/music/.mp3 http://www.watkaokrailas.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

 ติดต่อเรา-แผนที่

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ต้นเหตุการณ์ทำสังคายนา







---มีพระเถระที่มีส่วนสำคัญ  ต่อการรวบรวมพระธรรมวินัย   ในช่วงหลังพุทธปรินิพพานใหม่ๆ   "พระมหา    กัสสปะ"  เป็นพระเถระที่บวชเมื่อสูงอายุ เพราะต้องรับผิดชอบตระกูล  สนองพระคุณพ่อแม่ของท่าน ท่านอุปสมบทโดยวิธี  "โอวาทานุสารณีอุปสัมปทา"


---เมื่อบวชแล้วได้บำเพ็ญตนเป็นผู้มักน้อยสันโดษ  ครองผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืน เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่คนองกายวาจาใจ เมื่อเข้าไปสู่ตระกูล และได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า  "มีคุณธรรมเบื้องสูง" คือ มีความสามารถในการเข้าฌานเสมอกับพระองค์ ประพฤติตนเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังตลอดชีวิต


---ในระยะกาลปรินิพพานของพระพุทธเจ้า   ท่านได้สดับคำของ  "สุภัททภิกษุ" (แก่)  ที่กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์และพระธรรมวินัย   จึงดำริที่จะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย  ให้เป็นหลักพระศาสนา


---หลังถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพแล้ว ได้ชักชวนพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยมีท่านเป็นประธาน   มีพระอานนท์    เป็นผู้วิสัชชนาพระธรรม   มีพระอุบาลี   เป็นผู้วิสัชชนาพระวินัย ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา  ใกล้กรุงราชคฤห์   โดยความอุปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู   ทำอยู่  ๗  เดือนจึงเสร็จ นับเป็นรูปแรกที่ได้รวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ จนเกิดพระไตรปิฎกขึ้น


*การทำสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก


---แม้ในตอนต้น   จะได้ระบุนามของพระเถระหลายท่าน   ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก   แต่พระไตรปิฎก  ก็เกิดขึ้นภายหลัง   ที่ท่านพระเถระทั้งหลาย   ได้ร่วมกันร้อยกรอง   จัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว


---ในสมัยของพระพุทธเจ้าเอง   ยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่  ยังไม่มีการจัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก  นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัย  ในการสวดปาฏิโมกข์ลำดับสิกขาบททุกกึ่งเดือน ตามพระพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรม  ในสังคีติสูตรและทสุตตรสูตร   ที่พระสารีบุตรเสนอไว้   กับตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจง  วิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทะเถระและพระอานนท์ในปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร   ดังได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น 


---พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาท   ไว้มากหลายต่างกาลเวลา   ต่างสถานที่กัน การที่พระสาวกซึ่งท่องจำกันไว้ได้   และจัดระเบียบหมวดหมู่เป็นปิฎกต่าง ๆ ในเมื่อพระศาสดานิพพานแล้ว พอเทียบได้ดังนี้  


---พระพุทธเจ้าเท่ากับทรงเป็นเจ้าของสวนผลไม้   เช่น   ส้มหรือองุ่น   พระเถระผู้จัดระเบียบหมวดหมู่คำสอน   เท่ากับผู้ที่จัดผลไม้เหล่านั้น   ห่อกระดาษบรรจุลังไม้ เป็นประเภท ๆ  บางอย่างก็ใช้ผงไม้กันกระเทือนใส่แทนห่อกระดาษ  


---ปัญหาเรื่องของภาชนะที่ใส่ผลไม้  เช่น  ลังหรือห่อก็เกิดขึ้น   คือในชั้นแรก   คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น รวมเรียกว่าพระธรรมพระวินัย เช่น ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน   พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า  "ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป"


---จึงเป็นอันกำหนดลงเป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า  ในสมัยของพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า "พระไตรปิฎก" มีแต่คำว่า " ธรรมวินัย"


---คำว่า  พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้น   มาเกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว แต่จะภายหลังสังคายนาครั้งที่เท่าไร  จะได้กล่าวต่อไป


---อย่างไรก็ตาม   แม้คำว่า   "พระไตรปิฎก"   จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน ก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น   คลายความสำคัญลงเลย   เพราะคำว่า พระไตรปิฎก เป็นเพียงภาชนะ กระจาดหรือลังสำหรับใส่ผลไม้ ส่วนตัวผลไม้หรือนัยหนึ่งพุทธวจนะ ก็มีมาแล้วในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนา


*การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร 


---"การสวดปาฏิโมกข์"   คือการ   "ว่าปากเปล่า"   หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย  ๑๕๐  ข้อ  ในเบื้องแรกและ ๒๒๗ ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ กึ่งเดือนหรือ ๑๕ วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย ที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก  ๑๕  วัน  ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ


---"การสวดปาฏิโมกข์"  นี้   เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ  ซึ่งข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน   คงมีผู้สวดรูปเดียว  รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด


---ส่วน  "การสังคายนา " นั้น  แปลตามรูปศัพท์ว่า  ร้อยกรอง  คือ  ประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ  แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้   แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อ ๆ มา  ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา  จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้   ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏว่ามีการถือผิด  ตีความหมายผิด


---ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด  ตีความหมายผิดนั้น   ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร  แล้วก็ทำการสังคายนา  โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง   เพิ่มเติมของใหม่  อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง  จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง


---ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน   การสอบทานข้อผิดในใบลาน   ก็เรียกกันว่า  "สังคายนา"  ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น  แต่ความจริง  เมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ  การปัดกวาดให้สะอาด  ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง   เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย


---การสังคายนาจึงต่างจากการสวดปาฏิโมกข์   ในสาระสำคัญที่ว่าการสวดปาฏิโมกข์    เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุก กึ่งเดือน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัย,   ส่วนการสังคายนา    ไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือเข้าใจผิด  แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก   แก้ตัวอักษร  หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน   ก็ถือกันว่าเป็นการสังคายนา ดังจะกล่าวต่อไป


*ความเป็นมาของพระไตรปิฎก


---การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึก  เป็นลายลักษณ์อักษร  รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่    จนถึงมีการสังคายนา  คือ จัดระเบียบหมวดหมู่   การจารึกเป็นตัวหนังสือการพิมพ์เป็นเล่ม


---ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ  


---๑.พระอานนท์    ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก


---๒.พระอุบาลี    ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก


---๓.พระโสณกุฏิกัณณะ    ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไมมีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ


---๔.พระมหากัสสปะ    ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสารีบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือ จัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่  ดังจะกล่าวต่อไป


*พระอานนท์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไร 

---เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้น ต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง


---พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดา  ให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์  แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว  พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใส  ให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก


---"พระอานนท์" เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศกายะ  ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา  เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า  ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก  คือ 


---๑.อนุรุทธะ


---๒.ภัคคุ


---๓.กิมพิละ


---๔.ภัททิยะ


---รวมเป็น ๕ ท่านในฝ่ายศากยวงศ์   เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา   มีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น  ๗ ท่านด้วยกัน


---ใน  ๗  ท่านนี้เมื่ออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔  ท่าน  คือ

 

---พระอานนท์     เป็นพุทธอุปฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก


---พระอนุรุทธ์     ชำนาญในทิพยจักษุ


---พระอุบาลี     ทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย


---พระเทวทัต     มีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล  จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า


---กล่าวเฉพาะ  พระอานนท์   เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า  ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้  ท่านได้ขอพรหรือนัยหนึ่งเงื่อนไข  ๘  ประการจากพระพุทธเจ้า เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ข้อ  เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อ คือ 


*เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ


---๑.ถ้าพระผู้มีพระภาค  จักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์


---๒.ถ้าพระผู้มีพระภาค  จักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์


---๓.ถ้าพระผู้มีพระภาค  จักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์


---๔.ถ้าพระผู้มีพระภาค  จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์


*เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง


---๕.ถ้าพระองค์จัดเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้


---๖.ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล  ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว


---๗.ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด  ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น


---๘.ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์  ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์


---พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า  "ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร" 


---พระอานนท์กราบทูลว่า      "เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า  ท่านอุปฐากพระพุทธเจ้า   เพราะเห็นแก่ลาภ  สักการะ


---ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น  เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า  พระอานนท์จะอุปฐากพระพุทธเจ้าทำไม  ในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์  แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ 


---ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้าย   ก็เพื่อว่าถ้ามีใคร   ถามท่านในที่ลับหลัง   พระพุทธเจ้า ว่า   "คาถานี้  สูตรนี้  ชาดกนี้   พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน"   ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า  "พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสนาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้"  เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว   พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้งแปดข้อ


---เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง    เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว   พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลี วินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่  ๑  ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน  ๓  เดือน


---ในสมัยที่วิชาหนังสือ   ยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งในปัจจุบัน   อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำ  เป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า "มุขปาฐะ"


---พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า " มีความทรงจำดี  สดับตรับฟังมาก"  นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้


*พระอุบาลีเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร 


---เรื่องของ "พระอุบาลี"    ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลา  อยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์  ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  


---ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ  ดังกล่าวแล้วข้างต้น   และในฐานที่ท่านเป็นคนรับใช้มาเดิม   ก็ควรจะเป็นผู้บวชคนสุดท้าย แต่เจ้าชายเหล่านั้นตกลงกันว่า  ควรให้อุบาลีบวชก่อน  ตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุ  เป็นการแก้ทิฏฐิมานะ  ตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช   แต่ท่านก็มีความสามารถสมกับเกียรติที่ได้รับจากราชกุมารเหล่านั้น คือเมื่อบวชแล้วท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ


---มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก (เล่มที่ ๗) ว่า  พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงสรรเสริญวินัย  กับสรรเสริญท่านพระอุบาลีเป็นอันมาก  ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี


---นอกจากนั้น  ในวินัยปิฎก (เล่มที่ ๙)  มีพระพุทธภาษิตโต้ตอบกับพระอุบาลีในข้อปัญหาทางพระวินัยมากมาย   เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ   เรียกชื่อหมวดนี้ว่า  "อุปาลิปัญจกะ"  มีหัวข้อสำคัญถึง ๑๔ เรื่อง  


---ในการทำสังคายนาครั้งที่  ๑  ท่านพระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่า  ท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่หลักฐานมาจนทุกวันนี้


*พระโสณกุฏิกัณณะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร 


---ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก  แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก  อันช่วยให้เกิดความเข้าใจดี  ในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย


---เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฎในพระสุตตันตปิฎกเล่ม  ๒๕  มีใจความว่า  เดิมท่านเป็นอุบาสก  เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด  ของพระมหากัจจายนเถระ   พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนคร ชื่อ กุรุรฆระ   ในแคว้นอวันตี


---ท่านเลื่อมใส  ในพระกัจจายนเถระ  และเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท  พระเถระกล่าวว่า  เป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์  ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ คือ ผู้ไม่ครองเรือนไปก่อน  แต่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงบรรพชาให้ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมพระได้ครบ ๑๐ รูป  จัดการอุปสมบทให้หมายความว่าพระโสณะ  ต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ


---ต่อมา  ท่านลาพระมหากัจจายนเถระ  เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและพระพุทธเจ้าตรัสถาม   ทราบความว่า   เดินทางไกลมาจากอวันตีทักขิณบถ คืออินเดียภาคใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้   พระอานนท์พิจารณาว่า  พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้  จึงจัดที่พักให้ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า


---ในคืนวันนั้น  พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึก  จึงเสด็จเข้าสู่วิหาร   แม้พระโสณกุฏกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าสู่วิหาร


---ครั้นเวลาใกล้รุ่ง   พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง  ๑๖  สูตร อันปรากฏให้อัฏฐกวัคค์ (สุตตนิบาต พระสุตตันติปิฎก เล่มที่ ๒๕) จนจบ  เมื่อจบแล้ว   พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ     และท่วงทำนองในการกล่าว    ว่าไพเราะสละสลวย   แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก   เช่นว่า   มีพรรษาเท่าไร,   ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร.


---เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่  ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่   ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหน   ก็ท่องจำส่วนนั้น   ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ   เช่น   สายวินัย   ดังจะกล่าวข้างหน้า


*พระมหากัสสปะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร 


---พระมหากัสสปะ  เป็นผู้บวชเมื่อสูงอายุ  ท่านพยายามปฏิบัติตนในทางเคร่งครัด แม้จะลำบากบ้างก็แสดงความพอใจว่าจะได้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุรุ่นหลัง  พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านว่าเป็นตัวอย่างในการเข้าสู่สกุลชักกายและใจห่าง  ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูล  นอกจากนั้นยังทรงสรรเสริญในเรื่องความสามารถในการเข้าฌานสมาบัติ


---ท่านเป็นพระผู้ใหญ่  แม้ไม่ใคร่สั่งสอนใครมาก  แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ  คือ  ทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว   ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนา  คือ  ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระธรรมวินัย


---นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก  อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านชักชวนให้ทำขึ้นนั้น   ท่านเองเป็นผู้ถามทั้งพระวินัยและพระธรรม   ท่านพระอุบาลี   เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระวินัย ท่านพระอานท์    เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระธรรม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียด  ในตอนที่ว่าด้วยสังคายนา


---ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในการปรารภนามของพระเถระ ๔ รูป ประกอบความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  คือ พระอานนท์, พระอุบาลี, พระโสณกุฏิกัณณะ และพระมหากัสสปะ  นั้นทำให้ความเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรและพระจุนทะ (น้องชายพระสารีบุตร) คือ  


*พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย


---สมัยเมื่อนครนถนาฏบุตร  ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ  สาวกเกิดแตกกันพระจุนทเถระ  ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร  เกรงเหตุการณ์เช่นนั้น  จะเกิดแก่พระพุทธศาสนา  จึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง  พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบ  ด้วยข้อความเป็นอันมาก  แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๑๒๘ ถึงหน้า ๑๕๖) คือ ในหน้า ๑๓๙ พระผู้มีพระภาคตรัสบอก  พระจุนทะแนะให้รวบรวม  ธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา คือ จัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ  เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยื่งยืนสืบไป


---พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรอง  จัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


 

*พระสารีบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย


---ในสมัยเดียวกันนั้น และปรารภเรื่องเดียวกัน คือเรื่องสาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน   ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว   เห็นว่าภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังต่อไปอีก  จึงมอบหมายให้        พระสารีบุตรแสดงธรรมแทน  


---ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐  ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่าข้อคิดและธรรมะที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๒๒๒ ถึงหน้า ๒๘๗)


---หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้  มิได้แสดงว่าพระสารีบุตรเสนอขึ้นก่อน  หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่  พระจุนทะก่อน   แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่า   ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะ  ร้อยกรอง   ให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้ว   ตั้งแต่ยังไม่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑


*พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี


---เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี   ถ้าไม่กล่าวถึง พระจุนทะเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน 

 

---เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง  ๒  ครั้ง   ครั้งแรก  พระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น   ครั้งหลัง  เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น  ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา


---พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์   โดยแสดงโพธิปัขิยธรรม  อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท   ๖   ประการ,   อธิกรณ์ ๔ ประการ,   วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้าย   ได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ   ที่เรียกว่า  "สาราณิยธรรม"   อันเป็นไปในทางสงเคราะห์   อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน   มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน

 

---เรื่องนี้ปรากฏใน  สามคามสูตร  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ   คือ  ความปรารถนาดีของพระจุนทะเถระ  ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่น  ยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา


*การนับสังคายนาของลังกา


---ลังกาซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย  คงรับรองการสังคายนาทั้งสามครั้งแรกในอินเดีย   แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่  ๔  ซึ่งเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาทผสมกับฝ่ายมหายาน


---หนังสือสมันตัปปาสาทิกา  ซึ่งแต่งอธิบายวินัยปิฎกกล่าวว่า  เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว   พระมหินทเถระ  ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศก   พร้อมด้วยพระเถระอื่น ๆ รวมกันครบ ๕ รูป ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิย ติสสะ แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส และประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็มีการประชุมสงฆ์ ให้พระอริฏฐะ  ผู้เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ   สวดพระวินัยเป็นการสังคายนาวินัยปิฎก  


---ส่วนหนังสืออื่น ๆ เช่น   สังคีติยวงศ์  กล่าวว่า  มีการสังคายนาทั้งสามปิฎก   สังคายนาครั้งนี้ กระทำที่    ถูปาราม   เมืองอนุราธปุระ   มีพระมหินทเถระเป็นประธาน


---การสังคายนาครั้งนี้   ต่อจากสังคายนาครั้งที่  ๓  ในอินเดียไม่กี่ปี   คือการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำใน พ.ศ. ๒๓๕   พอทำสังคายนาเสร็จแล้วไม่นาน (พ.ศ. ๒๓๖)  พระมหินทเถระ  ก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา


---และในปี พ.ศ. ๒๓๘   ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา   เหตุผลที่อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ  เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น   เพราะเหตุที่สังคายนาครั้งนี้   ห่างจากครั้งแรกประมาณ  ๓-๔ ปี  บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนา  เช่น  มติของฝ่ายพม่า  ดังจะกล่าวข้างหน้า 


---ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า  สังคายนาครั้งนี้   อาจเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะ จึงต้องประชุมชี้แจงหรือแสดงรูปแห่งพุทธวจนะ  ตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในการสังคายนาครั้งที่  ๓  ในอินเดีย ฉะนั้น   จึงนับได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา


---สังคายนาครั้งที่  ๒ ในลังกา กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๓๓   ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เรื่องที่ปรากฏ  เป็นเหตุทำสังคายนาครั้งนี้   คือเห็นกันว่า   ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป  ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย   เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง  จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน


---มีคำกล่าวว่า  ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย  สังคายนาครั้งนี้กระทำที่  อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท ซึ่งไทยเราเรียกว่า  มลัยชนบท   ประเทศลังกา  มีพระริกขิตมหาเถระเป็นประธาน ได้กล่าวแล้วว่า   บางมติไม่รับรองการสังคายนาของพระมหินท์  ว่าเป็นครั้งที่  ๔  ต่อจากอินเดีย

 

---แต่สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้   ได้รับการรับรองเข้าลำดับโดยทั่วไป   บางมติก็จัดเข้าเป็นลำดับที่ ๕  บางมติที่ไม่รับรองสังคายนาของพระมหินท์ (ครั้งแรกในลังกา)  ก็จัดสังคายนาครั้งที่ ๒  ในลังกานี้ว่าเป็นครั้งที่  ๔  ต่อมาจากอินเดีย


---สังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา กระทำเมื่อไม่ถึง ๑๐๐ ปีมานี้เอง   คือใน พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕)  ที่รัตนปุระในลังกา พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริสุมัคละ เป็นหัวหน้า   กระทำอยู่ ๕ เดือน การสังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนัก   นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง   การโฆษณาก็คงไม่มากมายเหมือนสังคายนาครั้งที่ ๖ ของพม่า


*การนับสังคายนาของพม่า


---ได้กล่าวแล้วว่า  พม่าไม่รับรองสังคายนาครั้งแรกในลังกา  คงรับรองเฉพาะสังคายนาครั้งที่ ๒ ของลังกาว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากนั้นก็นับสังคายนาครั้งที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งกระทำในประเทศพม่า


---สังคายนาครั้งแรกในพม่า  หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๕  ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้   มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน  ๔๒๙  แผ่น ณ เมืองมันดเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) 


---พระมหาเถระ ๓ รูป คือ   พระชาคราภิวังสะ,  พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี  ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ   มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม   ๒,๔๐๐   ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ 


---สังคายนาครั้งที่  ๒  ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ ที่เรียกว่า  "ฉัฏฐสังคายนา"   เริ่มกระทำเมื่อวันที่  ๑๗ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๗   จนถึงวันที่  ๒๔  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๙   เป็นอันปิดงาน


---ในการปิดงาน  ได้กระทำร่วมกับการฉลอง   ๒๕ พุทธศตวรรษ  (การนับปีของพม่าเร็วกว่าไทย ๑ ปี  จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. ๒๔๙๘ ปิด พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามที่พม่านับ)   พม่าทำสังคายนาครั้งนี้   มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก  แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ


---มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร  ทั้งห้าประเทศนี้  ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก   เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน 


---จึงได้มีสมัยประชุม  ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า   เป็นสมัยของไทยสมัยของลังกา   เป็นต้น   ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลอง   ทำด้วยคอนกรีต   จุคนได้หลายพันคน   มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐  ที่   บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ   ๒๐๐ ไร่เศษ   เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย


*การนับสังคายนาของไทย


---ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทยเรา  ยอมรับรองสังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ในอินเดีย และครั้งที่ ๑-๒ ในลังกา  รวมกัน ๕ ครั้ง   ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า   กรมพระยาวิรญาณวโรรส   ทรงถือว่าสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ   ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป   จึงทรงบันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓


---แต่ตามหนังสือ  สังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน  รจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่  ๑  ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้ ๙ ครั้ง ดังต่อไปนี้



---สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ทำในประเทศอินเดียตรงกับที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น



---สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในลังกา คือครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ทำในลังกา ดังได้กล่าวแล้วในประวัติการสังคายนาของลังกา


---สังคายนาครั้งที่  ๖  ทำในลังกาเมื่อ  พ.ศ. ๙๕๖  พระพุทธโฆสะ  ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก   จากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี   ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม   เนื่องจากการแปลอรรถกถาเป็นภาษาบาลีครั้งนี้   มิใช่การสังคายนาพระไตรปิฎก  ทางลังกาเองจึงไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา ตามแบบแผนที่นิยมกันว่า   จะต้องมีการชำระพระไตรปิฎก


---สังคายนาครั้งที่  ๗  ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗   พระกัสสปะเถระ  ได้เป็นประธาน มีพระเถระร่วมด้วยกว่า ๑,๐๐๐  รูป   ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎก   เป็นภาษาบาลี กล่าวคือ  แต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา   ซึ่งพระพุทธโฆสะ  ได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่  ๖

 

---คำอธิบายอรรถกถานี้ว่าตามสำนวนนักศึกษาก็คือ   "คัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎก"   เรียกว่า  "บาลี"     "คำอธิบายพระไตรปิฎก"  เรียกว่า "อรรถกถา"    "คำอธิบายอรรถกถา"  เรียกว่า " ฎีกา "   การทำสังคายนาครั้งนี้   เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก แม้ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา


---อย่างไรก็ตาม   ข้อความที่กล่าวได้ในหนังสือสังคีติยวงศ์   ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง


---สังคายนาครั้งที่  ๘  ทำในประเทศไทย  ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐  พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลายร้อยรูป  ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก  ในวัดโพธาราม เป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จสังคายนา ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย


---สังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์  กรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก  ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คนช่วยกันชำระพระไตรปิฎก  แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน  สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน  จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่๒ในประเทศไทย


---ประวัติการสังคายนา  ๙  ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์    ซึ่งสมเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้  ภิกษุชินานันทะ  ศาสตราจารย์ภาษาบาลี   และพุทธศาสตร์แห่งสถาบันภาษาบาลีที่นาลันทา  ได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ   ในหนังสือ  ๒๕๐๐  ปี   แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย   ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในอินเดียด้วย


---ความรู้เรื่องการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย   มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยเฉพาะ  ข้าพเจ้าจึงจะกล่าวถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ เสร็จแล้ว


*การสังคายนาของฝ่ายมหายาน


---การที่กล่าวถึงสังคายนาฝ่ายมหายาน  ซึ่งเป็นคนละสายกับฝ่ายเถรวาทไว้ในที่นี้ด้วย   ก็เพื่อเป็นแนวศึกษาและประดับความรู้   เพราะพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท  โดยเฉพาะสุตตันตปิฎก ได้มีคำแปลในภาษาจีน   ซึ่งแสดงว่าฝ่ายมหายานได้มีเอกสารของฝ่ายเถรวาทอยู่ด้วย จึงควรจะได้สอบสวนดูว่า  ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกนั้น   ทางฝ่ายมหายานได้กล่าวถึงไว้อย่างไร 


---เมื่อกล่าวตามหนังสือพุทธประวัติ  และประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของธิเบต   ซึ่งชาวต่างประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษ  ได้กล่าวถึงการสังคายนา  ๒ ครั้ง   คือครั้งที่ ๑   และครั้งที่  ๒  ในอินเดีย   ดังที่รู้กันอยู่ทั่วไป    แต่จะเล่าไว้ในที่นี้ เฉพาะข้อที่น่าสังเกตคือ  


---ในสังคายนาครั้งที่  ๑  หลักฐานฝ่ายเถรวาท  ว่าสังคายนาพระธรรมกับพระวินัย   พระอานนท์    เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม   จึงหมายถึงว่า   พระอานนท์ได้วิสัชนาทั้งสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก


---แต่ในฉบับของธิเบตกล่าวว่า  พระมหากัสสปะเป็นผู้วิสัชนาอภิธัมมปิฎก  ส่วนพระอานนท์วิสัชนาสุตตันตปิฎก  และพระอุบาลีวิสัชนาวินัยปิฎก  กับได้กล่าวพิสดารออกไปอีกว่า  สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน  พอพระอานนท์เล่าเรื่องปฐมเทศนาจบ,  พระอัญญาโกณฑัญญะได้ยืนยันว่าถูกต้องแล้ว  เป็นพระสูตรที่ท่านได้สดับมาเอง  


---แม้เมื่อกล่าวสูตรที่ ๒ (อนัตตลักขณสูตร) จบ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ให้คำรับรองเช่นกัน    รายละเอียดอย่างอื่นที่เห็นว่าฟั่นเฝือ  ได้งดไม่นำมากล่าวในที่นี้   มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ   ในหนังสือที่อ้างถึงนี้ใช้คำว่า  "มาติกา(มาตฺริกา)"   แทนคำว่า  " อภิธัมมปิฎก"


---ในสังคายนาครั้งที่  ๒  ฉบับมหายานของธิเบต  ได้กล่าวคล้ายคลึงกับหลักฐานของฝ่ายเถรวาทมาก  ทั้งได้ลงท้ายว่า   ที่ประชุมได้ลงมติ   ตำหนิข้อถือผิด  ๑๐  ประการของภิกษุชาววัชชี   อันแสดงว่าหลักฐานของฝ่ายมหายานกลับรับรองเรื่องนี้   ผู้แปล (คือ Rockhill) อ้างว่าได้สอบสวนฉบับของจีน   ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว   ก็ไม่ปรากฏว่ากล่าวถึงอะไร   นอกจากจบลงด้วยการตำหนิข้อถือผิด ๑๐ ประการนั้น


---ดร. นลินักษะ แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา อินเดีย  ได้พยายามรวบรวมหลักฐานฝ่ายมหายานเกี่ยวด้วยสังคายนาครั้งที่  ๒  ไว้อย่างละเอียดเป็น  ๓  รุ่น , คือรุ่นแรก,  รุ่นกลางและรุ่นหลัง


---แม้รายละเอียดปลีกย่อยในหลักฐานนั้น ๆ จะมีต่างกันออกไปก็ตาม แต่ก็เป็นอันตกลงว่า ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนาครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ร่วมกัน


---เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนา   ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละส โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  มักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของ เถรวาท เมื่อเกิดปัญหาว่า   คัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร   ก็มักจะมีคำตอบว่า   มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน   คัมภีร์ายกับฝ่ายเถรวาท


---เมื่อตรวจสอบจากหนังสือของฝ่ายมหายาน   แม้จะพบว่าสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายานนั้น  เกิดเมื่อสมัยพระเจ้ากนิษกะ   ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ก็จริง   แต่ข้ออ้างต่าง ๆ  มักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่  ๑ และที่  ๒  คือ  มีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง ทำสังคายนาแข่งขันอีกส่วนหนึ่ง คือ 


---๑.สังคายนาครั้งแรก  ที่พระมหากัสสปะ    เป็นประธานนั้น   กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต   กรุงราชคฤห์


---มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า  ภิกษุทั้งหลาย  ผู้มิได้รับเลือกเป็นการกสงฆ์ (คือสงฆ์ผู้กระทำหน้าที่) ในปฐมสังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า  "สังคายนานอกถ้ำ" 


---และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนา  นอกถ้ำมีจำนวนมาก  จึงเรียกอีกอยางหนึ่งว่า "สังคายนามหาสังฆิกะ" คือของสงฆ์หมู่ใหญ่  เรื่องนี้ปรากฏในประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจังผู้เดินทางไปดูการพระพุทธศาสนาในอินเดีย  ที่นางเคงเหลียนสีบุญเรืองแปลเป็นภาษาไทยหน้า ๑๖๙ และกล่าวด้วยว่า  ในการสังคายนาครั้งนี้  แบ่งออกเป็น ๕ ปิฎก  คือพระสูตร,วินัย,  อภิธรรม, ปกิณณกะและธารณี


---แต่หลักฐานของการสังคายนา   "นอกถ้ำ"  ครั้งที่  ๑  นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขนานกับการสังคายนาครั้งที่ ๒   หรือนัยหนึ่งเอาเหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ


---๒.การสังคายนาของมหาสังฆิกะ   มีเรื่องเล่าว่า   เมื่อภิกษุวัชชีบุตร  ถือวินัยย่อหย่อน ๑๐ ประการ และพระยสะ  กากัณฑกบุตร   ได้ชักชวนคณะสงฆ์ในภาคต่าง ๆ มาร่วมกันทำสังคายนา   ชำระมลทินโทษแห่งพระศาสนาวินิจฉัยชี้ว่า   ข้อถือผิด ๑๐  ประการนั้น   มีห้ามไว้ในพระวินัยอย่างไร  แล้วได้ทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน   พวกภิกษุวัชชีบุตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก   ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง  ๑๐,๐๐๐  รูป


---ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่า  "มหาสังคีติ"  คือ  มหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกายมหาสังฆิกะ   ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง   แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยกจากฝ่ายเถรวาท   มาเป็นมหายานในกาลต่อมา


---การสังคายนาครั้งนี้   ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของเดิมไปไม่น้อย   หลักฐานของฝ่ายมหายานบางเล่มได้กล่าวถึง  กำเนิดของนิกายมหาสังฆิกะ โดยไม่กล่าวถึงวัตถุ ๑๐ ประการก็มี  แต่กล่าวว่า ข้อเสนอ ๕ ประการ ของมหาเทวะ  เกี่ยวกับพระอรหันต์ว่า   ยังมิได้ดับกิเลสโดยสมบูรณ์ เป็นต้น   เป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่  ๒  แล้วพวกมหาสังฆิกะ  ก็แยกออกมาทำสังคายนาของตน


*การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท


---กายสังคายนาของพระเจ้ากนิษกะ  ประมาณในปีพุทธศักราช ๖๔๓ (ค.ศ. ๑๐๐) พระเจ้ากนิษกะผู้มีอำนาจอยู่ในอินเดียภาคเหนือ  ได้สนับสนุนให้มีการสังคายนา   ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า   เป็นสังคายนาแบบผสม ณ เมืองชาลันธร  หรือบางแห่งกล่าวว่า  เมืองกาษมีระ


---ในหนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจัง  เล่าว่า  พระเจ้ากนิษกะหันมาสนใจพระพุทธศาสนา และตำรับตำราแห่งศาสนานี้   จึงให้อาราธนาพระภิกษุ ๑  รูปไปสอนทุก ๆ วัน   และเนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนต่าง ๆ กันออกไป   บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน   พระเจ้ากนิษกะทรงลังเลไม่รู้จะฟังว่าองค์ไหนถูกต้อง จึงปรึกษาข้อความนี้กับพระเถระผู้มีนามว่า " ปารสวะ"  ถามว่า คำสอนที่ถูกต้องนั้นคืออันใดกันแน่


---พระเถระแนะนำให้แล้ว   พระเจ้ากนิษกะจึงตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา   ซึ่งมีภิกษุสงฆ์นิกาย ต่าง ๆ ได้รับอาราธนาให้มาเข้าประชุม   พระเจ้ากนิษกะโปรดให้สร้างวัด   เป็นที่พักพระสงฆ์ได้ ๕๐๐ รูป ผู้จะพึงเขียนคำอธิบายพระไตรปิฎก   คำอธิบายหรืออรรถกถาสุตตันตปิฎก มี ๑๐๐,๐๐๐ โศลก,  อรรถกถาวินัยปิฎก ๑๐๐,๐๐๐ โศลก   และอรรถกถาอภิธรรมอันมีนามว่า  อภิธรรมวิภาษา มีจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โศลก ก็ได้แต่งขึ้นในสังคายนาครั้งนี้ด้วย


---เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว   ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง   เก็บไว้ในหีบศิลา   แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการนี้อีกต่อหนึ่ง   มีข้อสังเกต   คือ  กำหนดกาลของสังคายนาครั้งนี้   ที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายธิเบต กล่าวว่า   กระทำในยุคหลังกว่าที่หลวงจีนเฮี่ยนจัง  กล่าวไว้ แต่เรื่อง พ.ศ. ที่เกี่ยวกับ เหตุการณ์ในพระพุทธศาสนา  ก็มีข้อโต้แย้งผิดเพี้ยนกันอยู่มิใช่แห่งเดียว  จึงเป็นข้อที่ควรจะได้พิจารณาสอบสวนในทางที่ควรต่อไป


---การสังคายนาครั้งนี้  เป็นของนิกายสัพพัตถิกวาท  ซึ่งแยกสาขาออกไปจากเถรวาท  แต่ก็มีพระของฝ่ายมหายานร่วมอยู่ด้วย จึงเท่ากับเป็นสังคายนาผสม



*สังคายนานอกประวัติศาสตร์


---ยังมีสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และไม่ได้การรับรองทางวิชาการจากผู้ศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา  อาจถือได้ว่าเป็นความเชื่อถือปรัมปราของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในจีนและ ญี่ปุ่น   คือ  สังคายนาของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี กับพระโพธิสัตว์ ไมเตรยะ (พระศรีอารย์)


---ทั้งนี้ ปรากฏตามหลักฐาน ในหนังสือประวัติศาสตร์ย่อแห่งพระพุทธศาสนา ๑๒ นิกาย ของ ญี่ปุ่น หน้า ๕๑ ซึ่งไม่ได้บอกกาลเวลา  สถานที่  และรายละเอียดไว้ ที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้  พอเป็นเครื่องประดับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกในที่มาต่าง ๆ เท่าที่จะค้นหามาได้


---เป็นอันว่าได้กล่าวถึงการสังคายนา  ทั้งของฝ่ายเถรวาทและของมหายานไว้   พอเป็นแนวทางให้ทราบความเป็นมาแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฎก ทั้งได้พยายามรวบรัดกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต้องแต่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ไว้ในที่นี้ฯ







..............................................................................






๑.หลักฐานบางแห่งว่า พ.ศ. ๔๕๐

๒.ลังกานับเป็น ๒๔๐๙

๓.The Life of the Buddha and the Early History of His Order translated by W.W. Rodckhill from Tibetan Works In the BKAH-HGYUR and BSTANHGYUR.

๔.ผู้ต้องการหลักฐานละเอียดโปรดดู หนังสือ Early Monastic Buddhism เล่ม ๒ หน้า ๓๑ ถึง ๔๖

๕.หนังสือประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง เป็นนิพนธ์ของภิกษุฮุยลิบศิษย์ของท่าน ส่วนบันทึกเดินทางของหลวงจีนเฮี่ยนจังเอง มีอีกเล่มหนึ่งต่างหาก ซึ่งฉบับหลังนี้ ฝรั่งให้เกียรตินำไปอ้างอิงไว้ในหนังสือของตนมากมายด้วยกัน

๖.A Shory History of Twelve Japanese Buddhist Sicts by Bunyiu Bantio.








ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

 รวบรวมโดย...แสงธรรม

 (แก้ไขแล้ว ป.)

อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 สิงหาคม 2558


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view

ประวัติต่างๆ

ประวัติวัดเขาไกรลาศ

ประวัติของหลวงพ่อเทียน=คลิป

มาเช็คชื่อ-เช็คสกุลกันดีกว่า=คลิป

ประวัติพระอธิการชิติสรรค์ จิรวฑฺฒโน=คลิป

ขอเชิญผู้ร่วมบุญสร้างอาศรมเสด็จปู่พระบรมพรหมฤาษีไตรโลก

ประวัติหลวงปู่เทพโลกอุดร

ประวัติฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธองค์

ประวัติของนางวิสาขา=คลิป

ประวัติของอนาถปิณฑิกเศรษฐี=คลิป

ประวัติของเศรษฐีขี้เหนียว

ประวัติเหตุทำบุญที่ช้า=คลิป

ประวัติของผู้ร่วมบุญ=คลิป

ประวัติของพระไตรปิฎก=คลิป

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปและพระเจ้า ๕ พระองค์

ประวัติง้วนดิน

ประวัติปู่ฤาษีนารอท

ประวัติพระปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงปราบพระเจ้ามหาชมพูบดี

ประวัตินางห้าม..แห่งขอมโบราณ

ประวัติพญานาค

ความรู้และรายละเอียดพุทธเจดีย์

พระมหาโพธิสัตว์

สาระธรรม

ธรรมะส่องใจ

อานิสงส์แต่ละอย่าง

ประเพณีต่างๆ

ตำนานทั่วไป

สาระน่ารู้

ปกิณกะธรรม

วัตถุมงคล-สาระอื่นๆ

ข้อมูลทั่วไป

ปฎิทิน

« January 2025»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 

สมาชิก

ลืมรหัสผ่าน?
สมัครสมาชิก

สถิติ

เปิดเว็บ20/06/2011
อัพเดท12/01/2025
ผู้เข้าชม8,442,089
เปิดเพจ12,866,741
สินค้าทั้งหมด8

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 พระบรมสารีริกธาตุ

 โจโฉ รวมเสียงธรรม

 เฟสบุ๊ค

view