สติปัฏฐาน ๔
---เป็นการปฏิบัติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก (เอกายนมรรค) เมื่อปฏิบัติอย่างดีงามย่อมเป็นเครื่องสนับสนุน ให้โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งการตรัสรู้บริบูรณ์ ซึ่งยังให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ จึงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังที่ตรัสแสดงไว้อย่างแจ่มแจ้งในกุณฑลิยสูตร ในการศึกษาการปฏิบัติทั้งหลายไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที ต่างล้วนต้องเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีปัญญาหรือวิชชาเป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน
(กดลิงค์-บน)
---จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ จึงถูกต้องดีงาม อันจักยังผลให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องแนวทาง ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจด้วยการศึกษาธรรมให้เข้าใจจุดประสงค์อย่างถูกต้องด้วย เพราะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันโดยไม่ศึกษาให้ดีงามเสียก่อน เริ่มต้นปฏิบัติก็มักเพราะเป็นทุกข์กำลังรุมเร้า หรือด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ยินได้ฟังมาอยู่เนืองๆ ก็เริ่มปฏิบัติอานาปานสติหรือสติปัฏฐาน ๔ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ดังนั้นแทนที่เป็นการฝึกสติ,ใช้สติชนิดสัมมาสติ
---กลับกลายเป็นการฝึกการใช้มิจฉาสติจึงได้มิจฉาสมาธิแบบผิดๆอันให้โทษ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามพุทธพจน์ตามที่แสดงไว้ข้างต้น ดังเช่นการติดสุข คือสุขในวิปัสสนูปกิเลสอันให้โทษ, จึงอุปมาเหมือนการเรียนเคมี โดยไปปฏิบัติในห้องปฏิบัติการเสียเลย ด้วยเข้าใจว่าไปเรียนไปศึกษาจากการปฏิบัติโดยตรงคงยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นเอง ด้วยเหตุดั่งนี้เอง จึงเกิดอุบัติเหตุการระเบิดขึ้นได้ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จะได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางสมดังพุทธประสงค์ คือสัมมาสติที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง
(กดลิงค์-บน)
---สติ ปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการฝึกสติใช้สติ สมดังชื่อ ที่ความหมายว่า การมีสติเป็นฐาน, ธรรม(สิ่ง)ที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ ซึ่ง เมื่อเกิดสัมมาสติขึ้นแล้ว ย่อมยังให้เกิดจิตตั้งมั่นอันคือสัมมาสมาธิร่วมด้วยโดยธรรมหรือธรรมชาติ แล้วนำทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธินั้นไปดำเนินการพิจารณาในธรรมคือเจริญ วิปัสสนา ในธรรมทั้งหลายดังที่แสดงในธัมมานุปัสสนา หรือธรรมอื่นใดก็ได้ตามจริต สติ ปัญญา มิได้จำกัดแต่เพียงในธรรมานุปัสสนาเท่านั้น
---อานาปานสติ เป็นการฝึกสติใช้สติ โดยการใช้ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ที่หมายถึงเครื่องกำหนด กล่าวคืออยู่ในอารมณ์คือลมหายใจเข้าและออกอย่างมีสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาเป็นจุดประสงค์สำคัญ แต่กลับนิยมนำไปใช้เป็นอารมณ์ในการวิตกเพื่อการวิจารให้เคล้ากัน เพื่อให้จิตสงบเพื่อการทำฌานสมาธิเสียแต่ฝ่ายเดียวเป็นส่วนใหญ่หรือทุกครั้งไปเนื่องด้วยอวิชชาด้วยความไม่รู้และสังขารที่สั่งสมไว้จากการปฏิบัติผิด
---จึงไม่ได้ใส่ใจในการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดนิพพิทา,ให้เกิดปัญญาเลย โดยปล่อยให้เลื่อนไหลหรือสติขาดไปอยู่แต่ในความสงบสุขสบายอันเกิดแต่ภวังค์ของฌานหรือสมาธิระดับประณีตแต่ฝ่ายเดียวหรือเสมอๆ เพราะฌานสมาธินั้นยังให้เกิดความสุข ความสงบ ความสบายอันเกิดขึ้นจากภวังค์ และการระงับไปของกิเลสในนิวรณ์ ๕ เป็นระยะเวลาหนึ่ง
---อันเนื่องจากจิตหยุดการส่งส่ายไปปรุงแต่งอันเนื่องมาจากแน่วแน่อยู่กับอารมณ์จนเป็นสมาธิ, ตลอดจนนิมิตต่างๆที่เกิดขึ้นจากฌานสมาธิล้วนตื่นตาตื่นใจ อย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็วเมื่อปฏิบัติได้ผลขึ้น จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ)โดยไม่รู้ตัว ในที่สุดความตั้งใจที่ฝึกสัมมาสติอันเป็นมรรคองค์ที่ ๗ จึงกลับกลายเป็นมิจฉาสติไปโดยไม่รู้ตัว จึงได้มิจฉาสมาธิร่วมไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
---หรือนิยมเข้าใจกันทั่วๆไปโดยนัยๆว่า ปฏิบัติสมถสมาธิ หรือปฏิบัติอานาปานสติ หรือปฏิบัติสติติดตามอริยาบถ ก็เพียงพอเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อันดีงามแล้ว และก็ทำอยู่แต่อย่างนั้นอย่างเดียวนั่นเอง เช่นนั่งแต่สมาธิแต่ขาดการเจริญวิปัสสนา, ดังนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงควรดำเนินประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาหรือความเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นก็ย่อมดำเนินและเป็นไปดังพุทธดำรัสที่ตรัสแสดงไว้ข้างต้น
---สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ, หรือข้อปฏิบัติที่ใช้สติเป็นประธานหรือหลัก ในการกำหนดระลึกรู้หรือพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ โดยไม่ถูกครอบงําด้วยความยินดียินร้าย(ตัณหา)ที่ทําให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงตามอํานาจของกิเลสตัณหา หรือกล่าวได้ว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสติ
---จุดประสงค์เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อให้เกิดนิพพิทาความ คลายกำหนัดความยึดความอยากจากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จึงคลาย ตัณหา จึงเป็นไปเพื่อนําออกและละเสียซึ่งตัณหาแลอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ในกิเลสด้วยความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตนเป็นสำคัญ ที่มีในสันดานของปุถุชนอันก่อให้เกิดความทุกข์โดยตรงด้วยเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์, พระองค์ท่านแบ่ง สติปัฏฐาน ๔ ออกเป็น ๔ หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ
---๑.กายานุปัสสนา การมีสติในกายเป็นอารมณ์ คือมีสติกําหนดพิจารณากาย ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น "เป็นเพียงการประชุมกันของเหตุปัจจัยอันมีธาตุ ๔ ดิน นํ้า ลม ไฟ" (อ่านรายละเอียดในไตรลักษณ์) หรือการเกิดแต่เหตุที่เป็นของสกปรกปฏิกูลโสโครกประกอบหรือเป็นปัจจัยกันขึ้น(ทวัตติงสาการ) หรือการพิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดนิพพิทา อันล้วนเป็นไปการระงับหรือดับตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทั้งสิ้น
(กดลิงค์-บน)
---ในขั้นแรกนั้น เป็นการฝึกให้มีสติเสียก่อน โดยฝึกดูลมหายใจที่หายใจเข้า ที่หายใจออก อย่างมีสติ, หรือการมีสติอยู่ในอิริยาบถของกาย(ไม่ใช้การใช้อิริยาบถของกายเป็นอารมณ์จนเกิดสมาธิโดยไม่รู้ตัว) แล้วใช้สตินั้นในการพิจารณากายในแบบต่างๆ ตลอดจนการเกิดดับต่างๆของกาย ฯลฯ.
---ล้วนเพื่อให้เกิดนิพพิทา เพื่อให้จิตลดละความยินดียินร้ายในกายแห่งตนแลบุคคลอื่นเมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายนั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจหรือหลงใหลในกายแม้ตัวตนของตนหรือบุคคลอื่น เป็นการตัดกำลังตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทางหนึ่ง ซึ่งท่านแบ่งเป็น ๖ แบบ
---๑.๑อานาปานสติ ขอเน้นว่าจุดประสงค์อยู่ที่สติ โดยให้จิตคือสติกําหนดตามดูหรือรู้ตามลมหายใจเข้าออกแบบต่างๆ ตลอดจนสติสังเกตุเห็นอาการของลมหายใจ มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้มีสติและเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก เหตุเพราะลมหายใจนั้นก็สามารถใช้เป็นอารมณ์หรือการวิตกในการทำฌานหรือสมาธิได้ด้วย ข้อนี้จึงมักสับสนกันอยู่เนืองๆ จนก่อโทษ จึงทำสติต้องเป็นสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ
---กล่าวคือเมื่อทำสติต้องเป็นสติ จึงเป็นสัมมาสติ เมื่อตั้งใจทำสมาธิแล้วเป็นสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่บางครั้งคราวในการปฏิบัติอาจมีการเลื่อนไหลเพราะสติขาดเกิดขึ้นบ้าง เป็นครั้งเป็นคราว เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ต้องกังวล เนื่องจากบางครั้งฝึกสติก็จริงอยู่ แต่เกิดอาการขาดสติหรือสติอ่อนลงเป็นครั้งคราวบ้างจึงเลื่อนไหลไปเป็นฌาน หรือสมาธิแทน อย่างนี้ไม่เป็นไร (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอานาปานสติในกายคตาสติสูตร), การตั้งกายตรง ก็เพื่อช่วยดำรงสติไว้ ไม่ให้เลื่อนไหลไปง่วงหาวนอนได้ง่ายๆในขณะปฏิบัติ
(กดลิงค์บน)
---อานาปานสติ นอกจากฝึกสติแล้วสามารถใช้วิปัสสนาได้เช่นกัน โดยการพิจารณาลมหายใจที่หายใจเข้าออกอยู่นั้นๆว่า เป็นกายสังขาร คือถูกกายปรุงแต่งขึ้น พิจารณาความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ดังเช่น ลมหายใจนั้น เป็นไปในลักษณาการ เกิดดับ เกิดดับ....อยู่ตลอดเวลาที่ยังดำรงขันธ์อยู่ เพียงแต่การเกิดดับเป็นไปอย่างต่อเนื่อง.
---๑.๒อิริยาบถ คือกําหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่างๆของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่งฯลฯ. คือมีสติรู้ในอิริยาบทต่างๆนั่นเอง มีจุดประสงค์เช่นเดียวกับอานาปานสติคือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก ไม่ได้มีจุดประสงค์โดยตรงเพื่อใช้เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิหรือฌาน (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอิริยาบถในกายคตาสติสูตร)
---ดังนั้นอานาปานสติจึงใช้ปฏิบัติเมื่อวิเวก ส่วนอิริยบถอาจใช้โดยทั่วไปได้เนืองๆในการดำรงชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับสัมปชัญญะ
---๑.๓สัมปชัญญะ ความรู้ตัวคือปัญญาในการให้มีสติต่อเนื่องในการกระทําหรือการเคลื่อนไหว เช่นเดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ. กล่าวคือมีสติอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม สติระลึกรู้อย่างต่อเนื่องสลับสับเปลี่ยนอิริยาบทกันได้ ตามที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง มีสติระลึกรู้ไม่เพ่งจนแน่วแน่เพื่อการเป็นสมาธิระดับสูงหรือประฌีตแต่อย่างใด ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็น เบื้องต้นเท่านั้น
---เพราะต้องการฝึกสติเป็นหลัก ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นผลที่เกิดรองลงมาเท่านั้น ซึ่งอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิในระดับประณีตได้โดยธรรมหรือธรรมชาติอีกด้วย แต่ต้องไม่ใช่เจตนาฝึกสติแล้วไหลเลื่อนเป็นฌานสมาธิเสียทุกครั้งไป ดังเช่น การใช้การจงกรมไปในการเจริญสมาธิเป็นสำคัญก็มี
---กล่าวคือการใช้ท่าการเดินนั้นเป็นอารมณ์เพื่อเน้นให้เกิดความสงบจากฌานสมาธิเสียเป็นสำคัญแต่อย่างเดียว ไม่ได้สนใจสติหรือปัญญาเลย แล้วไปเข้าใจเอาว่า ความสงบนั้นถูกต้องดีงามแล้ว มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องสัมปชัญญะในกายคตาสติสูตร) หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง
(กดลิงค์-บน)
---๑.๔ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้น จิตย่อมไม่ดำริพล่านออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงใช้สติที่ฝึกมานั้นอันย่อมประกอบด้วยสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ในที เนื่องจากการละดำริพล่านลงไปเสีย จึงนำสติและจิตตั้งมั่นนั้นไปใช้พิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด โสโครก
(กดลิงค์-บน)
---ต้องเข้าใจว่ากายตน(เห็นกายในกายภายใน) และกายของบุคคลอื่น(เห็นกายในกายภายนอก)ต่างก็เป็นเฉกเช่นนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดนิพพิทาเพื่อลดละความยึดมั่นพึงพอใจหลงไหลในกายตนและในกายบุคคลอื่นลง เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่าล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เพื่อคลายความหลงใหลรักใคร่ยึดมั่นมันลงไป จึงคลายกำหนัด ดังมีกล่าวแสดงรายละเอียดไว้ในกายคตาสติสูตร หรือดังภาพที่แสดงในทวัตติงสาการ
(กดลิงค์-บน)
---๑.๕ธาตุมนสิการ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนหรือมวลหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ อันล้วนไม่งาม ไม่สะอาด มาประชุมกันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกายนี้ชั่วขณะระยะหนึ่ง ทั้งกายตนเองและบุคคลอื่นเช่นกัน ดังที่ได้กล่าวไว้ ๒ ลักษณะในการพิจารณาในไตรลักษณ์ และกายคตาสติสูตรโดยละเอียด
(กดลิงค์-บน)
---๑.๖นวสีวถิกา คือพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ เป็นระยะๆ ๙ แบบหรือระยะ จนผุพังเน่าเปื่อยไปในที่สุด และต้องเข้าใจว่ากายตนแลผู้อื่นต่างก็ล้วนต้องเป็นเฉกเช่นนี้ ไม่เป็นอื่นไปได้(ภาพอสุภะ)
(กดลิงค์บน)
---ในทางปฏิบัติของ เห็นกายในกาย คือมีสติระลึกรู้อยู่เนืองๆว่า สักแต่ว่ากายตามที่ได้พิจารณาเข้าใจ เพื่อให้บังเกิดนิพพิทาญาณ จึงดับตัณหา
(กดลิงค์บน)
---อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า การมีสติอยู่กับกาย เป็นเพียงการระลึกรู้เท่าทันกาย ทั้งทางด้านปัญญาด้วยเช่นว่าไม่งามเป็นปฏิกูลเพื่อความนิพพิทา แต่ถ้าแน่วแน่แต่อย่างเดียวขาดสติการระลึกรู้ก็กลับกลายเป็นสมถสมาธิไปได้โดยไม่รู้ตัว (หมายความว่า มีความตั้งใจฝึกสติ แต่ไปทำสมาธิเสียโดยไม่รู้ตัว)
---อนึ่งพึงทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า การมีจิตอยู่กับกายหรือกายานุปัสสนานั้น มิได้มีความหมายไปว่า ส่งจิตไปแช่นิ่งภายในส่วนกายตน ไม่ได้หมายถึงการมีจิตอยู่ในร่างกายภายในหรือภายนอกตน เพราะเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า จนเกิดผลร้ายได้ ก่อให้เกิดอาการจิตส่งใน เป็นที่สุด ที่เลิกได้ยากแสนยาก และเป็นโทษในภายหลังอย่างรุนแรงและที่สำคัญคือโดยไม่รู้ตัวอีกเสียด้วย
---(พระอภิธรรม แสดงความหมายของกายภายใน จึงไม่ใช่ การส่งจิตเข้าไปแช่หรือจับจ้องในกายตน หรือจิตส่งใน และแสดงกายภายนอก)
(กดลิงค์-บน)
---๒.เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นธรรมดาจาการกระทบคือผัสสะ ให้เห็นเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาให้เห็นตามความจริงของเวทนาว่า "เวทนาเป็นสักแต่ว่าเป็นการรับรู้ การเสพรสอารมณ์ที่มากระทบสัมผัส(ผัสสะ)ทั้งในทางใจและกายคือใน รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์
---เป็นขบวนการธรรมชาติหรือสภาวธรรมแท้อันยิ่งใหญ่ที่มีในมนุษย์ทุกผู้นาม เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ เป็นเพียงกระบวนการรับรู้ในขั้นแรกๆที่เอาข้อมูลมาจากสัญญา(ความจํา)อดีตหรืออาสวะกิเลส ยังไม่ใช่ความทุกข์จริงๆ พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดเวทนาอันมี สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอทุกขมสุข(ไม่สุขไม่ทุกข์)อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งทุกทีไป
(กดลิงค์-บน)
---ซึ่งเป็นเวทนาปกติหรือเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ หลีกเลี่ยงหลบหนีไม่ให้เกิดไม่ให้เป็นไม่ได้ เป็นหลักธรรมชาติธรรมดาๆแต่สูงสุด จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ ที่บังเกิดนั้นๆ จึงไม่เกิดตัณหาขึ้น จึงเป็นเพียงสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามธรรมหรือธรรมชาติแต่ย่อมไม่เร่าร้อนเผาลนดังเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทาน) ดังพุทธพจน์ที่แสดงไว้ให้เข้าใจและรู้เท่าทันในเวทนาดังนี้
---เมื่อเป็นสุขเวทนา ก็ให้รู้ว่าเป็นสุขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
---เมื่อเป็นทุกขเวทนา ก็ให้รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
---เมื่อเป็นอทุกขมสุข ก็ให้รู้ว่าเป็นอทุกขมสุข เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
---เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดมีอามิส(เครื่องล่อใจ-เจือกิเลส)ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
---เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดไม่มีอามิส ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
---เวทนาเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นและจำต้องรับรู้ ที่แท้จริงก็แค่ความรู้สึกที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทบจึงไม่ควรไปยึดมั่น เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติจริงๆ ตามเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่ง หรือมาผัสสะ จึงเกิดๆดับๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง จึงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงอีกด้วย จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้, เห็นเวทนาทั้งในเวทนาตนเอง(เห็นเวทนาในเวทนาภายใน แต่ไม่ใช่อาการของจิตส่งในแต่อย่างใดด้วยเข้าใจผิด) และเห็นเวทนาในเวทนาบุคคลอื่น(เห็นเวทนาในเวทนาภายนอก จึงไม่ใช่อาการจิตส่งออกนอกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งแต่อย่างใด)
---ในทางปฏิบัติของ เห็นเวทนาในเวทนา คือมีสติรู้อยู่เนืองๆว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา อันย่อมต้องเกิดความรู้สึกจากการรับรู้ในอารมณ์ที่ผัสสะกันเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือตถตา จึงไม่ไม่ยึดมั่นหมายมั่นในเวทนาเหล่าใดเหล่านั้น ด้วยการอุเบกขาไม่เอนเอียงไปนึกคิดปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านอันยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีก อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อันทําให้เกิดทุกข์ อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม กล่าวคือไม่ต่อล้อต่อเถียงกับจิต อันเป็นการเปิดโอกาสให้จิต หลอกล่อไปปรุงแต่งต่างๆนาๆให้เกิดเวทนาๆต่างๆนาๆ อันอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทานโดยไม่รู้ตัวด้วยความไม่รู้คืออวิชชา
---(พระอภิธรรม แสดงความหมายของเวทนาภายใน จึงไม่ได้หมายถึงอาการส่งจิตไปแช่นิ่งภายในหรือจิตส่งใน และแสดงเวทนาภายนอก)
(กดลิงค์-บน)
---๓.จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการเห็นจิตในจิต หรือสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาจิต (จิตตสังขารหรือมโนสังขารเช่นความคิด,ความนึก คือธรรมารมณ์ต่างๆ) และโดยเฉพาะอาการของจิตหรือกริยาของจิต(เจตสิก) ดังเช่น ราคะ, โทสะ,โมหะ, ฟุ้งซ่าน หดหู่ เป็นสมาธิ ฯ.
---ที่ย่อมยังให้เกิดเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ คือ มีสติระลึกรู้เท่าทันในจิตตสังขาร ตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ(บ้างเรียกกันว่าเห็นจิตในจิต)เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี, จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ, จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน ทั้งในของตนเองและของบุคคลอื่น อันเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ และพิจารณาการเกิดๆดับๆว่า เป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว
---เห็นจิตในจิต หรือ จิตเห็นจิต ถ้าเข้าใจขันธ์ ๕ จักเข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีสติเห็นจิตตสังขารที่บังเกิดขึ้น(จิตสังขารหรือมโนสังขารในขันธ์๕นั่นเอง ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน) อันมีตามที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ คือมี
---จิตมีราคะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ที่ประกอบด้วยความกำหนัดความปรารถนาในกามทั้ง๕ นั่นเอง
---จิตมีโทสะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นเคือง นั่นเอง
---จิตมีโมหะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง นั่นเอง
---จิตหดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒ เป็นกลุ่มอาการของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ
---จิตฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒ เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน หรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งคือผัสสะในสิ่งหรือเรื่องต่างๆ หรือเปรียบเทียบได้ดั่งองค์ธรรมชรา ในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
---จิตเป็นฌานหรือมหรคต จิตเป็นฌาณ, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตประกอบด้วยกำลังของฌานอยู่ (เกิดขึ้นได้แม้ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับวสีความชำนาญ และมาจากการสั่งสมประพฤติปฏิบัติจนมักเกิดการเลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัว)
---จิตเป็นสมาธิ จิตมีความตั้งใจมั่นในสิ่งใดอยู่ แม้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายถึงการไปนั่งสมาธิแต่อย่างเดียว
---จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ, หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา, หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่, จิตหมกมุ่นกับการส่งออกไปปรุงแต่ง
---จิตวิมุตติหรือจิตหลุดพ้น หมายถึงอาการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสหรือเจตสิกต่างๆ เช่นดังที่กล่าวข้างต้น (เป็นไปในขณะหนึ่งๆ ยังไม่ได้หมายถึงเป็นการถาวรหรือนิพพาน)
---กล่าวคือ ล้วนมีสติระลึกรู้เท่าทัน กล่าวคือมีสติระลึกรู้ "จิต หรืออาการของจิต คือเจตสิกที่บังเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้นๆ"
---อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน ฯลฯ.
---นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมเป็นตัวเป็นตนแท้จริง แต่มันอาศัยแฝงอยู่กับสังขารขันธ์ คือการกระทำต่างๆนั่นเอง ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ, การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ, การคิดด่าทอ,ต่อว่า(วจีสังขาร)
---ที่ประกอบด้วยโมหะคืออาการหลงไปปรุงจนเกิดทุกข์ที่ประกอบด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นคิดหรือธรรมารมณ์กระทบใจแล้วจะให้รู้สึกเฉยๆ, การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ, จิตคิดฟุ้งซ่านหรือคิดวนเวียนไม่หยุดหย่อนในเรื่องไร้แก่นสาร เช่นคิดไปในอดีต อนาคต ก็คือความคิดที่ประกอบด้วยจิตฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งนั่นเอง
---ใช้วิธีมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต เป็นหลักปฏิบัติประจําเมื่อปฏิบัติจนชํานาญแล้ว ระลึกรู้และเท่าทันในเวทนา(เวทนานุปัสสนา)อย่างถึงใจ และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว จิตจักรู้สภาพจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก)ที่เกิดขึ้น คือ เห็น ราคะ โมหะ โทสะ ชัดเจนขึ้น เมื่อจิตเห็นจิต ซึ่งก็คือ สติเห็นจิตตสังขารนั่นเอง เพราะจิตตัวแรกนั้นหมายถึงสติอันเป็นจิตตสังขารหรือเจตสิกอย่างหนึ่งนั่นเอง จิตจะเห็นความคิดหรืออาจเห็นเวทนาที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสภาวธรรมอันไม่เที่ยง
---ไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสาร และก่อให้เกิดทุกข์อย่างชัดแจ้ง อันทําให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรม จิตจักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาและจิตที่ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ และอนัตตา อันก่อให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เห็นความคิด(จิตหรือจิตตสังขารนั่นเอง) และการเสวยอารมณ์ต่างๆหรือความรู้สึกสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์ (เหล่าเวทนา) ว่าเป็นไปตามไตรลักษณ์
---ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงย่อมเกิดการยึดด้วยอุปาทานเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ดังนั้นเมื่อไปอยากหรือไปยึดไว้ด้วยเหตุผลกลใดก็ดี เมื่อมีการแปรปรวนด้วยอนิจจัง แล้วย่อมดับไปด้วยทุกขังเพราะสภาวธรรม จึงไม่เป็นไปตามปรารถนา จึงเกิดเป็นทุกข์อุปาทานที่ต่างจากทุกขเวทนาตรงที่มีความเร่าร้อน,เผาลน,กระวนกระวายตามกำลังของตัณหาแลอุปาทานนั่นเอง
---ในทางปฏิบัติของการ เห็นจิตในจิต คือสติเห็นจิตสังขาร(เช่นความคิด)ที่เกิดขึ้นว่า สักแต่ว่าจิตสังขารตามที่พิจารณาอยู่เนืองๆ แล้วอุเบกขาไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่ง หรือกริยาจิตใดๆ ดังการคิดเรื่อยเปื่อยหรือฟุ้งซ่านจึงย่อมยังให้เกิดเวทนาอื่นๆที่อาจเป็นปัจจัยจึงมีตัณหาเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อน
---(จิตตานุปัสสนานิเทส แสดงความหมายของจิตภายใน จึงไม่ใช่หมายถึงจิตส่งใน และความหมายของจิตภายนอก)
(กดลิงค์-บน)
---(แสดงความหมายของคำว่าจิต ในจิตตัวที่๒ของ จิตเห็นจิต อะไร)
---๔.ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาธรรม(สิ่งต่างๆ)ที่บังเกิดแก่ใจเป็นอารมณ์ทั้งที่เป็นกุศลหรืออกุศล ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเครื่องระลึกรู้เพื่อให้เกิดปัญญาเป็นสำคัญหรือเป็นวัตถุประสงค์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแนะในมหาสติปัฏฐานสูตรให้พิจารณา เป็นอาทิ เช่น
---๔.๑ นิวรณ์ ๕ เช่น ข้อพยาบาทให้พิจารณาว่า
---มีอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า มีอยู่ ณ ภายในจิต
---ไม่มีอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
---ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
---ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
---ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
---เป็นเช่นนี้ทุกข้อใน กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
---๔.๒ ขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์๕
---๔.๓ อายตนะภายใน และนอก
---๔.๔ โพชฌงค์ ๗
---๔.๕ อริยสัจ ๔ และมรรคองค์ ๘
---การพิจารณาธรรมต่างๆเหล่านี้ในจิต เป็นธัมมวิจยะ(การพิจารณาธรรม)เพื่อเป็นเครื่องรู้, ระลึกเตือนสติเป็นแนวทาง ให้เกิดปัญญาไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเช่นกัน เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้จัดเป็นสังขารในไตรลักษณ์ คือเกิดแต่เหตุปัจจัยเช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยของสังขารธรรมเหล่านี้แปรปรวนหรือดับ สังขารธรรมนี้ก็เช่นกัน อีกทั้งเมื่อเรารู้ระลึกธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อเราหยุดรู้ระลึกธรรมทั้งหลายก็ดับลงเช่นกัน เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แม้จักเป็นจริงตามธรรมชาติเช่นนี้ตลอดกาล แต่เหตุปัจจัยได้แปรปรวนและดับเสียแล้วเช่นกัน
---ในทางปฏิบัติของ สติเห็นธรรม คือระลึกรู้ในธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่บังเกิดแก่จิตในขณะนั้นๆ ก็เพื่อให้เกิดปัญญาญาณนั่นเอง คือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับไปของทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง
---สติปัฏฐาน๔ นั้นมีจุดประสงค์อยู่ที่ฝึกสติ และใช้สติพิจารณาสรุปให้เข้าใจโดยถ่องแท้เพื่อให้เกิดสัมมาญาณ(ปัญญา ญาณ)ว่า ธรรมทั้งหลายอันมี กาย เวทนา จิต ธรรม มีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ อาศัยระลึกเตือนสติเตือนใจไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจ(หมายถึง อุปาทาน)ใดๆในโลก ก็ด้วยลักษณาการของการอุเบกขาเสีย นั่นเอง อีกทั้งมีพุทธประสงค์ให้ปฏิบัติในชีวิตประจําวันขนาดกล่าวได้ว่าแทบทุกลม หายใจ
---กล่าวคือเมื่อจิตหรือสติวนเวียนระลึกรู้หรือพิจารณาอยู่ในธรรมทั้ง ๔แล้ว จิตย่อมหยุดส่งจิตออกนอกไปนึกคิดปรุงแต่งต่างๆอันก่อให้เกิดทุกข์ จิตอยู่ในที่อันควรแลสงบ ขณะจิตนั้นเองจิตย่อมเกิดกําลังแห่งจิตขึ้นเนื่องจากสภาวะปลอดทุกข์ขึ้นทีละ เล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว อันยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นทีละเล็กทีละน้อยสะสมขึ้นเช่นกัน จนในที่สุดจักเกิดสภาวะ อ๋อ มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือธรรมสามัคคีนั่นเอง เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นๆอย่างแท้จริง
---สติปัฏฐาน๔ มีเจตนาต้องการให้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ไม่ใช่แต่ กาย เวทนา จิต ธรรม เท่านั้น เพียงแต่ธรรม ๔ ข้อนี้เป็นหลักสําคัญในการดับหรือลดละตัณหาและความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจของตนหรืออุปาทาน อันก่อให้เกิด "อุปาทานขันธ์ ๕"อันเป็นทุกข์
---ถ้านั่งปฏิบัติในรูปแบบ ให้มีสติอย่าปล่อยให้เลื่อนไหล ผ่อนคลายกายและใจ เมื่อเริ่มต้นใช้สติดูลมหายใจ ก็จะเกิดอาการต่างๆจากการปฎิบัติสมถวิปัสสนามาให้เห็น แต่นักปฏิบัติมักจะไม่ชอบ คิดว่าผิด อันไปคิดกันว่าไม่ดี ไม่ถูก จิตไม่สงบ เพราะไม่รู้จึงไม่แยกแยะว่านี่เป็นการฝึกสติ ไม่ใช่ฝึกสมาธิ ไม่ได้ลิ้มรสของความสงบสุขแลสบายจากสมาธิหรือฌานตามที่เข้าใจหรือเคยประสบ, โดยธรรมชาติของจิตนั้น จิตจะส่งออกไปเห็นนั่น เห็นนี่ คิดนั่น คิดนี่ เป็นปกติธรรมดาตามสภาวธรรมชาติ เพียงให้มีสติระลึกรู้ว่า นั่นแหละจิตสังขารหรือความคิดความนึกหรือสังขารในปฏิจจสมุปบาท อันจัดเป็นคุณอย่างยิ่ง อันจักพอแยกออกไปได้ ๒ ลักษณะ คือ
---รูปนิมิต หรือเห็นเป็นภาพหรือรูปขึ้นในจิต ในบางขณะเมื่อเผลอตัวจิตจักส่งออกไปซัดส่ายปรุงแต่งเป็นภาพต่างๆนาๆผุดขึ้นมาอันคือสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จิตเมื่อเผลอย่อมส่งออกไปสักระยะจนอิ่มตัว หรือมีสติรู้สึกตัวก็ให้ละเสีย เป็นเรื่องธรรมชาติอันต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หรือจากอาการของจิตขาดสติ เลื่อนไหลไปเป็นสมาธิหรือฌานจนเกิดนิมิตต่างๆขึ้น
---นามนิมิต หรือเป็นความคิดนึกต่างๆนาๆที่ผุดขึ้นมาแทนที่ภาพนั่นเอง เป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทเช่นกัน อาการก็จักเหมือนรูปนิมิต ที่จิตเผลอส่งออกไปคิดปรุงแต่งเมื่อขาดสติเป็นธรรมดา เมื่อจิตส่งออกไปสักพักไปปรุงแต่งจนเกิดทุกข์หรือฟุ้งซ่านจนอิ่มตัวหรือมีสติรู้ตัว ก็ให้ละเสีย แต่ให้รู้ให้เข้าใจด้วยว่าเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์เยี่ยงไรจากความคิดนึกหรือสังขารที่สั่งสมที่เกิดขึ้นมานั้น เช่นเห็นเวทนาที่เกิดขึ้น หรือเห็นจิตเช่นความโลภ โกรธ หลง ฯลฯ.
---เห็นอันใดก็ปฏิบัติอันนั้น ให้รู้ว่าเหตุเกิดจากเวทนานั้นๆหรือจิตคิดนั้นๆ แล้วดับลงเพราะสติ จิตมีทุกข์ไหม ห้ามไปคิดเรื่องทุกข์นั้นให้คิดแต่เรื่องเหตุที่เกิด เมื่อเข้าใจแล้วต้องละ(ละในภาษาธรรมหมายถึงมีสติรู้เข้าใจแล้ววางเสีย)คือถืออุเบกขาเป็นกลางไม่ปรุงแต่งเอนเอียงไปทั้งในด้านดีหรือด้านร้าย อันเป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างยิ่งยวดในการปฏิบัติ เพราะจิตเมื่อเห็นเวทนาและโทษจากจิตคิดนึกปรุงแต่งหรือสังขารที่สั่งสมไว้บ่อยๆ
---จิตจะได้เกิดความเข้าใจหรือปัญญาขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ และที่สําคัญคือเป็นอุบายวิธีในการฝึกสติให้เป็นอุเบกขาหยุดการปรุงแต่ง, อันอุเบกขานี้เป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่ง มิสามารถเกิดขึ้นเอง จึงต้องหมั่นฝึกอบรมปฏิบัติให้เป็นสังขารที่สั่งสมใหม่อันมิได้เกิดแต่อวิชชา อันมีคุณอย่างยิ่งยวดในการดับทุกข์ และเป็นองค์ธรรมข้อสุดท้ายในโพชฌงค์๗ ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้
---เมื่อเกิดความคิดหรือจิตที่ประกอบด้วยอาการโลภ โกรธ หลง หดหู่ สมาธิ ฌาน ฯ.
---ก็ให้มีสติรู้ตามความเป็นจริง อย่าไปกดข่ม แค่ต้องรับรู้ตามจริง มีอาการต่างๆย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ข้อสําคัญคือวางอุเบกขาเป็นกลาง เป็นกลางอย่างไร เป็นกลางโดยการวางทีเฉยดูไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งเอนเอียงไปในทางใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะดี หรือชั่ว, เราถูก หรือเขาผิด, สังเกตุอาการที่เกิดขึ้นให้รู้คุณและโทษของจิตที่คิดปรุงแต่งนั้น
---จึงจักเป็นการปฏิบัติจิตตานุปัสสนาที่ถูกต้อง, หรือเมื่อปวดเมื่อยหรือรับรู้ความรู้สึกใดๆที่กระทบทางกายหรือใจ ก็ให้รู้ว่านั่นแหละเวทนา ให้มีสติรู้ว่าเป็นความรู้สึกรับรู้ต่อกายหรือใจเยี่ยงไร มีกิเลสแฝงด้วยไหม แล้วอุเบกขาเป็นกลางวางเฉยไม่คิดปรุงแต่งเอนเอียงไปในด้านใด รู้สึกอย่างไรก็รู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าอาการนั้นๆต้องหายไป แต่ต้องไม่ใส่ใจวางใจเป็นอุเบกขาไม่ปรุงแต่ง อันเป็นการปฏิบัติเวทนานุปัสสนา, หรือธรรมใดบังเกิดต่อจิตหรือหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
---ก็ให้พิจารณาธรรมนั้นๆเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมอันมีกําลังของสติที่ไม่ซัดส่ายมีกําลัง เป็นเครื่องช่วย อันเป็นการปฏิบัติธรรมานุปัสสนา อันจักยังให้เกิดปัญญาจากธรรมนั้นๆ, หรือใช้สตินั้นไปพิจารณากายว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย สักแต่ว่าธาตุ๔มาประชุมกันชั่วระยะหนึ่ง หรืออันล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล ฯ.
---เป็นการคลายลดละความยึดถือยึดมั่นในกายแห่งตน อันเป็นการปฏิบัติแบบกายานุปัสสนา
---ข้อ สังเกตุของผู้เขียนและความคิดเห็น ในหมวดธรรมานุปัสสนา มีกล่าวถึงสมาธิหรือองค์ฌานไว้ในหมวดของมรรค๘ ว่าเป็นสัมมาสมาธิหรือหมายถึงสมาธิที่ถูกต้อง ที่ถูกที่ควร, ถูกต้องจริงแต่หมายถึงในแง่สมาธิหรือแง่หมวดธรรมมานุปัสสนาเท่านั้น อันไว้เป็นกําลังแห่งจิตหรือพักผ่อนกายและจิต, ไม่ใช่ในแง่การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔
---อันเป็นการใช้สติปฏิบัติวิปัสสนาให้รู้แจ้ง ตามความเป็นจริงแห่งธรรม, จึงมีผู้สับสนเป็นจํานวนมากที่เข้าใจว่าปฏิบัติสมาธิหรือฌานอันบางท่านใช้ลม หายใจเป็นอุบายวิธีเช่นกันกับสติปฏัฐาน๔ จึงเกิดการสับสนในการปฏิบัติเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔, แม้แต่เกิดองค์ฌานตามพระสูตรอันเป็นสัมมาสมาธิในแง่สมาธิแล้วก็ตาม ก็ต้องไม่ไปยึดติดยึดมั่นหรือมีตัณหาในองค์ฌาน ปีติ สุข อุเบกขา นั้นด้วยจึงจะถูกต้อง มิฉนั้นก็จะเกิดวิปัสสนูปกิเลส อันยังผลร้ายแก่นักปฏิบัติ
(กดลิงค์-บน)
---สติปัฏฐาน๔ นี้เป็นการฝึกสติ และใช้สติ เราสามารถปฏิบัติได้ในทุกขณะและอริยาบถ โดยไม่จําเป็นต้องปฏิบัติแบบการนั่งสมาธิเต็มรูปแบบ สามารถทําได้ในขณะจิตตื่นสบายๆไม่เครียดหรือหงุดหงิด ก็นํามาคิด ตริตรอง ใช้ปัญญาพิจารณา สังเกตุเห็นเวทนาหรือจิตได้ในทุกอิริยาบถ ซึ่งวิปัสสนาใช้สมาธิระดับขณิกกะสมาธิ(แค่ไม่วอกแวก,อยู่กับกิจหรืองานที่ทํา) หรือเกือบเป็นอุปจารสมาธิเท่านั้นเช่น
---เมื่อพิจารณาจนเกิดปัญญาหรือเข้าใจในเวทนาหรือจิตจริงๆ เราจะเข้าใจในธรรมนั้นๆ เช่นเวทนานุปัสสนา โดยจะไม่ไปยึดมั่นพึงพอใจในเวทนามากเหมือนในอดีตอีก เนื่องจากรู้ว่าเป็นกระบวนการทางธรรม(ชาติ)ไม่สามารถไปหยุดไปห้ามได้และเป็นไตรลักษณ์ เหมือนกับห้ามหายใจไม่ได้ฉันใดก็ห้ามเวทนาไม่ได้ฉันนั้น และไม่ใช่ความทุกข์ตัวจริง
---ดับความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน)ได้ก็คือดับอุปาทานในปฏิจจสมุปบาทได้ ผลก็คือไม่มีความทุกข์อันเกิดจาก "อุปาทานขันธ์๕ "ซึ่งเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา เมื่อสิ่งนี้ดับ ผลนี้ก็ดับดังบทสรุปในมหาสติปฏิปัฏฐาน ๔ทุกบท ของกาย, เวทนา, จิต, ธรรม ตลอดจนบทย่อยทุกๆบท แสดงถึงพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ ในการปฏิบัติไว้เด่นชัด รวมถึง ๒๑ ครั้ง คือ ดั่งนี้
---ย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนา ภายในบ้าง(เปลี่ยนเวทนาเป็น กาย จิต ธรรม และบทย่อยๆ)
---พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนา ภายนอกบ้าง
---พิจารณาเห็น เวทนาในเวทนา ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง
---พิจารณาเห็น ธรรมคือ ความเกิดในเวทนาบ้าง(เห็นธรรมคือเห็นธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ)
---พิจารณาเห็น ธรรมคือ ความเสื่อมในเวทนาบ้าง(ดับไป)
---พิจารณาเห็น ธรรมคือ ทั้งความเกิด ทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง ย่อมมีอยู่
---อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้, เครื่องรู้
---เพียงสักแต่ว่า เป็นที่อาศัยระลึกเท่านั้น(หมายถึงอาศัยเป็นเครื่องรู้ระลึกและพิจารณาเป็นเครื่องเตือนสติและก่อปัญญา)
---เธอเป็นผู้ซึ่งตัณหาและทิฐิ ไม่ติดอยู่ด้วย และไม่ยึดถือ(หมายถึงไม่ยึดติด,ไม่ยึดมั่นถือมั่นคือเป็นอุปาทาน) อะไรๆในโลกด้วย อย่างนี้แล ชื่อว่าพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาเนืองๆอยู่
(เป็นเช่นนี้ในตอนท้ายของ กาย เวทนา จิต ธรรม และบทย่อยๆทั้งหลาย เน้นย้ำเหมือนกันทุกประการถึง ๒๑ ครั้ง)
---เวทนาในเวทนา หมายถึง เข้าใจในเวทนาจริงๆอย่างถูกต้อง เห็นเวทนาตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงําโดยกิเลส หรือทิฎฐุปาทาน(ยึดมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างผิดๆ) เห็นว่าสักแต่เพียงกระบวนการทางธรรม(ชาติ)เป็นปกติอย่างนี้ตลอดกาล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ไปยึดมั่นหรือถือมั่นให้เป็นอุปาทานในเวทนาหรือการเสพรสความรู้สึกรับรู้ในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้น
---เวทนาภายใน หมายถึง เวทนาของตนเอง
---เวทนาภายนอก หมายถึง เวทนาของบุคคลอื่น
---ตลอดจนในบทสรุปของ "มหาสติปัฏฐานสูตร"อันต่อจากบทธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสไว้ชัดแจ้งเช่นกันถึงการบรรลุพระอรหัตตผล กล่าวคือถ้ายังมีอุปาทิ(สภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น)อันคืออุปาทานยังไม่สิ้นหมด ยังคงมีเหลืออยู่บ้างก็จักได้เป็นพระอนาคามี ดังความในพระสูตรต่อไปนี้
---ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้
---อย่างนั้น ตลอดเนืองๆ ๗ ปี
---ผู้นั้นพึงหวังผล ๒ ประการ อันใดอันหนึ่ง
---คือพระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑
---หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ จักเป็นพระอนาคามี ๑
(กดลิงค์-บน)
---ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ ปียกไว้ .......................
(เหมือนเดิมทุกประการ เพียงเปลี่ยนเป็น ๖ ปี, ๕ ปี, ๔ปี.....๑ ปี, ๗ เดือน, ๖ เดือน...๑ เดือน, กึ่งเดือน, และสุดท้ายที่๗ วัน เป็นเช่นเดียวกันทุกประการ ถึง ๑๖ ครั้ง)
---ดังนั้นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของสติปัฏฐาน ๔ ก็คือการใช้สติเพื่อดับตัณหาอุปาทานนั่นเอง ซึ่งก็จักบังเกิดผลดั่งพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ผู้ไม่มีอุปาทานย่อมบรรลุพระนิพพาน
(เวสาลีสูตร ๑๘/๑๒๓)
---ผู้ที่ปฏิบัติโดยยึดหลัก"มหาสติปัฏฐาน๔" ควรสํารวจการปฏิบัติของเราด้วยว่าเราปฏิบัติเพื่อฝึกสติและใช้สติเพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจในตัวตน,ของตัวตนของตนหรืออุปาทานในกาย เวทนา จิต ธรรม ของเราเองถูกต้องดังพุทธประสงค์หรือไม่ หรือเรากําลังปฏิบัติโดยไม่ทราบจุดมุ่งหมายพระพุทธประสงค์ หรือกําลังปฏิบัติสมาธิอยู่
*การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้อง
---การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ในขั้นต้นนั้น ต้องใช้สมาธิเป็นบาทฐานในการปฏิบัติ เป็นการฝึกสมาธิและสติในขั้นแรกอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดสมาธิที่ หมายถึงความตั้งใจมั่น แล้วน้อมจิตที่สงบตั้งมั่นดีแล้วอันย่อมมีกำลังแล้วนั้นไปพิจารณาสังเกตุ ศึกษาให้เห็นธรรม(สิ่ง)ต่างๆตามความเป็นจริงให้ชัดเจนขึ้น เช่นเห็นกาย และดำเนินก้าวต่อไปโดยการสังเกตุให้เห็นให้รู้เข้าใจเวทนา และจิตสังขารต่างๆที่เกิดขึ้น ตลอดจนใช้พิจารณาธรรมต่างๆเพื่อให้เกิดภูมิรู้ภูมิญาณเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆอย่างปรมัตถ์ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติดังกล่าวดีแล้วก็ต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันจึงจักถูกต้องและบังเกิดผลสูงสุดขึ้นได้
---การปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ในสมาธิในเบื้องต้นนั้น หาที่สงัด ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่นนั้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เกิดจิตเกิดความตั้งใจมั่นระดับเบื้องต้นก่อน คือ ไม่เลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิระดับประณีตจนปฏิบัติไม่ได้ หรือลงภวังค์ หรือหลับไปอย่างง่ายๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เกิดสติและสัมมาสมาธิ ที่สามารถนำไปใช้
---ประโยชน์ในการพิจารณาทำความเข้าใจใน กาย เวทนา จิต และธรรมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง(ปรมัตถ์) ก็เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆอีกครั้งในขณะดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะในการปฏิบัติในรูปแบบแผนเท่านั้น คือ ต้องนำไปฝึกฝนอบรมอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันจนเป็นมหาสติ หรือเป็นดังเช่นสังขาร(ในปฏิจจสมุปบาท)แต่มิได้เกิดแต่อวิชชา, กล่าวคือเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องและประจำสมํ่าเสมอ จิตจะเริ่มกระทำตามสังขารที่ได้สั่งสมอบรมไว้เองโดยอัติโนมัติในชีวิตประจำวัน นั่นแหละมหาสติหรือสังขารธรรมอันถูกต้อง เป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดในการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔
*การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
---ขณะดำเนินชีวิตประจำวันนั้น จะมีสิ่งต่างๆมากระทบผัสสะตลอดเวลา เมื่อธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)ใดมากระทบและรู้เท่าทัน ก็ให้ปฏิบัติธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)นั้น เพราะธรรมหรือสิ่งที่มาผัสสะนั้นมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ตลอดจนจริตของนักปฏิบัติเอง จึงมีความชำนาญชํ่าชองในการเห็นการรู้ในธรรมทั้ง ๔ที่ย่อมแตกต่างกันออกไปตามจริตและสังขารที่ได้สั่งสมไว้นั่นเอง และธรรมทั้ง ๔นั้นเมื่อเห็นและรู้เท่าทัน ต่างก็ล้วนมีคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นในการดำรงชีวิตประจำวันแล้วมีสติเห็นในธรรม(กาย เวทนา จิต ธรรม)ใดก่อนก็ได้ เพราะย่อมเกิดคุณดังนี้
---รู้เท่าทันกาย เพื่อทำให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในกายอันเป็นที่รักยิ่งโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ ว่าล้วนสักแต่ธาตุ๔ หรือสิ่งปฏิกูล ล้วนต้องเน่าเสีย คงทนอยู่ไม่ได้ ฯลฯ.
---เห็นการเกิดดังนี้จนชํ่าชอง เช่น ส่องกระจกก็รู้เท่าทันว่าห่วงกาย เห็นเพศตรงข้ามที่ถูกใจ ฯลฯ.
---ก็รู้เท่าทัน ว่าสักแต่ว่ากายล้วนเป็นดั่งนี้เป็นต้น แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการดับในที่สุด
---รู้เท่าทันเวทนา เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในเวทนาความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง เช่น เห็นรูปที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ,ได้ยินเสียง(คำพูด)ที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เห็นอาหารที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็ย่อมต้องเกิดความรู้สึก(เวทนา)ต่อสิ่งนั้นๆเช่นนั้นเอง ฯลฯ.
---เมื่อรู้เท่าทันจนชำนาญ จิตเมื่อเห็นความจริงการเกิดการดับและเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้บ่อยๆสักว่าเวทนาเป็นดังนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในเวทนาต่างๆเหล่านั้นในที่สุด
---รู้เท่าทันจิต เพื่อให้เกิดนิพพิทาคลายความยึดความอยากในจิตสังขาร(ความคิด ความนึกต่างๆ) เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สักแต่เกิดแต่เหตุปัจจัยต่างๆตามความเป็นจริงอย่างปรมัตถ์ เป็นสังขารต่างๆทางใจเกิดขึ้นเช่น โทสะ(โกรธ) โลภ หลง ดีใจ เสียใจ ต่างๆ เมื่อเห็นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง แล้วอุเบกขาไม่แทรกแซงเข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเห็นการเกิด การดับได้ด้วยตนเอง จิตเมื่อเห็นความจริงเช่นนี้บ่อยๆสักว่าจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยเช่นนี้เอง ก็จักเกิดนิพพิทาในจิตสังขารความคิดปรุงแต่งเหล่านั้นในที่สุด
---รู้เท่าทันธรรม เพื่อให้เกิดนิพพิทาและภูมิรู้ภูมิญาณความรู้ความเข้าใจอย่างปรมัตถ์ในสิ่งต่างๆนั่นเอง เมื่อเกิดกาย เวทนา หรือจิตตามข้างต้น แล้วเกิดเห็นธรรมะใดๆก็หยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือคิดนึกสังเกตุในสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างปรมัตถ์ การคิดนึกดังนี้ไม่ใช่การคิดนึกปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ แต่เป็นคิดนึกที่จำเป็นในการดับทุกข์อย่างยิ่ง เช่นเห็นทุกข์หรือรู้ว่าเป็นทุกข์ก็รู้ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัยใด(เห็นปฏิจจสมุปบาท), เห็นความไม่เที่ยง(เห็นพระไตรลักษณ์) ดังนี้เป็นต้น
*กุณฑลิยสูตร
---กุณฑลิยะ ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
(กดลิงค์-บน)
---พระพุทธเจ้า ดูกรกุณฑลิยะ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
---กุณฑลิยะ ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
---พระพุทธเจ้า ดูกรกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
---ดังนั้นเมื่อเจิญสติปัฏฐาน ๔ แล้วจึงพึงเจริญโพชฌงค์ ๗ ด้วย วิชชาแลวิมุตติจึงบริบูรณ์ได้
*ข้อคิด......
---ในความเห็นของผู้เขียน การปฏิบัติอานาปานสติและสติปัฏฐาน ๔ เป็นที่นิยมสูงสุดสําหรับนักปฏิบัติ แต่มักผิดพุทธประสงค์ เพราะส่วนใหญ่มีความสับสนกันระหว่าง การฝึกและใชัสติในสติปัฏฐาน ๔ กับสมาธิ คือ ปฏิบัติกันไปจนแยกแยะไม่ถูก ไม่รู้ว่าฝึกสติหรือฝึกสมาธิ คลุกเคล้ากันจนแยกไม่ออก จนไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ และเป็นเครื่องก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสได้ และบางทีก็เน้นแต่การฝึกเช่นพิจารณาลมหายใจ หรืออิริยบถ(จงกรม)
(กดลิงค์-บน)
---แต่ไม่ใช้สติไปในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอื่นใดเลย หรือใช้วิธีท่องบ่นอยู่แต่อย่างเดียวไม่เห็นความสําคัญของสติ และความเข้าใจอันยังให้เกิดปัญญา อยู่แต่ขั้นฝึกแบบเดิมนั่นแหละ ไม่ก้าวหน้าสู่วิถีวิปัสสนาเลย ที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติใช้สติที่ฝึกนั้นไปในการพิจารณาหรือระลึกรู้เท่าทัน กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อให้เห็นความจริงแท้ๆในสิ่งนั้นๆ ก็เพื่อให้เกิดนิพพิทาลดละตัณหาและความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจ หรือความหลงใหลในสิ่งทั้งหลาย อันคืออุปาทานนั่นเอง
---สติปัฏฐานควรให้มีสติและใจสงบ ซึ่งปกติฝึกสติและใช้สติพิจารณาลมหายใจจนแค่ใจสงบระดับขณิกสมาธิ หรือปีติ แค่มีสติ ใจไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน อยู่ในเรื่องที่จะคิดพิจารณาได้ไม่วอกแวกสอดส่ายออกไปในเรื่องอื่นๆเท่านั้น แล้วใช้สตินั้นมาพิจารณา กาย เวทนา จิต หรือธรรมใดๆที่จะคิดพิจารณานั้น หรือที่บังเกิดขึ้นแก่จิตในขณะปฏิบัตินั้นๆ จึงจักเป็นการที่ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยให้จิตเคลิบเคลิ้ม หรือลงภวังค์ ไปนิ่งสนิทหรือแช่นิ่งอยู่ในสมาธิหรือฌานระดับสูง อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ"สติปัฏฐาน ๔" นอกจากบางครั้งที่เมื่อพิจารณาไปจนพอใจ หรือจิตต้องการพัก ซึ่งก็จะเข้าไปพักในสมาธิหรือฌานในระดับประณีตต่อเนื่องไปก็ได้
---ถ้าต้องการฝึกสมาธิ หรือเข้าสมาธิเพื่อการพักกาย พักจิต(ต้องไม่ใช่เพื่อเจตนาไปเสพสุขในปีติหรือสุขอย่างเด็ดขาด) ก็แค่ดูลมหายใจกระทบปลายจมูกให้สงบ แล้วปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามสภาวะองค์ฌานหรือสมาธิเองตามธรรมชาติ หรือตามความชํานาญ(วสี)ในการเข้าออกสมาธิหรือองค์ฌานตามที่ปฏิบัติสั่งสมไว้แล้ว(ฌาน,สมาธิ) ฯ
...............................................................................
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
ที่มา...พระไตรปิฎก
รวบรวมโดย...แสงธรรม
อัพเดทรอบที่ 6 วันที่ 25 กันยายน 2558
ความคิดเห็น