/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

บริโภค์เจดีย์ คือ รอยพระพุทธบาท

บริโภค์เจดีย์ คือ รอยพระพุทธบาท

บริโภค์เจดีย์ คือ รอยพระพุทธบาท






*ตำนานพระพุทธบาทสี่รอย (ฉบับล้านนา)


---ความเป็นมาของมหาศิลาเปรต ย้อนไปในอดีตกาลอันไกลโพ้น นับได้ ๙๒ กัป ที่ล่วงมาแล้ว ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง สมัยนั้นนั่นแลทรงพระนามว่า 


---พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ให้ล่วงพ้นวัฏฏสงสาร เฉกเช่นเดียวกับพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราในปัจจุบันสมัยนี้ ในครั้งนั้นบังเกิดมีพระสาวกองค์หนึ่ง ในพระวิปัสสีพุทธเจ้ามีฐานะเป็นพระสังฆนายกปกครองพระภิกษุเถรานุเถระเป็นอันมาก แต่พระสังฆนายกองค์นี้ กลับแสวงหาปัจจัยทั้งสี่ อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย มากเกินสมควร ได้มีคำสั่งออกไปทั่วสังฆมณฑลว่า วัดของเรานี้ไม่เหมือนวัดอื่นๆ ด้วยเป็นที่ชุมนุมของพระมหาเถระเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นเนืองนิตย์ ฉะนั้น ขอให้พระภิกษุทั้งหลาย จงนำเอาปัจจัยสี่อันเป็นของสงฆ์ทั้งหลาย อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย รวมทั้งแก้วแหวนเงินทองทั้งปวง มาให้แก่วัดของเรา เพื่อว่าเราจะได้นำมาถวายทาน แก่พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายต่อไป


---เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้รับคำสั่งของพระสังฆนายกดังนี้แล้ว ต่างก็ล้วนลำบากใจ แต่ไม่กล้าทักท้วงคัดค้าน ด้วยเกรงจะมีความผิด คงได้แต่จำใจนำของมามอบให้ที่วัดของพระสังฆนายกจนเต็มโบสถ์เต็มวิหารไปหมด ท้ายที่สุดเมื่อพระสังฆนายกองค์นั้น ได้มรณภาพลงไปแล้ว ก็ได้ตกนรก จมลงไปหมกไหม้อยู่ในอบายภูมิทั้ง ๔ ตลอดกาลนาน ด้วยผลกรรมที่ได้เบียดเบียนพระสงฆ์ทั้งหลายให้ต้องได้รับความลำบาก เมื่อชดใช้กรรมในนรกแล้ว อดีตพระสังฆนายกองค์นั้น ก็ได้เกิดมาเป็นเปรต มีนามว่า "มหาศิลาลวงใหญ่" (เปรตหิน) พูดวาจาใดใดไม่ได้ ด้วยสรีระกลายเป็นหิน พระพุทธเจ้ากกุสันโธ เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตและทรงเมตตาประทับรอยพระพุทธบาทไว้เหนือหินมหาศิลาเปรตเป็นรอยแรก


---โดยทรงเมตตาประทานให้เอง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกาลเวลาได้ล่วงเลยมาถึง ๙๒ กัป ลุถึงสมัยพระพุทธเจ้ากกุสันโธ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๑ ในมหาภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตแล้วจึงทรงประทับรอยพระบาทไว้เหนือก้อนหินมหาศิลาเปรตนั้นเป็นรอยแรก และทรงมีพระมหากรุณา ตรัสสอนมหาศิลาเปรตและให้ภาวนาบริกรรมคาถาว่า "อัปปะกิจโจ อัปปะกิจโจ" ซึ่งหมายถึง เป็นนักบวชควรทำตนเป็นผู้มีภาระน้อย เพราะการมีภาระมากไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน จะกลายมาเป็นมาร มาผูกมัดจิตใจ ทำให้ตนต้องได้ตกอยู่ในอบายภูมิ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตและทรงเมตตาประทับรอยพระพุทธบาทเป็นรอยที่ ๒โดยทรงประทานให้เอง ซ้อนรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ ภายหลังที่พระพุทธเจ้ากกุสันโธได้ เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว


---ก็มาถึงสมัยของ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระองค์ก็ได้เสด็จมาที่มหาศิลาเปรตให้ภาวนาบริกรรมคาถาว่า "สัลละหุกะวุตติ" ไปตลอดจะได้หลุดพ้นจากความเป็นเปรตในภายภาคหน้า  จากนั้น พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ก็ได้ประทับรอยพระบาทซ้อนไว้ในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธเป็นรอยที่ ๒ (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารอยที่ ๑)


---พระพุทธเจ้ากัสสโป เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตและทรงเมตตาประทับรอยพระพุทธบาท เป็นรอยที่ ๓ โดยประทานให้เอง ซ้อนรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ ในมหาภัทรกัปนี้ ครั้นเมื่อ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็มาถึงสมัย พระพุทธเจ้ากัสสโป ซึ่งพระองค์ก็ได้เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรต ด้วยเหตุผล ๒ ประการคือ เพื่อทรงชี้แนวทางตรงไปสู่พระนิพานหนึ่งและเพื่อให้มหาศิลาเปรตนั้น พ้นจากปิติวิสัย (ภูมิแห่งเปรต) อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้ากัสสโป จึงเสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตเป็น พระองค์ที่ ๓ และได้ทรงมีพระพุทธดำรัสตรัสชี้แนะ ให้มหาศิลาเปรตนั้น ภาวนาบริกรรมคาถาว่า "อัปปะคัพโภ อัปปะคัพโภ"


---ด้วยทรงมีพระมหากรุณาให้พ้นจากความเป็นหิน แล้วจึงได้ทรงประทับรอยพระบาท ซ้อนไว้ในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ปรากฏเป็นรอยที่ ๓ ขึ้นมา (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารอยพระพุทธบาททั้ง ๒ รอย) พระพุทธเจ้าโคตโม (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน) เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรต ณ เวภารบรรพต (วัดพระพุทธบาทสี่รอย ในปัจจุบันนี้) และทรงเมตตาประทับรอยพระพุทธบาทเป็นรอยที่ ๔ โดยประทานให้เอง ซ้อนรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๓ พระองค์ ในมหาภัทรกัปนี้


---ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้ากัสสโป ได้เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ก็มาถึงพุทธสมัยแห่งพระศาสนาของ พระพุทธเจ้าโคตโม (พระสมณโคดม) ได้เสด็จจาริกประกาศธรรมโปรดเวไนยสัตว์ ไปตามสถานที่ต่างๆ พร้อมด้วยพุทธสาวก ๕๐๐ องค์ อันมี พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอานนท์ เป็นต้น จนกระทั่งเสด็จมายัง ปัจจันตยประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ถึงเทือกเขาตอนเหนือของประเทศชื่อ เวภารบรรพต (สถานที่แห่งนี้) และได้แวะเสวยจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้


---เมื่อพระพุทธองค์เสวยจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั่น ก็ได้ทรงทราบด้วยพระญาณสมบัติว่า ในเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ก่อนในภัทรกัปนี้ ประทับอยู่บน ก้อนหินก้อนใหญ่ พระองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป


---ในวาระนั้น พระพุทธเจ้าโคตโม ได้มีพระพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ ก้อนศิลาอันงามวิเศษที่เป็นเหตุแห่งการโปรดสัตว์ทั้งหลายยังปรากฏมีอยู่ฤา"  พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก จึงกราบทูลว่า  "ภันเต ภะคะวา" ก้อนหินนี้มีรอยพระพุทธบาทใหญ่ ๓ รอยงดงามยิ่งนัก เหมือนรอยพระพุทธบาทของพระศาสดาพระพุทธเจ้าข้า จากนั้น พระพุทธเจ้าโคตโม จึงได้ตรัสถึงอดีตกาลที่ได้ผ่านมาแล้วแต่ปางบรรพ์ แก่พระอานนท์และพุทธสาวกว่า "ดูกรอานนท์ ก้อนศิลานี้ มิใช่ศิลาแท้จริงดอก แต่เป็นก้อนอสุราที่กลับกลายเป็นก้อนศิลา (เป็นศิลาเปรต) ศิลานี้เคยเป็นพุทธสาวกในพระพุทธเจ้า วิปัสสี


---สมัยนั้นท่านเป็นพระสังฆนายก ถืออำนาจบาตรใหญ่ บังคับเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน ตนเองเป็นพระภิกษุ แต่มักมาก ถือว่าตนเองฉลาด คิดว่าตนเองได้ของมาโดยบริสุทธิ์โดยมิได้คำนึงถึงความผิดถูกตามพระธรรมวินัย ถือว่าตนเองเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าและเป็นใหญ่ เอาของของสงฆ์มาใช้ตามอำเภอใจ จึงทำให้เป็นศิลาเปรตอยู่ในบัดนี้ พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นี้ ทุกพระองค์ และแม้ พระศรีอริยเมตไตรย ก็จะเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นี้ และจักประทับรอยพระพุทธบาทสี่รอยนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว (คือ ประทับลบทั้งสี่รอยให้เหลือรอยเดียว) 


---เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้ว   พระองค์ก็เสด็จประทับพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ แล้วก็ทรงอธิษฐานว่า ในเมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนำเอาพระธาตุของเราตถาคตมาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทนี้ ในเมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้ ก็จัก ปรากฏแก่ปวงมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพื่อมนุษย์และเทวดาทั้งหลายจักได้มากราบไหว้และสักการะบูชา เมื่อทรงอธิษฐานและทำนายไว้ดังนี้แล้ว จึงมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ จึงกำเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็เสด็จไปเขตวันอาราม อันมีในเมืองสาวัตถีนั้นแล เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอยและเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานล่วงมาแล้ว ๒,๐๐๐ วัสสา (ปี)


---เทวดาทั้งหลายต้องการให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏแก่คนทั้งหลาย ตามที่พระองค์ทรงอธิษฐานไว้ ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้ง (เหยี่ยว) ตัวใหญ่ บินลงมาจากเวภารบรรพต อันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้ ไปจับลูกไก่ของชาวบ้าน (พรานป่า) ที่อาศัยอยู่เชิงเขาเวภารบรรพต แล้วบินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา


---พรานป่าโกรธมาก จึงติดตามขึ้นไป คิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็ติดตามไปค้นหาดู แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้นอีก เห็นแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอย อันอยู่บนพื้นใต้ต้นไม้และเถาวัลย์ พรานป่าผู้นั้น จึงทำการสักการะบูชา เสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา พอมาถึงหมู่บ้านก็บอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชา และเรียกขานพระพุทธบาทนั้นว่า "พระบาทรังรุ้ง" (รังเหยี่ยว)


---บูรพมหากษัตริย์ในอดีตของล้านนา และเชื้อพระวงศ์ และบูรพมหากษัตริย์ของไทย ที่เคยเสด็จไปกราบไหว้ และสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอย ในสมัยนั้นมีพระยาท่านหนึ่งชื่อว่า "พระยาเม็งราย" เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธาประสงค์ จะเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาทสี่รอย ครั้นแล้วได้เสด็จพร้อมด้วยพระราชเทวี และเสนาอำมาตย์ พร้อมกับบริวารทั้งหลายและเมื่อทรงกราบนมัสการเสร็จแล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระราชเทวีและบริวารทั้งหลาย จึงเสด็จกลับสู่เชียงใหม่ เสวยราชสมบัติตราบเมี้ยน (สิ้น) อายุขัยแล้ว พระโอรสและพระนัดดาที่สืบราชสมบัติต่อมา ก็เจริญตามรอยพระยุคลบาท ก็ได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาทสี่รอยทุกพระองค์


---หลังจากนั้นมา พระบาทรังรุ้ง หรือ รังเหยี่ยว นี้ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น  "พระพุทธบาทสี่รอย" คือ มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว ในภัทรกัป นี้คือ


---๑.รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ ซึ่งเป็นรอยแรก เป็นรอยใหญ่ยาว ๑๒ ศอก


---๒.รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมโน ซึ่งเป็นรอยที่ ๒ ยาว ๙ ศอก


---๓.รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสโป ซึ่งเป็นรอยที่ ๓ ยาว ๗ ศอก


---๔.รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตโม (องค์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นรอยที่ ๔ ยาว ๔ ศอก


---เมื่อมาถึง พระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน ก็เสด็จขึ้นไปกราบสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอยและได้สร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอยไว้ชั่วคราว โดยแต่เดิม ถ้าใครจะดูรอยพระพุทธบาทสี่รอย จะต้องใช้บันไดพาดขึ้นไปดู ซึ่งก็คงขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น พระยาธรรมช้างเผือก จึงรับสั่งให้สร้างแท่นยืนคล้ายๆ นั่งร้าน รอบก้อนหินที่มีพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทด้วย และได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้ต่อมา พระชายาเจ้าดารารัศมี ได้เสด็จขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้มีศรัทธาสร้างวิหารเพื่อเป็นการสักการบูชารอยพระพุทธบาทไว้ ๑ หลัง


---หลังเล็กถวายเป็นพุทธบูชา ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง จะเหลือไว้แต่ผนังวิหาร พื้นวิหาร และแท่นพระ ซึ่งยังเป็นของเดิมอยู่ ถ้าหากท่านมีโอกาสขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ก็จะเห็นวิหารแห่งนี้ นอกจากนี้ หลักฐานในกาลวัตถุที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือโบราณ คำให้การของขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ต้นจนอวสานที่ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่ามีพระบัญชาให้อาลักษณ์บันทึกจากถ้อยรับสั่งของ เจ้าฟ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ไว้อย่างละเอียด โดยตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงเมื่อคราวที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย (สมัยโบราณเรียก รอยพระบาทรังรุ้ง หรือ รอยพระบาทเขารังรุ้ง) ไว้อย่างชัดเจนว่า


---สมัยสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปรบที่เมืองหาง   พระองค์ทรงทราบว่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา เรียกว่า "เขารังรุ้ง" จึงได้เสด็จขึ้นไปนมัสการ ทรงเปลื้องเครื่องทรง ทั้งสังวาลย์และภูษาแล้ว ทรงถวายไว้ในรอยพระพุทธบาทและทำสักการบูชาด้วย ธง ธูป เทียน ข้าวตอกดอกไม้ มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก แล้วจึงทำการพิธีสมโภชอยู่ถึงเจ็ดราตรี จากข้อความประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงในทางโบราณคดีเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งว่า โดยแท้จริงแล้ว รอยพระพุทธบาทในประเทศไทยรอยแรกที่คนไทยได้รู้จักและมักคุ้นนั้นก็คือ "พระพุทธบาทสี่รอย" อันประดิษฐานอยู่ ณ เขตอำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบันนี่เอง ในขณะที่ รอยพระพุทธบาท ที่ สระบุรี เขาสัจจพันธุ์ นั้น ได้รับการค้นพบเจอในรัชสมัย พระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นยุคหลังรัชสมัยแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงกว่า ๕ ทศวรรษ จากสาส์นของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงบันทึกไว้ว่า


---พระพุทธบาทสี่รอย แห่งนี้ เป็นพระพุทธบาทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แม้กรุงศรีอยุธยาก็ยังจำลองรอยพระพุทธบาท ไปไว้ที่ ปราสาทนครหลวง (วัดจันทร์ลอย) จ.พระนครศรีอยุธยา พระอริยสงฆ์ที่สำคัญของล้านนาและของประเทศไทยที่เคยธุดงค์เพื่อไปกราบสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยและได้รื้อพระวิหารที่เจ้าพระยาธรรมช้างเผือก  สร้างไว้ชั่วคราวนั้นเสียแล้ว ได้สร้างวิหารใหม่ครอบรอยพระพุทธบาทไว้และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพระศาสนาสืบไปตลอดกาลนาน  ด้วยวัดพระพุทธบาทสี่รอย เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๔ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธเจ้าโคตโม (องค์ปัจจุบัน) จึงนับได้ว่า เป็นปูชนียสถานที่มีความสำคัญมาก  เป็นที่สักการบูชาของทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย


---พระพุทธบาทสี่รอยนี้ ครูบาอาจารย์ พระธุดงค์กรรมฐาน สายครูบาเจ้าศรีวิชัยหลายองค์ อาทิเช่น ครูบาหน้อย ชยวํโส วัดบ้านปง, ครูบาอิน อินฺโท วัดฟ้าหลั่ง, ครูบาอินแก้ว ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี, ครูบาบุญปั๋น ธมฺมปญฺโญ วัดร้องขุ้ม, ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ฯลฯ พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล วัดพระธาตุศรีจอมทอง, ครูบาเทือง นาถสีโล วัดบ้านเด่น, ครูบาน้อย วัดศรีดอนมูล เป็นต้น


---หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร และพระธุดงค์กรรมฐานในสายหลวงปู่มั่นได้แก่ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่, หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดป่าอรัญญวิเวก นครพนม, หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย, หลวงปู่หล้า ตาทิพย์ วัดป่าตึง เชียงใหม่, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย, หลวงปู่สิมพุทธจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่, หลวงปู่จาม, พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป และ อีกหลายองค์ ในสายพระอาจารย์มั่น นอกจากนี้ยังมี หลวงปู่สี ฉนทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์ (ได้ยาอายุวัฒนะจากบริเวณป่าใกล้วัดพระพุทธบาทสี่รอย), หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร, หลวงพ่ออุตตมะ อุตฺตมรมฺโภ วัดวังก์วิเวการาม (ไปธุดงค์องค์เดียวเพื่อไปกราบนมัสการ  เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ราว พ.ศ. ๒๔๙๐)


---และหลวงพ่อสมควร วัดถือน้ำ นครสวรรค์, หลวงปู่เมฆ วัดป่าขวางพระเลไลย์ สงขลาได้เคยเดินธุดงค์ ขึ้นไปนมัสการมาแล้วและได้รับรองว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังได้รับคำยืนยันรับรองของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก จ.นครพนม ว่ารอยพระพุทธบาทดังกล่าว เป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๔ พระองค์ในมหาภัทรกัปนี้จริง และเป็นสัญญลักษณ์ แห่งมหาภัทรกัปที่สำคัญสูงสุดในจักรวาลและรอยพระพุทธบาทสี่รอยนี้ประดิษฐาน อยู่ที่วัดพระพุทธบาทสี่รอย ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ หลวงปู่สิม พุทธจาโร ซึ่งเคยเดินขึ้นไปนมัสการมาแล้วเช่นกัน ดังธรรมเทศนาของท่านตอนหนึ่ง (คัดลอกมาจาก หนังสือพุทธาจารานุสรณ์ ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่สิม พุทธจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๖)


---ในเขตเชียงใหม่นี้ ยังมีพระบาทสี่รอย อยู่ในเขตอำเภอแม่ริม    แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขามันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นไปอยู่ข้างริมแม่น้ำ พระพุทธเจ้ากกุสันโธได้มาตรัสรู้ ในโลกท่านก็มาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ในยอดหินก้อนนั้น ยาวขนาด ๑๒ ศอก เมื่อหมดศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันโธแล้ว พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ก็มาตรัสรู้ ท่านก็มาเหยียบไว้ที่พระบาทแม่ริมนี้ เป็นรอยที่สอง (ขนาดลดลงมา) มาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสโปมาตรัสรู้ ท่านก็มาเหยียบไว้ได้ ๓ รอย


---และพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้  ก่อนที่ท่านจะนิพพานก็เหยียบรอยพระบาทไว้ในหินก้อนเดียวกัน จึงให้ชื่อว่า "พระพุทธบาทสี่รอย" ยังมีพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้แล้วมาโปรดเวไนยสัตว์ ก็มาเหยียบไว้อีก เรียกว่าแผ่นดินที่เราเกิดนี้นับว่าเป็นแผ่นดินที่ร่ำรวยที่สุด แผ่นดินนี้เรียกว่า "ภัทรกัป" มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ได้ห้าพระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ใดมาตรัสสอนก็ตาม ก็สอนให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ละกิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลง อันเก่านี้ เมื่อใดปฏิบัติภาวนาบารมีเต็มแล้ว ก็รู้แจ้งพระนิพพาน เมื่อรูปนามแตกดับแล้วไปสู่พระนิพพาน  ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกอันแสนทุรกันดารนี้อีกต่อไป


---สถานที่ประดิษฐานของพระพุทธบาทสี่รอย ดั้งเดิมที่มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานไว้ว่าความจริงแล้ว หินก้อนนี้อยู่ที่ป่าหิมพานต์ แต่นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า หินนั้นได้ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ส่วนผู้ที่จะกล่าวแก้ ก็ควรที่จะบอกว่า ป่าก็ดี เขาก็ดีที่มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ไม่ขาดทั้งกลางวันกลางคืนที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า ป่าหิมพานต์ ธรรมชาติของเปรตทั้งหลายไม่เคยมีตัวตนในเมืองมนุษย์ แต่ธรรมชาติของเปรตทั้งหลายย่อมเกิดเป็นตัวเป็นตนในป่าหิมพานต์เท่านั้น หากแต่พระอริยสาวกที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ได้อัญเชิญมาด้วยกำลังฤทธิ์เพื่อที่จักให้เป็นที่กราบไหว้และสักการะบูชาแก่ชาวตามิ ละ (ลัวะ) พวกชาวเขา ลัวะ และคนยาง หากมารักษาและสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาลเป็นอันดี ด้วยพุทธานุภาพ และแม้ในกาลอนาคตพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาท ไว้ที่หินก้อนนี้อีกเป็นรอยที่ ๕ จนล่วงไปอีกราว ๒๐๐๐ ปี


---หินก้อนนี้ก็จะแตกสลายลง บังเกิดเป็นมนุษย์ขึ้น ซึ่งมนุษย์คนนี้จะได้บวชในพระพุทธศาสนา สำเร็จมรรคผลนิพพานในสมัยพระศาสนาแห่งพระศรีอริยเมตไตรยพระพุทธเจ้านั่นแลฯ ยังมีพระผู้รอบรู้พระไตรปิฎกองค์หนึ่ง ถามว่า พระบาทสี่รอยนี้ เจริญรุ่งเรืองเมื่อใด ผู้ที่จะกล่าวแก้ปัญหาควรกล่าวว่า "ดูกรท่านทั้งหลาย อันบาลีแห่งพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่า ปฐมเบื้องต้น มัชฌิมะเบื้องกลาง ปัจฉิมะเบื้องปลาย เหตุบาลีว่า อาทิ กัลยาณัง งามในเบื้องต้น มัชเฌกัลยาณัง งามในท่ามกลาง ปริโยสานกัลยาณัง งามในที่สุดงามในที่แล้ว (ที่สุด) แห่งศาสนาพระพุทธเจ้า พระพุทธบาทสี่รอย จะเจริญรุ่งเรืองงามในท่ามกลางศาสนาจริงแลฯ"


---ดังนั้น ก็นับว่า พระพุทธบาทสี่รอยนี้ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เป็นที่สักการบูชา มาช้านาน ถ้าหากว่าผู้ใดมีจิตศรัทธาที่จะขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ก็ควรมีจิตศรัทธาเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไปถึงแล้วก็ควรที่จะสำรวม กาย วาจาใจ ให้เป็นปกติ ก็ชื่อว่า รักษาศีล ก็ทำให้เกิดสมาธิ มีจิตใจที่ตั้งมั่น ทำให้เกิดปัญญาและจักได้ชื่อว่าเจริญตามรอยพระพุทธบาทของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง


---การที่มีคนศรัทธาเดินทางขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท  ก็เหมือนกับว่า มีดวงจิตดวงใจอยู่ในสมาธิภาวนา มีพุทธานุสติเกิดขึ้นในจิตใจและประกอบไปด้วย ความศรัทธาและความเพียร ขันติ ความอดทน การที่ขึ้นไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ถนนหนทางไม่สู้จะสะดวกเท่าไร เป็นทางขึ้นเขา ทางเดินแคบ ขึ้นได้สะดวกก็ช่วงฤดูแล้ง ช่วงฤดูฝนก็ลำบาก จึงเป็นการวัดถึงจิตใจของพุทธศาสนิกชนว่า จะมีคนที่ศรัทธาและวิริยะที่จะขึ้นไปกราบไหว้ และสักการะเพียงใด ถ้าหากว่าใครได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็นับว่าเป็นสิริมงคล และจะได้รับผลานิสงส์เป็นอย่างมาก


---ขอให้พุทธบริษัททั้งหลาย ที่ได้มากราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอยหรือผู้ที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา ของพระพุทธบาทสี่รอยแล้ว ก็ใคร่จะกล่าวกับท่านทั้งหลายว่า การที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ เสด็จมาประทับรอยพระบาทในที่นี้เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายเพื่อเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน


---ดังนั้น การที่เราได้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ด้วยเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน  ก็ยังไม่ได้เจริญตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ เพราะพระพุทธองค์ทรงมุ่งหวังให้เราทั้งหลาย เจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วยการให้ทาน ถือศีล เจริญสมาธิภาวนา ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงโปรดให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย โดยเฉพาะการเจริญสมาธินั้น พระพุทธองค์เคยตรัสว่า มีอานิสงส์กว่าการให้ทาน ซึ่งเป็หนทางสู่มรรคผลนิพพานโดยแท้จริง วาระสุดท้ายนี้ ท่านผู้ใดได้อ่านประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอยนี้แล้ว กรุณาใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้และให้ถึงศรัทธาในดวงจิตดวงใจ ให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.


*รอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง ดังนี้



---แต่ก่อนที่ถึงเรื่องราวทั้งหลายต่อไป จะขอย้อนกล่าวถึง รอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่งเสียก่อน ความจริงรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ยังมีอีกมาก แต่เท่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจนเป็นที่ยอมรับของท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั้น มีปรากฏอยู่ในพระบาลีดังนี้ คือ



---๑.สุวรรณมาลิก (ลังกา) หาภาพไม่ได้


---๒.สุวรรณบรรพต (อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี)


---๓.สุมนกูฏ (ลังกา) หาภาพไม่ได้


---๔.โยนกปุระ (อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)


---๕.นัมทานที (เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต)


---ข้อความในวงเล็บนั้น ผู้เขียนลงเอาไว้เพื่อความเข้าใจตามที่ได้ค้นคว้ามา ซึ่งจะหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ “ธัมมวิโมกข์” ฉบับ ที่ ๑๕๖, ๑๖๓, ๑๖๔ (ปี ๒๕๓๗) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ ๕ “นัมทานที” ซึ่งได้ยืนยันไว้เป็นหลักฐานจากหนังสือ “พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์” อ่านคำจารึกโดย พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มีใจความตามสำนวนสมัยเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมานี้เองว่า... “บุญมุนี อยู่ถ้ำฤษี ผู้นำพุทธ สู่เกาะ คนชาวน้ำ หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พุทธสอนมาก หมู่คนขอรอยตีนไว้ ชายทเล พุทธเหยียบดิน ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒...” 


---ถ้าใช้สำนวนในปัจจุบันอ่านได้ดังนี้  “พระปุณณะ อยู่ถ้ำฤาษี (เขางู จ.ราชบุรี) ผู้นำพระพุทธเจ้า สู่เกาะคนชาวน้ำ (ชาวเล) หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พระพุทธเจ้าสอนมาก หมู่คนขอรอยพระบาท ไว้ที่ชายทะเล...” ท่านเจ้าคุณพระราชกวี ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ ไว้อีกว่า  “เท่าที่ปรากฏรอยพุทธบาทนี้ ย่อมทรงแสดงให้เห็นหลักฐาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่า ได้เสด็จตั้งแต่ใต้สุดถึงเหนือสุดของดินแดน “สุวัณณภูมิ” จึงเสด็จเพื่อทรงเหยียบ แสดงรอยพระบาทเป็นประจักษ์พยานไว้ สัจจพันธ์คีรี (จังหวัดสระบุรี) และที่เกาะแก้ว (เกาะแก้วพิสดาร) หรือ “นิมมทานที” (ไทยว่า..นัมมะทา) ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมานาน กระทั่งถึงต่างประเทศ คือ ลังกาและชมพูทวีป เพราะคำใน “อรรถกถา” ยืนยันอยู่


*อรรถกถาปุณโณวาทสูตร



---ในตอนนี้ตามความ ในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาสั่งว่า “อานันทะ..ดูก่อนอานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙ รูป..”



---เมื่อพระอานนท์ รับพระพุทธดำรัสแล้ว จึงได้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลาย และในวันนั้นพระกุณฑธานเถระ จับได้สลากเป็นองค์แรกในตอนเช้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะเกิดร้อนขึ้นมา



---พระองค์ทรง พิจารณาแล้วทราบว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จไป แคว้นสุนาปรันตะ ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก จึงรับสั่งให้ วิษณุกรรมเทพบุตร เนรมิต เรือนยอด ๕๐๐ หลัง สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ มุข (จตุรมุข) ของพระอัครสาวกทั้งสองมี ๒ มุข ที่เหลือมี มุขเดียว พระศาสดาทรงเข้าสู่เรือนยอด และ พระสาวก ๔๙๙ รูป ต่างเข้าสู่เรือนยอด ๔๙๙ หลังตามลำดับ โดยมีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลังนั้นลอยไปในอากาศ



---ครั้นถึงภูเขาชื่อ “สัจจพันธ์” แล้วทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ ทรงเทศน์โปรดท่าน สัจจพันธ์ฤาษีจนสำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงได้เข้าสู่เรือนยอดที่ว่างหลังนั้น ตามเสด็จไปพร้อมกับพระภิกษุทั้งหลาย มายังหมู่บ้านพ่อค้า (เพชรบุรี) ที่เป็นน้องชายพระปุณณะ ต่างก็ได้ถวายทานเป็นอันมากแด่พระภิกษุทั้งหลาย อันมีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน


---เมื่อพระศาสดาประทับในที่นั้น ๒-๓ วัน จึงได้เสด็จไปโปรด “นัมทานาคราช” ซึ่งตาม ในจารึกเบื้องจาร ได้บอกว่า พระศาสดาได้ เสด็จโปรด “คนน้ำ” ที่เกาะแก้ว โดยประทับไว้ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า  ท่านเจ้าคุณพระราชกวี วินิจฉัยคำว่า “นาค” กับ “น้ำ” นั้นออกเสียงใกล้เคียงกัน และใน “อุทานวรรค” ตรัสว่าเป็น “คนทะเล” ซึ่งในเวลานี้ ปรากฏว่า “คนน้ำ” หรือว่า “ชาวเล” ยังมีอยู่ ๕ กลุ่ม เช่นที่ “หาดราไวย์” เป็นต้น ใครจะลองไปถามประวัติแกดูบ้างก็ได้ เผื่อแก อาจจะจำได้บ้าง แต่ต้องพูดภาษาเขาได้นะ



---แต่ตามที่ทราบว่า สมัยก่อนพวกนี้จะรับจ้างพายเรือรับส่งคนไปกราบรอยพระพุทธบาท ต่อมาชาวบ้านแถวหาดราไวย์ สามารถใช้เรือหางยาวแทน แกเลยตกงานไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถไปหาเงินมาซื้อเรือหางยาวแข่ง กับชาวบ้านได้ จึงต้องไปดำน้ำหากุ้งหาปลามาขายแทน แต่บางคนก็มีกับเขาเหมือนกันนะ



---ตามความในพระไตรปิฎก กล่าวต่อไปว่า เมื่อพระศาสดาทรงออกจากที่นั้นแลัวก็เสด็จถึง ภูเขาสัจจพันธ์ คือที่ สระบุรีนี่เอง ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบ เหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ ฉะนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวันทีเดียว



---เรื่องนี้ตามที่วินิจฉัยไว้ แล้วว่า รอยพระพุทธบาททั้ง ๒ แห่งนี้ มิได้อยู่ที่อินเดียแน่นอน แต่ถ้าจะคิดว่ารอยพระบาท ณ นัมทานที อยู่ที่ลังกา ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเสด็จมาถึง “สุนาปรันตะ” สิ้น ระยะทาง ๓๐๐ โยชน์ หรือ ๔,๘๐๐ ก.ม. ก็จะต้องย้อนกลับไปกลับมาหลายครั้ง ทั้งที่ลังกาก็ไม่ปรากฎว่า พบรอยพระบาท ที่อยู่ริมทะเลอย่างนี้มาก่อน มีแต่รอยที่ปรากฎอยู่ ตามภูเขาเท่านั้น เช่น รอยพระพุทธบาทบนยอดเขา“สุมนกูฏ” เป็นต้น



---เพราะฉะนั้น รอยพระบาททั้งสองแห่งนี้ จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ถ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นของจริง รอยพระพุทธบาทที่ภูเก็ตก็ต้องเป็นของจริงเช่นกัน โดยเฉพาะความพิสดารเล่ากันไม่หวาดไม่ไหว เล่าลือกันจนไม่มีใครกล้าไป แต่ที่ไปกันได้เพราะอาศัย ความตั้งใจจริง หรือที่เรียกกันว่า “เอาชีวิตเป็นเดิมพันกันทีเดียว” เพราะถ้ายังรักตัวกลัวตาย หรือชอบความสนุกสนาน ก็คงจะไม่ได้ไปยืน อยู่ ณ ที่นี้เป็นแน่แท้


---สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่งนี้ ผู้เขียนใคร่ขอ “รณรงค์วัฒนธรรมไทย” อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกำลังจะสูญหายไปจากความนิยมไทยสมัยใหม่ ถ้าหากผู้ที่ได้ศึกษาเรื่อง “มงคล ๑๐๘ ประการ” ในฝ่าพระบาท หรือที่เรียกว่า “ลายลักษณ์พระบาท” ซึ่งเป็นศิลปกรรมยุคโบราณ คนสมัยก่อนได้นำมาผูกเป็นบทกลอน


---ในปัจจุบันนี้บางวัดยังท่องกันอยู่ แต่ส่วนใหญ่กำลังจะสาบสูญไปแล้ว คณะอาจารย์สันต์ ภู่กร (เริ่มท่องเป็นประจำ) ผู้เขียนจึงได้นำต้นฉบับเก่าๆ ทั้งของภาคกลางและภาคใต้ ที่นิยมท่องกันสมัยนั้นมาเทียบเคียง พร้อมกับตรวจทานกับคัมภีร์ “พุทธปาทะลักขณะ” ซึ่งจารึกไว้เป็นภาษาบาลี จึงได้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง โดยมีใจความคล้าย “ทำนองเสนาะ”



คำนมัสการ ลายลักษณ์พระพุทธบาท 
(ตั้ง นะโม ๓ จบ)




---ข้าพเจ้า ขอบังคม พระพุทธบาทบรม ทั้งคู่เรืองรอง, สิบนิ้วของลูก ต่างธูปเทียนทอง นัยเนตรทั้งสอง ต่างประทีปทูลถวาย, ผมเผ้าเกล้าเกศ ต่างดอกปทุมเมศ บัวทองพรรณราย, วาจาเพราะพร้อง ต่างฆ้องกลองถวาย ดวงฤทัย มั่นหมาย ต่างรสสุคนธา, พระบาททศพล ทั้งคู่เลิศล้น ปรากฏรจนา มีกงจักรแก้ว เพริศแพร้วทอตา กงกำโสภาดวงดุมเพลาทอง, มงคลงามสรรพ ร้อยแปดประดับ บาทบงสุ์ทั้งสอง, ทั่วทั้งไตรภพ มีครบทุกช่อง ลายลักษณ์เรืองรอง ทุกห้องเฉิดฉันท์,



---มีทั้งฉัตรแก้ว พระขรรค์เลิศแล้ว หอกทองไพพรรณ, มีนางชูแว่น อ้อนแอ้นเอววัลย์ มือถือบุษบัน สอดสร้อยสังวาลย์, มีปราสาทราชวัง แท่นทิพย์เตียงตั่ง เกยแก้วสุริยกาญจน์, เฉิดฉายพรายแพรว เขนยเกยแก้ว พัดใบตาลโบกแล้ว พัดหางยูงทอง, มีมงกุฏรัตน์ พัชนีโบกปัด บาตรแก้วแววว่อง, ดวงแก้วมณี รัศมีขาวผ่อง กระออมเงิน กระออมทอง กระออมแก้วแววไว, ยังมีถาดทอง ถาดเงินเรืองรอง ถาดแก้วประไพ, มีวิมานพระอิศวร พระนารายณ์เลิศไกร เทวาไสวเข้าเฝ้าวันทา,



---มีป่าหิมพานต์ ต้นพฤกษาสาร ตระการรจนา, มีผลแก่อ่อน แซมซ้อนบุปผา ครุฑธิราชปักษา อยู่ป่าฉิมพลี, มีพญาไก่แก้ว นกกระเรียนเลิศแล้ว กินรากินรี, คาบพวงมาลา ร่ายรำงามดีการะเวกโนรี แขกเต้าเขาขัน, หงษ์เหินสกุณาภุมรีภุมรา งามตาสารพัน, มีพญานกกระหิตวิจิตรแดงฉันท์ ยูงทองลาวัลย์ สีสันเฉิดฉาย, มีพญาไกรสร ช้างแก้วกุญชร ม้าแก้วเพริศพราย, ราชสีห์ย่างเยื้อง เสือเหลืองเรียงรายนาคราชผันผาย นางโคคลาไคล, ให้ลูกกินนมเคล้าเคลียน่าชม ละเมียดละไม,



---มีจักรพรรตรา เสนาเกรียงไกร ถือธงทิวไสว ดูงามยรรยง, มีฉ้อฉกามา สิบหกชั้นฟ้า พระอินทร์จำนง, แสนสาวชาวสวรรค์ เทวัญล้อมองค์ เข้าเฝ้าเป็นวง ยังแท่นทิพย์วิมาน, มีพรหมโสฬส สิบหกชั้นปรากฏ ล้วนแก้วแกมกาญจน์,ประดับมุขทุกชั้น โบกบันสิงห์หาญ พระพรหมชมฌาน ทุกชั้นพรหมา,



---มีทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์เรืองฤทธิ์ชักรถไคลคลา, เวียนรอบราศี รัศมีรุ่งฟ้า ดวงดาวดารา ประดับเมืองสวรรค์, ทวีปใหญ่ทั้งสี่ทวีปน้อยนั้นมี นับได้สองพัน, มีจักรวาลเวียน พิศเพียนอนันต์ เขาพระสุเมรุเรืองฉันท์ หลักโลกโลกา, มีเขาสัตตภัณฑ์ ล้อมรอบเจ็ดชั้นเขาแก้วนา, มีสีทันดร อยู่หว่างบรรพตา มีเจ็ด คงคา สายสินธุ์แสงใส,



---มีเขาไกรลาศ เงินยวงเดียรดาษ ขาวผ่องประไพ, มีเจ็ดสระศรี ชลธีหลั่งไหล บัวบานไสวดูงามเบญจพรรณ, มีมหาสมุทรทัย ลึกล้ำ กว้างใหญ่ มัจฉาอนันต์, ปลาเงินปลาทอง ลอยล่องตามกัน มังกรผายผัน จระเข้เหรา, มีทั้งเต่าทอง ดำผุดลอยล่อง ในท้องคงคา, มีสำเภาแก้ว พรายแพรวทอตา สำเภาเงินโสภา สำเภาทองบรรจง



---มีสิ้นไตรภพ พรรณนามาจบ ลายลักษณ์พระองค์, มีสิ้นทุกสิ่ง งามยิ่งยรรยง ในพื้นบาทบงสุ์ พุทธบาทบาทา, พระศรีสรรเพชญ์พระพุทธเจ้าเสด็จ โปรดโลกโลกา, มีดอกบัวทอง ทั้งสองโสภา ผุดจากพสุธา รองรับบาท บงสุ์, ทุกย่างพระบาท ปวงดอกปทุมมาศ มิได้ คลาดทุกสถาน, ที่ใดไม่สบาย พระพายพัดพาน หอบเอาสุคนธาน นมัสการพระองค์,



---หอบเอาทรายแก้ว นวลละอองผ่องแผ้วมาโปรยปรายลง, ให้ทางราบรื่น ในพื้นบาทบงสุ์พระพุทธเจ้าเสด็จลง โปรดโลกหญิงชาย, ยามเยื้องยุรยาตร ปวงดอกปทุมมาศ อันตรธานหาย, จึงได้ประจักษ์ ลายลักษณ์ทั้งหลาย เหยียบย่ำ ทำลาย จะเป็นโทษนักหนา,



---พระศาสดาเจ้า เสด็จเข้านิพพาน สิ้นแล้วตัณหา, ยังแต่รอยบาทบงสุ์ อันทรงพระกรุณาบรรจบครบห้า ประดิษฐานโดยมี, พระบาทหนึ่งปรากฏ อยู่เหนือบรรพต สุวรรณมาลี, พระบาทสองนั้น อยู่สุวรรณคีรี ใกล้สระบุรีศรีพระนคร, พระบาทสามนั้นโสต อยู่เขาสุมนกูฏ ลังกาบวร, พระบาทสี่ทศพล อยู่บนสิงขร ฝ่ายเบื้องอุดร โยนกบุรี, พระบาทห้า ประดิษฐานอยู่ริมชลธาร นัมทานที, เป็นที่วันทา นาคาธิบดี มัจฉาภุมภีร์ เข้าไหว้แน่นอนันต์,



---พระบาทห้าแห่ง พระพุทธเจ้าสำแดง ย่างเหยียบไว้นั้น, เป็นที่วันทา เทวาทุกชั้น มนุษย์คนธรรพ์ ครุฑธิราชอสุรา, ลายลักษณ์เลิศไตร บูชาเข้าไว้ หญิงชายถ้วนหน้า, เช้าค่ำ ไก่ขัน ทุกวันเวลา อุตส่าห์ภาวนา เป็นนิจนิรันดร์, ใครว่าลายลักษณ์ ได้บุญมากนัก แปดหมื่นสี่พัน, เหมือนได้พบองค์ พระผู้ทรงธรรม์ พรรณนามานั้น หวังเข้านิพพาน.



*อะหัง วันทามิ ทูระโต, อะหัง วันทามิ ธาตุโย, อะหัง วันทามิ สัพพะโส, สาธุ..สาธุ.. อนุโมทามิ, นิพพานะ ปัจจะโย โหตุฯ *


*จากหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เรียบเรียงโดย พระชัยวัฒน์ อชิโต



---อัปเดต เมื่อ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘ ระบุว่ามีรอยพระพุทธบาท ในแต่ละภาคของไทยดังนี้



---ภาคใต้ 49 แห่ง 


---ภาคเหนือ 148 แห่ง


---ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 206 แห่ง


---ภาคตะวันตก 34 แห่ง 


---ภาคตะวันออก 15 แห่ง


---ภาคกลาง 39 แห่ง  รวมในประเทศ ๔๙๑ แห่ง



---และมีรอยพระพุทธบาท ที่ต่างประเทศ 64 แห่ง  เมื่อรวมจำนวนรอยพระพุทธบาททั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว จะมีทั้งสิ้น ๕๕๕ แห่ง.






.........................................................................................






ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

รวบรวมโดย...แสงธรรม

(แก้ไขแล้ว ป.)

(แก้ไขแล้ว อัครภาค สังอาภาวรากุล และตระกูล)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« January 2025»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท12/01/2025
ผู้เข้าชม8,443,781
เปิดเพจ12,868,713
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view