/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖

หน้าต่างที่   ๓๓ / ๓๙.

              ๓๓. เรื่องพระโชติกเถระ [๒๙๖]   



      
               



*ข้อความเบื้องต้น


---พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระโชติกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยธ ตณฺหํ" เป็นต้น.


*บุรพกรรมของสองพี่น้อง 

       

---อนุปุพพีกถาในเรื่องนั้น ดังต่อไปนี้ 


---ได้ยินว่า ในอดีตกาล กุฎุมพี ๒ คนพี่น้องในกรุงพาราณสี  ยังชนให้ทำไร่อ้อยไว้เป็นอันมาก   ต่อมาวันหนึ่ง   น้องชายไปยังไร่อ้อย คิดว่า   "เราจักให้อ้อยลำหนึ่งแก่พี่ชาย   ลำหนึ่งจักเป็นของเรา" แล้วผูกลำอ้อยทั้งสองลำในที่ๆ ตัดแล้ว  เพื่อต้องการไม่ให้รสไหลออก ถือเอาแล้ว.


---ได้ยินว่า ในครั้งนั้น กิจด้วยการหีบอ้อยด้วยเครื่องยนต์ ไม่มี, ในเวลาอ้อยลำที่เขาตัดที่ปลายหรือที่โคนแล้วยกขึ้น รส (อ้อย) ย่อมไหลออกเองทีเดียว  เหมือนน้ำไหลออกจากธมกรกฉะนั้น.


---ก็ในเวลาที่เขาถือเอาลำอ้อยจากไร่เดินมา  พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ภูเขาคันธมาทน์  ออกจากสมาบัติแล้ว  ใคร่ครวญว่า   "วันนี้ เราจักทำการอนุเคราะห์แก่ใครหนอ"  แลเห็นเขาเข้าไปในข่ายคือญาณของตน และทราบความที่เขาเป็นผู้สามารถเพื่อจะทำการสงเคราะห์ได้  จึงถือบาตรและจีวรแล้ว มาด้วยฤทธิ์ ได้ยืนอยู่ข้างหน้าของเขา. 



*น้องชายถวายอ้อยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า

         

---เขาพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น  ก็มีจิตเลื่อมใส  จึงลาดผ้าห่มบนภูมิประเทศที่สูงกว่า   แล้วนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง  ด้วยคำว่า   "นิมนต์นั่งที่นี้ ขอรับ"   แล้วก็กล่าวว่า   "ขอท่านจงน้อมบาตรมาเถิด"   ได้แก้ที่ผูกลำอ้อย  วางไว้เบื้องบนบาตร   รสไหลลงเต็มบาตรแล้ว.


---เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าดื่มรส (อ้อย) นั้นแล้ว  เขาคิดว่า "ดีจริง พระผู้เป็นเจ้าของเราดื่มรส (อ้อย) แล้ว,   ถ้าพี่ชายของเราจักให้นำมูลค่ามา   เราก็จักให้มูลค่า,   ถ้าจักให้เรานำส่วนบุญมา   เราก็จักให้ส่วนบุญ"   แล้วกล่าวว่า   "นิมนต์ท่านน้อมบาตรเข้ามาเถิด ขอรับ" แล้วได้แก้ลำอ้อยแม้ที่ ๒ ถวายรส.


---นัยว่า  เขามิได้มีความคิดที่จะลวงแม้มีประมาณเท่านี้ว่า   "พี่ชายของเราจักนำอ้อยลำอื่นจากไร่อ้อยมาเคี้ยวกิน"   ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ใคร่จะแบ่งรสอ้อยนั้นกับด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่าอื่น   เพราะความที่ตนดื่มรสอ้อยลำแรกนั้น   จึงรับไว้เท่านั้น แล้วก็นั่งอยู่.


---เขาทราบอาการของท่านแล้ว   จึงไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์  ตั้งความปรารถนาว่า   "ท่านขอรับ รสอันเลิศนี้ใด  ที่กระผมถวายแล้ว  ด้วยผลแห่งรสอันเลิศนี้   กระผมพึงเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ในที่สุดพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วนั่นแล."


---แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็กล่าวว่า   "ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้ว  จงสำเร็จอย่างนั้น"   แล้วทำอนุโมทนาแก่เขาด้วย  ๒  คาถาว่า   "อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ" เป็นต้น   แล้วก็อธิษฐานโดยประการที่เขาจะเห็นได้ แล้วเหาะไปสู่เขาคันธมาทน์โดยทางอากาศ   แล้วได้ถวายรส (อ้อย) แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป.


---เขาเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว  ไปสู่สำนักพี่ชาย  เมื่อพี่ชายถามว่า   "เจ้าไปไหน"   จึงบอกว่า "ฉันไปตรวจดูไร่อ้อย"  ถูกพี่ชายกล่าวว่า   "จะมีประโยชน์อะไรด้วยคนอย่างเจ้าไปไร่อ้อย   เจ้าควรจะถือเอาลำอ้อยมา ๑ ลำหรือ ๒ ลำมิใช่หรือ"  กล่าวว่า   "พี่ ถูกละ ฉันถือเอาอ้อยมา ๒ ลำ   แต่ฉันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จึงถวายรสแต่ลำอ้อยของฉัน   แล้วถวายรสแต่ลำอ้อยแม้ของพี่   ด้วยคิดว่า   ‘เราจักให้มูลค่าหรือส่วนบุญ’ พี่จักรับเอามูลค่าอ้อยนั้น หรือจักรับเอาส่วนบุญ"


---พี่ชาย     ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำอะไร


---น้องชาย     ท่านดื่มรสจากลำอ้อยของฉันแล้ว  ก็ถือเอารสจากลำอ้อยของพี่ ไปสู่เขาคันธมาทน์โดยอากาศ  แล้วได้ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป.


               

*พี่ชายเลื่อมใสขออนุโมทนาส่วนบุญ 

           

---พี่ชายนั้น  เมื่อเขากำลังกล่าวอยู่นั้นแหละ,  เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว  หาระหว่างมิได้ ได้ทำความปรารถนาว่า   "การบรรลุธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเห็นแล้วนั่นแหละ พึงมีแก่เรา."


---น้องชายปรารถนาสมบัติ  ๓  อย่าง  ส่วนพี่ชายปรารถนาพระอรหัตด้วยประการฉะนี้.


---นี้เป็นบุรพกรรมของชนทั้งสองนั้น.


              

 *สองพี่น้องได้เกิดร่วมกันอีกในชาติต่อมา

            

---ชนทั้งสองนั้น   ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว   เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว  บังเกิดในเทวโลก ยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไป.  


---ในเวลาชนทั้งสองนั้นไปสู่เทวโลกนั่นแหละ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า  วิปัสสี   เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก.


---พี่น้องทั้งสองแม้นั้น เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว,  ผู้พี่ชายก็คงเป็นพี่ชาย   ผู้น้องชายก็คงเป็นน้องชาย ถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่งในพันธุมดีนคร.  


---บรรดาเด็กทั้งสองนั้น   มารดาบิดาได้ตั้งชื่อของผู้พี่ชายว่า "เสนะ"   ของผู้น้องชายว่า  "อปราชิต"


---เมื่อพี่น้องทั้งสองนั้น  กำลังรวบรวมขุมทรัพย์อยู่  ในเวลาเติบโตแล้ว๑-, เ สนกุฎุมพีได้ฟังการป่าวร้องในพันธุมดีนคร  ของอุบาสกผู้โฆษณาธรรมว่า   "พุทธรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก,   ธรรมรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก,  สังฆรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก,   พวกท่านจงให้ทานทั้งหลาย   จงทำบุญทั้งหลาย   วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๔ วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๕ พวกท่านจงทำอุโบสถ จงฟังธรรม"


---เห็นมหาชนถวายทานในกาลก่อนภัตแล้ว  ไปเพื่อฟังธรรมในกาลภายหลังภัต  จึงถามว่า "พวกท่านจะไปไหน   เมื่อมหาชนบอกว่า   "พวกฉันจะไปสู่สำนักพระศาสดา เพื่อฟังธรรม"  จึงพูดว่า  "แม้ฉันก็จักไป" แล้วก็ไปพร้อมกับชนเหล่านั้นทีเดียว  นั่งแล้วในที่สุดบริษัท.


---พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของเขา  จึงตรัสอนุปุพพีกถา  เขาฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เกิดความอุตสาหะในบรรพชา   จึงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.


---ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า   "ก็พวกญาติที่ท่านจะพึงอำลามีไหม"


---เสนกุฎุมพี    มี พระเจ้าข้า


---พระศาสดา     ถ้าอย่างนั้น ท่านไปอำลา แล้วจงมา

๑-หมายความว่า ได้ตั้งหลักฐานในการครองเรือนแล้ว. 


              

 *พี่ชายลาน้องชายออกบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัต

     

     

---เขาไปสู่สำนักของน้องชายแล้ว กล่าวว่า "ทรัพย์สมบัติใด มีอยู่ในตระกูลนี้ ทรัพย์สมบัตินั้นทั้งหมด จงเป็นของเจ้า"


---น้องชาย     ก็พี่เล่า  ขอรับ


---เสนกุฎุมพี     ฉันจักบวชในสำนักของพระศาสดา


---น้องชาย     พี่พูดอะไร  ฉันเมื่อมารดาตายแล้ว ก็ได้พี่เป็นเหมือนมารดา,  เมื่อบิดาตายแล้ว  ก็ได้พี่เป็นเหมือนบิดา ตระกูลนี้ก็มีโภคะมาก  พี่ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ ก็สามารถจะทำบุญได้  พี่อย่าทำอย่างนั้น


---เสนกุฎุมพี     ฉันฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว  ฉันดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือน ไม่อาจบำเพ็ญธรรมนั้นได้  ฉันจักบวชให้ได้ เจ้าจงกลับ


---เขายังน้องชายให้กลับไปด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต


---ฝ่ายน้องชายคิดว่า  "เราจักทำสักการะแก่บรรพชิตผู้พี่ชาย"   จึงถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น  ๗ วัน 


---ไหว้พี่ชายแล้ว กล่าวว่า  "ท่านขอรับ  ท่านทำการสลัดออกจากภพแห่งตนได้แล้ว  ส่วนกระผมยังเป็นผู้พัวพันด้วยกามคุณ ๕*  ไม่อาจออกบวชได้  ขอท่านจงบอกบุญกรรมอันใหญ่ที่สมควร  แก่กระผมผู้ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ"


---ลำดับนั้น  พระเถระกล่าวกะน้องชายนั้นว่า   "ดีละ เจ้าผู้เป็นบัณฑิต เจ้าจงให้สร้างพระคันธกุฎี สำหรับพระศาสดา"



*คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่.


             

*น้องชายสร้างพระคันธกุฎีถวายพระศาสดา 

             

---น้องชายนั้นรับว่า "สาธุ"  แล้วยังชนให้นำไม้ต่างๆ  มา  แล้วให้ถากเพื่อประโยชน์แก่ ทัพสัมภาระ    ทั้งหลายมีเสาเป็นต้น   ให้ทำเสาทั้งหมด   ให้ขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ  คือ ต้นหนึ่งขจิตด้วยทองคำ,  ต้นหนึ่งขจิตด้วยเงิน,   ต้นหนึ่งขจิตด้วยแก้วมณีเป็นต้น,   แล้วให้สร้างพระคันธกุฎีด้วยเสาเหล่านั้น  ให้มุงด้วยกระเบื้องสำหรับมุงอันขจิตด้วยแก้ว  ๗  ประการเหมือนกัน.


---ก็ในเวลาสร้างพระคันธกุฎีนั้นแล  หลานชายชื่อ "อปราชิต"  ผู้มีชื่อเหมือนกับตนนั่นแล เข้าไปหาอปราชิตกุฎุมพีนั้นแล้ว  กล่าวว่า   "แม้ฉันก็จักสร้าง  ท่านจงให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด ลุง"   เขากล่าวว่า "พ่อ ฉันไม่ให้  ฉันจักสร้างไม่ให้ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่น"


---หลานชายนั้นอ้อนวอนแม้เป็นอันมาก   เมื่อไม่ได้ส่วนบุญ  จึงคิดว่า   "การที่เราได้กุญชรศาลา๑- ข้างหน้าพระคันธกุฎี  ย่อมควร"   ดังนี้แล้ว  จึงให้สร้างกุญชรศาลาที่สำเร็จด้วยแก้ว  ๙  ประการ. 


---เขาเกิดเป็น      เมณฑกเศรษฐี  ในพุทธุปบาทกาลนี้.


---ก็บานหน้าต่างใหญ่  ๓  บาน  ที่สำเร็จด้วยแก้ว  ๗  ประการ  ได้มีแล้วในพระคันธกุฎี.

  

---อปราชิตคฤหบดีให้สร้างสระโบกขรณี  ๓  สระ ที่ โบกด้วยปูนขาว ณ ภายใต้ที่ตรงบานหน้าต่างเหล่านั้น ให้เต็มด้วยน้ำหอม  อันเกิดแต่ชาติทั้ง ๔*   แล้วให้ปลูกดอกไม้ ๕ สี**  ให้ย่อยบรรดาแก้ว  ๗  ประการ  แก้วที่ควรแก่ความเป็นของที่จะพึงย่อยได้แล้วถือเอาแก้วนอกนี้ทั้งหมดทีเดียว  โปรยรอบพระคันธกุฎีโดยถ่องแถวเพียงเข่า  ยังบริเวณให้เต็มแล้ว.


๑- ศาลามีรูปคล้ายช้าง.

 

*กุงฺกุมํ หญ้าฝรั่น ๑. ยวนปุปฺผํ ดอกไม้เกิดในยวนประเทศ ๑. ตครํ กฤษณา ๑. ตุรุกฺโข กำยาน ๑.


** เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ปรากฏโดยมาก 


---เพื่อจะโปรยพระสรีระด้วยสายแห่งเกสรทั้งหลาย  อันตั้งขึ้นแล้วด้วยกำลังลม ในกาลแห่งพระตถาคตประทับนั่งภายในแล้ว   กระเบื้องที่ยอดพระคันธกุฎี  ได้สำเร็จด้วยทองคำอันสุกปลั่ง   หาง (กระเบื้อง) สำเร็จด้วยแก้วประพาฬตอนล่าง   กระเบื้องมุงสำเร็จด้วยแก้วมณี   พระคันธกุฎีนั้นได้ตั้งอยู่งดงาม ดุจนกยูงลำแพน ด้วยประการฉะนี้.



---คฤหบดีชื่ออปราชิต   ยังพระคันธกุฎีให้สำเร็จด้วยอาการอย่างนี้แล้ว   จึงเข้าไปหาพระเถระผู้พี่ชาย เรียนว่า   "ท่านขอรับ พระคันธกุฎีสำเร็จแล้ว"   กระผมหวังการใช้สอยพระคันธกุฎีนั้น   ได้ยินว่า บุญเป็นอันมากย่อมมีเพราะการใช้สอย"


---พระเถระนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า   "พระเจ้าข้า ทราบว่า กุฎุมพีผู้นี้ให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระองค์ บัดนี้ เธอหวังการใช้สอย"


---พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะแล้ว เสด็จไปสู่ที่เฉพาะหน้าพระคันธกุฎี  ทอดพระเนตรกองรัตนะที่เขากองล้อมรอบพระคันธกุฎี  ได้ประทับยืนอยู่แล้วที่ซุ้มแห่งประตู๒-  ก็เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า  "พระเจ้าข้า การรักษาจักมีแก่ข้าพระองค์เอง,  ขอพระองค์จงเสด็จเข้าไปเถิด"


---พระศาสดาเสด็จเข้าไปแล้ว.


๒-เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ปรากฏโดยมาก 

              

---ลำดับนั้น กุฎุมพีกราบทูลพระองค์ว่า   "ขอพระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า"


---พระศาสดาประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ทอดพระเนตรดูพระเถระพี่ชายของกุฎุมพีนั้นถึง  ๓  ครั้ง,


---พระเถระทราบด้วยอาการที่พระองค์ทอดพระเนตรแล้วนั่นแล  กล่าวกะน้องชายว่า   "มาเถิด พ่อ เธอจงทูลพระศาสดาว่า   การรักษาจักมีแก่ข้าพระองค์เอง  ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ตามสบายเถิด"


---เขาฟังคำพระเถระแล้ว   ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์   กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พวกมนุษย์เข้าไปที่โคนไม้แล้ว  ไม่มีความเยื่อใยหลีกไปฉันใด,   อนึ่ง พวกมนุษย์ข้ามแม่น้ำ ไม่มีความเยื่อใย สละพ่วงแพเสียได้ฉันใด,   ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใยฉันนั้น   ประทับอยู่เถิด"


---ก็พระศาสดาประทับยืนอยู่เพื่ออะไรฯ


---ได้ยินว่า  พระองค์ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า   "ชนเป็นอันมาก  ย่อมมาสู่สำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ในเวลาก่อนภัตบ้าง  ในเวลาหลังภัตบ้าง  เมื่อชนเหล่านั้นถือเอารัตนะทั้งหลายไปอยู่   พวกเราไม่อาจห้ามได้   กุฎุมพีพึงติเตียนว่า   ‘เมื่อรัตนะประมาณเท่านี้เราโปรยลงแล้วที่บริเวณ,   พระศาสดาไม่ห้ามปรามอุปัฏฐากของพระองค์   แม้ผู้นำ (รัตนะ) ไปอยู่   ดังนี้แล้ว   ทำความอาฆาตในเรา   พึงเป็นผู้เข้าถึงอบาย’ เพราะเหตุนี้  พระศาสดาจึงได้ประทับยืนอยู่แล้ว.


              

*เขาตั้งการรักษารัตนะที่โปรยไว้รอบพระคันธกุฎี 

             

---แม้กุฎุมพี  ก็ตั้งการรักษาไว้โดยรอบ   สั่งมนุษย์ทั้งหลายไว้ว่า   "พ่อ พวกเธอจงห้ามชนทั้งหลายผู้ถือเอา (รัตนะ) ด้วยพก  หรือด้วยกระเช้าและกระสอบไป   แต่อย่าห้ามชนผู้ถือเอาด้วยมือไป"   แม้ในภายในนครก็ให้บอกว่า  "รัตนะ  ๗  ประการ  อันเราโปรยลงแล้วที่บริเวณพระคันธกุฎี,   มนุษย์เข็ญใจทั้งหลายผู้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้วไป   จงถือเอาเต็มมือทั้งสอง  มนุษย์ทั้งหลายแม้ถึงสุขแล้ว   ก็จงถือเอาด้วยมือเดียว"


---ได้ยินว่า  เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า   "ชนทั้งหลายผู้มีศรัทธา ประสงค์จะฟังธรรมก่อน จึงจักไปทีเดียว  ส่วนผู้ไม่มีศรัทธา  ไปด้วยความโลภในทรัพย์  ฟังธรรมแล้ว  ก็จักพ้นจากทุกข์ได้"   เพราะเหตุนั้น เขาจึงให้บอกอย่างนั้น  เพื่อต้องการจะสงเคราะห์ชน.


---มหาชนถือเอารัตนะทั้งหลายตามกำหนดที่เขาบอกแล้วนั่นแล   เมื่อรัตนะที่เขาโปรยลงไว้คราวเดียว หมดแล้ว   เขาจึงให้โปรยลงเรื่อยๆ  โดยถ่องแถวเพียงเข่าถึง  ๓  ครั้ง   อนึ่ง เขาวางแก้วมณีอันหาค่ามิได้ประมาณเท่าผลแตงโม  แทบบาทมูลของพระศาสดา.


---ได้ยินว่า  เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า  "ชื่อว่า ความอิ่มจักไม่มีแก่ชนทั้งหลายผู้แลดูรัศมีแห่งแก้วมณี พร้อมด้วยพระรัศมีอันมีสีดุจทองคำ แต่พระสรีระของพระศาสดา"  เพราะฉะนั้น เขาจึงได้ทำอย่างนั้น   แม้มหาชนก็แลดูไม่อิ่มเลย.



*พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิลักแก้วมณี 


---ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งคิดว่า "ได้ยินว่า แก้วมณีที่มีค่ามาก อันกุฎุมพีนั้นวางไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา เราจักลักแก้วมณีนั้น" จึงไปสู่วิหาร เข้าไปโดยระหว่างมหาชนผู้มาแล้ว เพื่อจะถวายบังคมพระศาสดา.


---ด้วยอาการแห่งการเข้าไปแห่งพราหมณ์นั้นนั่นแล คิดว่า "โอหนอ พราหมณ์ไม่ควรถือเอา."



---แม้พราหมณ์นั้นวางมือไว้แทบบาทมูลคล้ายจะถวายบังคมพระศาสดา ถือเอาแก้วมณีซ่อนไว้ในเกลียวผ้า หลีกไปแล้ว.


---กุฎุมพีไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสในพราหมณ์นั้นได้.


---ในกาลจบธรรมกถา กุฎุมพีนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า รัตนะ ๗ ประการอันข้าพระองค์โปรยล้อมรอบพระคันธกุฎีสิ้น ๓ ครั้ง โดยถ่องแถวเพียงเข่า เมื่อชนทั้งหลายถือเอารัตนะเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่าความอาฆาตมิได้มีแล้วแก่ข้าพระองค์ จิตยิ่งเลื่อมใสขึ้นเรื่อยๆ แต่วันนี้ ข้าพระองค์คิดว่า "โอหนอ พราหมณ์นี้ ไม่ควรถือเอาแก้วมณี" เมื่อพราหมณ์นั้นถือเอาแก้วมณีไปแล้ว จึงไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้."


---พระศาสดาทรงสดับคำของกุฎุมพีนั้นแล้ว ตรัสว่า "อุบาสก ท่านไม่อาจเพื่อจะทำของมีอยู่ของตน ให้เป็นของอันชนเหล่าอื่นพึงนำไปไม่ได้ มิใช่หรือ" ดังนี้แล้ว ได้ประทานนัยแล้ว.


---กุฎุมพีนั้นดำรงอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ได้ทำการปรารถนาว่า "พระเจ้าข้า พระราชาหรือโจรแม้หลายร้อย ชื่อว่าสามารถเพื่อจะข่มเหงข้าพระองค์ ถือเอาแม้เส้นด้ายแห่งชายผ้าอันเป็นของข้าพระองค์ จงอย่ามี นับแต่วันนี้เป็นต้นไป, แม้ไฟก็อย่าไหม้ของๆ ข้าพระองค์, แม้น้ำก็อย่าพัด."


---แม้พระศาสดาก็ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่กุฎุมพีนั้นว่า "ขอความปรารถนาที่ท่านปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ."


---กุฎุมพีนั้น เมื่อทำการฉลองพระคันธกุฎี ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๖๘ แสน ในภายในวิหารนั่นแหละ ตลอด ๙ เดือน ในกาลเป็นที่สุด ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุทุกรูป.


---ผ้าสาฎกสำหรับทำจีวรของภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ ได้มีค่าถึงพันหนึ่ง.


*อปราชิตกุฎุมพีเกิดเป็นโชติกเศรษฐี 

              

---กุฎุมพีนั้นทำบุญทั้งหลายจนตลอดอายุอย่างนั้นแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้น บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดกาลประมาณเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ อยู่ในท้องของมารดาตลอด ๙ เดือนครึ่ง.


---ก็ในวันที่กุฎุมพีนั้นเกิด สรรพอาวุธทั้งหลายในพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์แล้ว. แม้อาภรณ์ทั้งหลายที่สวมกาย๑- ของชนทั้งปวง เป็นราวกะว่ารุ่งโรจน์ เปล่งรัศมีออกแล้ว.


---พระนครได้รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.


---แม้เศรษฐีก็ได้ไปสู่ที่บำรุงพระราชาแต่เช้าตรู่.


๑- กายารุฬฺหา อันขึ้นแล้วสู่กาย.


---ครั้งนั้น พระราชาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า "วันนี้ สรรพอาวุธทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว, พระนครก็รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน ท่านรู้เหตุในเรื่องนี้ไหม"


---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบ.


---พระราชา. เหตุอะไร เศรษฐี.


---เศรษฐี. ทาสของพระองค์เกิดในเรือนของข้าพระองค์, ความรุ่งโรจน์นั้นได้มีแล้วด้วยเดชแห่งบุญของเขานั่นแหละ.


---พระราชา. เขาจักเป็นโจรกระมัง


---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้อนั้นไม่มี, สัตว์มีบุญได้ทำอภินิหารไว้แล้ว.


---พระราชาทรงตั้งทรัพย์ค่าเลี้ยงดูวันละพัน ด้วยพระดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอเลี้ยงเขาไว้ให้ดีจึงจะควร นี้จงเป็นค่าน้ำนมสำหรับเขา.


---" ครั้นในวันเป็นที่ตั้งชื่อ ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อของเขาว่า "โชติกะ" นั่นแหละ เพราะพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.


---ต่อมา ในเวลาที่เขาเติบโตแล้ว เมื่อภาคพื้นอันเขาลงชำระอยู่ เพื่อต้องการปลูกเรือน ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว.



*ท้าวสักกะเสด็จมานิรมิตสมบัติให้โชติกเศรษฐี*

             

---ท้าวสักกะทรงใคร่ครวญดูว่า "นี้เหตุอะไรหนอแล" ทรงทราบว่า "ชนทั้งหลายกำลังจับจองที่ปลูกเรือนเพื่อโชติกะ" ทรงดำริว่า "โชติกะนี้ จักไม่อยู่ในเรือนที่ชนเหล่านั่นทำแล้ว, การที่เราไปในที่นั้น ควร" แล้วเสด็จไปที่นั้นด้วยเพศแห่งนายช่างไม้ ตรัสว่า "พวกท่านทำอะไรกัน"


---เหล่าชน. พวกฉันจับจองที่ปลูกเรือน สำหรับโชติกะ.


---ท้าวสักกะตรัสว่า "พวกท่านจงหลีกไป, โชติกะนี้จักไม่อยู่ในเรือนที่พวกท่านปลูก" แล้วทอดพระเนตรดูภูมิประเทศประมาณ ๑๖ กรีส.


---ภูมิประเทศนั้นได้เป็นที่สม่ำเสมอในทันใดนั้นนั่นเอง ดุจวงกสิณ.


---ท้าวเธอทรงดำริอีกว่า "ขอปราสาท ๗ ชั้นสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงชำแรกแผ่นดินผุดขึ้น ณ ที่นี้" แล้วทอดพระเนตรดู.


---ปราสาท (เห็นปานนั้น) ผุดขึ้นแล้วในขณะนั้นนั่นเอง.


---ท้าวสักกะทรงดำริอีกว่า "ขอกำแพง ๗ ชั้น ที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงผุดขึ้นแวดล้อมปราสาทนี้" แล้วทอดพระเนตรดู.


---กำแพงเห็นปานนั้นผุดขึ้นแล้ว.



---ครั้งนั้น ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขอต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย จงผุดขึ้นในที่สุดรอบกำแพงเหล่านั้น" แล้วทอดพระเนตรดู.


---ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ผุดขึ้นแล้ว.


---ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขุมทรัพย์ ๔ ขุม จงผุดขึ้นที่มุมทั้ง ๔ แห่งปราสาท" แล้วทอดพระเนตรดู.


---ทุกสิ่งได้มีอย่างนั้นเหมือนกัน.


---ก็บรรดาขุมทรัพย์ทั้งหลาย ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งได้มีประมาณโยชน์หนึ่ง, ขุมหนึ่งได้มีประมาณ ๓ คาวุต, ขุมหนึ่งได้มีประมาณกึ่งโยชน์, ขุมหนึ่งได้มีประมาณคาวุตหนึ่ง,๑- ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ยักษ์ ๗ ตน ยึดการรักษาไว้แล้ว.


---ในซุ้มประตูที่ ๑ ยักษ์ชื่อยมโมลีพร้อมด้วยยักษ์พันหนึ่งที่เป็นบริวารของตน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๒ ยักษ์ชื่ออุปปละพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๒ พัน


---ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๓ ยักษ์ชื่อวชิระพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๓ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ยักษ์ชื่อวชิรพาหุพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๔ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๕ ยักษ์ชื่อสกฏะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๕ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๖ ยักษ์ชื่อสกฏัตถะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๖ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ยักษ์ชื่อทิสามุขะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๗ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว.


---ทั้งภายในและภายนอกแห่งปราสาท ได้มีการรักษาอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.


๑-เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ ปรากฏโดยมาก 


---ก็ประมาณนั่น ได้เป็นประมาณแห่งปากขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์.


---เบื้องล่างได้มีที่สุดแผ่นดิน, ประมาณขอบปากแห่งขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่โชติกเศรษฐี ท่านมิได้กล่าวไว้.


---ขุมทรัพย์ทุกขุมเต็มเปี่ยมเทียวผุดขึ้น เหมือนผลตาลที่เขาฝานหัวฉะนั้น, ลำอ้อย ๔ ลำเป็นวิการแห่งทองคำ ประมาณเท่าต้นตาลรุ่นๆ เกิดขึ้นที่มุมปราสาททั้ง ๔.


---ลำอ้อยเหล่านั้นมีใบเป็นวิการแห่งแก้วมณี มีข้อเป็นวิการแห่งทองคำ.


---นับว่าสมบัตินั้นเกิดขึ้นแล้ว เพื่อแสดงบุรพกรรม (ของเขา).



*พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานฉัตรตั้งให้เป็นเศรษฐี 

              

---พระราชาทรงพระนามว่าพิมพิสาร ทรงสดับว่า "ได้ยินว่า ปราสาท ๗ ชั้นซึ่งสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นแล้วเพื่อโชติกะ, กำแพง ๗ ชั้น ซุ้มประตู ๗ ซุ้ม ขุมทรัพย์ ๔ ขุมก็ผุดขึ้นแล้ว (เพื่อโชติกะเหมือนกัน)" ทรงส่งฉัตรตำแหน่งเศรษฐีไป (ให้) แล้ว, เขาได้เป็นผู้ชื่อว่า โชติกเศรษฐี.


---ก็หญิงผู้มีบุญกรรมอันทำไว้แล้วกับโชติกเศรษฐีนั้น เกิดแล้วในอุตตรกุรุทวีป.


---ครั้งนั้น เทพดานำนางมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้นแล้ว ให้นั่งในห้องอันเป็นสิริ.


---หญิงนั้นเมื่อมา ถือเอาทะนานข้าวสารทะนานหนึ่ง และแผ่นศิลาอันลุกโพลง ๓ แผ่น (มา), ภัตของชนทั้งสองนั้นได้มีแล้วด้วยทะนานข้าวสารนั้นนั่นเทียว ตลอดชีวิต.


---ดังได้สดับมา ถ้าชนเหล่านั้นเป็นผู้มีประสงค์จะยังแม้เกวียน ๑๐๐ เล่มให้เต็มด้วยข้าวสาร, มันก็คงปรากฏเป็นทะนานอันเต็มด้วยข้าวสารอยู่นั่นเอง.


---ในเวลาหุงภัต พวกเขาใส่ข้าวสารในหม้อ แล้ววางไว้เบื้องบนแผ่นศิลาเหล่านั้น.


---แผ่นศิลาก็ลุกโพลงขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง เมื่อภัตสักว่าสุกแล้ว ย่อมดับไป พวกเขารู้ความที่ภัตสุกแล้ว ด้วยสัญญาณนั้นนั่นแหละ.


---แม้ในเวลาแกงของควรแกงเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.


---เขาทั้งสองย่อมหุงต้มอาหารด้วยแผ่นศิลาอันลุกโพลงด้วยอาการอย่างนี้.


---ชนเหล่านั้นย่อมอยู่ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี ไม่รู้แสงสว่างของไฟหรือประทีปเลย.


*มหาชนต่างแตกตื่นมาชมสมบัติ

              

---ได้ยินว่า สมบัติของโชติกเศรษฐีเห็นปานนั้น ได้ปรากฏทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้นแล้ว.


---มหาชนเทียมยานเป็นต้นมา เพื่อต้องการดู.


---โชติกเศรษฐีสั่งให้หุงภัตด้วยข้าวสารที่นำมาจากอุตตรกุรุทวีปแล้ว ให้ๆ แก่ชนทั้งหลายผู้มาแล้วๆ สั่งว่า "ชนทั้งหลายจงถือเอาผ้า จงถือเอาเครื่องประดับ จากต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย" แล้วให้เปิดปากขุมทรัพย์ที่มีประมาณคาวุตหนึ่ง แล้วสั่งว่า "ชนทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้."


---เมื่อชนทั้งหลายผู้อยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ถือเอาทรัพย์ไปอยู่ ปากแห่งขุมทรัพย์มิได้พร่องลงแล้ว แม้เพียงองคุลีเดียว.


---ได้ยินว่า นั่นเป็นผลแห่งรัตนะที่เขาโปรยลง ทำให้เป็นทรายในบริเวณพระคันธกุฎี.


*พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะชมปราสาท 

              

---เมื่อมหาชนถือเอาผ้าอาภรณ์ และทรัพย์ตามความปรารถนาไปอยู่อย่างนั้น, พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของโชติกเศรษฐีนั้นบ้าง เมื่อมหาชนมาอยู่ จึงไม่ได้โอกาสแล้ว.


---ในกาลต่อมา เมื่อพวกมนุษย์น้อยลง เพราะถือเอาวัตถาภรณ์และทรัพย์ตามความปรารถนาไปแล้ว พระราชาจึงตรัสกะบิดาของโชติกะว่า "ฉันมีความประสงค์จะชมปราสาทของบุตรของท่าน.


---"บิดาของโชติกะนั้น  กราบทูลว่า "ดีละสมมติเทพ" แล้วไปบอกแก่บุตรว่า "พ่อพระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของเจ้า" เขาพูดว่า" ดีละคุณพ่อขอพระองค์เสด็จมาเถิด.


---พระราชาได้เสด็จไปในที่นั้นพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นอันมาก.


---ทาสีผู้ปัดกวาดเทหยากเยื่อที่ซุ้มประตูที่ ๑ ได้ถวายมือแด่พระราชา.


---พระราชาทรงละอายด้วยทรงสำคัญว่า "ภรรยาของเศรษฐี" จึงไม่ทรงวางพระหัตถ์ที่แขนของนาง.


---พระราชาทรงสำคัญทาสีแม้ที่ซุ้มประตูที่เหลือทั้งหลายว่า "ภรรยาของเศรษฐี" อย่างนั้น จึงไม่ทรงวางพระหัตถ์ที่แขนของทาสีเหล่านั้น.


---โชติกเศรษฐีมาต้อนรับพระราชาถวายบังคมแล้ว อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอเชิญเสด็จไปข้างหน้าเถิด" แผ่นดินที่ประดับด้วยแก้วมณี ย่อมปรากฏแก่พระราชา เป็นเหมือนเหวที่ลึกตั้ง ๑๐๐ ชั่วบุรุษ. ท้าวเธอทรงสำคัญว่า "โชติกะนี้ ขุดบ่อไว้เพื่อต้องการจับเรา" จึงไม่อาจเพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินไปได้.๑-


---โชติกะกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ นี้มิใช่บ่อ ขอพระองค์จงเสด็จมาข้างหลังข้าพระองค์" แล้วได้เป็นผู้นำเสด็จ.๒-


---พระราชาทรงเหยียบพื้นในเวลาที่โชติกะนั้นเหยียบแล้ว เสด็จเที่ยวทอดพระเนตรปราสาทตั้งแต่พื้นชั้นล่าง.


๑-ปาทํ นิกฺขิปิตุํ เพื่ออันวางพระบาทลง.


๒-ปุรโต อโหสิ ได้มีข้างหน้า.


*พระเจ้าอชาตศัตรูทรงน้อยพระทัย

              

---ในคราวนั้น พระราชกุมารทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ทรงจับองคุลีของพระราชบิดา เสด็จเที่ยวไปอยู่ ทรงดำริว่า "โอ ทูลกระหม่อมของเราเป็นอันธพาล ชื่อว่าคฤหบดียังอยู่ในปราสาทที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการได้ ทูลกระหม่อมของเรานี่ เป็นถึงพระราชา ยังประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรที่ทำด้วยไม้ บัดนี้ เราจักเป็นพระราชาแล้ว จักไม่ให้คฤหบดีนี้อยู่ในปราสาทนี้."๑-


---เมื่อพระราชากำลังเสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาทชั้นบนนั่นแหละ เป็นเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า.


---ท้าวเธอตรัสเรียกเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า "มหาเศรษฐี พวกเราจักบริโภคอาหารเช้าในที่นี้นี่แหละ."



---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ก็ทราบอยู่ พระกระยาหารสำหรับสมมติเทพ ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้ว."



---ท้าวเธอทรงสรงสนานด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วประทับนั่งบนบัลลังก์อันเป็นที่นั่งของเศรษฐีนั่นแหละ ที่เขาตกแต่งไว้ในมณฑป เป็นที่นั่งของเศรษฐี ซึ่งทำด้วยแก้ว.



๑- อิมสฺส อิมสฺมึ ปาสาเท วสิตุํ น ทสฺสามิ เราจักไม่ให้อยู่ในปราสาทนี้ แก่คฤหบดีนี้.


*พระราชาประทับเสวยในบ้านโชติกเศรษฐี 

             

---ครั้งนั้น พวกบุรุษถวายน้ำสำหรับล้างพระหัตถ์แด่ท้าวเธอ แล้วคดข้าวปายาสเปียกจากภาชนะทองคำที่มีค่าได้แสนหนึ่ง วางไว้ตรงพระพักตร์.


---พระราชาทรงเริ่มจะเสวยด้วยสำคัญว่า "เป็นโภชนะ."




---เศรษฐีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ นี้ไม่ใช่ภาชนะ นี้เป็นข้าวปายาสเปียก.


---พวกบุรุษคดโภชนะใส่ในภาชนะทองคำใบอื่น แล้ววางไว้บนถาดเดิม." 


---ได้ยินว่า การบริโภคภาชนะนั้นด้วยไออุ่นที่พลุ่งขึ้นจากภาชนะข้าวปายาสเปียกนั้น ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสบาย.


---พระราชา เมื่อเสวยโภชนะที่มีรสอร่อย ก็มิได้ทรงรู้ประมาณ.


---ลำดับนั้น เศรษฐีถวายบังคมท้าวเธอแล้ว ประคองอัญชลีกราบทูลว่า "พอที พระเจ้าข้า, เพียงเท่านี้ก็พอ พระองค์ไม่ทรงสามารถเพื่อจะให้โภชนะที่ยิ่งกว่านี้ไป ให้ย่อยได้."


---ทีนั้น พระราชาตรัสกะเขาว่า "คฤหบดี เธอทำความหนักใจหรือ จึงพูดถึงภัตของตน"


---เศรษฐี. "ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า, เพราะภัตเพื่อหมู่พลของพระองค์แม้ทั้งหมด ก็อันนี้แหละ, แกงก็อันนี้ ก็แต่ว่าข้าพระองค์กลัวต่อความเสื่อมยศ."


---พระราชา. เพราะเหตุไร


---เศรษฐี. ถ้าว่า เหตุสักว่าความอึดอัดแห่งพระกาย จะพึงมีแก่สมมติเทพเจ้าไซร้, ข้าพระองค์ย่อมกลัวต่อคำว่า ‘วานนี้ พระราชาเสวย (ภัต) ในเรือนของเศรษฐี.


---เศรษฐีคงจักทำอะไร (ถวายเป็นแน่)’ พระเจ้าข้า.


---พระราชา. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำภัตไป จงนำน้ำมา.


---ในเวลาเสร็จภัตกิจของพระราชา ราชบริพารทั้งหมดก็บริโภคภัตนั้นนั่นแหละ.


*พระราชาทรงสนทนากับเศรษฐี 

              

---พระราชาประทับนั่งสนทนาปรารภถึงความสุข ตรัสเรียกเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า "ภรรยาของท่านในเรือนนี้ไม่มีหรือ"


---เศรษฐี. มี พระเจ้าข้า.


---พระราชา. นางอยู่ที่ไหน


---เศรษฐีกราบทูลว่า นางนั่งอยู่ในห้องอันมีสิริ ยังไม่ทราบเกล้าว่า สมมติเทพเสด็จมา.


---ก็พระราชาพร้อมด้วยราชบริพาร เสด็จมาแล้วแต่เช้าตรู่ก็จริง, ถึงอย่างนั้น นางก็ยังไม่รู้ว่าท้าวเธอเสด็จมา.


---ลำดับนั้น เศรษฐีรู้ว่า "พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตร ภริยาของเรา" จึงไปสู่สำนักของนางแล้ว บอกว่า "พระราชาเสด็จมาแล้ว, การที่หล่อนเฝ้าพระราชา ไม่ควรหรือ"


*ภรรยาเศรษฐีน้อยใจที่ยังมีผู้ใหญ่กว่าตน 

              

---นางนอนอยู่นั่นแล กล่าวว่า "นาย ชื่อว่าพระราชานั้นเป็นอย่างไร" เมื่อเขาบอกว่า "คนที่เป็นใหญ่ของพวกเรา ชื่อว่าพระราชา" จึงแจ้งความที่ตนเป็นผู้มีใจไม่แช่มชื่นอยู่ กล่าวว่า "พวกเรายังมีแม้บุคคลผู้เป็นใหญ่ (นับว่า) ทำบุญกรรมทั้งหลายไว้ไม่ดีหนอ, พวกเราทำบุญกรรมทั้งหลายชื่อด้วยไม่มีศรัทธา จึงถึงสมบัติเกิดแล้วในที่ของชนอื่นผู้เป็นใหญ่; ทานจักเป็นของอันเราทั้งหลายไม่เชื่อแล้วให้เป็นแน่, นี่เป็นผลของทานนั้น" แล้วกล่าวว่า "นาย บัดนี้ฉันจักทำอย่างไร"


---สามี. หล่อนจงถือเอาพัดก้านตาลมาพัดถวายพระราชา.


---เมื่อนางถือพัดก้านตาลมาพัดถวายพระราชาอยู่ ลม (มี) กลิ่นแห่งพระภูษาสำหรับโพกของพระราชา กระทบนัยน์ตาของนางแล้ว.


*ภรรยาเศรษฐีน้ำตาไหล 

             

---ลำดับนั้น สายแห่งน้ำตาไหลออกจากนัยน์ตาของนาง.


---พระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการนั้น จึงตรัสกะเศรษฐีว่า "มหาเศรษฐี ธรรมดามาตุคามมีความรู้น้อย ชะรอยจะร้องไห้ เพราะกลัวว่า ‘พระราชาจะพึงยึดเอาสมบัติของสามีของเรา’ ท่านจงปลอบนาง เราไม่มีความต้องการด้วยสมบัติของท่าน."


---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ นางมิได้ร้องไห้.


---พระราชา. เมื่อเป็นเช่นนั้น นั่นอะไรกันเล่า


---เศรษฐี. น้ำตาของนางไหลออกมาแล้ว เพราะกลิ่นแห่งพระภูษาสำหรับโพกของพระองค์ ด้วยว่าภรรยาของข้าพระองค์นี้ ไม่เคยเห็นแสงสว่างของประทีปหรือแสงสว่างของไฟ ย่อมบริโภคนั่งและนอนด้วยแสงสว่างของแก้วมณีเท่านั้น ส่วนสมมติเทพคงจักประทับนั่งด้วยแสงสว่างแห่งประทีป.


---พระราชา. ถูกละ เศรษฐี.


---เศรษฐีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเช่นนั้น จำเดิมแต่วันนี้ ขอพระองค์จงประทับนั่งด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี" แล้วได้ถวายแก้วมณีอันหาค่ามิได้ ใหญ่ประมาณเท่าผลแตงโม.


---พระราชาทอดพระเนตรเรือนแล้ว ตรัสว่า "สมบัติของโชติกะมากจริง" แล้วได้เสด็จไป.


---นี้เป็นเรื่องเกิดของพระโชติกเถระก่อน๑-



๑- เบื้องหน้าแต่นี้ เรื่องพระชฏิลเถระ พึงเป็นเรื่องอันท่านเรียงไว้ในภายหลัง.


*เด็กชฎิละถูกมารดาเอาลอยน้ำ  

             

---บัดนี้ พึงทราบการอุบัติของพระเถระชื่อชฎิละ  


---ความพิสดารว่า ในกรุงพาราณสี ได้มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งเป็นผู้มีรูปสวย.


---มารดาบิดาให้หญิงคนใช้ไว้คนหนึ่ง เพื่อต้องการรักษานาง ในเวลานางมีอายุรุ่นราว ๑๕-๑๖ ปี ให้อยู่ในห้องอันมีสิริบนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น.


---วันหนึ่ง วิทยาธรตนหนึ่งกำลังเหาะไปทางอากาศ เห็นนางกำลังเปิดหน้าต่าง แลดูภายนอกอยู่ เกิดความสิเนหา จึงเข้าไปทางหน้าต่างแล้ว ได้ทำความเชยชิดกับนาง.


---นางอาศัยการอยู่ร่วม (หลับนอน) กับวิทยาธรนั้น ตั้งครรภ์แล้ว ต่อกาลไม่นานเลย.


---ลำดับนั้น หญิงคนใช้นั้นเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า "คุณนาย นี่อะไรกัน อันนางบอกว่า "ข้อนั้นจงยกไว้ เจ้าอย่าบอกแก่ใครๆ" จึงได้เป็นผู้นิ่งเสียเพราะกลัว. 


---โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน แม้นางคลอดบุตรแล้ว ให้หญิงคนใช้นำภาชนะใหม่มา ให้เด็กนั้นนอนในภาชนะนั้นแล้ว ปิดภาชนะนั้นเสีย วางพวงดอกไม้ไว้ข้างบน สั่งหญิงคนใช้ว่า "เจ้าจงเอาศีรษะเทินภาชนะนี้ไปลอยเสียในแม่น้ำคงคา ถ้าถูกใครๆ ถามว่า ‘นี้อะไร’ เจ้าพึงบอกว่า ‘พลีกรรมของคุณนายของฉัน" หญิงคนใช้นั้นได้ทำอย่างนั้น. 


*หญิง ๒ คนเถียงกันเพราะเด็กชฎิละ 

              

---ก็หญิง ๒ คนกำลังอาบน้ำอยู่ในภายใต้แม่น้ำคงคา เห็นภาชนะนั้นถูกน้ำพัดมาอยู่, หญิงคนหนึ่งพูดว่า "ภาชนะนั้นเป็นของฉัน."


---คนหนึ่งพูดว่า "สิ่งที่มีอยู่ในภาชนะนั้น เป็นของฉัน" เมื่อภาชนะ (ลอยมา) ถึงแล้ว จึงจับภาชนะนั้นวางไว้บนบก เปิดดูเห็นเด็ก หญิงคนหนึ่งพูดว่า "เด็กเป็นของฉันทีเดียว เพราะฉันกล่าวว่า ภาชนะเป็นของฉัน" คนหนึ่งพูดว่า "เด็กเป็นของฉันเพราะฉันกล่าวว่า สิ่งที่มีอยู่ในภาชนะเป็นของฉันทีเดียว."


---หญิงทั้งสองนั้นเถียงกัน ไปสู่ศาลวินิจฉัยแล้ว แจ้งเนื้อความนั้น เมื่อพวกอำมาตย์ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ จึงได้ไปสู่สำนักพระราชา.


---พระราชาทรงสดับคำของหญิงทั้งสองนั้น จึงตรัสว่า "เจ้าจงเอาเด็ก เจ้าจงเอาภาชนะ."


---ก็หญิงผู้ที่ได้เด็ก ได้เป็นอุปัฏฐายิกาของพระมหากัจจายนเถระ เพราะเหตุนั้น หญิงนั้นจึงเลี้ยงทารกนั้นไว้ ด้วยคิดว่า "จักให้เด็กนี้บวชในสำนักของพระเถระ."


*เหตุที่เด็กนั้นได้รับตั้งชื่อว่าชฎิละ

               

---ผมของเด็กนั้นได้ปรากฏรุงรัง เพราะมลทินแห่งครรภ์อันเขาล้างออกไม่หมด ในวันที่เด็กนั้นเกิด.


---เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า "ชฎิละ" นั้นแหละ.



---ในเวลาที่เขาเดินได้ พระเถระเข้าไปสู่เรือนนั้นเพื่อบิณฑบาต.


---อุบาสิกานิมนต์พระเถระให้นั่งแล้ว ได้ถวายอาหาร.


---พระเถระเห็นเด็ก จึงถามว่า "อุบาสิกา ท่านได้เด็กหรือ"


---อุบาสิกาเรียนว่า "ได้ เจ้าค่ะ, ดิฉันเลี้ยงเด็กนี้ไว้ด้วยหวังว่า ‘จักให้บวชในสำนักของท่าน’ ขอท่านจงให้เขาบวช" ดังนี้แล้ว ได้ถวายแล้ว.


*พระมหากัจจายนะรับเด็กไปมอบให้อุปัฏฐาก 

              

---พระเถระรับว่า "ดีละ" แล้วพาเด็กนั้นไป ตรวจดูว่า "บุญกรรมที่จะเสวยสมบัติของคฤหัสถ์ของเด็กนี้ มีอยู่หรือหนอแล" คิดว่า "สัตว์ผู้มีบุญมาก จักเสวยสมบัติใหญ่, เด็กนี้ยังเล็กนัก แม้ญาณของเขาก็ยังไม่ถึงความแก่รอบ" จึงได้พาเด็กนั้นไปสู่เรือนของอุปัฏฐากคนหนึ่ง ในกรุงตักกสิลา.


---อุปัฏฐากนั้นไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่ เห็นเด็กนั้นแล้วเรียนถามว่า "ท่านได้เด็กหรือ ขอรับ"


---พระเถระตอบว่า "เออ อุบาสก เขาจักบวช แต่ยังเป็นเด็กเล็กนัก จงอยู่ในสำนักของท่านเถิด."


---อุบาสกนั้นรับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วตั้งเด็กไว้ในฐานะเพียงดังบุตรบำรุงแล้ว.


---ก็สินค้าในเรือนของอุบาสกนั้น เป็นของที่สั่งสมไว้แล้วสิ้น ๑๒ ปี. เขาไปสู่ระหว่างแห่งบ้าน นำเอาสินค้าแม้ทั้งหมดไปสู่ตลาด ให้เด็กนั่งในตลาดแล้ว บอกราคาแห่งสินค้านั้นๆ แล้วกล่าวว่า "เจ้าพึงถือเอาทรัพย์ชื่อมีประมาณเท่านี้ แล้วจึงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้" ดังนี้แล้วหลีกไป.


*เทพดาช่วยให้เด็กขายของได้หมด 

              

---ในวันนั้น เทพดาผู้รักษาพระนคร ทำให้ชนผู้มีความต้องการ (ด้วยวัตถุ) โดยที่สุดแม้สักว่าพริกและผักชี ให้บ่ายหน้าไปสู่ตลาดของเด็กเท่านั้น.


---เด็กนั้นขายสินค้าที่สะสมไว้สิ้น ๑๒ ปี (หมด) โดยวันเดียวเท่านั้น.


---กุฎุมพีมาไม่เห็นอะไรๆ ในตลาด จึงกล่าวว่า "พ่อ สินค้าทั้งหมด เจ้าให้ฉิบหายเสียแล้วหรือ."


---เด็กตอบว่า "ฉันไม่ได้ให้สินค้าฉิบหาย ฉันขายสินค้าทั้งหมดตามนัยที่ท่านบอกไว้แล้วนั่นแหละ, นี้เป็นค่าของสินค้าชื่อโน้น นี้เป็นค่าของสินค้าชื่อโน้น."


---กุฎุมพีปลื้มใจ คิดว่า "บุรุษที่หาค่ามิได้สามารถ เพื่อจะเป็นอยู่ในที่ใดที่หนึ่งได้" จึงให้ลูกสาวผู้เจริญวัยแล้วในเรือนของตนแก่เขา สั่งพวกบุรุษว่า "พวกเจ้าจงสร้างเรือนแก่เขา"


---เมื่อเรือนสำเร็จแล้ว จึงบอกว่า "พวกเจ้าจงไป จงอยู่ในเรือนของตน."


*ชฎิลกุมารได้เป็นเศรษฐีเพราะภูเขาทองผุดใกล้เรือน 

              

---ครั้นในเวลาที่ชฎิลกุมารนั้นเข้าไปสู่เรือน เมื่อธรณีประตูพอเขาเหยียบแล้วด้วยเท้าข้างหนึ่ง ภูเขาทองประมาณ ๘๐ ศอก ชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นแล้ว ณ ที่ส่วนอันมีข้างหลังเรือน.




---พระราชาพอสดับว่า "ข่าวว่า ภูเขาทองชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นใกล้เรือนของชฎิลกุมาร" จึงทรงส่งฉัตรสำหรับเศรษฐีไปประทานแก่เขา.


---เขาได้เป็นผู้มีชื่อว่า ชฎิลเศรษฐี.


---เขาได้บุตร ๓ คน.


*ชฎิลเศรษฐีให้บุรุษเที่ยวสืบหาเศรษฐีที่เสมอกับตน  

             

---เขายังจิตให้เกิดขึ้นในการบวช ในเวลาที่บุตรเหล่านั้นเจริญวัยแล้ว คิดว่า


---"ถ้าตระกูลเศรษฐีที่มีโภคะเสมอด้วยเราทั้งหลายจักมีไซร้ บุตรทั้งหลายก็จักให้บวชได้, ถ้าไม่มีไซร้ บุตรทั้งหลายก็จักไม่ให้, ในชมพูทวีป ตระกูลที่มีโภคะเสมอด้วยเราทั้งหลาย มีอยู่หรือหนอ"


---จึงให้ช่างทำอิฐที่สำเร็จด้วยทองคำ ด้ามปฏักที่สำเร็จด้วยทองคำ และเขียงเท้าที่สำเร็จด้วยทองคำ เพื่อต้องการจะทดลองดู ให้ในมือของบุรุษทั้งหลายแล้ว ส่งไปว่า "พวกเจ้าจงไป จงถืออิฐที่สำเร็จด้วยทองคำเป็นต้นเหล่านี้ ทำเป็นเหมือนแลดูอะไรๆ นั่นเทียว เที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป รู้ความที่ตระกูลแห่งเศรษฐีที่มีโภคะเสมอด้วยเรามีอยู่หรือไม่มีแล้ว จงมา.


---" บุรุษเหล่านั้นเที่ยวจาริกไปถึงภัททิยนคร.


*พวกบุรุษพบเมณฑกเศรษฐี   

            

---ครั้งนั้น เมณฑกเศรษฐีเห็นบุรุษเหล่านั้นแล้ว ถามว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านเที่ยวไปทำอะไรกัน" เมื่อพวกเขาบอกว่า "พวกฉันเที่ยวดูของสิ่งหนึ่ง" รู้ว่า "กิจด้วยการถืออิฐที่สำเร็จด้วยทองคำเป็นต้นเหล่านี้เที่ยวไป เพื่อจะตรวจดูสิ่งอะไรๆ นั่นแหละ ของบุรุษเหล่านี้ ย่อมไม่มี, บุรุษเหล่านี้เที่ยวสืบสวนดูเศรษฐี" จึงกล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงเข้าไปตรวจดูหลังเรือนของเรา."


---บุรุษเหล่านั้นเห็นแพะทองคำทั้งหลาย มีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง มีขนาดเท่าช้าง ม้า และโคอุสุภะ ซึ่งเอาหลังจดหลัง ชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นแล้วในที่ประมาณ ๘ กรีส ที่หลังเรือนนั้นแล้ว เที่ยวไปในระหว่างๆ แพะเหล่านั้นแล้วออกไป.


---ลำดับนั้น เศรษฐีถามบุรุษเหล่านั้นว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านเที่ยวไปตรวจดูผู้ใด, ผู้นั้น พวกท่านเห็นแล้วหรือ" เมื่อพวกเขากล่าวว่า "เห็น นาย" จึงส่งไปแล้วด้วยพูดว่า "ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงไป."


---บุรุษเหล่านั้นไปจากที่นั้นนั่นแหละแล้ว เมื่อเศรษฐีของตนพูดว่า "พ่อทั้งหลาย ตระกูลเศรษฐีที่มีโภคะเสมอเราทั้งหลาย พวกเจ้าเห็นแล้วหรือ" บอกว่า "นาย ท่านจะมีอะไร สมบัติชื่อเห็นปานนี้ของเมณฑกเศรษฐีมีอยู่ ในภัททิยนคร" แล้วบอกเรื่องราวนั้นทั้งหมด.


*ชฎิลเศรษฐีให้สืบเสาะเป็นครั้งที่ ๒   

            

---เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว เป็นผู้มีใจแช่มชื่น คิดว่า "ตระกูลเศรษฐี เราได้ไว้ก่อนแล้วตระกูลหนึ่ง, ตระกูลเศรษฐีแม้อื่นอีกมีอยู่หรือหนอ" แล้วให้ผ้ากัมพลมีค่าได้แสนหนึ่ง ส่งไปว่า "พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไป จงเสาะหาตระกูลเศรษฐีแม้อื่น."


---พวกเขาไปสู่กรุงราชคฤห์แล้ว ทำกองฟืนในที่ไม่ไกลแต่เรือนของโชติกเศรษฐี ติดไฟแล้วได้ยืนอยู่.


---ก็ในเวลาพวกชนถามว่า "นี้อะไรกัน" ก็บอกว่า "เมื่อพวกฉันจะขายผ้ากัมพลซึ่งมีค่ามากผืนหนึ่ง ผู้ซื้อไม่มี พวกฉันแม้จะถือเที่ยวไปอยู่ ก็กลัวโจร เพราะเหตุนั้น พวกฉันจักเผามันเสีย แล้วจึงจักไป."


*พวกบุรุษพบโชติกเศรษฐี  

             

---ครั้งนั้น โชติกเศรษฐีเห็นพวกเขาจึงถามว่า "พวกนี้ทำอะไรกัน" ฟังเนื้อความนั้นแล้ว ให้เรียกมาถามว่า "ผ้ากัมพลมีค่าเท่าไร" เมื่อพวกเขาบอกว่า "มีค่าแสนหนึ่ง" จึงสั่งให้ๆ ทรัพย์แสนหนึ่ง บอกว่า "พวกท่านจงให้ (ผ้าผืนนั้น) แก่ทาสีผู้กวาดซุ้มประตูเทหยากเยื่อ" แล้วส่งให้ในมือของพวกเขานั่นแล.


---ทาสีนั้นรับเอาผ้ากัมพลแล้วร้องไห้ ไปสู่สำนักของนาย บอกว่า "นาย เมื่อความผิดมีอยู่ ประหารดิฉันเสีย ไม่ควรหรือ เพราะเหตุไร จึงส่งผ้ากัมพลเนื้อหยาบอย่างนี้แก่ดิฉัน ดิฉันจักนุ่งหรือจักห่มผ้ากัมพลผืนนี้อย่างไรได้"


---โชติกเศรษฐี. ฉันมิได้ส่งไปให้เจ้าเพื่อประโยชน์แก่การนุ่งหรือการห่มนั่น แต่ส่งผ้ากัมพลผืนนั้นไปให้เจ้า เพื่อต้องการจะให้พับเข้าแล้ววางไว้ใกล้ที่นอนของเจ้า ในเวลาจะนอน เช็ดเท้าที่ล้างแล้วด้วยน้ำหอม (ต่างหาก) เจ้าไม่อาจทำกิจแม้นั่นได้หรือ


---ทาสีนั้นกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ดิฉันอาจเพื่อจะทำกิจนั่นได้" จึงได้รับเอาไปแล้ว.


---ฝ่ายบุรุษเหล่านั้นเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงไปสู่สำนักเศรษฐีของตน เมื่อเศรษฐีกล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย ตระกูลแห่งเศรษฐีอันพวกเจ้าเห็นแล้วหรือ" เรียนว่า "นาย ท่านจะมีอะไร สมบัติชื่อเห็นปานนี้ของเศรษฐีชื่อโชติกะ มีอยู่ในกรุงราชคฤห์" จึงบอกสมบัติในเรือนทั้งหมด แล้วบอกเรื่องราวนั้น.


---เศรษฐีฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้วมีใจยินดี คิดว่า "บัดนี้ เราจักได้บวช" จึงไปสู่สำนักของพระราชา กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มีประสงค์จะบวช."


---พระราชาตรัสว่า "ดีละ มหาเศรษฐี ท่านจงบวชเถิด." 


---เศรษฐีนั้นไปสู่เรือนแล้ว ให้เรียกบุตรทั้งหลายมาแล้ว วางจอบมีด้ามเป็นทองคำ ตัวจอบเป็นเพชร ไว้ที่มือของบุตรคนใหญ่แล้ว กล่าวว่า "พ่อ เจ้าจงขุดเอาลิ่มทองจากภูเขาทองที่หลังเรือน." ลูกชายคนใหญ่นั้นถือเอาจอบไปสับภูเขาทอง.


---เวลาเขาสับภูเขาทองนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับที่หินดาดฉะนั้น.


---เศรษฐีรับจอบจากมือของลูกชายคนใหญ่นั้น ส่งให้ในมือของลูกชายคนกลาง.


---แม้ลูกชายคนกลางแม้นั้น สับภูเขาทองอยู่ เวลาเขาสับนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับหินดาดฉะนั้น.


---ลำดับนั้น เศรษฐีจึงส่งจอบนั้นให้ในมือของลูกชายคนเล็ก.


---เมื่อลูกชายคนเล็กนั้น รับเอาจอบนั้นฟันอยู่ เวลาที่เขาฟันนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับดินเหนียวที่เขาทำให้เป็นกองไว้ฉะนั้น.


---ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะลูกชายคนเล็กนั้นว่า "มาเถิดพ่อ พอละ ด้วยทรัพย์ประมาณเท่านี้" แล้วให้เรียกพี่ชาย ๒ คนนอกนี้มาแล้ว บอกว่า "ภูเขาทองลูกนี้ ไม่ใช่เกิดเพื่อพวกเจ้า เกิดขึ้นเพื่อพ่อและลูกชายคนเล็ก พวกเจ้าจงใช้สอยรวมกันกับลูกชายคนเล็กนี้เถิด."


---ถามว่า " ก็เพราะเหตุไร ภูเขาทองนั้นจึงเกิดเพื่อบิดาและลูกชาย คนเล็กเท่านั้น เพราะเหตุไร ชฎิลเศรษฐีจึงถูกโยนลงไปในน้ำในเวลาเกิดแล้ว"


---แก้ว่า เพราะกรรมที่ตนทำแล้วนั่นเอง.




*บุรพกรรมของชฎิลเศรษฐี 

              

---ความพิสดารว่า เมื่อมหาชนกำลังสร้างพระเจดีย์ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ พระขีณาสพองค์หนึ่งไปสู่เจติยสถาน แลดูแล้วถามว่า "พ่อทั้งหลาย เพราะเหตุไร มุขทางทิศอุดรแห่งเจดีย์ จึงยังไม่ก่อขึ้น"


---มหาชน. ทองยังไม่พอ.


---พระขีณาสพ. ฉันจักเข้าไปสู่ภายในบ้านแล้วชักชวน, พวกท่านจงทำกรรมโดยเอื้อเฟื้อเถิด.


---ท่านกล่าวอย่างนั้นแล้วเข้าไปสู่พระนคร ชักชวนมหาชนว่า "แม่และพ่อทั้งหลาย ทองที่หน้ามุขข้างหนึ่งแห่งพระเจดีย์ของพวกเรา ยังไม่พอ พวกท่านจงรู้ทองเถิด" ได้ไปสู่ตระกูลแห่งนายช่างทองแล้ว.


---ฝ่ายนายช่างทองกำลังนั่งทะเลาะกับภรรยาอยู่ ในขณะนั้นเอง.


---ครั้งนั้น พระเถระกล่าวกะเขาว่า "ทองสำหรับหน้ามุขที่พระเจดีย์ อันท่านทั้งหลายรับไว้ยังไม่พอ, การที่ท่านรู้ทองนั้นย่อมควร.


---เขากล่าวด้วยความโกรธต่อภรรยาว่า "ท่านจงโยนพระศาสดาของท่านลงในน้ำแล้วไปเสีย".


---ลำดับนั้น นางจึงกล่าวกะเขาว่า "ท่านทำกรรมอย่างสาหัสยิ่ง ท่านโกรธดิฉัน ควรจะด่าหรือควรจะเฆี่ยนดิฉันเท่านั้น, เหตุไฉน ท่านจึงทำเวรในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันเล่า" ทันใดนั้นเอง นายช่างทองเป็นผู้ถึงความสลดใจแล้ว กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงอดโทษแก่กระผม" แล้วหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ.


---พระเถระ. โยม ฉันหาถูกท่านว่ากล่าวอะไรๆ ไม่ ท่านจงยังพระศาสดาให้อดโทษเถิด.


---นายช่างทอง. ท่านเจ้าข้า กระผมจะทำอย่างไรเล่า จึงจะให้พระศาสดาอดโทษได้


---พระเถระ. ท่านจงทำหม้อดอกไม้ทองคำ ๓ หม้อ บรรจุเข้าไว้ภายในที่บรรจุพระธาตุแล้ว เป็นผู้มีผ้าชุ่ม มีผมชุ่ม ยังพระศาสดาให้อดโทษเถิด โยม.


---เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วเมื่อจะทำดอกไม้ทองคำ ให้เรียกบุตรชายคนใหญ่ในบุตร ๓ คนมาแล้ว กล่าวว่า "มานี่แน่ะ พ่อ, พ่อได้กล่าวกะพระศาสดาด้วยคำเป็นเวร เพราะฉะนั้น พ่อจักทำดอกไม้เหล่านี้ บรรจุในที่บรรจุพระธาตุ ให้พระศาสดาอดโทษ, แม้เจ้าแล ก็จงเป็นสหายของเรา."


---ลูกชายคนใหญ่นั้นบอกว่า "พ่ออันฉันใช้ให้กล่าวคำเป็นเวร หามิได้ พ่อทำแต่ลำพังเถิด" แล้วไม่ปรารถนาจะทำ.


---ช่างทองให้เรียกลูกชายคนกลางมาแล้ว กล่าวเหมือนอย่างนั้น. แม้ลูกชายคนกลางนั้น ก็กล่าวเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ปรารถนาจะทำ.


---เขาจึงให้เรียกลูกชายคนเล็กมาแล้ว ก็กล่าว (เหมือนอย่างนั้น).


---ลูกชายคนเล็กนั้นคิดว่า "ธรรมดาว่ากิจที่เกิดขึ้นแก่บิดา ย่อมเป็นภาระของบุตร" จึงเป็นสหายของบิดา ได้ทำดอกไม้ทั้งหลายแล้ว.


---นายช่างทองยังหม้อดอกไม้ขนาดคืบหนึ่ง ๓ หม้อ ให้สำเร็จแล้วบรรจุในที่บรรจุพระธาตุ มีผ้าชุ่ม มีผมชุ่ม ยังพระศาสดาให้อดโทษแล้ว.


---เขาได้ถูกโยนลงไปในน้ำในเวลาเกิดถึง ๗ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้.


---ก็อัตภาพของเขาที่ตั้งอยู่แล้วในที่สุดนี้ แม้ในบัดนี้ ก็ถูกโยนลงไปในน้ำ เพราะผลของกรรมนั้นเหมือนกัน.


---ส่วนบุตรของเขาสองคนใด ไม่ปรารถนาจะเป็นสหายในเวลาทำดอกไม้ทองคำ เพราะเหตุนั้น ภูเขาทองจึงไม่เกิดสำหรับบุตรทั้งสองนั้น แต่เกิดสำหรับลูกชายคนเล็ก เพราะความที่เขาทำดอกไม้ทองคำร่วมกัน (กับบิดา).


*ชฎิลเศรษฐีออกบวชได้บรรลุพระอรหัต  

            

---เศรษฐีนั้นพร่ำสอนบุตรแล้ว บวชในสำนักพระศาสดา บรรลุพระอรหัตแล้วโดย ๒-๓ วันเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.


---โดยสมัยอื่น พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จไปสู่ประตูเรือนของบุตรทั้งหลายของเศรษฐีนั้น.


---บุตรเหล่านั้นได้ถวายภิกษาหารแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอดกึ่งเดือน.


---ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ชฎิล ผู้มีอายุ แม้ในวันนี้ ความทะยานอยากในภูเขาทองประมาณ ๘๐ ศอก และในบุตรทั้งหลายของท่านมีอยู่หรือ"


---พระชฎิล. ผู้มีอายุ ตัณหาหรือมานะในภูเขาทองและบุตรเหล่านั้นของผม ย่อมไม่มี.


---ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า "พระชฎิลเถระนี้ พูดไม่จริง พยากรณ์พระอรหัตผล."


---พระศาสดาทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาหรือมานะในภูเขาทองและบุตรเหล่านั้นของบุตรของเรา ย่อมไม่มี" ดังนี้แล้ว


            
*พระเจ้าอชาตศัตรูจะยึดเอาบ้านเศรษฐี  

             

---ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูกุมารสมคบกับพระเทวทัต ปลงพระชนม์พระราชบิดา ดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว ทรงดำริว่า "เราจักยึดเอาปราสาทของโชติกเศรษฐี" จึงทรงเตรียมการรบแล้วเสด็จออกไป พอทอดพระเนตรเห็นพระฉายของพระองค์ พร้อมด้วยบริวารที่กำแพงแก้ว เข้าพระทัยว่า "คฤหบดี เป็นผู้เตรียมการรบคุมพลออกมาแล้ว" จึงไม่ทรงสามารถจะเสด็จเข้าไปได้.


---ในวันนั้น แม้เศรษฐีเป็นผู้รักษาอุโบสถ บริโภคอาหารเช้าแต่เช้าตรู่ ไปสู่วิหาร นั่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา.


---ส่วนยักษ์ชื่อยมโมลี ผู้ยึดการรักษายืนอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๑ เห็นพระเจ้าอชาตศัตรูนั้น จึงถามว่า "ท่านจะไปไหน" แล้วกำจัดพระเจ้าอชาตศัตรูพร้อมด้วยราชบริพาร ติดตามไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย.


---พระราชาได้เสด็จไปสู่วิหารแล้วเหมือนกัน.


---ครั้งนั้น เศรษฐีพอเห็นท้าวเธอ จึงทูลว่า "เรื่องอะไรกัน พระเจ้าข้า" ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ยืนอยู่แล้ว.


---พระราชา. คฤหบดี ท่านบังคับพวกบุรุษของท่านว่า "จงรบกับเรา" แล้วมาในที่นี้ นั่งทำเป็นเหมือนฟังธรรมอยู่หรือ


---เศรษฐี. ก็สมมติเทพ เสด็จไปเพื่อยึดเอาเรือนของข้าพระองค์ มิใช่หรือ


---พระราชา. เออ เราไป.


---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ แม้พระราชาตั้งพัน ก็ไม่สามารถเพื่อจะยึดเอาเรือนของข้าพระองค์ได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา.


*พระราชาทรงถอดแหวนไม่ออก    

           

---ท้าวเธอกริ้วว่า "ก็ท่านจักเป็นพระราชาหรือ"


---เศรษฐี. ข้าพระองค์ไม่เป็นพระราชา แต่พระราชาหรือโจรไม่สามารถจะถือเอาแม้เส้นด้ายที่ชายผ้าอันเป็นของข้าพระองค์ได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา.


---พระราชา. ก็ฉันจักถือเอาตามความพอใจของท่านได้ อย่างไร


---เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าอย่างนั้น แหวน ๒๐ วงเหล่านี้ ที่นิ้วมือทั้ง ๑๐ ของข้าพระองค์มีอยู่, ข้าพระองค์ไม่ถวายแหวนเหล่านี้แก่พระองค์ ถ้าพระองค์ทรงสามารถไซร้ ขอพระองค์จงทรงถือเอาเถิด.


---ก็พระราชานั้นประทับนั่งกระโหย่งบนพื้น เมื่อจะทรงกระโดด ย่อมทรงกระโดดขึ้นสู่ที่ ๑๘ ศอกได้, ประทับยืน เมื่อจะทรงกระโดด ย่อมทรงกระโดดขึ้นสู่ที่ ๘๐ ศอกได้.


---พระราชาแม้ทรงมีพระกำลังมากอย่างนี้ ทรงกระโดดไปมาอยู่ข้างโน้นและข้างนี้ ก็ไม่ทรงสามารถเพื่อจะถอดแม้ซึ่งแหวนวงหนึ่งได้.


*เศรษฐีสลดใจใคร่จะบวช 

              

---ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลกะท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงลาดผ้าสาฎก" แล้วได้ทำนิ้วทั้งหลายให้ตรง.


---แหวนแม้ทั้ง ๒๐ วง หลุดออกแล้ว.


---ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ใครๆ ไม่สามารถเพื่อจะถือเอาทรัพย์สมบัติอันเป็นของข้าพระองค์ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา" ดังนี้แล้ว เกิดสลดใจเพราะพระกิริยาของพระราชา จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตเพื่อการบวชแก่ข้าพระองค์."


---ท้าวเธอทรงดำริว่า "เมื่อเศรษฐีนี้บวชแล้ว เราจักยึดเอาปราสาทได้สะดวก" จึงตรัสว่า "จงบวชเถิด" ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น.


---เศรษฐีนั้นบวชในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต มีชื่อว่าพระโชติกเถระ.


---ในขณะที่ท่านบรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล สมบัตินั้นแม้ทั้งหมดก็อันตรธานไป.


---พวกเทพดาก็นำภรรยาของเศรษฐีนั้น ชื่อสตุลกายา แม้นั้นไปสู่อุตตรกุรุทวีปนั่นแล.


*พวกภิกษุเข้าใจว่าพระเถระอวดอุตริมนุสธรรม   

            

---ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเรียกพระโชติกเถระนั้นมาแล้ว ถามว่า "โชติกะผู้มีอายุ ก็ตัณหาในปราสาทหรือในหญิงนั้นของท่านยังมีอยู่หรือ เมื่อท่านบอกว่า "ไม่มี ผู้มีอายุทั้งหลาย" จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระโชติกะนี้ กล่าวไม่จริง พยากรณ์พระอรหัตผล."  ดังนี้แล.




    

          

...................................................................................




               


           

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก

รวบรวมโดย...แสงธรรม

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่  25 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« January 2025»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท12/01/2025
ผู้เข้าชม8,442,093
เปิดเพจ12,866,745
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view