้สวดปาฏิโมกข์ (สวดศีล ๒๒๗ ข้อ) อย่างปัจจุบันนี้แทน.
---ในช่วง ๒๐ พรรษาแรก ที่ทรงเผยแพร่โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นผลให้มีผู้บรรลุธรรม เป็นอริยบุคคลในระดับต่าง ๆ และเป็นพระอรหันต์จำนวน มากมาย.
---เมื่อมีผู้คนมาบวชมากขึ้นและมีพระจำนวนหนึ่งที่ไม่เคร่งครัด จึงทรงขยายความ เรื่องโอวาทปฏิโมกข์ ออกมาเป็นศีลข้อย่อยถึง ๒๒๗ ข้อ เพื่อช่วยให้พระ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง คือ ให้ละอกุศลและทำแต่กุศลได้อย่างตรงประเด็น.
*โอวาทปาฏิโมกข์เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
---หลักธรรมสำคัญที่ กระชับ ง่ายแก่การจดจำและสั้นมาก ๆ ซึ่งมีเพียงประโยคเดียวเท่านั้น คือ ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตให้ผ่องใส เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์.
---โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักธรรมง่าย ๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี. เพื่อให้เหมาะกับภาษาในยุคปัจจุบันและง่ายแก่การอธิบาย ผู้เขียนจึงขอปรับเปลี่ยนคำว่า ชั่ว มาเป็น อกุศล, คำว่า ดี มาเป็น กุศล และคำว่า ผ่องใส มาเป็นบริสุทธิ์ผ่องใส. เมื่อปรับเปลี่ยนแล้ว โอวาทปาฏิโมกข์ คือ "ไม่ทำอกุศล ทำแต่กุศล และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส".
---การไม่ทำอกุศล คือ การไม่ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.
---การทำกุศล คือ การทำประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส.
---การถือศีล ๕ ก็คือ การดูแลกาย วาจา ไม่ให้ทำอกุศล และให้ทำแต่กุศล.
---คนที่ถือศีล ๕ แล้วดื่มสุรา ก็ถือว่า ศีลขาด เพราะได้มีการกระทำทางกายที่เป็นอกุศลแล้ว.
---ในทำนองเดียวกัน เมื่อโกหก ศีลก็ขาดเช่นกัน เพราะได้มีการกระทำทางวาจา ที่เป็นอกุศลแล้ว.
---การคิดที่จะดื่มสุรา โกหก ประพฤติผิดทางกาม ลักทรัพย์ หรือฆ่าสัตว์ เป็นการคิดอกุศล จึงทำให้มีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะจิตใจไม่บริสุทธิ์ผ่องใส ถึงแม้ศีลจะไม่ขาดก็ตาม.
---ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ คือ การขยายความของคำว่า การไม่ทำอกุศลและการทำแต่กุศล หรือขยายความหมายของโอวาทปาฏิโมกข์.
---ผู้ที่รักษาศีล ๕ , ๘, ๑๐, ๒๒๗ ไม่ให้ขาด แต่ก็มีความทุกข์ได้ ถ้าจิตใจยังคิดอกุศลอยู่ เพราะจิตใจไม่บริสุทธิ์ผ่องใส.
---การปฏิบัติตนตามมนุษยธรรม เทวธรรม พรหมธรรม จรรยาบรรณต่าง ๆ รวมทั้งทศพิธราชธรรม และการเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดว่าเป็นการปฏิบัติธรรมตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะเป็นการละอกุศลและทำแต่กุศล.
---ขณะที่ไม่คิดอกุศล และขณะที่คิดแต่กุศลอยู่นั้น จิตใจก็จะมีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
---การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส คือ การทำจิตใจไม่ให้คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศล.
---เมื่อย่อหลักธรรมในโอวาทปาฏิโมกข์ จะเหลือสั้นนิดเดียว คือ "ไม่คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศล" ซึ่งจะเป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสโดยอัตโนมัติ.
---การควบคุมความคิดไม่ให้คิดอกุศลและให้คิดแต่กุศล ย่อมทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสได้โดยอัตโนมัติ นี่คือ แนวทางของการปฏิบัติธรรม ตามโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา.
---ศีลจึงเหมือนกับกฎหมาย คือ มีไว้สำหรับควบคุมกาย วาจา ไม่ให้เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น รวมทั้งทำประโยชน์ให้กับตนเองและหรือผู้อื่นด้วย.
---ทั้งศีลและกฎหมาย ต่างก็ไม่มีบทบัญญัติ ในเรื่องของการควบคุมจิตใจ ไม่ให้คิดเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.
---การมีศีลธรรม คือ การมีศีลและมีธรรม หรือการมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ในการควบคุมกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส.
---ถึงแม้จะไม่ได้รับศีล ๕, ๘, ๑๐, ๒๒๗ แต่ถ้ามีสติดูแลจิตใจ ให้คิดตามโอวาทปาฏิโมกข์ ก็จะทำจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใสและไม่มีความทุกข์.
---การดำเนินชีวิต โดยการมีสติ ดูแลจิตใจ ให้คิดตามโอวาทปาฏิโมกข์ ย่อมทำให้ลดกังวล คลายเครียด หลับสบาย หายทุกข์ ที่ทุกชาติ ศาสนา เพศ วัย อาชีพ นำไปใช้ได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์.
---การรู้เห็นความคิดจะทำให้สามารถควบคุมความคิด รวมทั้งการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ได้ เพราะความคิดเป็นที่เริ่มต้นของการกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ.
---การมีเจตนาว่า จะคิดตามโอวาทปาฏิโมกข์ ครั้นมีการคิดอกุศล สมองก็จะรู้เห็นความคิด จึงหยุดการคิดอกุศลทันทีตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ เป็นผลให้การกระทำต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศลไม่เกิดขึ้น.
---การรับสินบน โกงกิน ฉกชิง วิ่งราว ปล้นสะดม เล่นการพนัน เก็บค่าส่วย โกงเลือกตั้ง ประจบสอพลอ หลอกลวงประชาชน และการทำชั่วต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีสติรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นการกระทำชอบตามมรรคข้อที่ ๔.
*วิธีเพิ่มข้อมูลด้านกุศลและลดข้อมูลด้านอกุศลในความจำ
---การศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์อยู่เสมอ ๆ จะทำให้ข้อมูลด้านกุศลในความจำมีมากขึ้น เป็นผลให้สามารถรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดได้มากขึ้นด้วย.
---เมื่อมีการคิดอกุศล สมองก็จะทบทวนข้อมูล ด้านอกุศล แล้วจดจำไว้ได้อย่างรวดเร็วและลืมได้ยาก ซึ่งตรงกันข้ามกับการคิดกุศล ที่สมองมักจดจำไว้ได้ช้าและลืมได้เร็ว.
---เมื่อใดที่รู้เห็นว่า กำลังมีการคิดที่เป็นอกุศล ก็ให้รีบหยุดการคิดในวินาทีนั้นเลย เพื่อความไม่ประมาท พร้อมทั้งตักเตือนตนเองว่า จะไม่คิดอกุศลอีกต่อไป เพราะไม่มีใครรู้เห็นความคิดของท่านว่า เป็นกุศลหรืออกุศล.
---เมื่อไม่คิดอกุศลอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลด้านอกุศลที่จดจำไว้ก็จะลดลง เพราะข้อมูลด้านอกุศลในความจำที่ไม่ได้ใช้งานหรือไม่ได้ทบทวน ย่อมจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของสมอง.
---การมีข้อมูลด้านอกุศลในความจำลดน้อยลง ทำให้โอกาสที่จะคิดอกุศลลดน้อยลงไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะข้อมูลในความจำ มีอิทธิพลต่อความคิดโดยตรง.
*วิธีฝึกเจริญสติหรือฝึกควบคุมความคิดในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง
---เหตุที่ต้องฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะการเจริญสมาธิตลอดเวลา เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และไม่ถูกต้อง เนื่องจาก การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของการมีสติในการทำกิจต่าง ๆ.
---ดังนั้น ส่วนใหญ่ของเวลา จึงควรใช้ไปกับการฝึกเจริญสติและส่วนน้อยใช้ไปกับการฝึกเจริญสมาธิ.
---ขอให้กำลังใจว่า ท่านสามารถฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย มีเพียง ๓ ข้อย่อย ๆ ฝึกได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายแต่ประการใด.
*วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน
---ข้อที่ ๑.พยายามมีสติอยู่เสมอ ๆ พร้อมทั้งรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.
---ข้อที่ ๒.มีสติพิจารณาธรรม (ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาด้วยธรรมเป็นประจำ).
---ข้อที่ ๓.ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.
*วิธีเจริญสติในชีวิตประจำวัน มีเนื้อหาที่สำคัญเพียงแค่นี้เอง
---ต่อจากนี้ไป ให้ลงมือฝึกเจริญสติ ตามข้อความตัวเอน ทีละข้อ ดังต่อไปนี้
*วิธีฝึกตามข้อที่ ๑ ให้ฝึกเจริญสติในทุกอิริยาบถ รวมทั้งขณะทำกิจต่าง ๆ โดยไม่เลือกวัน เวลา และสถานที่.
---ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องอุดหู ไม่ต้องบริกรรม แต่ให้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ รอบด้าน รวมทั้งทำกิจต่าง ๆ เหมือนกับการดำเนินชีวิตตามปกติ.
---ตั้งเจตนาว่า จะพยายามมีสติอยู่เสมอเพื่อจะได้ไม่คิดฟุ้งซ่าน พร้อมทั้งรู้ เห็นความคิดและควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.
---หลังจากนั้น ก็พยายามมีสติ ดูแลจิตใจ ไม่ให้คิดอกุศลอยู่ตลอดเวลา คงให้คิดแต่กุศลเป็นหลัก.
---เมื่อใดที่รู้ตัวว่าคิดฟุ้งซ่าน (ความคิดฟุ้งซ่านเป็นอกุศล)ก็ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่ หรือเมื่อใดรู้ตัว ว่าคิดอกุศลหรือคิดเรื่องอื่นใดที่ไม่ต้องการคิด ก็ให้ระงับความคิดนั้น ๆ ทันที และกลับมามีสติอยู่กับกิจที่เจตนาทำอยู่.
*ก่อนลงมือฝึก ควรอ่านคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจเสียก่อน.
---อธิบายเพิ่มเติม การตั้งเจตนาว่า จะเจริญสติ ก็คือ การสั่งการให้สมองทำหน้าที่ ตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้ แต่ธรรมชาติของสมองนั้น มักจะไม่ทำตามที่มีเจตนาตลอดเวลา.
---ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความเพียร ที่จะควบคุมตนเองให้คิดและทำตามที่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้.
---สมองของคนที่ไม่เคยฝึกเจริญสติมาก่อน มักจะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านเก่ง เพราะเป็นความเคยชิน และขณะคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น สมองจะควบคุมความคิดไม่ได้.
---ดังนั้น จึงต้องพยายามมีสติดูแลจิตใจของตนเอง อย่าให้มีการคิดฟุ้งซ่านและทันทีที่มีสติรู้เห็น ว่ากำลังคิดฟุ้งซ่าน ก็ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ จนเป็นนิสัย (อัตโนมัติ).
---การคิดฟุ้งซ่านเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือว่า เป็นเรื่องปกติของทุกคน เพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่คิดฟุ้งซ่านเลย แต่ในการฝึกเจริญสตินั้น ต้องพยายามไม่ให้คิดฟุ้งซ่านเท่าที่จะทำได้ เพราะกำลังฝึกฝนตนเองอยู่.
---ไม่มีใครรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดของผู้อื่นได้.
---ดังนั้น ทุกคนต้องพึ่งสติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำของตนเอง ทำการรู้เห็นความคิด ควบคุมความคิด รวมทั้งสอนและตักเตือนตนเองจนชั่วชีวิต.
---การฝึกในขั้นตอนนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ขณะมีสติอยู่นั้น จะสามารถควบคุมความคิดได้ แต่ขณะเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น จะไม่สามารถควบคุมความคิดตามที่ได้ตั้งเจตนาไว้.
---บางครั้ง มีการชักเย่อทางความคิด ระหว่างความคิดที่เป็นฝ่ายกุศลและอกุศล เพราะข้อมูลทั้ง ๒ ฝ่ายในความจำมีจำนวนใกล้เคียงกัน.
---การตั้งใจอย่างเด็ดขาดและมีความเพียรอย่างจริงจัง ที่จะไม่คิดอกุศลอีกต่อไป จะช่วยให้ฝ่ายกุศลมีชัยชนะ.
---เมื่อใดที่พ่ายแพ้ความคิดที่เป็นอกุศล หรือมีการตั้งใจคิดอกุศลหลายวินาที ก็ให้ตักเตือนตนเองบ่อย ๆ ว่า จะไม่คิดเช่นนี้อีก.
---การมีสติสอนหรือตักเตือนตนเองอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านกุศลในความจำอย่างรวดเร็ว.
---เมื่อไม่คิดอกุศล ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส สุขสงบ หรือมีความเบิกบานในธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธศาสนา.
---ให้ท่านฝึกพิจารณาว่า การฝึกเจริญสติตามข้อที่ ๑ เป็นการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ใช่หรือไม่ การเจริญสติไม่จำเป็นต้องรอวัน เวลา สถานที่ และไม่ต้องใช้เงิน ใช่หรือไม่ ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.
*วิธีฝึกตามข้อที่ ๒ ให้มีสติในการพิจารณาธรรม ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาธรรม ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมจนเป็นนิสัย.
---อธิบายเพิ่มเติม ในชีวิตประจำวัน ควรศึกษาธรรม (อริยสัจ ๔) ทบทวนธรรม และฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมอยู่เสมอ จะทำให้ข้อมูลด้านกุศล (ธรรม)ในความจำเพิ่มมากขึ้น การทำเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน. ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ข้อมูลด้านกุศลในความจำก็จะลดลง และข้อมูลด้านอกุศลก็จะเพิ่มขึ้น.
ความรู้และความสามารถในการพิจารณาธรรมนี้เอง ที่จะใช้ในการควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์.
*วิธีฝึกตามข้อที่ ๓ ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน.
---อธิบายเพิ่มเติม สติปัญญา คือ สติ + ปัญญา.
---สติ คือ การมีความตั้งใจหรือการมีจิตใจ จดจ่ออยู่กับกิจ ที่เจตนาทำอยู่เท่านั้น โดยไม่คิดฟุ้งซ่านหรือไม่เผลอสติไปคิดเรื่องอื่นใด.
---ปัญญา คือ ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลอยู่ในความจำ เช่น มีปัญญาในการขับรถ ก็คือ มีความรู้ในการขับรถ มีปัญญาในการค้าขาย ก็คือ มีความรู้ในการค้าขาย เป็นต้น.
---การจะมีปัญญามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาและฝึกอบรม ในเรื่องนั้นว่า มีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด.
---ขณะมีสติในการทำกิจใดก็ตาม สมองจะใช้ความรู้ (ปัญญา) ที่เกี่ยวข้องกับกิจนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าไม่มีสติ สมองจะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ.
---คนที่สติไม่ตั้งมั่นหรือฟุ้งซ่านเก่ง ความสามารถในการทำกิจต่าง ๆ ก็จะลดลงไปตามสัดส่วนด้วย.
---ขณะหลับสนิทหรือหมดสติอยู่นั้น สมองจะไม่สามารถใช้ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในความจำได้.
---ดังนั้น การจะทำกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จไปได้ด้วยดีนั้น จำเป็นต้องใช้สติและปัญญาคู่กันไป.
*สติปัญญามี ๒ แบบ ดังนี้
---สติปัญญาทางโลก คือ สติ + ความรู้ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับดูแลสุขภาพกาย ประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิต เพื่อให้ร่างกาย อยู่รอด ปลอดภัย และไม่ทุกข์.
---การศึกษาเล่าเรียน ฝึกอบรม และหาความรู้เพื่อประกอบอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางโลกในความจำ.
---ในชีวิตประจำวัน สมองสามารถทำหน้าที่ง่าย ๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง เคี้ยว ดื่ม ขับถ่าย ได้อย่างอัตโนมัติ ถึงแม้ขณะนั้น กำลังเผลอสติไปคิดฟุ้งซ่านอยู่ เพราะเป็นกิจที่ง่ายและทำเป็นประจำ.
---แต่การทำกิจที่ยาก จำเป็นต้องมีสติและปัญญาทางโลกมากพอจึงจะทำได้. ยิ่งเป็นกิจที่ยากมาก ๆ ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีสติและปัญญาทางโลกมาก ๆ ด้วย จึงจะทำสำเร็จได้ด้วยดี.
---สติปัญญาทางธรรม คือ สติ + ความรู้ด้านธรรม ที่ใช้สำหรับดูแลจิตใจไม่ให้มีความทุกข์ และพัฒนาจิตใจให้เป็นบุคคลที่ประเสริฐ.
---คนที่มีความรู้และความสามารถทางธรรม คือ คนที่มีสติและมีปัญญาทางธรรม ในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยจิตใจที่มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ.
---คนจำนวนมากจะมีและใช้สติปัญญาทางธรรม ดูแลจิตใจตนเองไม่ให้คิดอกุศล ในบางเรื่องอยู่แล้ว เช่น ไม่คิดฆ่าคน ไม่คิดลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดทางกามจนเป็นอัตโนมัติ.
---บางคนไม่คิดอกุศลจนเป็นนิสัย จึงไม่ค่อยคิดอกุศลแม้แต่ในขณะคิดฟุ้งซ่าน. ทั้งนี้ เป็นเพราะว่ามีข้อมูลอกุศลในความจำเป็นจำนวนน้อย.
---บางคนมีเรื่องกระทบกระเทือนต่อจิตใจมาก การทำงานแบบอัตโนมัติของสมองไม่เพียงพอ ทำให้คิดอกุศลและเป็นทุกข์มาก จึงจำเป็นต้องรีบเพิ่มข้อมูลด้านกุศล (อริยสัจ ๔) ในความจำ หรือเพิ่มความรู้และความสามารถทางธรรมในความจำอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป.
---ข้อที่ ๓ นี้เป็นข้อสรุป ของการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ คือ ให้ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน จึงจะพ้นจากความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ.
---อย่าใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และต้องใช้คู่กันเสมอ.
*ตัวอย่างของการใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไป มีดังนี้
---เมื่อการงานล้มเหลว เงินหมด ครอบครัวเดือดร้อน หรือเป็นหนี้มาก จึงทำให้มีความทุกข์จากปัญหาดังกล่าว.
---สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ให้ใช้สติปัญญาทางโลก ในการนำพาตัวเองและครอบครัว ให้รอดพ้นจากความทุกข์ทางร่างกาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาทางโลกต่อไปอย่างสร้างสรรค์.
---ขณะเดียวกัน ให้ใช้สติปัญญาทางธรรม คอยดูแลจิตใจ ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อจิตใจจะได้ไม่มีความทุกข์จากการคิดอกุศล หรือไม่ให้เกิดความทุกข์ซ้ำซ้อนจากการคิดอกุศล.
---ถ้าสติปัญญาของตนเองไม่เพียงพอที่จะแก้ไข ก็ควรปรึกษาคนที่มีสติปัญญาสูงกว่า อย่าปรึกษาผู้ที่มีสติปัญญาน้อยกว่า เพราะอาจพากันหลงทาง หรือทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือทำให้ทุกข์น้อยกลายเป็นทุกข์มาก และอาจถ่ายทอดข้อมูลอกุศลมาเป็นของตัวเองได้อีกด้วย.
(ท่านที่สนใจตัวอย่างของการแก้ปัญหาตามรูปแบบของอริยสัจ ๔ โปรดฟังจาก CD-MP3 เรื่องแก่นธรรมของผู้เขียน ซึ่งมีเนื้อหาประมาณ ๒ ชั่วโมง)
---การเดินจงกลม คือ การมีสติใช้ความรู้เรื่องการเดิน เพื่อให้เดินอย่างปลอดภัย จึงเป็นการฝึกใช้สติปัญญาทางโลก ส่วนการมีสติใช้ความรู้ทางธรรม คอยรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิด ในขณะเดินให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์นั้น เป็นการฝึกใช้สติปัญญาทางธรรม.
---การมีสติคอยควบคุมจิตใจ ในขณะเดิน ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน คือ การมีสติอยู่กับการเดิน เพราะการมีสติอยู่กับเรื่องใด ก็คือ การมีสติอยู่กับเรื่องนั้นโดยไม่คิดฟุ้งซ่าน.
---ดังนั้น การฝึกเดินจงกลม โดยไม่ฝึกควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ จึงเป็นการฝึกที่ยังไม่ครบสมบูรณ์.
---การศึกษาอริยสัจ ๔ และการฝึกปฏิบัติธรรม จึงเป็นเรื่องของวิชาสุขภาพจิตแนวพุทธ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องการ ส่งเสริมสุขภาพจิต ให้มีความต้านทานต่อเชื้อโรคทางจิตใจ (การคิดอกุศล) และความทุกข์.
---ป้องกันจิตใจไม่ให้คิดอกุศลและไม่ให้มีความทุกข์เกิดขึ้น.
---รักษาจิตใจที่กำลังคิดอกุศล และมีความทุกข์ให้หมดไป.
---ฟื้นฟูจิตใจที่คิดอกุศลและมีความทุกข์ให้กลับมา มีความบริสุทธิ์ผ่องใสหรือมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างรวดเร็ว
---บางคน คิดย้อนหลังเรื่องที่เคยเป็นทุกข์ จึงทำให้กลับมาเป็นทุกข์ ในเรื่องที่ได้ผ่านไปแล้วซ้ำอีก.
---ที่แย่มากก็คือ มีการคิดปรุงแต่งอกุศลเพิ่มเติมเข้าไปอีก จึงเป็นผลให้มีความทุกข์อย่างเดิมหรือมากขึ้น.
---บางคนน่าสงสาร เพราะทุกข์ย้อนอดีตเมื่อ ๒๐ ปีก่อนก็ยังมี.
---การคิดแบบนี้ เป็นการคิดอกุศล เพราะทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง.
---ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่า กำลังคิดอกุศลหรือกำลังเป็นทุกข์อยู่ ก็ให้มีสติหยุดการคิดอกุศลทันที เพื่อกำจัดการคิดอกุศลและความทุกข์ให้หมดไปในวินาทีนั้น.
---การเจริญสติเป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันที่ง่าย อยู่ใกล้แค่เอื้อม ไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ไม่ต้องรอวันเวลา ไม่ต้องรอสถานที่ ไม่ต้องเก็บตัว ไม่ต้องรออาจารย์ ไม่ต้องอยู่ป่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องรอชาติหน้าอีกแล้ว เพราะเป็นเรื่องของการมีสติไม่คิดอกุศล.
---เมื่อไม่คิดอกุศล ความดับทุกข์หรือนิโรธ ก็จะเกิดขึ้นในทันทีทันใดที่สามารถควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศลได้.
---ในการบรรยายธรรม ทุกครั้งหลังจากฝึกเจริญสมาธิแล้ว ผู้เขียนจะพาผู้ฟังอ่านและท่องจำ วิธีฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดยการอ่านออกเสียงพร้อม ๆ กัน ทีละข้อ และให้ฝึกควบคุมความคิดในระหว่างฟังการบรรยายไปด้วย แล้วสลับด้วยการฝึกเจริญสมาธิทุก ๑๕ - ๒๐ นาที.
*เมื่อมั่นใจว่า ท่านฝึกเจริญสติในขั้นตอนนี้ ได้ดีตามสมควรแล้ว จึงฝึกในขั้นต่อไป...
*วิธีฝึกเจริญสติเพื่อการสำรวมความคิด
---เพื่อให้บทความกระชับ ต่อจากนี้ไป ข้อความที่ว่า “มีสติอยู่กับการรับรู้ความรู้สึกของลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออกบริเวณรูจมูก” จะใช้ข้อความว่า “มีสติอยู่กับลมหายใจ”.
---ธรรมชาติของจิตใจนั้น เมื่อว่างจากกิจต่าง ๆ ก็มักจะคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่าง ๆ ตามเหตุปัจจัย.
---แม้แต่ขณะทำกิจอยู่ก็ตาม ก็มักจะแอบคิดฟุ้งซ่านอยู่เสมอ เนื่องจาก ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในขณะขาดสติควบคุม จึงทำให้เกิดการคิดอกุศลขึ้นได้โดยง่าย ถึงแม้มีเจตนาว่า จะไม่คิดอกุศลก็ตาม.
---เพื่อป้องกันการคิดอกุศล จึงจำเป็นต้องมีกิจง่าย ๆ โดยการพยายามมีสติอยู่กับลมหายใจไว้เสมอ (อานาปานสติภาวนา).
---ครั้นจิตใจมีที่เกาะเกี่ยวเอาไว้ (มีฐานที่ตั้งของสติหรือมีฐานหลักของสติ) ก็จะป้องกันและควบคุมจิตใจให้คิดปรุงแต่งน้อยลงหรือให้หมดไป.
---ในชีวิตประจำวัน ให้ท่านฝึกมีสติอยู่กับลมหายใจ ในระหว่างการดูละครโทรทัศน์ ดังนี้
---ขณะที่ดูละครทางโทรทัศน์ ด้วยความตั้งใจ (มีสติ) เต็มที่หรือไม่มีสติเหลืออยู่กับลมหายใจเลย ผลที่เกิดขึ้น คือ จะมีอารมณ์ผันแปรจากการคิดปรุงแต่งไปตามเนื้อหาของการแสดง จึงทำให้จิตใจคิดอกุศลบ้าง คิดกุศลบ้าง เป็นทุกข์บ้าง และเป็นสุขบ้าง.
---ให้ท่านทดลองฝึกมีสติส่วนใหญ่จดจ่ออยู่กับลมหายใจอย่างต่อเนื่อง แล้วแบ่งสติหรือแบ่งความตั้งใจส่วนน้อยมาใช้ในการดูละครโทรทัศน์.
---ท่านจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่า การคิดปรุงแต่งไปตามเนื้อหาของบทละคร จะลดลงทันที และรสชาติ จากการคิดปรุงแต่งก็ลดลงไปด้วย.
---ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสมองถูกแบ่งหน้าที่ส่วนใหญ่ มาอยู่กับเรื่องของลมหายใจ จึงทำให้การคิดปรุงแต่งตามบทละครลดลง เป็นผลให้โอกาสที่จะคิดอกุศลตามบทละครลดลงไปด้วย.
----ในขณะดูละครโทรทัศน์ ให้ท่านทดลองฝึกมีสติอยู่กับลมหายใจในสัดส่วนต่าง ๆ เช่น มากบ้าง น้อยบ้าง กลาง ๆ บ้าง เป็นต้น.
---ท่านก็จะได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่า การคิดปรุงแต่งไปตามเนื้อหาของบทละครและรสชาติของการคิดปรุงแต่ง ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนด้วย.
----ให้ท่านทดลองมีสติอยู่กับลมหายใจอย่างเต็มตัว เช่นเดียวกับการเจริญสมาธิ.
---ท่านก็จะพบว่า ดูละครไม่รู้เรื่องหรือไม่มีรสชาติเลย เพราะจิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจทั้งหมด (ขณะสมาธิตั้งมั่น).
---คนที่ดูละครหรือดูบทบาทของชีวิตผู้อื่นไม่เป็น คือ คนที่ไม่รู้จักมีสติในการสำรวมระวังความคิด จึงอาจคิดอกุศลและเกิดความทุกข์ขึ้นได้โดยง่าย.
---ในชีวิตประจำวัน ทุกคนต่างก็มีบทบาทหรือมีละครชีวิตที่ต้องเล่นด้วยตนเอง.
---ถ้าเล่นละครไม่เป็น คือ ไม่สำรวมระวังในการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ และไม่สำรวมความคิด ก็จะทำให้คิดอกุศลและเป็นทุกข์ได้โดยง่าย.
---การมีสติอยู่กับลมหายใจในสัดส่วนที่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดการสำรวมระวังในการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมทั้งสำรวมระวังในการคิดและพิจารณา.
---การมีสติอยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียว หรือมีสติอยู่ที่อิริยาบถและการเคลื่อนไหว โดยไม่ตั้งใจใช้ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม ในการรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ยังไม่ครบสมบูรณ์.
---อธิบายเพิ่มเติม การฝึกในขั้นตอนนี้ ให้ท่านพยายามฝึก มีสติส่วนหนึ่งอยู่กับลมหายใจ (เพื่อเป็นฐานหลักของสติไว้เสมอ ๆ)และแบ่งสติไปใช้ในการทำกิจต่าง ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมทั้งรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย.
---โปรดอย่าลืมว่า ไม่ว่าท่านจะทำกิจอะไรอยู่ก็ตาม ให้ใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรม ควบคู่กันไปเสมอ.
*ตัวอย่างของการฝึกมีสติอยู่เสมอ ๆ ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
---ขณะฟังการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งการดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ควรฝึกมีสติไว้เสมอ ๆ คือ ไม่ฟุ้งซ่าน และคอยควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศล.
---ถ้าในที่ประชุม มีเรื่องที่ไร้สาระหรือเรื่องที่กระตุ้น ให้คิดอกุศล ก็ควรสำรวมระวังการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ และการคิดให้มากยิ่งขึ้น โดยพยายามมีสติส่วนใหญ่อยู่กับลมหายใจ รวมทั้ง คอยเตือนตนเองว่า อย่าคิดอกุศล ให้คิดแต่กุศลเข้าไว้.
---เมื่อสมองล้า ก็ควรพักสมอง โดยการกลับมามีสติอยู่กับลมหายใจ และปล่อยวางการคิดเรื่องอื่น ๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อพักและเรียกสติกลับคืนมา.
---ขณะข้ามถนนอยู่นั้น เป็นภาวะที่กำลังเสี่ยงอันตราย หรือขณะคิดแก้ปัญหาเรื่องสำคัญ หรือขณะที่ต้องใช้สมองมาก ให้มีสติอยู่กับกิจนั้นอย่างเต็มตัว.
---ครั้นเสร็จกิจ หรือปลอดภัยตามสมควรแล้ว ให้รีบกลับมามีสติอยู่กับลมหายใจ (มีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติ) เพื่อป้องกันการฟุ้งซ่านและเพื่อการสำรวมความคิด.
---ขณะพูดคุยกับคนที่นิสัยไม่ดี เช่น ช่างพูด ช่างนินทา ชอบเสียดสี ขี้บ่น ช่างดุด่า ชอบว่าร้าย เป็นต้น ก็ควรมีสติส่วนใหญ่อยู่กับลมหายใจไปด้วย (มีสติอยู่ที่ฐานหลักของสติ) เพื่อสำรวมระวังไม่ให้เกิดการคิดปรุงแต่งไปตามคำพูดได้โดยง่าย.
---ขณะถูกตำหนิ ตอบโต้ ยกย่อง ชักจูงให้ทำชั่ว หรือถูกกระตุ้นด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และขณะอยู่ในแหล่งอบายมุข ก็ให้ฝึกมีสติอยู่กับลมหายใจให้มากขึ้น พร้อมทั้งตั้งใจรู้เห็นความคิดและควบคุมความคิดให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ มากขึ้น.
---ขณะสั่งสอน อบรม หรือตักเตือนผู้ใดก็ตาม ควรสำรวมระวังความคิดของตนเอง โดยการพยายามมีสติอยู่กับลมหายใจไว้เสมอ ๆ พร้อมทั้งคอยดูแลจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใส.
---ความปรารถนาดีและการทำการกุศลที่มากเกินไป จนถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นนั้น ก็เป็นอกุศลด้วย ซึ่งเรื่องเช่นนี้มักพบได้บ่อย จึงควรระมัดระวังด้วย.
---ขณะรับประทานอาหาร ควรมีสติอยู่กับลมหายใจเป็นช่วง ๆ พร้อมกับควบคุมจิตใจของตนเองให้คิดรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และไม่คิดรับประทานอาหารเพื่อเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.
---ขณะเดิน วิ่ง หรือขับรถบนทางที่ปลอดภัย ควรฝึกมีสติอยู่กับลมหายใจไปด้วย เพื่อการสำรวมระวังความคิดและคุ้นกับการมีสติอยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ.
---ขณะที่มีคนมาเบียดเบียน ควรพยายามมีสติอยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ เพื่อสำรวมระวังความคิดไม่ให้คิดอกุศล และอย่าลืมว่าต้องใช้สติปัญญาทางโลกและสติปัญญาทางธรรมควบคู่กันไป เพื่อการแก้ปัญหาด้วย.
---ขณะทำกิจวัตรต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ท่านก็ควรฝึกมีสติอย่างต่อเนื่อง เท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันการคิดฟุ้งซ่าน และคอยดูแลจิตใจให้คิดตามโอวาทปาฏิโมกข์อย่างจริงจัง.
---คนที่ฟุ้งซ่านเก่ง พอตอนกลางคืนก็มักจะคิดฟุ้งซ่านเก่งด้วย จึงทำให้นอนไม่หลับ.
---การจะนอนหลับได้ดีนั้น ต้องฝึกเจริญสติทั้งวัน เพื่อลดความคิดฟุ้งซ่านให้น้อยลง.
---เมื่อเลิกงานแล้ว ก็ควรเลิกคิดเรื่องงาน.
---ขณะทำกิจใด ก็ควรมีสติอยู่กับกิจนั้น และพยายามไม่ปล่อยให้คิดฟุ้งซ่าน.
---ขณะนอน ให้มีสติเบา ๆ อยู่กับลมหายใจ พร้อมกับสอนตนเองว่า ขณะนี้เป็นเวลานอน เราไม่ควรเบียดเบียนร่างกาย เราต้องการให้ร่างกายได้พักผ่อน ดังนั้น เราจะไม่คิดเรื่องอื่นใดอีกเลย เพื่อที่จะได้พักผ่อนได้เต็มที่.
---ครั้นตื่นขึ้นมากลางดึก ถึงแม้ว่าตาจะสว่าง แต่ก็ให้นอนต่อ และให้มีสติเบา ๆ อยู่กับลมหายใจอย่างเดิม เพื่อป้องกันความคิดฟุ้งซ่าน จนกว่าจะถึงเวลาตื่น จึงค่อยลุกขึ้นจากที่นอน.
---บางคนเข้าใจผิด เอาเวลากลางดึกเป็นเวลาฝึกปฏิบัติธรรม ที่จริงแล้วเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะเวลากลางดึกเป็นเวลานอน ถ้าร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็น่าจะเข้าข่ายเบียดเบียนตนเอง.
---เมื่อร่างกายพักผ่อนน้อยไป อาจเป็นเหตุ ให้ตอนกลางวันจิตใจจะไม่ผ่องใส ง่วงนอน และสติอ่อนกำลังลงได้โดยง่าย เป็นผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานและผลงานลดลง จึงอาจเข้าข่ายเบียดเบียนนายจ้างหรือองค์กรได้อีกด้วย.
---โดยหลักการแล้ว ควรฝึกปฏิบัติธรรมตลอดเวลาที่ตื่น เพราะขณะที่ไม่ได้นอนหลับ สมองก็จะคิดเรื่องต่าง ๆ จึงมีโอกาสที่จะคิดเรื่องที่เป็นอกุศลได้ในทุกวินาที.
---ดังนั้น จึงควรฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อควบคุมจิตใจไม่ให้คิดอกุศล แม้แต่วินาทีเดียวในขณะตื่นนอน ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งวัน.
---ส่วนเวลานอน ก็ควรพักให้เต็มที่ เพื่อให้สมองและร่างกาย พร้อมที่จะปฏิบัติงานและปฏิบัติธรรม ควบคู่กันไปในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
---บางท่าน อยากที่จะฝึกปฏิบัติธรรมในเวลากลางดึกก็ไม่เป็นไร แต่ก็ต้องคอยตรวจสอบว่า เมื่อใดที่มีการเบียดเบียนตนเองหรือไม่ใช่ทางสายกลาง ก็ควรที่จะเลิกเสีย.
---การปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรรอเวลา สถานที่ ความสงบ และสิ่งแวดล้อมที่สงบ เพื่อให้จิตใจสงบ เพราะการรอเช่นนี้ถือว่า เป็นการรอเหตุปัจจัยภายนอก เลยทำให้ไม่ค่อยได้ฝึกปฏิบัติธรรม.
---ตามหลักการแล้ว การปฏิบัติธรรมนั้น ควรอาศัยเหตุปัจจัยภายใน คือ การใช้สติปัญญาทางธรรมที่มีอยู่ในความจำ ทำการดูแลจิตใจของตนเอง ให้จิตใจมีความสุขสงบและบริสุทธิ์ผ่องใส อย่างต่อเนื่องในขณะที่ไม่ได้นอนหลับ.
---ขณะเจ็บป่วย ควรมีสติอยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ ๆ เพื่อสำรวมระวังความคิดให้มาก ๆ เพราะอาจคิดอกุศล และทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจ เป็นผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้หายเจ็บป่วยช้าลง หรืออาจเป็นมากขึ้นก็ได้.
---ขณะไม่สมปรารถนา เช่น ขาดทุน ตกงาน โดนกลั่นแกล้ง โดนว่าร้าย ถูกทำร้าย เป็นหนี้ ทวงหนี้ไม่ได้ สูญเสีย พลัดพราก ติดสิ่งเสพติด เจ็บป่วย พิการ ถูกจองจำ เป็นต้น ก็มักจะคิดอกุศลได้โดยง่าย จึงควรพยายาม เร่งรัดตนเองให้มีสติ อยู่ที่ฐานหลักของสติไว้เสมอ เพื่อสำรวมระวังจิตใจไม่ให้คิดอกุศล และไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน.
---ข้อคิด การมีความเพียรในการเจริญสมาธิและเจริญสติ สลับกันไปในชีวิตประจำวัน จนเป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใส ตามโอวาทปาฏิโมกข์หรือเข้าถึงความดับทุกข์ได้จริง ซึ่งคนอื่นก็ทำได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องที่เปิดเผย แจ้งชัด และไม่มีเงื่อนงำใด ๆ ก็ควรจัดว่า เป็นสัจธรรมหรือความจริงอันประเสริฐ ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ใช่หรือไม่ ท่านคงจะตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ใช่แล้ว.
*เรื่องของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
---การศึกษาธรรมแล้วไม่ฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง ก็เท่ากับเป็นการสูญเปล่า.
---การฝึกปฏิบัติที่ถูกต้องที่สุด คือ การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ในสถานที่ฝึกปฏิบัติธรรมเท่านั้น.
---การฝึกปฏิบัติธรรมโดยสรุป คือ การฝึกเจริญสมาธิสลับกับการฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวัน (เจริญกรรมฐาน).
---ในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนใหญ่ที่ไม่ก้าวหน้า ก็เพราะขาดความเพียร.
---ดังนั้น จึงขอเน้นว่า ให้ท่านมีความเพียรในการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรม ด้วยการเจริญสติและเจริญสมาธิสลับกันไป ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.
*การฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
---ในช่วงแรก ของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ท่านควรเร่งรัดตนเองเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าไม่เร่งรัด อาจพ่ายแพ้ความคิดที่เป็นอกุศลและเลิกลาการฝึกปฏิบัติธรรมไปได้โดยง่าย.
---เมื่อตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้า ควรให้เวลาในการฝึกเจริญสมาธิอย่างจริงจัง เป็นเวลา ๑๐ - ๓๐ นาที.
---ครั้นออกจากการฝึกเจริญสมาธิแล้ว ให้ตั้งเจตนาว่า จะฝึกเจริญสติสลับกับการฝึกเจริญสมาธิไปทั้งวัน.
---ในชีวิตประจำวัน เมื่อท่านฝึกเจริญสติในขณะทำกิจต่าง ๆ ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง (หรือตามความเหมาะสม) ควรสลับด้วยการฝึกเจริญสมาธิประมาณ ๓๐ - ๖๐ วินาทีหรือมากกว่า โดยไม่ต้องหลับตาก็ได้ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะได้ป้องกันการล้าของสมอง ซึ่งเท่ากับเป็นการพัก เรียกสติกลับคืนมา และเตรียมตัวที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีสติเต็มที่ในชั่วโมงต่อไป.
---สำหรับคนที่มีภารกิจมาก โอกาสที่จะฝึกปฏิบัติธรรม ได้อย่างสมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็ควรพยายามฝึกไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้.
---ขณะปฏิบัติงาน ก็ควรพยายามมีสติอยู่กับงานที่ทำอยู่ ไม่ปล่อยให้ไปคิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่น เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคอยดูแลจิตใจไม่ให้คิดอกุศล คงให้คิดแต่กุศล ซึ่งจะเป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่องมากขึ้น.
---ขณะพักผ่อนหรืออยู่บ้าน ก็ไม่ควรเอาเรื่องที่ทำงานมาคิดอีก เพื่อให้สมองและร่างกายได้พัก จะได้ไม่เครียด ยกเว้น เมื่อมีงานรีบด่วนเป็นครั้งคราว ส่วนการปฏิบัติธรรมยังคงมีอยู่เช่นเดิม.
---ควรจัดให้มีเวลาในการฟังวิทยุ เทป ซีดี หรืออ่านหนังสือธรรมะ โดยใช้เวลาประมาณวันละ ๑๕ - ๓๐ นาทีก็ยังดี รวมทั้งหาโอกาส ไปฟังการบรรยายและฝึกปฏิบัติธรรมบ้างตามความเหมาะสม และไม่ควรยึดติดกับพระอาจารย์หรืออาจารย์ใดอาจารย์หนึ่ง เพราะจะเป็นการปิดกั้นวิสัยทัศน์ทางธรรม.
---ก่อนนอน ควรฝึกเจริญสมาธิเช่นเดียวกับตอนตื่นนอน หลังจากนั้นแล้ว ให้ฝึกมีสติตรวจสอบตนเองว่า ได้ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันดีเพียงใด สมควรจะแก้ไขอะไรบ้าง ? การตรวจสอบเช่นนี้ จะทำให้เกิดความรู้ (ปัญญา) ในการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องให้หมดไป.
---ขณะนอนให้ฝึกมีสติเพื่อการนอนหลับไปด้วย.
---ในช่วงแรก ของการฝึกเจริญสติ ควรประเมินผลการฝึกปฏิบัติธรรมบ่อย ๆ หรือทุก ๑ - ๓ ชั่วโมง. เมื่อพบข้อผิดพลาด ก็ควรตักเตือนตนเองอยู่เสมอ ๆ เพื่อลดข้อผิดพลาดให้น้อยลง.
---เมื่อฝึกเจริญสติเก่งขึ้นตามสมควรแล้ว ก็ควรฝึกประเมินผลวันละ ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อช่วยเร่งรัดให้มีการฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง.
---ทุกครั้งที่มีสติรู้ว่าคิดหรือทำอกุศล ก็ให้ตั้งใจ (ตั้งสติ) ตักเตือนตนเองซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า "เราจะไม่คิดและไม่ทำเช่นนี้อีกต่อไป ".
---ทั้งนี้ เพื่อสร้างเจตนาที่เป็นกุศลซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ข้อมูลกุศลเจตนามีอยู่ในความจำมากขึ้น.
---นาน ๆ เข้าข้อมูลเช่นนี้ในความจำของสมองย่อมมากขึ้น จนเพียงพอที่จะหยุดการคิดและการทำอกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอดีตเรานิยมใช้คำว่าอธิษฐานจิต ซึ่งเป็นการตั้งเจตนาหรือดำริชอบนั่นเอง.
---การฝึกเจริญสมาธิสลับกับเจริญสติในชีวิตประจำวัน จึงเป็นวิธีฝึกปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นสุดยอดของการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะสามารถทำได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือกำลังทำอะไรอยู่.
---เมื่อฝึกฝนเป็นประจำ พอนานเข้า สมองจะมีความสามารถในการทำหน้าที่ตามที่ได้ฝึกฝนเอาไว้จนเป็นอัตโนมัติ.
---การมีความเพียรในการฝึกเจริญสมาธิสลับกับเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสุดยอดการดูแลจิตใจของตนเอง.
---เมื่อฝึกอย่างจริงจังสักระยะเวลาหนึ่ง ข้อมูลด้านสติปัญญาทางธรรม ในความจำก็จะมากขึ้น ทำให้จิตใจเบาสบาย สุขสงบ มีความบริสุทธิ์ผ่องใสมากขึ้น และไม่ค่อยมีความทุกข์ เป็นผลให้มีศรัทธาในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป.
---ขณะเดียวกัน ความรู้และความสามารถในการรู้ เห็น ความคิดและควบคุมความคิด ให้เป็นไปตามโอวาทปาฏิโมกข์ก็จะมากขึ้นด้วย.
*ปัจจุบันขณะ เป็นเวลาที่ดี มีคุณค่า และสำคัญที่สุด
---ความคิดและการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้ว.
---สำหรับความคิดและการกระทำต่าง ๆ ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น เราก็ทำไม่ได้เช่นกัน.
---เราสามารถควบคุมความคิดและควบคุมการกระทำต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และดีงามได้ที่ปัจจุบันขณะ.
---ปัจจุบันขณะ จึงเป็นเวลาที่ดี มีคุณค่า และสำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีงามทั้งทางโลกและทางธรรม.
*ควรศึกษาธรรมเพิ่มเติม
---เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนควรศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ.
---สำหรับการศึกษาหาความรู้ทางธรรมนั้น ท่านควรศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็น "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" จนกว่าจะตาย.
---การศึกษาจากท่านผู้รู้เพียงท่านเดียว ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้านั้น อาจจะไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ท่านควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่คัดมาจากพระไตรปิฎกด้วย เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงได้ด้วยตนเอง.
---ถ้าเป็นไปได้ ควรศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรงด้วย. ปัจจุบัน การศึกษาพระไตรปิฎกสะดวกมาก เพราะมีบันทึกไว้ใน CD ROM หรือดาวน์โหลดได้ทางอินเตอร์เน็ต.
*การประเมินผล
---คนทั่วไป ที่มีความเพียรในการศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ย่อมได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมไม่มากก็น้อย แต่จะให้ความทุกข์หมดไปอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเรื่องยาก ถ้าไม่ได้เป็นพระ เพราะคนทั่วไปมีกิจทางโลกต้องทำมากมาย และมีแรงกระทบต่อจิตใจรอบด้านเป็นจำนวนมาก.
---เป้าหมายที่พึงเป็นไปได้สำหรับทุกท่าน คือ การเพียรมีสติดูแลจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่องเท่าที่จะทำได้.
---คนที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านฟุ้งซ่าน จำเป็นจะต้องใช้เวลาและมีความเพียรในการฝึกฝนตนเองมากขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนตนเองให้คิดฟุ้งซ่านลดลง จึงจะควบคุมความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
---ควรประเมินผลความสำเร็จของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันว่า สามารถทำให้ความทุกข์จากปัญหาต่าง ๆ ลดลงเพียงใด จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสและสามารถดำเนินชีวิตตามหลักธรรม (โอวาทปาฏิโมกข์)ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าพบว่ายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็ให้ค้นหาสาเหตุด้วยตนเองว่าเพราะอะไร เมื่อทราบสาเหตุ ก็ให้รีบกำจัดสาเหตุให้หมดไป ซึ่งส่วนใหญ่ มักเกิดจากการขาดความเพียรชอบในการศึกษาธรรมและฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังในชีวิตประจำวันนี่เอง.
---การประเมินผลต้องพึ่งพาสติปัญญาของตนเองเป็นหลัก แต่ถ้าท่านยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ดีเท่าที่ควร ก็ควรปรึกษาผู้รู้หลายท่านว่า การศึกษาและฝึกปฏิบัติธรรมของท่านที่ผ่านมาถูกทางหรือไม่ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว.
*สรุป...
---อริยสัจ ๔ เป็นแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
---อริยสัจ ๔ จึงเปรียบเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ท่านปรินิพพานแล้ว.
---ความทุกข์ (ทุกข์) คือ ความไม่สบายใจทุกรูปแบบ รวมทั้งความทุกข์ทางกายต่าง ๆ ที่เกิดจากความทุกข์ทางจิตใจ ซึ่งทุกคนต่างก็มีประสบการณ์ตรงมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น.
---สาเหตุของความทุกข์ (สมุทัย) เกิดจากการคิดอกุศลหรือคิดด้วยความโลภและโกรธ ซึ่งเนื่องมาจากการมีความหลง (อวิชชา).
---ความดับทุกข์ (นิโรธหรือนิพพาน) เกิดจากการไม่คิดอกุศลซึ่งมี ๒ แบบ คือ แบบดับทุกข์ได้ชั่วคราว คือ การไม่มีความโลภและโกรธชั่วคราว เพราะความหลงหรืออวิชชายังไม่หมดไป.
---แบบดับทุกข์ได้อย่างต่อเนื่อง คือ การไม่มีความโลภและความโกรธอย่างต่อเนื่อง เพราะความหลงหรืออวิชชาหมดไป ซึ่งได้แก่พระอรหันต์.
---ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ (มรรค) โดยย่อ คือ ให้ฝึกเจริญสติและสมาธิสลับกันไปในชีวิตประจำวัน เพื่อกำจัดสาเหตุของความทุกข์ให้หมดไปอย่างต่อเนื่อง.
---เมื่อท่านมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องและตรงประเด็นแล้ว การบรรลุธรรมจะก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเพียรชอบของตนเอง.
*บันทึกท้ายบท
---ท่านควรศึกษา ตรวจสอบ และพิสูจน์ผล ของการฝึกปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เพราะจะช่วยให้ท่านมีความรู้และความสามารถ ทางธรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมั่นคง.
---ท่านไม่ควรประมาทอีกต่อไป กล่าวคือ ท่านควรดับกิเลสโดยการศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง เพื่อทำจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง.
---เมื่อท่านมีความรู้และความสามารถทางธรรมบ้างแล้ว โปรดช่วยกันเผยแพร่ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ที่เป็นปัจจุบันธรรมตามกำลังความรู้และความสามารถของท่านด้วย.
---หากเนื้อหาหรือคำบรรยายของผู้เขียน เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ธรรม ก็ขอได้โปรดนำไปใช้ได้เลย เพราะไม่สงวนลิขสิทธิ์ทุกรูปแบบ ไม่ต้องอ้างอิง และไม่ต้องเสียเวลาแจ้งให้ผู้เขียนทราบแต่ประการใด.
*อานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน
---สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน
---ผู้ถาม “คำว่า สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ”
---ตอบ “สมถะ นี่เป็นจุดเริ่มต้นทำจิตใจให้เป็นสมาธิ ท่านมีความหมายว่า ทำจิตให้สงบจาก นิวรณ์ 5 สำหรับวิปัสสนา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาร่างกายเพื่อตัดกิเลส มันต่างกันตรงนี้ การทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็เพื่อไม่ให้จิตวุ่นวาย เมื่อจิตไม่วุ่นวายแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณา คือ
---ยอมรับนับถือ กฎของความเป็นจริง เกิดมาแล้วมันก็ต้องแก่
---เมื่อทรงชีวิตอยู่ มันก็ป่วยไข้ ไม่สบาย มีการพลัดพราก จากของรักของชอบใจ
---เมื่อมีชีวิตอยู่ ต้องมีการนินทา สรรเสริญ กระทบกระทั่ง
---และในที่สุด เราก็ตาย นี่เป็นของธรรมดา
---ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นกับเรา เราจะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ถือว่ามันเป็นธรรมดาของการเกิด”
---ผู้ถาม “สมถะนี่ตัดกิเลสได้ไหมครับ”
---ตอบ “ยังตัดกิเลสไม่ได้ แต่ว่าระงับได้”
---ผู้ถาม “มันแตกต่างกันอย่างไรครับ”
---ตอบ “คำว่า ระงับ ก็เปรียบเหมือนกับเรามีสัตว์ร้ายอยู่ตัวหนึ่ง ถ้ามันจะกัดเรา วิธีระงับ ก็คือ จับมันมัดหรือกดมันไว้ ไม่ให้ทำร้าย
*ส่วนคำว่า ตัด หรือวิปัสสนาญาณ นั้นก็หมายถึง ฆ่าสัตว์ร้ายนั้นไม่ให้มีฤทธิ์ต่อไป เข้าใจไหม
---ผู้ถาม“ครับ ทีนี้กระผมได้ยินมาจากคุยกับพวกนักปฏิบัติ นักสมถะ บอกว่า "สมถะ"ก็ตัดกิเลสได้ ปัญญาไม่เกี่ยว ส่วนพวกเจริญวิปัสสนาญาณนั้น บอกว่า วิปัสสนาญาณเป็นส่วนที่ตัดกิเลสได้ สมถะไม่เกี่ยว ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถะก็ได้ เลยไม่รู้ว่าความเห็นของฝ่ายไหนที่ถูก
---ตอบ “ก็เป็นไปตามความเห็นของเขา อาตมา เคยคุยมาหลายราย มีอยู่รายหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ ท่านบอกว่า สมัยก่อนผมเจริญสมถะจนกระทั่งมีจิตสงบมาก แต่มาตอนหลัง เห็นว่าไม่เป็นการตัดกิเลสได้ เลยเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็เลยบอกกับท่านว่า ถึงแม้จะเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็ต้องมีสมถะร่วมด้วย คือ อันดับแรก จะต้องมีจิตเรียบร้อยในด้านศีลและประการที่สอง เวลาที่ใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อการตัดกิเลสในเวลานั้น อารมณ์อื่นไม่เข้ามารบกวน ไอ้ตัวที่อารมณ์ไม่เข้ามารบกวนหรือไอ้ตัวที่สงบจากอารมณ์อื่น มันเป็นสมถะหรือท่านเรียกว่า สมาธิ ซึ่งมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ท่านจึงเข้าใจ”
---ผู้ถาม “ก็เป็นอันว่าทั้งสองอย่าง จะต้องร่วมกันแยกกันไม่ได้ใช่ไหมครับ
---ตอบ “ใช่ ถ้าจะเจริญวิปัสสนาญาณอย่างเดียว แต่ขาดสมถะก็ไปไม่รอด ท่านเปรียบไว้แบบนี้นะว่า สมถะ นี่ก็เหมือนกับคน ที่เพาะกำลังกายให้แข็งแรง ส่วนวิปัสสนาญาณ ก็เหมือนกับอาวุธที่คมกล้า ถ้าคนไม่มีแรงหยิบอาวุธ จะฆ่าข้าศึกได้ไหม
---ผู้ถาม “ไม่ได้แน่ ๆ ครับ”
---ตอบ “เพราะฉะนั้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา 2 อย่างนี้ จะต้องคู่กัน นี่เป็นแบบของพระพุทธเจ้านะ”
---ผู้ถาม “การเจริญสมถะก็ดี เจริญวิปัสสนาญาณก็ดี จะต้อง ปฏิบัติในเรื่องศีลไหมครับ
---ตอบ “คือ การทำสมถะ หรือสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี ทั้งหมดนี้ จะต้องประกอบด้วยเหตุ 3 ประการร่วมกัน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ จิตก็ไม่เป็นสมาธิ ถ้าศีลบริสุทธิ์แล้วจิตจึงเกิดสมาธิ เมื่อจิตสงบ จากอารมณ์ต่างๆ ปัญญามันจึงจะเกิด มันต้องร่วมกัน 3 อย่าง”
---ผู้ถาม “หลวงพ่อครับ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน บางคนก็ว่า พุทโธ บางคนก็ สัมมาอรหัง บางคนก็ว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ฯลฯ จะเอาอย่างไหนเป็นที่แน่นอนครับ
---ตอบ “แน่นอนทุกอันน่ะโยม ใช้ได้หมด ไม่ผิดหรอก ยังมีมากกว่านี้ สุดแล้วแต่เขาจะใช้เพื่อความเหมาะสม”
---ผู้ถาม “บางคนก็บอกว่า ภาวนาแบบนี้ถูก แบบนั้นไม่ถูก”
---ตอบ “การศึกษาพระกรรมฐาน ถ้าศึกษาไม่ครบ 40 อย่าง พอเขาทำไม่เหมือนกับตัว ก็หาว่าเขาผิด มันก็ใช้อะไรไม่ได้เลย จะต้องศึกษา ถ้าอย่างเป็นลูกศิษย์ก็ไม่เป็นไร ที่นี้อย่างพวกครูซิ ถ้าครูศึกษาไม่ครบ 40 อย่าง ก็นั่งเถียงกันอยู่นั่นแหละ ถ้าศึกษาครบ 40 อย่าง ก็ไม่มีอะไรจะเถียงกัน
---คำภาวนานี่มันไม่แน่นอน เอาอะไรก็ได้ มันสำคัญที่อารมณ์ตั้งใจ จะใช้อะไรก็ได้ อย่างพุทธานุสติ มีคำภาวนาตั้งเยอแยะ อติปิโส บทต้น ทั้งหมดนั่นแหละ ว่าไปไม่ใช่ใช้คำว่า พุทโธ อย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระพุทธเจ้าใช้ได้เลย อย่างธัมมานุสสติ ไม่ใช่ภาวนา ธัมโมอย่างเดียว อะไรที่ปรารภพระธรรมก็ใช้ได้ และอย่าง สังฆานุสสติ ก็ไม่ใช่ภาวนาว่าสังโฆ อย่างเดียว นี่มันต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ แกภาวนาไม่เหมือนข้า ของแกสู้ข้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปไหนกันละ มันเป็น มานะ มานะตัวเลวเสียด้วย ไอ้มานะกิเลสตัวเลวนี่มันดึงไปไหนไม่ได้เลย
---ในอุทุมพริกสูตร คนที่จะเจริญพระกรรมฐาน ทำจิตเพื่อจะกิเลส พระพุทธเจ้าให้ทำจิตเบื้องต้นอย่างไร จิตเบื้องต้นท่านวางไว้ประมาณ 60 ข้อ ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ก็มีอยู่ 2 จุด
---จงอย่าสนใจในจริยาของคนอื่น เขาจะดีเขาจะเลวเป็นเรื่องของเขา
---ดูว่าเราทำถูกไหม อย่าทำเพื่ออวดเขา เท่านี้เอง
*สรุปแล้วได้ 2 อย่าง แต่ท่านเรียงไว้ประมาณ 60 กว่า ถ้าเราทำอารมณ์ได้เพียง 2 อย่างเท่านี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันเป็นสะเก็ดความดี ของที่ท่านสอนเท่านั้นเอง
---ทีนี้ถ้ายังนึกว่า เขาสู้เราไม่ได้ เราสู้เขาไม่ได้ ก็เลยไม่ถึงสะเก็ด อันนี้เป็นเรื่องจริงๆ ท่านวางไว้ตามเกณฑ์ เราอย่าคิดว่า ไอ้วันนั้นสู้เราไม่ได้ วันเราสู้วัดเขาไม่ได้ เอาอะไรไปเป็นเครื่องวัด ถ้าอารมณ์ยังมีอย่างนี้อยู่ แสดงว่าจิตเลวมาก ถ้าจิตมันเลวจะดีอย่างไร การปฏิบัติ อย่าชูงวงเข้าบ้าน คือ อย่าโอ้อวดเขา อย่านั่งให้เขาเป็นการทำสมาธิเพื่ออวดคน นั่งปั๊บตรงนี้ คนเดินผ่านไปผ่านมา มันจะได้เห็น นี่เป็นอุปกิเลส ไม่ได้อะไรเลย แทนที่จะได้นั่งไล่กิเลสได้ กลับนั่งดึงกิเลสเข้ามา ไอ้ตัวอวดน่ะ มันเป็นกิเลสนี่ อันนี้ท่านห้าม ถ้าหากรักษาความดีขนาดนี้ ถือว่า เป็นสะเก็ดความดี ที่ท่านสอน
---ส่วนเปลือก ท่านตรัสไว้ในยาม 4 ท่านเทียบกับ ศีล 5 คือ
---เราจะไม่ทำลายศีล ด้วยตนเอง ไม่ยุยงบุคคลอื่นให้ทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
---เราจะต้องเป็นผู้ไม่ตกเป็นทาสของนิวรณ์ 5 คือ
*ไม่หลงรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
---ไม่มีอารมณ์ความโกรธ ความพยาบาท ในขณะปฏิบัติ
---ไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่าน และรำคาญเสียงภายนอก
---ไม่ง่วงเหงา หาวนอน ในขณะปฏิบัติ
---จะไม่สงสัยในผลการปฏิบัติ
---จิตจะต้องแผ่เมตตา คือ มีความรักไปในจักรวาล ทั้งปวง ถือว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี ทั้งโลก ไม่มีใครเป็นศัตรูกับเรา
---เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นคนอื่นได้ดี พลอยยินดีกับเขาด้วย ทำดีตามเขา
---ถ้าเหตุใดมันเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเหตุเกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ กับเราก็ดี กับบุคคลอื่นก็ดี เราจะวางเฉย ไม่ทำให้จิตขึ้นลง
---ถ้าทำได้ครบถ้วนแบบนี้ แสดงว่าเราเข้าถึง เปลือกความดี ที่ท่านสอน แต่นี้ก็เป็นการ ทรงฌานอย่างเต็มที่แล้ว คือว่า ละนิวรณ์ 5 นิวรณ์ 5 นี่เป็นศัตรูกับ ปฐมฌาน
---แล้วก็ตัวท้าย คือ พรหมวิหาร 4 ตัวนี้เป็นตัวเลี้ยงทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เลยนะ มีความสำคัญมาก อารมณ์ตอนนี้ ก็เป็นอารมณ์ทรงฌานปกติ ถ้าทำได้แบบนี้นะ ต่อไปถ้าทำอย่างนี้แล้ว สามารถทำ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ให้เกิดขึ้น คือ ระลึกชาติได้ ตอนนี้ละ เข้าถึงกระพี้ความดีที่ท่านสอน และหลังจากนั้น สามารถทำทิพจักขุญาณ คือ จุตูปปาตญาณ ให้เกิดขึ้น พอเห็นหน้าคนปั๊บ เรารู้ได้ทันทีว่าตายแล้วไปไหน อันนี้ เข้าถึงแก่นความดี ที่พระพุทธเจ้าต้องการ
---ถ้าทำได้ถึงขนาดนี้ จนจิตคล่องดีแล้ว ถ้าฝึก วิปัสสนาญาณ ถ้ามีบารมีแก่กล้า คือ มีกำลังเข้มข้น ก็จะเป็นอรหันต์ ภายใน 7 วัน ถ้ามี กำลังจิตปานกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน 7 เดือน ถ้าขี้เกียจที่สุด เป็นอรหันต์ภายใน 7 ปี”
---ผู้ถาม “ที่เขาว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ เล่าครับ
---ตอบ “อันนี้เป็นคำพังเพย นรกจริงๆ มี สวรรค์ในอกนรกในใจใช้ได้ แต่ว่ามันยังไกลเกินไปนะ พูดแบบนั้น ก็พูดแบบคนไม่เคยเห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก ก็ว่ากันไป แต่ว่า หลักสูตรในพระพุทธศาสนาเขามีนี่ คุณพระพุทธเจ้า ทรงวางหลักสูตรไว้ให้หมดนะ เราจะไปสวรรค์ไปนรกได้ เราจะต้องปฏิบัติตัวแบบไหน เราจะไปนิพพาน เราจะปฏิบัติตัวแบบไหน อันนี้ในพระพุทธศาสนามีหลักสูตรสอนไว้โดยเฉพาะเลยคุณ ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นหลักสูตรพิเศษ”
---ผู้ถาม “หลักสูตรที่หลวงพ่อว่ามีอะไรบ้างครับ ”
---ตอบ “หลักสูตรในพระพุทธศาสนามี 4 อย่าง คือ
---สุกขวิปัสสโก
---เตวิชโช
---ฉฬภิญโญ
---ปฏิสัมภิทัปปัตโต
---ทีนี้ โดยมากที่พวกคุณฟังกันมานี้ พวกนี้เขาไม่ได้ปฏิบัติ แม้ถึงขั้นสุกขวิปัสสโก คนที่เขียนตำรา ก็เขียนส่งเดช สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ อันนี้ตีความหมายว่า ถ้าใจเป็นสุขก็เป็นสวรรค์ ถ้าใจเป็นทุกข์ก็เป็นนรก อันนี้มันก็ได้หรอก แต่มันไม่ถูกกับความเป็นจริงนะ”
---ผู้ถาม “สำหรับประเภท สุกขวิปัสสโก กับ เตวิชโช แตกต่างกันอย่างไรครับ
---ตอบ “ประเภท สุกขวิปัสสโกนี่ ไม่รู้อะไรหรอกคุณ ได้แต่สมาธิเฉยๆ มีจิตเป็นสุข จิตมีกำลังตัดสินกิเลสได้
---สำหรับ วิชชาสาม หรือเตวิชโช สามารถรู้ได้ เพราะว่าการปฏิบัติขั้นวิชชาสาม มีญาณ 8 อย่าง คือ
---ทิพจักขุญาณ สามารถเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้
---จุตุปปาตญาณ เราจะรู้ว่า คนที่เกิดมานี่ ก่อนจะเกิดนั้น มาจากไหน และเวลาตายแล้วไปไหน
---เจโตจปริยญาณ สามารถจะเห็นจิตของคนได้ คนไหนจิตดี คนไหนจิตเลว
---ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เราสามารถระลึกชาติได้โดยไม่จำกัด
---อตีตังสญาณ เราจะรู้เรื่องราวในอดีตได้
---อนาคตังสญาณ รู้เรื่องราวในอนาคตได้
---ปัจจุปันนังสญาณ ปัจจุบันนี้ใครทำอะไรที่ไหน เรารู้ได้
---ยถากรรมมุตาญาณ คนที่เขามีความสุขความทุกข์ เขาอาศัยกรรมอะไรเป็นปัจจัย
*นี่ในด้านวิชชาสาม รู้ได้ 8 อย่างเท่านี้
---สำหรับ ฉฬภิญโญ (อภิญญาหก) แสดงฤทธิ์ได้ มีหูเป็นทิพย์ มีตาเป็นทิพย์ ฯลฯ ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความสามารถคลุม วิชชาสาม และ อภิญญาหก มีความฉลาดกว่า
---หมวดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไม่เหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน เอาใน กรรมฐานทั้ง 40 มาแยกปฏิบัติเป็นหมวดหมู่
---ทีนี้สำหรับการปฏิบัติ ถ้าจะถามว่าอย่างไหนเข้าถึงมรรคผล ง่ายกว่ากัน ก็ต้องเป็นไปตามอัธยาศัยของคน
---สำหรับสุกขวิปัสสโก พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการเรียบๆ ไม่ต้องการฤทธิ์เดช ทำแบบสบายๆ จิตใจไม่ชอบจุกจิก
---สำหรับ เตวิชโช นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ สำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็น ถ้ามีสิ่งปิดบังลี้ลับอยู่ ทนไม่ไหว ต้องหาให้พบ ค้นให้เป็น
---สำหรับ ฉฬภิญโญ นั้น สำหรับคนที่ต้องการมีฤทธิ์เดช พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้
---สำหรับ ปฏิสัมภิทาญาณ หรือ ปฏิสัมภิทัปปัตโต ท่านมีทั้งฤทธิ์ด้วย มีทั้งความเป็นทิพย์ของจิตด้วย มีความฉลาดด้วย สอนไว้เพื่อคนที่ต้องการรอบรู้ทุกอย่าง
*ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงเป็นไปตามอัธยาศัยของคน”
---ผู้ถาม “กระผมอยากทราบว่า พระโสดาบัน กับ พระอรหันต์ นั้น เขาใช้ เครื่องวัดอย่างไรครับ”
---ตอบ “เขาใช้ หลักกิโลเมตร เป็นเครื่องวัด”
---ผู้ถาม “อ้าว …“
---ตอบ จริงๆ คือว่า การปฏิบัติให้เป็นพระอริยะ คือ ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์นี่นะ ถ้าเข้าถึงพระโสดาบัน มันยาว 3 กิโลเมตร ถ้าถึงพระอรหันต์ก็ ยาว 10 กิโลเมตร เอ๊ะ..แย่ไหม คุณถามเครื่องวัดนี่ แต่ว่าเครื่องวัดในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า จะเอาอะไรเข้าไปวัด ต้องวัดด้วย คุณธรรมนี่ละ
---เครื่องวัดมีอย่างนี้ คือว่า
*พระโสดาบัน กับพระ สกิทาคามี จะต้องละความชั่ว 3 อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
---สำหรับ สักกายทิฏฐิ พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี จะมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราเกิดมาเพื่อตาย จะไม่มีความประมาทในชีวิต จะคิดทำความดีเอยู่เสมอ
---วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณา
---และประการที่ 3 มี ศีล 5 บริสุทธิ์ นี่เขาเรียกว่า พระโสดาบัน และ พระสกิทาคามี
*สำหรับพระอรหันต์ ต้องละกิเลส 10 ข้อ คือ ต่อไปอีก 7 ข้อ ได้แก่
---ละ กามราคะ คือ ไม่ยินดีใน รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
---ละ ปฏิฆะ คือไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท
---ละ รูปราคะ ไม่ติดอยู่ในรูปฌาน
---ละ อรูปราคะ ไม่ติดอยู่ในอรูปฌาน
---ละ มานะ ไม่ถือตัวถือตน
---ละ อุทธัจจะ ไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน
---ละ อวิชชา ตัดความโง่ทิ้งไปให้หมด
*รวมเป็น 10 อย่าง ถ้าตัดได้ทั้ง 10 อย่างนี้เป็นพระอรหันต์ นี่เป็นเครื่องวัด”
---ผู้ถาม “อาจารย์บางคนเขาว่า นิพพานสูญ หมายถึงไม่มีแม้แต่สวรรค์ก็ไม่มี นรกก็ไม่มี”
---ตอบ ไอ้นั่นของเขาว่า เราไปตามทางของพระพุทธเจ้าดีกว่า เขาจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เขาจะเป็นจานเป็นกาละมังก็ช่างเขาเถอะ ใช่เป็น ในพระไตรปิฎก ก็ไม่มีคำว่า นิพพานสูญ บทพิสูจน์มี ก็ไม่เรียนกันนี่ นิพพานนี่ไม่สูญ แต่คนที่จะไปนิพพานได้ กิเลสต้องสูญ เขาไม่ได้บอกนิพพานสูญ เขาแปลมาไม่หมดทุกตัว
---คำว่า สูญ เขาแปลว่า ว่าง นิพพาน เป็นธรรม ว่างอย่างยิ่ง หมายความว่า คนที่จิตว่างจากความชั่วทั้งหมด จึงจะเห็นนิพพานได้ ในเวลานั้นนะ แต่คนที่จะไปอยู่นิพพานได้ ต้องไม่มีความชั่วอยู่ในจิตเลย ที่เขาเรียกว่า กิเลส นั่นแหละ กิเลส คือ ความชั่ว มันตัวเดียวกัน”.
..............................................................................................................
ที่มา... หนังสืออานิสงส์การเจริญพระกรรมฐาน ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
เอกชัย จุละจาริตต์
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
(แก้ไขแล้ว ป.)
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 21 กันยายน 2558
ความคิดเห็น